ช่วงนี้คนที่ถือสมาร์ตโฟนของ Huawei ก็คงจะมีหวั่นๆ กันบ้าง จากเหตุการณ์ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามออกคำสั่งกฎหมายห้ามบริษัทในสหรัฐฯ ใช้อุปกรณ์สื่อสารของบริษัทที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ และนำชื่อ Huawei ขึ้นบัญชีดำทางการค้า ทำให้ Google จำเป็นต้องหยุดทำธุรกิจกับ Huawei
การยุติธุรกิจในครั้งนี้จะทำให้สมาร์ตโฟนของ Huawei ในอนาคต ไม่สามารถรับการสนับสนุนจาก Google ได้อีกต่อไป ทั้งระบบปฏิบัติการ Android และแอพพลิเคชั่นที่เป็นสิทธิของ Google อย่าง YouTube, Gmail, และอื่นๆ
จากกรณีนี้ นอกจากทั้ง 2 บริษัทที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักแล้ว ผู้ใช้งานทั่วโลกก็อาจโดนลูกหลงไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เหตุการณ์นี้มีที่มาอย่างไร ท่าทีของแต่ละฝ่ายเป็นแบบไหนกันแน่ The MATTER ขอนำมาสรุปให้ทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน
1.) จุดชนวนของเหตุการณ์ทั้งหมด เริ่มขึ้นในงาน CES เดือนมกราคม ปี 2018 ซึ่ง Huawei ได้เปิดตัวสมาร์ตโฟน Huawei Mate 10 Pro โดย Richard Yu หนึ่งใน CEO ของ Huawei ขึ้นกล่าวบนเวทีแบบอ้อมๆ ว่า AT&T ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของสหรัฐฯ จะไม่ร่วมมือกับทาง Huawei ในการจำหน่ายสินค้าของพวกเขา สาเหตุมาจากที่ AT&T ประกาศถอนตัวจากดีลอย่างกะทันหัน ก่อนงาน CES เพียงไม่กี่วันเท่านั้น เพราะฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐฯ มีความข้องใจกับความสัมพันธ์ของ Huawei และรัฐบาลจีน
2.) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 ผู้อำนวยการของ CIA, FBI, NSA, และอื่นๆ ได้ออกมาแสดงความไม่ไว้วางใจต่อ Huawei และ ZTE แบรนด์จีนอีกแบรนด์หนึ่ง แนะนำชาวอเมริกันว่าไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัททั้งสอง ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง ซึ่งทาง Huawei ก็ได้ออกมาตอบโต้ว่าพวกเขาได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาล และลูกค้าจาก 170 ประเทศทั่วโลก ไม่มีพิษภัยอะไรทั้งนั้น
3.) ในเดือนพฤษภาคม 2018 กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ประกาศแบนผลิตภัณฑ์ของ Huawei และ ZTE ในฐานทัพของสหรัฐฯ ทั่วโลก เพราะเกรงว่าจะถูกสอดแนม หรือสืบความลับโดยรัฐบาลจีน แล้วยิ่งหนักเข้าไปอีกเมื่อมีรายงานออกมาในเดือนมิถุนายนว่าเฟซบุ๊กให้สิทธิพิเศษแก่ Huawei ในการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งาน จนสภาคองเกรสต้องส่งเรื่องไปยัง Alphabet บริษัทแม่ของ Google ตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์และการทำธุรกิจกับ Huawei
4.) อย่างไรก็ตาม Huawei ก็ยังประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ในเดือนกรกฎาคม 2018 Huawei ประกาศว่าในปีนั้นได้ส่งมอบสมาร์ตโฟนไปแล้ว 100 ล้านเครื่องตั้งแต่เปิดปีมา จนสามารถแซง Apple ขึ้นเป็นอันดับ 2 ของผู้จำหน่ายสมาร์ตโฟนที่ขายดีที่สุดในโลก
5.) ในเดือนธันวาคม 2018 เรื่องราวกลับมาเข้มข้นอีกครั้ง เมื่อสหรัฐฯ ร้องขอแคนาดาให้เข้าจับกุม Meng Wanzhou CFO และลูกสาวของ Ren Zhengfei ผู้ก่อตั้ง Huawei ในแวนคูเวอร์ ข้อหาฉ้อโกงเกี่ยวกับการละเมิดคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่ออิหร่าน แต่หลังจากการฟ้องร้อง ไต่สวน และควบคุมตัวไว้ 6 วัน ศาลแคนาดาก็ให้ประกันตัวได้ด้วยเงิน 10 ล้านดอลลาร์
6.) เข้าสู่เดือนมกราคม ปี 2019 ดุเดือดตั้งแต่เริ่มปีใหม่เลยทีเดียว เมื่อมีรายงานว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ อาจใช้คำสั่งพิเศษในฐานะประธานาธิบดีเพื่อแบนการซื้อสินค้าจากทั้ง Huawei และ ZTE ในเวลาไล่เลี่ยกันวุฒิสมาชิกของสหรัฐฯ ก็ได้เสนอร่างกฎหมายเพื่อเฝ้าระวังภัยจากเทคโนโลยีจีน แต่ Huawei ก็ยังไม่ยอมแพ้ง่ายๆ โดยการเปิดตัวโน๊ตบุ๊ก Matebook 13 และแท็บเล็ต MediaPad M5 ในงาน CES 2019 เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่สมาร์ตโฟน เพื่อให้อยู่ต่อในตลาดสหรัฐฯ ได้
7.) ในวันที่ 11 มกราคม 2019 ก็เกิดเรื่องแดงขึ้นอีก เมื่อ Wang Weijing ผู้อำนวยการฝ่ายขายของ Huawei ถูกจับกุมในโปแลนด์ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สอดแนมให้กับรัฐบาลจีน ก่อนจะถูก Huawei ไล่ออกใน 3 วันต่อมา เพราะทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง ต่อมาในวันที่ 18 แคนาดาก็ประกาศแบนเทคโนโลยี 5G ของ Huawei ตามคำเรียกร้องของสหรัฐฯ ซึ่งทางจีนได้แสดงความเห็นว่าการกระทำนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบตามมาในภายหลัง
8.) เรื่องราวในเดือนมกราคมยังไม่จบแค่นั้น มีรายงานว่ามหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ในสหรัฐ เลิกใช้ผลิตภัณฑ์ของ Huawei เพื่อทำตามความต้องการของโดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากนั้นไม่นาน สหรัฐฯ ก็ยื่นฟ้อง Huawei 23 ข้อหา ในเรื่องฉ้อโกงและขโมยความลับทางการค้า ในช่วงปลายเดือนก็เกิดกรณีระหว่าง Huawei และ Qualcomm บริษัทผลิตชิปสัญชาติอเมริกัน ว่าด้วยเรื่องของสิทธิทางปัญญาโครงข่าย 3G, 4G, และ 5G บทสรุปคือ Huawei จะต้องจ่าย 150 ล้านดอลลาร์ให้กับ Qualcomm ในแต่ละไตรมาส
9.) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ทางการสหรัฐฯ พยายามโน้มน้าวไม่ให้ประเทศแถบยุโรปเลือกใช้อุปกรณ์ของ Huawei ในการวางรากฐานระบบ 5G แต่ทางการอังกฤษก็ออกมาอธิบายว่าเรื่องนี้เป็นความเสี่ยงที่สามารถดูแลจัดการได้ ทาง Ren Zhengfei ผู้ก่อตั้ง Huawei ก็ออกมาตอบโต้ว่าสหรัฐฯ ไม่มีทางทำลายพวกเขาได้หรอก ทำให้ในวันต่อมา Mike Pompeo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ออกมาประกาศว่าประเทศที่ใช้เทคโนโลยีของ Huawei ถือเป็นภัยของสหรัฐฯ
10.) ต้นเดือนมีนาคม 2019 Huawei ออกมาเรียกร้องให้มีการสร้างมาตรฐานการควบคุมความปลอดภัยทางโลกไซเบอร์แบบสากล และยื่นฟ้องรัฐบาลสหรัฐฯ ข้อหาที่แบนสินค้าของ Huawei แต่ทางสหรัฐฯ ก็ยังไม่ละความพยายามที่จะชวนชาติพันธมิตรให้แบน Huawei โดยบอกประเทศเยอรมันว่า ถ้าไม่หยุดใช้อุปกรณ์ของ Huawei ทางสหรัฐฯ จะจำกัดการแบ่งปันองค์ความรู้ให้กับเยอรมัน เพราะกลัวข้อมูลรั่วไปยังรัฐบาลจีน (ข้อเรียกร้องนี้ได้ถูกยกเลิกไปในวันที่ 9 เมษายน 2019)
11.) เมื่อสัญญาณดูไม่ค่อยจะดีนัก Huawei จึงประกาศในวันที่ 14 มีนาคม 2019 ว่าพวกเขากำลังพัฒนาระบบปฏิบัติการเป็นของตัวเอง เป็นแผนสำรองถ้าในอนาคตพวกเขาไม่สามารถใช้ระบบจากสหรัฐฯ อย่าง Android หรือ Windows ได้ และในวันที่ 29 ก็ได้ออกมาโจมตีสหรัฐฯ ว่ามีความคิดแบบคนขี้แพ้ ที่ไม่สามารถสู้ได้ในด้านเทคโนโลยี
12.) ในวันที่ 21 เมษายน 2019 สหรัฐฯ ได้เริ่มโต้กลับอีกครั้ง คราวนี้หน่วย CIA ออกมาให้การว่า Huawei ได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงความมั่นคงของจีน
13.) เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัย และผู้เชี่ยวชาญจาก 30 ประเทศทั่วโลกมาร่วมประชุมกันที่เมืองปราก สาธารณรัฐเช็ก ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2019 เพื่อร่วมกันร่างข้อเสนอด้านความปลอดภัยของเทคโนโลยี 5G หลังจากสหรัฐฯ เตือนเรื่อง Huawei มาโดยตลอด
14.) วันที่ 15 พฤษภาคม 2019 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามออกคำสั่งกฎหมายห้ามบริษัทในสหรัฐฯ ใช้อุปกรณ์สื่อสารของบริษัทที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งแน่นอน Huawei โดนไปเต็มๆ แถมยังถูกนำชื่อขึ้นบัญชีดำทางการค้า ถือเป็นการถูกสหรัฐฯ แบนอย่างเป็นทางการ ในวันถัดมา Huawei ก็ได้ออกมากล่าวว่าการตัดสินใจครั้งนี้ จะเป็นผลเสียอย่างร้ายแรงต่อบริษัทและอาชีพของชาวอเมริกัน
15.) วันที่ 19 พฤษภาคม 2019 Google ประกาศหยุดทำธุรกิจกับ Huawei เพื่อขานรับคำสั่งของ โดนัลด์ ทรัมป์ ผลกระทบที่เห็นจะชัดที่สุดคือ สมาร์ตโฟนของ Huawei ในอนาคตจะไม่ได้ใช้ระบบ Android ของ Google และไม่ได้รับการสนับสนุนต่างๆ ทั้งด้านความปลอดภัย และแอพพลิเคชั่นหลักๆ อีกต่อไป ซึ่งในวันเดียวกัน Google ก็ได้ออกมาบอกว่าผู้ที่ถือสมาร์ตโฟนของ Huawei อยู่จะไม่ได้รับผลกระทบ ยังโหลดและอัพเดตแอพพลิเคชั่นได้ตามเดิม
16.) หลังจากนั้น บริษัทผลิตชิปในสหรัฐฯ อย่าง Intel, Qualcomm และ Xilinx ก็ประกาศว่าจะไม่ผลิตชิพให้ Huawei จนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม แต่ก็มีรายงานว่า Huawei เตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยได้ทำการสั่งซื้อชิปมาเก็บไว้จำนวนมากพอสำหรับอีก 3 เดือน
17.) Ren Zhengfei ผู้ก่อตั้ง Huawei ได้ออกมาบอกว่า ทางสหรัฐฯ สบประมาทบริษัทโทรคมนาคมจีนมากไปหน่อยแล้ว ปัญหากับสหรัฐฯ ไม่สามารถขัดขวางพวกเขาจากการก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกได้หรอก และพวกเขาก็เตรียมพร้อมสำหรับการถูกแบนมาเป็นอย่างดีแล้วด้วย โดยระบบปฏิบัติการที่พวกเขาซุ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2012 หรือที่เรียกกันตอนนี้ว่า HongMeng OS กำลังอยู่ในช่วงทดลองใช้งานแล้ว เพื่อทดแทนระบบ Android ของ Google
18.) เกิดการคาดคะเนกันไปต่างๆ นานา เมื่อประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง เดินทางไปเยี่ยมโรงงานผลิตแร่หายาก Rare-Earth อาจเป็นสัญญาณว่าจีนกำลังมีความคิดที่จะยกเลิกการส่งออกแร่ชนิดนี้ให้กับสหรัฐฯ ซึ่งจะกระทบกับสหรัฐฯ อย่างหนักแน่นอน เพราะว่าแร่ชนิดนี้เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ต้องใช้ในการผลิตชิปในอุปกรณ์เทคโนโลยี อาวุธ และอีกมากมาย
19.) ต่อมาในวันที่ 21 พฤษภาคม 2019 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ มอบใบอนุญาตชั่วคราว ต่อเวลาให้ Huawei อีก 90 วัน ไปจนถึงวันที่ 19 สิงหาคม 2019 เพื่อให้สั่งซื้อสินค้าจากบริษัทในสหรัฐฯ ได้ เพื่อดูแลระบบเครือข่าย และให้การสนับสนุนสมาร์ตโฟนที่มีอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น ป้องกันไม่ให้กระทบต่อผู้ใช้งาน ไม่ได้ให้นำไปผลิตสินค้าใหม่เพราะยังต้องขออนุญาตกับสหรัฐฯ ก่อน
20.) ถึงแม้ผลกระทบจะยังไม่เกิดขึ้น แต่เชื่อว่าผู้ที่มีสมาร์ตโฟนของ Huawei อยู่ในมือก็คงอยากรู้ว่ามีอะไรที่อาจเกิดขึ้นได้บ้าง เราจึงขออธิบายโดยแบ่งเป็น 2 กรณีดังนี้
-ผู้ที่ใช้งานสมาร์ตโฟนของ Huawei อยู่ หรือวางแผนจะซื้อรุ่นที่วางขายอยู่ตอนนี้: หากท่าทีของสหรัฐฯ ยังไม่เปลี่ยนแปลงหลังวันที่ 19 สิงหาคม 2019 ผู้ที่ใช้สมาร์ตโฟนของ Huawei อยู่จะยังได้รับการดูแลตามปกติ ยังคงใช้ระบบปฏิบัติการ Android ได้เช่นเดิม รวมถึงแอพพลิเคชั่นของ Google จากใน Google Play Store ทั้งหมด แต่เมื่อ Google เปิดตัวระบบ Android รุ่นถัดไป เครื่องของทุกคนอาจจะไม่ได้รับการอัพเดตต่อไป รวมถึงการอัพเดตด้านความปลอดภัยด้วยเช่นกัน ต้องรอดูความคืบหน้าต่อไป
-ผู้ที่สนใจสมาร์ตโฟนของ Huawei ที่จะเปิดตัวในอนาคต: สำหรับกรณีนี้ ยังจะสามารถใช้ระบบปฏิบัติการ Android แบบ Open Source ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นสาธารณะและฟรีได้อยู่ดี โดยห้ามใช้ชื่อ Android ต้องนำไปพัฒนาต่อเอง แต่บริการหลักๆ อย่างแอพพลิเคชั่นจาก Google Play Store หรือแอพพลิเคชั่นที่เป็นสิทธิของ Google เช่น Google Maps, YouTube, Gmail, Google Drive, และอื่นๆ จะไม่สามารถใช้ได้เลย รวมถึงแอพพลิเคชั่นอื่นๆ ที่ต้องใช้ความสามารถจาก Google Play Services หรือแอพพลิเคชั่นของ Google ยกตัวอย่างเช่น Grab ที่ต้องพึ่งพาบริการของ Google อย่าง Google Maps
ศึกนี้น่าจะฟาดฟันกันต่อไปอีกยาว เราคงต้องมาคอยติดตามดูกันต่อไป ว่าแต่ละฝ่ายมีท่าทีอย่างไร จะมีใครยอมใครหรือเปล่า เพราะความเคลื่อนไหวของทั้ง 2 ประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐฯ และจีน สามารถทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลกได้เลย
อ้างอิงจาก
https://www.cnet.com/news/the-huawei-controversy-everything-you-need-to-know/
https://www.theverge.com/2019/5/19/18632075/intel-qualcomm-huawei-ban-us-chipmakers-report
https://www.inverse.com/article/40090-ces-2018-why-china-s-huawei-won-t-be-signing-a-deal-with-at-t
https://www.cnbc.com/2018/02/13/chinas-hauwei-top-us-intelligence-chiefs-caution-americans-away.html
https://foreignpolicy.com/2019/05/21/china-raises-threat-of-rare-earth-mineral-cutoff-to-us/
https://thenextweb.com/tech/2019/05/21/trump-delays-huawei-ban-by-90-days/
#recap #TheMATTER