สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อคนร้ายบุกเข้าไปยิงพระสงฆ์ในวัดรัตนานุภาพ หรือวัดโคกโก อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส จนเจ้าอาวาสและผู้ช่วยเจ้าอาวาสมรณภาพ และมีพระลูกวัดบางคนได้รับบาดเจ็บ ก่อนจะหลบหนีไป
The MATTER จะสรุปรายละเอียดของเหตุการณ์นี้ให้อ่านกัน พร้อมกับจะพยายามชี้ให้เห็นว่า ผ่านมา 15 ปีแล้วนับแต่เหตุการณ์ปล้นปืนในค่ายทหาร เมื่อปี 2547 การแก้ไขปัญหาไฟใต้ของภาครัฐไทยมีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว
1.) เหตุร้ายครั้งล่าสุด เกิดขึ้นในเวลาราว 20.30 น. ของวันศุกร์ที่ 18 ม.ค. คนร้ายจำนวนกว่า 10 คน แต่งกายชุดดำคล้ายทหาร บุกเข้าไปในวัดรัตนานุภาพ (วัดโคกโก) จ.นราธิวาส ก่อนยิงถล่มเข้าไปในกุฎิ และยิงใส่ศาลาการเปรียญที่พระครูประโชติ รัตนานุรักษ์ เจ้าอาวาส กับพระลูกวัดอีก 3 คนนั่งอยู่ ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
2.) ข้อมูลตอนแรกระบุว่า มีพระสงฆ์มรณภาพถึง 4 รูป แต่ภายหลังฝ่ายทหารแจ้งว่า มีพระสงห์มรณภาพเพียง 2 รูป ได้แก่ พระครูประโชติ รัตนานุรักษ์ เจ้าอาวาส กับพระสมุห์อรรถพร ขุนอำไพ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ส่วนพระลูกวัดอีก 2 รูปที่ถูกยิงพร้อมกัน ได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล
3.) นสพ.ไทยรัฐรายงานโดยอ้างคำให้การของชาวบ้านที่อยู่ใกล้ๆ วัดในช่วงเกิดเหตุว่า คนร้ายขี่จักรยานยนต์มาก่อเหตุ โดยหลังเข้าประตูวัดก็ลงมือทันที พยานบางปากยังอ้างด้วยว่า เห็นพระสงฆ์บางรูปถูกยิงเผาขนและบางรูปถูกยิงที่ศีรษะ
แต่เพจพลังใจถึงชายแดนใต้ กลับให้ข้อมูลที่ต่างออกไป โดยอ้างว่าคนร้ายมีเพียง 6 คน และเข้ามาทางป่ายางด้านหลังวัด
4.) ปฏิบัติการครั้งนี้ถูกประณามจากหลายๆ ฝ่าย ทั้งสำนักจุฬาราชมนตรี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฮิวแมนไรท์วอทช์ ฯลฯ รวมไปถึงรัฐบาลและกองทัพ
5.) สำนักข่าวอิศราได้เปิดสถิติว่า ตลอด 15 ปีของไฟใต้ มีพระสงฆ์และสามเณร ได้รับผลกระทบจนมรณภาพไปแล้วอย่างน้อย 21 ราย และบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 27 ราย
6.) นับแต่เข้าปี 2562 เป็นต้นมา คนร้ายได้ก่อเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นหลายครั้ง เริ่มจากฆ่าครูวัยเกษียณชิงรถกระบะทำคาร์บอมบ์ใกล้ฐานปฏิบัติการของทหารใน อ.เทพา จ.สงขลา, เหตุยิง อส. เสียชีวิต 4 นาย คาโรงเรียนบ้านบูโกะ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ตามด้วยเหตุยิงปะทะจากปฏิบัตการปิดล้อมจับกุม จนมีการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาคดีความมั่นคง 2 รายที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องเป็นทีมยิง 4 อส.
7.) ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง วิเคราห์ว่าเหตุรุนแรงหลายครั้งในระยะหลัง ทำไปเพื่อตอบโต้การกดดันทั้งจากฝ่ายไทยและฝ่ายมาเลเซียให้ฝ่ายผู้เห็นต่างและกองกำลังติดอาวุธเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติสุข
“จนแกนนำบางคนต้องย้ายที่อยู่อยู่เป็นระยะ ซึ่งเรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจและต้องออกมาสร้างความรุนแรง ซึ่งเชื่อว่าในช่วงวันสำคัญที่เป็นสัญลักษณ์ก็จะมีการก่อเหตุอื่นๆ ตามมาอีก”
8.) ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับรอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch – DSW) ที่มองว่า เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นตลอดเดือนที่ผ่านมาน่าจะทำไปเพื่อตอบโต้กระบวนการพูดคุยสันติสุขระหว่างไทย มาเลเซีย และผู้เห็นต่าง ที่จะกลับมาอีกครั้งหลังหยุดไปช่วงเวลาหนึ่ง
9.) ข้อมูลจาก DSW นับแต่การปล้นปืนในค่ายทหารเมื่อปี 2547 ซึ่งหลายๆ ฝ่ายชี้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของไฟใต้ จนถึงปัจจุบัน มีการก่อเหตุความรุนแรงไปแล้วอย่างน้อย 20,163 เหตุการณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6,921 ราย และบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 13,511 ราย
10.) รัฐบาลไทยหลายๆ ชุดที่ผ่านมา ก็พยายามแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการหลากหลาย บ้างใช้วิธีปราบปรามด้วยความรุนแรง บ้างใช้การเจรจากับผู้ก่อความไม่สงบ แต่ถึงปัจจุบันสถานการณ์ก็ยังไม่ยุติดี แม้ถ้าดูจากสถิติต่างๆ แนวโน้มการก่อเหตุจะลดจำนวนครั้งลงในทุกๆ ปี
อ้างอิงจาก
https://www.thairath.co.th/content/1473144
https://www.facebook.com/Palangjai/posts/987414758118130
https://www.isranews.org/south-news/other-news/73057-separate.html
https://www.isranews.org/south-news/stat-history/73068-blood-73068.html
https://www.facebook.com/samnakjula/posts/2395296177208552
https://www.bbc.com/thai/thailand-46931358
http://www.komchadluek.net/news/scoop/358955
https://deepsouthwatch.org/sites/default/files/blogs/attachment/datasheet_122018-th.pdf
#Recap #ไฟใต้ #TheMATTER