สงครามกลางเมือง ความโศกเศร้าและเสียงกรีดร้องของผู้คนจำนวนมาก ชีวิตที่ต้องบาดเจ็บและเสียชีวิต สภาพสังคมในซูดานตอนนี้กำลังอยู่สภาวะวิกฤต หลังจากกองทัพเปิดฉากโจมตีใส่พลเรือน
หลายวันมานี้ เสียงจากผู้คนทั่วโลกได้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้คนในซูดานที่เป็นเหยื่อความรุนแรงจากรัฐ และกลายเป็นแฮชแท็ก #prayforsudan เพื่อให้วิกฤตที่กำลังดำเนินอยู่นี้เป็นที่รับรู้กันมากขึ้น
เกิดอะไรขึ้นในซูดาน? สถานการณ์เดินทางมาถึงจุดที่เกิดการสังหารหมู่ประชาชนได้อย่างไร? The MATTER ขอสรุปเรื่องราวโดยย่อไว้ให้จบในโพสต์เดียว
1.) เริ่มที่ภูมิหลังความขัดแย้งกันก่อน กว่า 30 ปีก่อนหน้านี้ ซูดานตกอยู่ใต้การปกครองของผู้นำเผด็จการชื่อว่า ดีโอมาร์ อัล-บาเชียร์ เขาก้าวขึ้นมาอยู่ในอำนาจด้วยการรัฐประหารเมื่อปี 1989 และสถาปนาระบอบเผด็จการให้ตั้งมั่นในซูดานได้มาอย่างต่อเนื่อง
2.) รัฐบาลของบาเชียร์กระชับอำนาจการเมืองไว้ที่ตัวเองอย่างเข้มข้น อำนาจในสภาทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ถูกควบคุมโดยเครือข่ายการเมืองของบาเชียร์แทบทั้งสิ้น ส่งผลให้ระบบถ่วงดุลและตรวจสอบรัฐบาลที่ควรเป็นไปตามหลักสากลนั้น แทบไม่เกิดขึ้นจริงในซูดาน
3.) แม้ว่าซูดานจะมีการเลือกตั้ง แต่มันก็ถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใสมาเสมอ มีข้อสังเกตว่ารัฐบาลใช้กลไกรัฐต่างๆ นานาเพื่อช่วยเหลือให้ฝ่ายรัฐบาลชนะ
4.) ถึงอย่างนั้น แม้กุมอำนาจทางการเมืองได้ แต่ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นคือปัญหาด้านเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน ที่ทำให้ผู้คนในซูดานเกิดความยากจนและคับแค้นใจต่อการบริหารงานของบาเชียร์มากขึ้นเรื่อยๆ จนรวมกลุ่มกันชุมนุมต่อต้านบาเชียร์ ซึ่งรัฐบาลเองก็เคยใช้ความรุนแรงเพื่อปราบปรามผู้ชุมนุมมาแล้ว
5.) เมื่อปลายปีที่แล้ว รัฐบาลออกมาตรการลดการสนับสนุนด้านเชื้อเพลิงและอาหาร (หลังจากถูกคว่ำบาตรจากนานาชาตินานหลายปี อันเนื่องจากประท้วงที่ซูดานปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง) ส่งผลให้ราคาสินค้าต่างๆ ตลอดจนค่าครองชีพในซูดานเพิ่มขึ้น แรกเริ่มเดิมที ผู้ชุมนุมได้ออกมาประท้วงเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป แตการชุมนุมได้ยกระดับกลายเป็นเรื่องโค่นล้มรัฐบาลในเวลาต่อมา
6.) BBC วิเคราะห์ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การชุมนุมยกระดับ คือการเห็นตัวอย่างในประเทศแอลจีเรียที่ประชาชนมีชัยชนะเหนือรัฐบาลได้สำเร็จ เช่นเดียวกับอิทธิพลของ Arab Spring ที่คนซูดานได้เห็นเป็นแรงบันดาลใจ
7.) การชุมนุมเริ่มคึกคักและมีผู้คนเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ รายงานระบุว่า ผู้นำการชุมนุมคือ สมาคมวิชาชีพชาวซูดาน (Sudanese Professionals Association) ซึ่งประกอบด้วยคนทำงานด้านสาธารณสุขและทนายความ นอกจากนั้นยังมีสถิติที่น่าสนใจว่า ผู้คนทุกเพศทุกวัยเข้าร่วมด้วย
8.) การชุมนุมเดินทางมาถึงจุดพีคเมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันครบรอบการต่อสู้ของประชาชน ที่โค่นล้มรัฐบาลเผด็จการเดิมของประธานาธิบดี Jaafar Nimeiri ในปี 1985 โดยผู้ชุมนุมบางส่วนได้เดินทางไปเรียกร้องต่อกองทัพของซูดาน สมาคมวิชาชีพซูดานได้เรียกร้องให้กองทัพต้องออกมาช่วยโค่นล้มรัฐบาลร่วมกับภาคประชาชน
9.) วันที่ 11 เมษายน มีทหารเข้าไปควบคุมตัวประธานาธิบดีบาเชียร์ รัฐมนตรีกลาโหมซูดาน อาวัด อิบิน อุฟ แถลงว่า กองทัพได้ยึดอำนาจ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อช่วยเปลี่ยนผ่านประเทศก่อนจะให้มีการเลือกตั้ง
10.) อย่างไรก็ดี เมื่อยึดอำนาจรัฐบาลได้แล้ว ผู้นำกองทัพซูดานได้ประกาศจัดตั้งสภาเปลี่ยนผ่านโดยกองทัพ มีรายงานว่ากองทัพยังได้ ‘ยกเลิก’ ข้อตกลงเรื่องการเปลี่ยนผ่านอำนาจที่เคยให้ไว้กับฝ่ายผู้ชุมนุมก่อนหน้านี้
11.) แม้ผู้นำเผด็จการจะถูกโค่นจากอำนาจ แต่ผู้ชุมนุมเริ่มรู้สึกไม่ไว้วางใจอำนาจใหม่จากกองทัพที่จะเข้ามาแทนที่ มีความเป็นกังวลว่า วงจรของการเมืองแบบเผด็จการจะย้อนกลับมาเหมือนเดิม ผู้ชุมนุมจึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลทหารต้องเปลี่ยนผ่านมาเป็นรัฐบาลของพลเรือน และเปิดช่องทางให้มีการเลือกตั้งที่โปร่งใส ยุติธรรม ตามหลักประชาธิปไตย
12.) การเจรจาระหว่างผู้ชุมนุมกับกองทัพเกิดขึ้นเรื่อยๆ แต่ข้อตกลงก็ไม่ลงตัว จนสถานการณ์ทวีความรุนแรงในวันที่ 3 มิถุนายน เมื่อกองทัพเปิดฉากยิงใส่ผู้ชุมนุม และนำไปสู่ความรุนแรงครั้งใหญ่ที่ตามมา และส่งผลให้ความไว้วางใจต่อผู้ชุมนุมที่มีกับกองทัพต้องแตกร้าว
13.) ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากนั้น ผู้ชุมนุมได้เริ่มต้นแคมเปญ ‘อารยะขัดขืน’ เพื่อโต้ตอบความรุนแรงจากกองทัพ พร้อมกับย้ำข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนผ่านอำนาจจากทหารมาสู่พลเรือนโดยเร็ว
14.) สำนักข่าว Al Jazeera อ้างอิงข้อมูลจากแพทย์ผู้อยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ชุมนุมว่าว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 113 ราย ส่วน BBC มีรายงานถึงเด็กผู้หญิงที่ถูกทหารข่มขืน แต่ทางฝั่งกองทัพออกมาปฏิเสธว่าเรื่องการข่มขืนนี้ไม่เป็นความจริง และบอกว่ามันเป็นที่ผิดพลาด (false information)
15.) กองทัพยืนยันว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงปฏิบัติการที่มุ่งเป้าไปที่คนที่ก่อให้เกิดปัญหาและอาชญากรรมระดับที่เล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งคำชี้แจงนี้ค่อนข้างขัดกับภาพต่างๆ ที่ถูกนำเสนอออกไปจากสำนักข่าวนานาชาติ ส่วนหลายฝ่ายออกมาวิจารณ์กองทัพซูดานอย่างรุนแรง รวมถึงการกล่าวว่านี่คือการสังหารหมู่ครั้งใหญ่
16.) แล้วหลังจากนี้สถานการณ์จะเป็นอย่างไร? เราต้องจับตากันทั้งแรงกดดันจากนานาชาติ รวมถึงมหาอำนาจด้วยว่าจะมีจุดยืนอย่างไรต่อซูดาน เช่นสหรัฐฯ ที่ถูกคาดหวังว่าต้องแสดงบทบาทมากกว่านี้ ที่จะผลักดันให้ประเทศอื่นๆ ช่วยกดดันกองทัพซูดานด้วย
17.) ตัวละครที่น่าสนใจในการคลี่คลายความขัดแย้ง ยังอยู่ที่นายกรัฐมนตรี เอธิโอเปีย อะบีย์ อาห์หมัด ที่อาสาขอเป็นตัวกลางช่วยเจรจาระหว่างผู้ชุมนุมกับกองทัพ เพื่อให้กลับมาหาจุดร่วมกันในข้อตกลงได้อีกครั้ง ท่ามกลางความหวังว่า ความรุนแรงจะยุติลง และกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยจะเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังในซูดาน
อ้างอิงจาก
http://www.arabnews.com/node/1480936/middle-east
#recap #TheMATTER