“พอโดนคดี (ม.112) ก็ทำให้เห็นเลยว่า ขนาดเยาวชนยังเป็นภัยต่อความมั่นคงได้เลยเหรอ ผู้ใหญ่หลายคนชอบบอก เป็นแค่เด็กเอง แต่ท้ายที่สุด คุณก็เอาคดีที่มีโทษจำคุก 3-15 ปี มาเล่นกับเด็ก”
ในช่วงปีที่ผ่านมา กฎหมาย ม.112 ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง หลังมีการเคลื่อนไหวในประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มเยาวชน ซ้ำยังเป็นครั้งแรกที่เยาวชนถูกดำเนินคดี ม.112 โดยตอนนี้มีเยาวชนอย่างน้อย 12 คนที่ถูกดำเนินคดี และมี 1 คนที่ถูกสั่งฟ้องแล้ว
The MATTER จึงไปพูดคุยกับเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี ม.112 สามราย อย่างคริษฐ์ เยาวชนที่ถูกแจ้งความหลังอายุครบ 18 ปีได้ไม่นาน เพชร ที่ถูกดำเนินคดีตอนอายุ 17 ปีใน ม.112 ถึง 3 คดี ทั้งยังถูกสั่งฟ้องไปแล้ว 1 คดี และอั่งอั๊ง เยาวชนอายุ 17 ที่วิจารณ์การกระทำของตำรวจในการชุมนุม แต่ก็ถูก ม.112 ไปด้วย
ทั้งสามคนสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของการใช้กฎหมายที่มีโทษร้ายแรงกับเยาวชน ทั้งที่หลายคนมักบอกว่า ‘เด็กและเยาวชน คืออนาคตของชาติ’ รวมถึงพูดคุยกับทนายคุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาของกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิของประชาชน
เมื่อเยาวชนถูกแจ้งข้อหา ม.112
“ตอนที่รู้คือ โดนตำรวจโทรมาบอกว่า ‘รู้ตัวใช่ไหมว่าตัวเองโดน 112’ ผมก็ ‘ฮะ ผมโดนเหรอ’ คือมันไม่มีหมายศาล มันไม่มีอะไรเลย เป็นการโทรมาบอกว่า คุณโดน 112 นะ ให้ไปพบที่ สน.พหลโยธิน แล้วก็มาทราบภายหลังว่า เขาส่งตัวหมายไปผิดบ้าน คือเป็นบ้านที่ไม่มีใครอยู่แล้ว เพราะว่าย้ายชื่อไปแล้ว”
คริษฐ์ เยาวชนที่เพิ่งอายุครบ 18 ปีได้ไม่นาน เล่าถึงเหตุการณ์ที่รู้ว่า ตัวเองถูกแจ้งความในข้อหา ม.112 จากการปราศรัยเรื่อง แบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย ในม็อบต้านรัฐประหารที่ห้าแยกลาดพร้าว วันที่ 2 ธันวาคม 2563
ในช่วงที่เราพูดคุยกันนั้น คริษฐ์ยังไม่ได้เห็นหมายศาล แต่ตำรวจแจ้งกับเขาว่า เนื้อความของหมายระบุว่า เขาวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ให้ดูอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งคริษฐ์เสริมว่า “พระมหากษัตริย์ในที่นี้ เขาบอกว่า รวมทุกพระองค์ในประเทศไทย”
“เมื่อปีที่แล้ว วันที่ 1 ธันวามีกิจกรรม บอกลาเครื่องแบบ ของกลุ่มนักเรียนเลว เราก็พูดเรื่อง แบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งก็เกี่ยวเนื่องกับสถาบัน เพราะเป็นเรื่องที่รีเรทกัน ก็มั่นใจว่าตัวเองเอามาจากหนังสือแบบ 100% แต่ก็โดน”
ขณะที่ เพชร อีกหนึ่งเยาวชนที่เพิ่งอายุครบ 18 ปีเช่นกัน เล่าถึงเหตุการณ์ที่ได้รับแจ้งข้อกล่าวหาในคดีทางการเมือง เมื่อตอนที่เขาอายุ 17 ปีว่า ตอนแรก เขาถูกฟ้องในคดี ม.116 เป็นเซ็ตเดียวกับที่เหล่าแกนนำอย่าง รุ้ง เพนกวิน และไบร์ท โดนแจ้ง ม.112 แต่ตัวเพชรเอง เพิ่งมาทราบว่าถูกแจ้ง ม.112 ด้วยในคดีเดียวกัน เมื่อช่วงปีที่ผ่าน
กิจกรรมต่างๆ ที่เพชรไปร่วมขบวนเคลื่อนไหวนั้น มีทั้งการปราศรัย การเดินชูป้าย ซึ่งเขาเล่าว่า ตอนที่ได้หมายเรียก ม.112 พ่อของตนโทรมาอยู่หลายสาย ซึ่งทำให้เพชรเองก็รู้สึกว่าผิดปกติ พอทราบว่าเป็นหมายเรียกคดี ม.112 ก็ตกใจและเครียดมาก
เพชรเป็นเยาวชนที่ถูกแจ้งความในข้อหา ม.112 ทั้งหมด 3 คดี และ ม.116 อีก 1 คดี ยิ่งกว่านั้น เขายังเป็นเยาวชนคนแรกที่ถูกสั่งฟ้องใน ม.112 ด้วย
“จริงๆ ตอนแรกหนูไม่รู้ คือวันนั้นชิลมาก พี่ทนายบอกว่า โอเค เขาสั่งฟ้อง 112 เรานะ หนูก็ไม่ได้คิดอะไร คิดว่า เออ เขาก็สั่งฟ้อง แล้วหนูก็โพสต์ลงว่า โดนอัยการสั่งฟ้อง 112 นะ ทีนี้สักพักก็มีสายโทรมากันเต็มเลย เขาทักมาถามว่า ‘เฮ้ย โดนสั่งฟ้องเหรอ’ หนูก็งงว่า ‘ฮะ มันเรื่องใหญ่ใช่ไหม’ แล้วเพิ่งทราบจากทนายว่า เราเป็นเยาวชนคนแรกนะที่โดนสั่งฟ้องคดี ม.112 คือถ้าสมมติเราได้หมาย มันยังมีแบบ..จะสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้องก็ได้ แต่นี่คือมันสั่งฟ้องไปแล้ว กลายเป็นว่า เราต้องไปสู้คดีแล้ว”
แม้จะไม่ใช่การปราศรัย แต่การโพสต์ข้อความบางอย่างลงในโลกโซเชียล ก็ถูกจับตามองอยู่เช่นกัน เหมือนอย่างกรณีของ อั่งอั๊ง เยาวชนวัย 17 ปี ที่ถูกแจ้งข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หลังรีทวีตข้อความที่เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) กระทืบแพทย์อาสาสมัคร
“ตอนนั้นก็เป็นครั้งแรกๆ ที่เห็น คฝ.ใช้ความรุนแรงขนาดนี้กับม็อบ แล้วได้ทวีตเนื้อหาที่วิจารณ์ คฝ. วิจารณ์รัฐบาลที่ใช้ความรุนแรง แต่ว่าอั๊งดันรีทวีตคลิปเกี่ยวกับ คฝ.อันนึงที่คนตัดต่อเหตุการณ์ของ คฝ. และในนั้นก็มีประโยคที่รัชกาลที่ 10 พูดว่า ‘Thailand is a land of compromise’ ซึ่งข้อความที่อั๊งสื่อก็ถูกบิดเบือนจากอีกฝั่งหนึ่งที่ตั้งใจจะแคปภาพในช่วงรัชกาลที่ 10 พอประโยคเรียบเรียงหลวมๆ ถ้าเกิดแคปโดน คฝ. มันก็จะสื่อได้ว่าคือ คฝ.แต่ถ้าแคปโดนรัชกาลที่ 10 ก็อาจจะสื่อเป็นอย่างอื่นที่ไม่ตรงข้อความ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แต่เพิ่งได้รับหมายประมาณเดือนที่แล้ว”
อั่งอั๊ง เล่าว่า หลังจากที่โพสต์ข้อความก็เริ่มรู้ว่า มีคนเข้าใจผิดหรือบิดเบือนกับข้อความที่ตนอยากจะสื่อ และก็อยากจะแจ้งความกับตนมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ตอนแรกๆ ก็ตกใจกลัว ซึ่งเชื่อว่าเป็นเรื่องปกติที่จะต้องกลัวอยู่แล้ว
แต่เธอก็มองว่า ในเมื่อสิ่งที่เธอตั้งใจสื่อไม่ใช่เจตนาร้าย เป็นการวิจารณ์อย่างบริสุทธิ์ใจกับพฤติกรรมของ คฝ. และการเห็นภาพตำรวจกระทืบแพทย์อาสาเป็นเรื่องน่าตกใจและน่าเวทนากับประเทศอย่างมาก
“หลังจากนั้นก็กลัวเรื่องอนาคตตัวเองมากกว่า เพราะว่าอั๊งอยากไปเรียนต่อต่างประเทศ อยากไปเรียนกฎหมาย อยากกลับมาช่วยเหลือประเทศเรา ก็รู้สึกว่าตอนแรกก็กลัว แต่ตอนหลังก็หันมามองว่า โอเค ในเมื่อเราโดนแล้ว เกิดเรื่องนี้ไปแล้ว ถือว่าเก็บเป็นประสบการณ์ อนาคตเราจะนั่งอีกฝั่งหนึ่งของโต๊ะเป็นทนายที่ช่วยเด็กๆ แบบอั๊งบ้าง หวังว่าจะไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก”
ผลกระทบจากการใช้ ม.112
การโดนแจ้งความในคดีที่มีโทษร้ายแรง ย่อมส่งผลกระทบหลายๆ ด้านต่อผู้คนอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับผู้คนในวัยที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง การถูกแจ้งความในข้อหา ถือเป็นการลิดรอนความความฝันของใครไป
“เจอผลกระทบหลังจากที่ได้ ม.112 มาเยอะมาก ที่บ้านก็ตัดเงิน เรื่องเรียนก็ที่มีโอกาสได้ไปเรียนต่างประเทศก็ไม่ได้ไป เพราะว่าติดคดี แล้วก็มันทำให้รู้สึกแย่ลงจากการที่ครอบครัวทิ้งเราไว้ตรงกลางคนเดียว แต่ก็มีหลายคนที่กลับเข้ามาคุยกับเราเหมือนกัน ให้กำลังใจดีมากๆ จริงๆ คิดว่า ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ทุกคนกลับมาคุยด้วย” คริษฐ์กล่าว
เขาย้ำว่า กำลังใจเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในช่วงที่ตนโดนคดี ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ต้องเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย เงินก็เป็นสิ่งจำเป็นในการสมัครสอบต่างๆ พอไม่ได้รับเงินจากครอบครัวเราก็ต้องหาวิธีอื่น เช่น เปิดรับบริจาคไป และสมัครงานพาร์ทไทม์
ยิ่งกว่านั้น คริษฐ์ ยังผ่านรอบคัดเลือกคะแนนเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรเลียด้วย แต่สุดท้าย เขาก็ไม่ได้ไปต่อ เพราะติดคดีดังกล่าว
“จริงๆ เราก็สอบเล่นๆ ไม่คิดว่าจะติด เหมือนส่งคะแนนไปแล้วผ่าน เขาให้ไปสอบต่อที่นู่น ก็ไม่ได้ไปแล้ว เพราะว่าติดคดี แล้วก็ถ้าไปแล้วกลับมาก็อาจจะโดนหมายจับ แล้วก็ต้องมาสู้คดีต่อ แต่อยู่ในคุกก็คือไม่คุ้มอยู่ดี”
เราถามคริษฐ์ว่า เป็นไปได้หรือเปล่า ที่จะไปเรียนก่อน แล้วค่อยกลับมาสู้คดีต่อหลังเรียนจบมหาวิทยาลัย คริษฐ์ตอบกลับมาว่า ด้วยสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลง ต้องคอยลุ้นเอารายวัน ทำให้มีความเสี่ยงว่า ถ้าสถานการณ์ในอีก 4 ปีข้างหน้าแย่ลง พอเขากลับมาแล้วอาจจะถูกขังลืมไปเลยก็ได้ หรือถ้าจะให้ลี้ภัย ก็ยากมาก กว่าจะได้สถานะ เลยตัดสินใจสู้อยู่ที่ไทยต่อ
สำหรับคริษฐ์ เขาถูกแจ้งความในช่วงที่เพิ่งอายุครบ 18 ปี 4 เดือนเท่านั้น ทำให้คดีของเขาเข้าเกณฑ์คนที่บรรลุนิติภาวะแล้ว โอกาสที่จะคุกขังคุก หลังจากไปเรียนต่อต่างประเทศ จึงเห็นชัดกว่า เทียบกับกรณีของ ‘อั่งอั๊ง’ ซึ่งคดียังอยู่ในเกณฑ์ของเยาวชน
“หนูยื่นนิติฯ ที่ประเทศอังกฤษ ส่วนสหรัฐฯ ยื่นปรัชญาการเมืองไป ประโยคแรกที่เขียนใน essay ที่ต้องยื่น ก็คือหนูเป็นเยาวชนที่โดน 112 นั้นคือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้หนูสนใจกฎหมายจริงๆ”
อั่งอั๊งเล่าด้วยว่า เมื่อปีก่อนเธอได้เรียนซัมเมอร์กับมหาวิทยาลัยเยล ของสหรัฐฯ พอโดนคดี ม.112 ก็เล่าให้เพื่อนฟัง เพื่อนก็สนใจว่า เกิดอะไรขึ้นในบ้านเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เธอมีความหวังมากขึ้น
ขณะเดียวกัน สภาพการเมืองของประเทศนี้ก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเธออยู่เช่น แม้จะไม่ใช่ผลกระทบที่หนักเหมือนคนอื่นๆ แต่เธอก็มองว่า หากประเทศไทยมีสภาพการเมืองและสังคมที่ดีกว่านี้ ก็คงทำให้ชีวิตของเธอและอีกหลายคนสบายขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เช่น สังคมมีความเท่าเทียมทางเพศ และการศึกษาของเด็กไทยก็มีคุณภาพ
พูดถึงประเด็นการศึกษาแล้ว เพชรเอง ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง และการศึกษา เขาเล่าว่า ครอบครัวของเขามีพี่น้อง 4 คน และทางแม่เองก็ค่อนข้างลำบาก ส่วนตัวเขาอยู่ในความดูแลของพ่อ ซึ่งเป็นชนชั้นกลางที่หาเช้ากินค่ำ
“พี่ทั้งสามคน ไม่ได้ไปต่อในระบบการศึกษา มีลูก จนไม่เหลือใครอยู่ในระบบแล้ว ทุกคนต้องไปทำงาน แล้วหนูเป็นลูกหลงด้วย กลายเป็นว่า พอหนูอยู่ในระบบการศึกษา มันเหมือนเราเป็นความหวังสุดท้ายของบ้าน ในการที่เราจะพาครอบครัวเราไปให้ไกลกว่านี้ เราเลยเข้าใจเลยว่า ทำไมเราถึงอยู่ในจุดที่สภาพครอบครัวเราเป็นแบบนี้ แล้วก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เราออกมาเรียกร้อง”
ช่วงแรกที่ออกมาเคลื่อนไหว เขาก็ยังอยู่ในระบบการศึกษา แต่พอเริ่มทำกิจกรรมม็อบหนักมากขึ้น ประกอบกับเจอปัญหาหลายอย่าง ทำให้เขาออกจากระบบการศึกษามาเรียน pre-degree เรียนควบคู่กับนอกระบบแทน เพื่อให้ตัวเองมีเวลาเคลื่อนไหวด้วย
“ลำบากมาก มันมีหลายพาร์ทของชีวิต ไหนจะการทำกิจกรรมซึ่งไม่ใช่การกระโดดโลดเต้นซ้อมหลีด แต่มันเป็นเรื่องความเป็นความตายคน มันเป็นเรื่องสภาพชีวิตของคนในประเทศจริงๆ มันก็เครียดนะ ไหนจะเวลาเรียน เวลาพักของเราอีก”
“รัฐเขามองว่า ถ้าใครเก่ง ตั้งคำถาม คุณก็อยู่ในประเทศนี้ไม่ได้ คุณก็จะเป็นใครสักคนหนึ่งที่รัฐพยายามจะลบคุณออกไป เพราะว่าคุณตั้งคำถามกับรัฐ”
ปัญหาของกฎหมาย ม.112
ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
บทบัญญัติใน ม.112 เป็นประเด็นที่ถูกวิจารณ์อย่างมากเช่นกันในหลากหลายประเด็น ทั้งในเรื่องของบทลงโทษ การตีความ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายมาตรานี้กับคนที่ยังเป็นเยาวชนหรือผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้วก็ตาม
“ม.112 เป็นเป็นตัวบทบัญญัติกฎหมายที่มีปัญหาอยู่แล้วในการตีความ และการบังคับใช้ของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะตีความโดยกว้างขวางและขยายขอบเขตการคุ้มครองบุคคลที่อยู่ภายใต้ความหมายของ ม.112 ออกไป”
คำกล่าวจากทนายคุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งทนายเล่าว่า ปัญหาของการตีความโดยกว้างขวางนี้ทำให้ มีประชาชนเนี่ย มีพฤติการณ์การกระทำที่อาจจะไม่ได้กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์โดยตรงที่อยู่ในความคุ้มครอง คืออาจจะไม่ได้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการโดยตรง แต่ก็ยังถูกกวาดต้อนหรือถูกดำเนินคดีด้วย แม้ว่าจะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์โดยรวมก็ตาม
ทนายคุ้มเกล้าเล่าต่อว่า นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้ว แต่เมื่อมาผนวกกับความตื่นตัวทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งนักเรียน นิสิต นักศึกษา ออกมาเคลื่อนไหวผ่านรูปแบบต่างๆ เช่น การปราศรัย การแสดงงานศิลปะ การเดินแฟชั่น ซึ่งถูกนำไปตีความให้เข้าข่ายการกระทำความผิด ม.112 ซึ่งไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น
“มาตรา 112 เป็นหนึ่งในบทบัญญัติที่เกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคงของรัฐ แล้วก็อยู่ในส่วนของกฎหมายอาญา สิ่งสำคัญก็คือการตีความกฎหมายอาญาต้องเคร่งครัด เพราะมีโทษหนัก โดยเฉพาะกฎหมายอาญา ม.112 ซึ่งมีโทษจำคุกสูง”
หากไม่ตีความโดยเคร่งครัดแล้ว ทนายคุ้มเกล้ากล่าวว่า ผู้ที่ถูกกล่าวหาโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้ปกครองจะต้องไปแก้ต่างในคดีที่ถูกกล่าวหาไปแล้ว แม้ว่าภายหลัง เขาเหล่านั้นอาจจะพ้นผิด หรือศาลยกฟ้อง แต่กว่าจะไปถึงวันนั้น หลายๆ คนก็ต้องถูกดำเนินคดี ต้องมีค่าใช้จ่าย รวมถึงสภาพจิตใจของเด็กและครอบครัวด้วยที่ต้องถูกดำเนินคดีแบบในฐานความผิด
“ไม่ว่าเขาจะถูกกล่าวว่ากระทำความผิดหรือไม่ การออกหมายจับเด็กและเยาวชนต้องเป็นมาตรการสุดท้าย แต่ในช่วงเดือน ส.ค.มานี้ พบว่า มีการออกหมายจับเด็กในคดี ม.112 ด้วย ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องคำนึงถึง สภาพจิตใจของเด็ก ไม่ใช่แค่เพื่อประโยชน์ต่อทางคดีเท่านั้น และการจับเด็กมันก็ขัดแย้งกับสิ่งที่เราเสนอต่อองค์กรนานาชาติว่าเราเคารพสิทธิเด็ก”
ยิ่งกว่านั้น กฎหมายอาญา ม.112 ยังมีเรื่องของการให้ใครเป็นผู้ฟ้อง ม.112 ก็ได้ ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายหมิ่นประมาท ผู้ถูกกล่าวต้องเป็นคนฟ้องเอง ทำให้ ม.112 ถูกวิจารณ์ว่าเป็นกฎหมายที่ใช้เล่นงานใครก็ได้
“ผมมองว่า ม.112 เป็นกฎหมายที่ใช้ปิดปากประชาชนจริงๆ นะ มันเป็นกฎหมายที่ใช้เล่นงานคนเห็นต่างทางการเมืองได้ เพราะใครแจ้งก็ได้ คือมันตรวจสอบไม่ได้ด้วยว่าจริงหรือไม่ เพราะมีเคสหลายๆ เคสที่มันไม่เมคเซนส์ เช่น คำว่า ‘จ้า’ แล้วโดน ม.112 หรือว่าแชร์คลิปวิดีโอแล้วโดน ม.112 มันกลายเป็นกฎหมายที่กว้าง มีช่องโหว่ จนมันสามารถกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้คนๆ นึง เล่นงานกับอีกฝ่ายหนึ่งได้” คริษฐ์กล่าว
ขณะที่ เพชรเล่าว่า การให้ใครก็ตามเป็นคนแจ้ง ม.112 ได้นั้น สุดท้ายแล้ว จะเป็นผลร้ายกับสถาบันกษัตริย์เอง และสิ่งที่รัฐควรทำ ก็ไม่ใช่การแจ้งข้อหาประชาชน แต่เป็นการชี้แจ้งข้อเท็จจริงและเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้วิจารณ์
“การให้ใครก็ได้เป็นคนแจ้ง ม.112 สุดท้ายกลุ่มคนที่บอกว่ารัก เขาก็เอากฎหมายนี้มาเล่นงานกับคนเห็นต่าง แต่ถามว่าแจ้งไปแล้ว คนก็ไม่กลับไปรักคุณหรอก ถ้าเขาไม่รักก็คือไม่รัก คุณจะแจ้งยังไงให้เราเข้าคุก ให้เราตาย แจ้งมากี่ร้อยกี่พันหมาย เราก็ไม่กลับไปรัก แต่สิ่งที่คุณแจ้งมันคือการทำร้ายบุคคลที่คุณรักกับตัวคุณเองด้วยซ้ำ”
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสัดส่วนของบทลงโทษที่ไม่สอดคล้องกับการกระทำความผิด เพราะโทษของ ม.112 กำหนดให้จำคุก 3-15 ปี ซึ่งอั่งอั๊งเล่าถึงแถลงการณ์จากสหประชาชาติว่า ประเด็นหลักจากแถลงมีอยู่สองเรื่องคือ เรื่องความไม่แน่นอนของคำศัพท์ในเชิงกฎหมาย และบทลงโทษที่ไม่มีสัดส่วน
“อย่างประเทศไทยคดีทั่วไปมันก็จะเป็นจำคุก 1 ปี หรือปรับประมาณ 1-2 หมื่นบาท ซึ่งต่างประเทศก็คล้ายกัน แต่ประเด็นคือ เวลาเราไปด่าหรือหมิ่นประมาทใคร มันควรจำคุกถึง 15 ปีเลยหรือเปล่า ในต่างประเทศและในไทยเองกฎหมายหมิ่นประมาทก็คือปรับ มันก็สมควรแล้ว เพราะเราไปว่าเขาก็ต้องปรับ หรือว่าถ้าหนักก็จำคุกไม่เกิน 1 ปี และก็มีการปรับความเข้าใจกันกับคนที่เราไปด่าทอ อันนี้คือ approach ที่จะทำให้เกิดสังคมที่สงบขึ้น”
หรือกรณีของพริษฐ์ ชิวารักษ์ เองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่โดนคดี ม.112 ไปอย่างน้อย 21 หมาย ซึ่งถือเป็นบุคคลที่โดนดำเนินคดี ม.112 มากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
“แล้วถามว่า ชีวิตเด็กคนหนึ่ง อย่างเบนจา รุ้ง เพนกวิน ใครก็ตามที่ยังเรียนอยู่ เขากับต้องเอาอนาคต ไปอยู่ในคุกกับกฎหมายที่โทษหนัก มันจำเป็นขนาดนั้นเลยหรอ มันร้ายแรงขนาดนั้นเลยหรอ ที่เด็กคนหนึ่ง ถ้ามานับโทษกัน เขาโดนกี่ใบล่ะ ก็น่าจะเกินสิบ เอาขั้นต่ำเลยนะ อย่างใบละ 3 ปี เขาโดนไปแล้ว 30 ปี กับเด็กนักศึกษาคนหนึ่งที่ใช้แค่กระบอกเสียงในการพูด มันขนาดนั้นเลยใช่ไหม” เพชรกล่าว
คำถามที่ตามมาก็คือ การเดินหน้าใช้กฎหมาย ม.112 กับประชาชนจะยังคงดำเนินต่อไปหรือไม่? ซึ่งทนายคุ้มเกล้ามองว่า จำนวนเด็กและเยาวชนที่โดนคดี ม.112 ทั้ง 12 คนนี้ เป็นแค่กลุ่มที่อยู่ในความดูแลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเท่านั้น ยังมีกรณีกลุ่ม องค์กรต่างๆ ที่พยายามรวบรวมรายชื่อของเยาวชนที่แสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์อีกมาก แปลว่าการใช้ ม.112 กับประชาชนจะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเป็นแบบนี้ ทนายคุ้มเกล้าจึงมองว่า การใช้ ม.112 ต้องกลับมาที่ผู้บังคับใช้กฎหมายด้วย คือโดยกฎหมายเองก็ต้องทบทวนโดยตัวอยู่แล้วทั้งตัวบทบัญญัติที่จะไม่ชัดเจน รวมถึงบทกำหนดโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ของการกระทำ รวมถึงตัวกฎหมายที่ต้องมีการแก้ไข
“แต่เนื่องจากตอนนี้กฎหมายมันยังบังคับใช้อยู่ มันยังไม่ถูกแก้ไขหรือยกเลิก ผู้ที่บังคับใช้กฎหมาย มันก็ต้องตีความกฎหมายโดยเคร่งครัด ไม่ได้ตีความกว้างขวางแล้วไปเป็นโทษกับผู้ที่ถูกดำเนินคดี เพราะทุนคนที่อยู่ภายใต้แบบกฎหมายเดียวกัน แล้วเราถูกบอกว่าปฏิเสธความไม่รู้กฎหมายไม่ได้ ฉะนั้น ผู้ที่บังคับใช้กฎหมายเนี่ย ก็ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างแบบตรงไปตรงมาด้วย”
ขณะที่ คริษฐ์ มองว่าควรยกเลิกกฎหมาย ม.112 ได้แล้ว เพื่อไม่ให้สิทธิ เสรีภาพของประชาชนถูกลิดรอนไป
“ผมมองว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราควรจะยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ ไม่ใช่ว่า คุณทำผิดแล้วคุณไม่ยอมรับนะ แต่มันคือการซัพพอร์ทเสรีภาพในประเทศให้มากขึ้น ในเมื่อประเทศเรียกตัวเองว่า ‘ประชาธิปไตย’ หนึ่งในนั้นก็คือ free speech หรือเปล่า เสรีภาพในการพูด ก็คือสิทธิอย่างแรกที่คนไทยควรมี”
“ความฝันของผม ผมอยากให้ประเทศเป็นประเทศที่ปลอดภัยกับทุกคน เป็นประเทศที่ทุกคนสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้โดยที่ไม่ต้องพยายาม เข้าถึงระบบสาธารณสุขได้โดยที่ทุกคนไม่ต้องเดินทางเป็น 10-20 กิโลฯ ฝันถึงประเทศที่พัฒนาแล้ว แล้วก็มีระบบสวัสดิการดีๆ ให้ประชาชนในประเทศอย่างเหมาะสม และจัดการเรื่องความยากจนได้ดี แต่ก่อนอื่นเลยตอนนี้ อยากให้มีสิทธิ เสรีภาพสักที”