“พูดถึงบาป 7 ประการในสังคม หนึ่งในนั้นคือการเมืองปราศจากหลักการ ผมไม่สามารถทำบาปนั้นได้ ผมจึงจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”
ข้อความนี้ คือคำกล่าวในท้ายประโยค จากอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ประกาศลาออกจาก ส.ส.ประชาธิปัตย์ หลังจากที่พรรคมีจุดยืนที่ชัดเจนว่า จะสนับสนุนพลังประชารัฐที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ต่ออีกสมัย
นี่คือส่วนหนึ่งของความเดือดๆ ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา The MATTER ขอสรุปมาให้สั้นๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง หลังจากพรรคสีฟ้าอย่างประชาธิปัตย์มีมติที่สำคัญออกมา
1.) มติสำคัญของประชาธิปัตย์ ออกมาเมื่อคืนนี้ โดยที่ประชุมของพรรคมีมติเห็นชอบให้ร่วมตั้งรัฐบาลกับพลังประชารัฐ โดยเหตุผลหลักๆ มีหลายข้อ เช่น เพื่อให้มีรัฐบาลใหม่ได้โดยเร็ว รวมถึง เพื่อ ‘ปิดสวิตช์’ คสช. โดยการมีรัฐบาลใหม่ (ที่ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. กำลังจะเป็นนายกฯ อีกสมัย)
2.) แต่มตินี้ของประชาธิปัตย์ ได้สะท้อนถึงความไม่เป็นเอกภาพในพรรคด้วยเหมือนกัน ประเด็นสำคัญคือ พี่มาร์ค อภิสิทธิ์ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เคยประกาศย้ำๆ ชัดๆ อยู่หลายรอบว่าเขาจะไม่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ
3.) มีรายงานว่า อภิสิทธิ์ ได้อธิบายเหตุผลต่างๆ ให้กับที่ประชุมพรรคไปแล้ว ถึงข้อเสนอของการเป็น ‘ฝ่ายค้านอิสระ’ ตามที่กลุ่ม New Dem ก็เคยเสนอให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของพรรค เพื่อกู้ศรัทธาจากประชาชนกลับคืนมา
4.) แต่เมื่อพรรคเลือกจะมายืนข้างเดียวกับพลังประชารัฐ จึงกลายเป็นคำถามใหญ่มากๆ ถึงความน่าเชื่อถือที่พรรคเคยมี และความรับผิดชอบต่อสิ่งที่อดีตหัวหน้าพรรคเคยประกาศเอาไว้ก่อนเลือกตั้ง
5.) เมื่อเป็นเช่นนี้ ไม่นานนักหลังประชาธิปัตย์มีมติออกมา ก็มีสมาชิกบางส่วนในพรรคเริ่มแสดงท่าทีถอนตัวออกจากพรรคกันเรื่อยๆ เช่น
-สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.
-ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย จากกลุ่ม New Dem
-นัฏฐิกา โล่ห์วีระ อดีตผู้สมัครจังหวัดชัยภูมิ
-ทัดชนม์ กลิ่นชำนิ สมาชิกพรรคตั้งแต่อายุ 18 ปี
-พริษฐ์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ สมาชิกพรรค
6.) เช่นเดียวกับ ‘ไอติม’ หัวหอกของกลุ่ม New Dem ที่ประกาศเมื่อเช้านี้ว่าจะลาออกจากประชาธิปัตย์ เพราะไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของพรรค
“ในฐานะสมาชิกพรรคคนหนึ่ง ผมพยายามอย่างเต็มที่ในการนำเสนอทางเลือกให้กับพรรค ที่ผมเชื่อว่าจะทำให้เราได้รักษาคำพูดที่เราให้ไว้กับประชาชน รักษาอุดมการณ์ดั้งเดิมของพรรคซึ่งยังคงเหลือร่องรอยอยู่ในชื่อของพรรค และ สำคัญที่สุด รักษาผลประโยชน์ของประชาชน ด้วยการนำพาประเทศเดินไปข้างหน้าบนถนนสายประชาธิปไตย” คือคำชี้แจงจากไอติม
7.) และแล้วแรงสะเทือนครั้งใหญ่ที่สุด ก็เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้านี้ ท่ามกลางกระแสข่าวตลอดทั้งคืนว่า อภิสิทธิ์ จะขอลาออกจากพรรค เมื่อการแถลงข่าวจบลง มันก็เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า ข่าวลือนั้นเป็นจริง
ในช่วงหนึ่งอภิสิทธิ์ บอกว่า “พูดถึงบาป 7 ประการในสังคม หนึ่งในนั้นคือการเมืองปราศจากหลักการ ผมไม่สามารถทำบาปนั้นได้ ผมจึงจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”
“ขอยอมรับว่าตลอด 27 ปีของการเป็นส.ส.ที่ผ่านมาไม่เคยอึดอัดในการลงมติเพื่อให้เลื่อนการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ทั้งที่ไม่มีเหตุผลตอบกลับสังคม จึงขอถือโอกาสนี้ขอโทษกับประชาชน แต่ที่ทำไปเพราะไม่ต้องการฝืนมติพรรค และลดน้ำหนักกับการที่จะต้องไปต่อสู้ภายในพรรคเพื่อให้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องในเรื่องที่ใหญ่กว่า
“ดังนั้นเมื่อถึงวันนี้แล้วผมเหลือทางเดียวที่จะรักษาเกียรติภูมิ ไม่ใช่เฉพาะผม แต่รวมถึงเกียรติภูมิของตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่มีคำขวัญว่าสัจจังเว อมตะวาจา ที่จะต้องดรักษาคำพูดและรับผิดชอบกับคำพูดที่กล่าวไว้กับประชาชน เพราะการทำงานของผมนั้นยึดถืออุดมการณ์ และหลักการเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เป็นเรื่องของการเลื่อนลอย”
8.) ต่อจากนี้ต้องตามกันว่า เมื่อไม่มีทั้งหัวหอกของ New Dem อย่างไอติม และไม่มีอดีตหัวหน้าพรรคอย่างอภิสิทธิ์แล้ว ก้าวต่อไปของประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะกับในสถานการณ์ที่ได้จัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐจริงๆ
9.) รอยร้าวที่เกิดขึ้นจากการร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐ จะส่งผลต่อสมาชิกคนอื่นๆ ด้วยแค่ไหน และบาดแผลที่เกิดขึ้นจะเกิดอาการเลือดไหลในพรรคอีกต่อไปหรือไม่?
อ้างอิงจาก
https://www.thaipost.net/main/detail/37714
https://www.tnnthailand.com/content/9286
https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_2584590
#Recap #TheMATTER