ปฏิรูป ปฏิรูป ปฏิรูป คำที่ได้ยินกันมาครั้งแล้วครั้งเล่า ยิ่งเวลาเกิดเหตุอะไรขึ้นมา รัฐบาลมักมาแถลงพร้อมกับคำสัญญาว่าจะปฏิรูปองค์กรนั้นๆ กันอยู่เสมอ
ล่าสุด กรณีอดีตผู้กำกับโจ้ที่ใช้ถุงครอบผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนเสียชีวิต เปิดประเด็นการซ้อมทรมาณผู้ต้องหา และนำไปสู่คำสัญญาว่าจะปฏิรูปองค์กรตำรวจกันอีกครั้ง คำว่า ‘ปฏิรูป’ จึงถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง พร้อมกับกระแสสังคมที่มองว่า พอมีเรื่องทีนึง ก็บอกว่าจะปฏิรูปทีนึง
แล้วที่ผ่านมา มีคำสัญญาว่าจะปฏิรูปอะไรบ้างนะ ? The MATTER ขอชวนทุกคนไปดูกัน
หนึ่งในคดีใหญ่สะเทือนใจก็คือ เหตุกราดยิงโคราช เมื่อจ่าทหารเดินเข้าสรรพสินค้า ในจังหวัดนครราชสีมา ไปกราดยิงผู้คนที่อยู่ในนั้น ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยตกเป็นตัวประกัน คอยหลบอยู่ตามที่ต่างๆ ในห้างฯ เป็นเวลากว่า 18 ชั่วโมงกว่าเหตุการณ์จะยุติ โดยมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ถึง 31 คน
หนึ่งในประเด็นที่คาดกันว่าเป็นมูลเหตุครั้งนี้ มาจากการที่ผู้ก่อเหตุไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชาและเครือญาติ จากการซื้อขายที่ดินและผิดสัญญา ทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกในตอนนั้น ออกมาแถลงข่าวว่า จะสืบหาว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง
เขายังมาพร้อมกับประโยคเด็ดว่า “วินาทีที่ลั่นไกสังหารประชาชน เขาคืออาชญากร ไม่ใช่ทหารอีกต่อไปแล้ว” และให้คำมั่นว่าจะ ‘ปฏิรูปกองทัพ’ จนถึงตอนนี้ก็ผ่านมาปีกว่าแล้ว แต่เราก็ยังไม่เห็นความชัดเจนในการแก้ปัญหานี้
‘ปฏิรูปตำรวจ’ คำที่ถูกหยิบมาพูดอีกครั้ง หลังกรณีของ ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ‘ผู้กำกับโจ้’ อดีตตำรวจที่ซ้อมทรมาณผู้ต้องหาจนถึงแก่ความตาย แม้ว่าเหตุการณ์จริงจะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนสิงหาคม แต่หลังจากที่มีคลิปเผยแพร่อยู่เต็มโลกออนไลน์ ก็เพิ่งจะมีการเคลื่อนไหวถึงการสืบสวนคดีในช่วงปลายเดือน
จริงๆ แล้ว ปฏิรูปตำรวจก็เป็นหนึ่งในแผนปฏิรูปประเทศที่คณะรักษาความสงบ (คสช.) ตั้งเป้าเอาไว้มาโดยตลอด แต่จนถึงตอนนี้ ก็ยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติกันอยู่ โดยพิจารณาไปแล้ว 14 มาตรา จากทั้งหมด 172 มาตรา [อ่านเรื่องปฏิรูปตำรวจได้ที่นี่]
ขณะเดียวกัน วิกฤต COVID-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่าวใหญ่หลวง ทำให้เศรษฐกิจไทยที่ช้ำหนักอยู่แล้ว วิกฤตหนักไปกว่าเดิม และเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จำเป็นจะต้องปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ของรัฐ ให้มีความยั่งยืน เพื่อรองรับวิกฤตต่างๆ ซึ่งเราก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า การปฏิรูปนี้จะเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน
อย่างไรก็ดี การปฏิรูปทั้งหลายทั้งแหล่ที่รัฐบาลให้คำมั่นสัญญานั้น ไม่ว่าจะการปฏิรูปด้านสาธารณสุขที่พรรคภูมิใจไทยนำมาประกาศไว้ในการหาเสียง หรือการปฏิรูปการศึกษาที่อดีต รมว.ให้คำมั่นไว้กับกลุ่มนักเรียนเลวในการดีเบตเมื่อปี 2563 รวมไปถึงอีกหลายการปฏิรูปมากมาย ต่างก็อยู่ในแผนการปฏิรูปประเทศ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 อยู่แล้ว ตามที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุค คสช.เคยลั่นคำสัญญาว่าจะขอเวลาอีกไม่นาน โดยแรกเริ่มเดิมทีมีด้วยกัน 11 ด้าน แต่พอมาถึงช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยุคเลือกตั้ง ก็มีการประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) โดยเพิ่มด้านที่จะปฏิรูปเข้ามาเป็น 13 ด้าน ได้แก่
- ด้านการเมือง
- ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน
- ด้านกฎหมาย
- ด้านกระบวนการยุติธรรม
- ด้านเศรษฐกิจ
- ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ด้านสาธารณสุข
- ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ
- ด้านสังคม
- ด้านพลังงาน
- ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ
- ด้านการศึกษา
- ด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดด้วยว่า แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ยังคงเป็นแผนระดับที่ 2 ตามนัยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4ธันวาคม พ.ศ. 2560 โดยต้องส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และทุกหน่วยงานต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติของแต่ละช่วงเวลา 5 ปี
แน่นอนว่า ยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ เป็นที่ถกเถียงกันมานาน เพราะเป็นมรดกที่มาจากการรัฐประหารของ คสช. เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้มีการแก้ไขกันมานาน
ดังนั้น เราคงต้องดูกันต่อไปว่า คำสัญญาว่าจะปฏิรูปเพื่อให้ประเทศเป็นไปในทางที่ดีนั้น จะพาเราไปทางไหนกันแน่
อ้างอิงจาก