สถานการณ์ล่าสุดในฮ่องกงตอนนี้ กำลังเดือดมากๆๆๆ แม้จะเป็นตอนดึกแล้วแต่ตำรวจกับผู้ชุมนุมก็ได้เผชิญหน้าและปะทะกันเป็นระยะๆ รวมถึงมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บแล้ว
ตลอดทั้งวันนี้มีการชุมนุมครั้งใหญ่มากเกิดขึ้นในฮ่องกง ผู้ชุมนุมลงเดินบนท้องถนน เพื่อคัดค้านร่างกฎหมาย ‘ส่งผู้ร้ายข้ามแดน’ สื่อหลายสำนักรายงานว่า นี่คือการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในฮ่องกง นับตั้งแต่ปี 2557
เกิดอะไรขึ้นในฮ่องกง? อะไรคือข้อถกเถียงในร่างกฎหมายฉบับนี้ และมันสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างฮ่องกงกับจีนอย่างไรบ้าง? The MATTER ขอสรุปให้เข้าใจในโพสต์เดียว
1.) การประท้วงในวันนี้ เกิดขึ้นโดยกลุ่มที่ต่อต้านร่างกฎหมายเกี่ยวกับการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน หลายฝ่ายประเมินกันว่านี่คือการชุมนุมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่หลังเกิดการชุมนุมใหญ่เพื่อต่อต้านอิทธิพลของจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อปี 2014
2.) ร่างกฎหมายที่ว่านี้ มีเนื้อหาที่เปิดทางให้เกิดระบบซึ่งผู้บริหารฮ่องกง (Chief Executive) สามารถส่งตัว ‘ผู้ต้องสงสัย’ ที่ก่อคดีไปให้เจ้าหน้าที่พิจารณาคดีที่จีนแผ่นดินใหญ่ได้ โดยตามคำชี้แจงของทางการฮ่องกงคือ การพิจารณาจะเป็นกรณีๆ ไป
โดยร่างกฎหมายจะเปิดทางให้จีน ไต้หวัน และมาเก๊า ร้องขอการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน ในกรณีมีผู้ต้องสงสัยนั้นถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญา
3.) ร่างกฎหมายนี้เกิดขึ้นหลังจากมีกรณีที่ ชายคนหนึ่งต้องสงสัยในคดีฆ่าภรรยาชาวฮ่องกงของตัวเองที่ไต้หวัน เขาได้หนีออกจากไต้หวัน กลับไปยังฮ่องกงเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งทางการไต้หวัน ได้ขอให้ทางการฮ่องกงส่งเขากลับมาให้ ทว่า ทางการฮ่องกงไม่สามารถทำตามได้ เพราะไม่มีข้อตกลงส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับไต้หวัน
“เหตุฆาตกรรมที่ไต้หวัน เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คดีที่ร้ายแรงสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่และทุกเวลา” คือคำแถลงยืนยันความจำเป็นของร่างกฎหมายนี้จากทางการฮ่องกง พร้อมระบุด้วยว่า ด้วยเหตุแบบนี้แหละ จึงต้องมีกลไกอะไรบางอย่าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องการส่งตัวคนร้ายข้ามแดนขึ้นอีก
4.) อย่างไรก็ดี แม้ว่าทางการฮ่องกงจะชี้แจงถึงความจำเป็นของกฎหมาย โดยอิงจากกรณีที่เกิดขึ้น แต่สำหรับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในฮ่องกงแล้ว หลายกลุ่มคิดว่ากฎหมายนี้มีเจตนาทางการเมืองที่ซุกซ่อนอยู่ และค่อนข้างอันตราย เพราะมันจะเปิดทางให้ฮ่องกง ส่งตัวคนที่ต่อต้านจีนไปดำเนินคดีที่จีนได้ง่ายมากขึ้น
5.) มาร์ติน ลี หนึ่งในนักการเมืองฮ่องกงสายต้านอิทธิพลจีน และเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้เกิดการชุมนุมครั้งนี้ ให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ว่า “นี่คือการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของฮ่องกง” เพราะร่างกฎหมายนี้ถ้าเริ่มใช้จริงๆ มันจะเป็นใบเบิกทางที่สำคัญ ที่จะทำให้จีนเข้ามามีอิทธิพลครอบงำฮ่องกงได้อย่างเข้มข้นมากๆ
“ถ้าเราแพ้ ฮ่องกงจะไม่ใช่ฮ่องกงอีกต่อไป ฮ่องกงจะกลายเป็นเพียงแค่เมืองหนึ่งของจีนเท่านั้น” ลี กล่าว
ขณะที่ผู้ชุมนุมต่างก็กังวลว่า ระบบการพิจารณาคดีที่จีนแผ่นดินใหญ่นั้น อาจจะไม่ได้ให้ความเป็นธรรม และมีความยุติธรรมเพียงพอต่อผู้ต้องสงสัยที่ถูกส่งตัวไปดำเนินคดี สอดคล้องกับกลุ่มผู้พิพากษาอาวุโสในฮ่องกงที่ไม่เชื่อมั่นกับระบบศาลยุติธรรมในจีนแผ่นดินใหญ่
6.) แม้ว่าบริบทของจีนกับฮ่องกง จะเป็น semi-autonomous คือกึ่งๆ ดูแลตัวเองภายใต้ ‘one country, two systems’ มาแล้วหลายปี หากแต่ชาวฮ่องกงจำนวนไม่น้อยก็ยังหวงแหนความเป็นอิสระ และไม่เห็นด้วยกับการถูกจีนครอบงำทางการเมืองอยู่อย่างต่อเนื่อง
ผู้ชุมนุมหลายคนเห็นว่า กฎหมายนี้จะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้ฮ่องกง ตกอยู่ในอิทธิพลของจีนได้มากไปกว่าเดิม
7.) การชุมนุมครั้งนี้มีหลายฝ่ายที่เข้าร่วมและแสดงจุดยืนที่สอดคล้องกับภาคประชาชน เช่น สมาคมสื่อในฮ่องกง (The Hong Kong Journalists Association) ที่เห็นว่า ร่างกฎหมายนี้ไม่เพียงแค่เป็นภัยคุกคามความปลอดภัยของสื่อในฮ่องกง แต่มันยังรวมไปถึงอันตรายต่อหลักเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนอีกด้วย
8.) มาดูที่ความเห็นของทางการฮ่องกงกันบ้าง แคร์รี แลม ผู้บริหารเกาะฮ่องกง เธอยังคงยืนยันว่า ฮ่องกงมีความเป็นอิสระในด้านการพิจารณากฎหมายของตัวเองจริงๆ และยืนยันไม่ได้ทำตามใจของจีนแผ่นดินใหญ่ นอกจากนี้ร่างกฎหมายที่ปรับปรุงแล้ว จะมีมาตรการป้องกันสิทธิของผู้ต้องสงสัยรวมอยู่ด้วย
ก่อนหน้านี้ แคร์รี แลม ก็เคยยืนยันว่า ภายใต้กฎหมายนี้จะไม่มีผู้ต้องสงสัยคนไหนที่เสี่ยงถูกทรมาน หรือประหารชีวิต รวมถึงต้องเจอกับข้อหาทางการเมืองในวันที่ถูกส่งตัวไปยังจีนแผ่นดินใหญ่อย่างแน่นอน
รัฐบาลฮ่องกง ย้ำด้วยว่าจะส่งตัวผู้ต้องสงสัยเฉพาะคดีที่มีโทษจำคุกสูงสุดอย่างน้อย 7 ปีเท่านั้น
9.) ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างฮ่องกงและจีนนั้นมีประเด็นร้อนๆ ที่ระอุขึ้นอยู่บ่อยครั้ง นอกจากการ ‘ปฏิวัติร่ม’ ที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีที่แล้ว ระหว่างทางจนถึงวันนี้ก็ยังคงมีนักกิจกรรมสายต่อต้านจีน ถูกจับกุมและดำเนินคดีอยู่หลายๆ คน นี่คือหนึ่งในเชื้อไฟที่ทำให้คนฮ่องกงจำนวนไม่น้อย ยังคงรู้สึกไม่ไว้วางใจจีนแผ่นดินใหญ่เรื่อยมา
10.) ขณะเดียวกัน ก็เป็นที่รับรู้กันว่าผู้บริหารฮ่องกงที่มาจากการเลือกตั้งอย่าง แคร์รี แลม เองก็เป็นนักการเมืองสายสนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่อยู่แล้ว และการประกาศตัวเมื่อช่วงต้นปีทีผ่านมา ว่าจะยกเครื่องกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนก็ถูกมองว่า เป็นการเพิ่มอิทธิพลให้จีนมีเหนือฮ่องกงมากยิ่งขึ้น
11.) ตัดภาพกลับมาที่การชุมนุมครั้งที่เพิ่งเกิดขึ้น ตอนนี้สถานการณ์ก็ยังถือว่าเข้มข้นและต้องติดตามกันต่อเนื่อง โดยสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง ประกาศแจ้งเตือนคนไทยในฮ่องกงว่า ตอนนี้มีผู้ชุมนุมกว่า 500,000 คน (ตัวเลขประเมินโดยผู้จัดการประท้วง) แล้ว และแนะนำให้คนไทยหลีกเลี่ยงสถานที่ชุมนุม เพราะอาจจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงขึ้นได้
12.) หลังจากนี้ ต้องติดตามกันว่า การชุมนุมครั้งนี้จะไปต่ออย่างไร ท่ามกลางสายตาที่จับจ้องจากหลายๆ ประเทศว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป จะได้ไปต่อหรือไม่?
รายงานระบุว่า การโหวตร่างกฎหมายจะเกิดขึ้นในวันที่ 12 มิถุนายนนี้
อ้างอิงจาก
https://edition.cnn.com/2019/06/08/asia/hong-kong-extradition-bill-protest-intl/index.html
https://time.com/5601156/hong-kong-extradition-law-protests/
https://news.thaipbs.or.th/content/280738
#recap #TheMATTER