จบกันไปแล้ว กับการประชุมใหญ่ G20 ครั้วที่ 14 ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีผู้นำโลกของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ 19 ประเทศ และสหภาพยุโรป ที่หลายคนจับตาว่า การรวมตัวของผู้นำโลกครั้งนี้ จะมีประเด็นไหนสำคัญที่อยู่หยิบยกมาเจรจากันบ้าง
การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้น 2 วัน โดยมีการพูดคุยในประเด็นสำคัญ 4 หัวข้อหลัก คือ เศรษฐกิจระดับโลก นวัตกรรมดิจิทัล การส่งเสริมบทบาทของผู้หญิง และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีการประชุมทวิภาคีนอกรอบการประชุม G20 ซึ่งการประชุมที่น่าจับตาส่วนใหญ่เป็นของ โดนัลด์ ทรัมป์ ปธน.สหรัฐฯ กับทั้ง สี จิ้นผิง ผู้นำของจีน และวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ท่ามกลางความขัดแย้งทั้งด้านเศรษฐกิจ และการเมือง
ผู้นำโลกได้เปิดโต๊ะเจรจาอะไรกันบ้าง มีประเด็นไหนที่เป็นการประชุมสำคัญ รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ของเราได้ไปกล่าวสุนทรพจน์อะไรบนเวทีนี้ The MATTER สรุปไฮไลท์ของการพูดคุยใน G20 มาให้แล้ว
สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ
หนึ่งไฮไลท์ที่ของการประชุมนี้ คือการพบปะทวิภาคีของจีน และสหรัฐฯ ท่ามกลางปัญหาสงครามการค้า และการขัดแย้งกันระหว่างบริษัท Huawei ของจีน และสหรัฐฯ ซึ่งในการพูดคุยคราวนี้ ทั้งทรัมป์ และสี ตกลงที่จะรื้อฟื้นการเจรจาทั้งหมด และสหรัฐฯ ยังยอมระงับการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มในระหว่างรื้อฟื้นการเจรจา แต่ถึงอย่างนั้นสหรัฐฯ ก็จะไม่ยกเลิกกำแพงภาษีต่อสินค้าจีน ที่ประกาศใช้ไปแล้ว
ทรัมป์ยังประกาศหลังการเจรจาทวิภาคีอีกว่า เขาจะอนุญาตให้บริษัทสหรัฐฯ สามารถขายสินค้าและอุปกรณ์ให้กับ Huawei ได้ด้วย แต่ถึงอย่างนั้น ทรัมป์ก็ยังไม่ระบุว่าจะยอมถอด Huawei ออกจากบัญชีดำบริษัทต่างชาติหรือไม่
การเจรจาระหว่างผู้นำทั้ง 2 ในครั้งนี้ ดูจะมีผลลัพธ์ที่ออกมาในทิศทางบวก ซึ่งในการแถลงข่าวก่อนจบการประชุม ทรัมป์ยังได้กล่าวยกย่อง ปธน. สี และหวังว่าทั้งสองประเทศจะได้ร่วมมือกัน “ฉันคิดว่าเราสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ หากจีนจะเปิดจะเป็นการเปิดตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ในตอนนี้จีนไม่เปิดให้สหรัฐฯ … ดังนั้นมันจึงยังไม่ควรได้รับอนุญาตให้เกิดขึ้น” เขากล่าว
ภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในประเด็นนี้ เกิดการแบ่งแยกเป็น 2 ฝ่ายชัดเจนในการประชุม คือฝ่ายของฝรั่งเศส นำโดย ปธน.อิมมานูเอล มาครง ที่ยืนยันชัดเจนว่า จะไม่ยอมเซ็นข้อตกลงใดๆ ที่ทำให้ข้อตกลงปารีสอ่อนแอลงเด็ดขาด รวมถึงผู้นำในหลายประเทศ ที่เห็นพ้องต้องกันว่า พวกเขาจะไม่ยอมรับข้อตกลงเรื่องสภาพภูมิอากาศที่มีเนื้อหาอ่อนกว่าการประชุมในครั้งก่อนๆ หรือเนื้อหาที่ทำให้ข้อตกลงปารีสยึดหยุ่นลง
ในขณะที่ ฝั่งทรัมป์เองก็ได้ชักจูงบางประเทศ เช่น ซาอุดีอาระเบีย บราซิล ออสเตรเลีย และตุรกี มาเป็นพวก เพื่อร่วมกันคัดค้านข้อบังคับจากข้อตกลงปารีส เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่ยากเกินไป และทรัมป์ยังมองว่าสหรัฐฯ ทำดีแล้วในการจัดการปัญหานี้ และเขาไม่ต้องการเอาเศรษฐกิจ และบริษัทของสหรัฐฯ มาเสี่ยงกับการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ที่อาจส่งผลกระทบด้วย
สหรัฐฯ – รัสเซีย และการแทรกแซงการเลือกตั้ง
ทรัมป์ และปูติน ยังได้พบกันอย่างทวิภาคี ท่ามกลางประเด็นแทรกแซงการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ในปี 2016 ที่ยังคงมีการตรวจสอบอยู่ โดยครั้งนี้ ผู้นำทั้งสองได้เจรจากันในประเด็นความกังวลต่อภัยคุกคามของรัสเซียในยูเครน และในซีเรีย ทั้งยังมีการพูดถึงสนธิสัญญาบางส่วนที่ควบคุมความสัมพันธ์ทางนิวเคลียร์ระหว่างสองประเทศนี้ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีมุกตลกจากทั้งคู่ หลังจากช่างภาพข่าวถามทรัมป์ว่า เขาจะบอกปูตินว่าไม่ให้เข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ในอนาคตหรือไม่ ซึ่งทรัมป์บอกว่า เขาจะทำแน่นอน ก่อนหันไปยิ้มกับปูตินและพูดว่า “อย่าเข้าไปยุ่งกับการเลือกตั้งอีก ได้โปรด”
ประเด็นอื่นๆ
ยังมีประเด็นอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ความสัมพันธ์ของทรัมป์ และราชวงศ์ซาอุดิอาระเบียที่ดูจะแน่นแฟ้นหลังการประชุมนี้, ความสัมพันธ์ของอังกฤษ และรัสเซีย ซึ่งผู้นำอย่าง เทเรซา เมย์ และปูติน ได้พบกันเป็นครั้งแรกหลังกรณีอดีตสายลับรัสเซีย ถูกวางยาพิษเสียชีวิตในอังกฤษ ซึ่งเมย์ได้เรียกร้องให้รัสเซียเลิกปฏิบัติการณ์ที่ไร้ความรับผิดชอบ ในขณะที่รัสเซียยังคงปฏิเสธถึงความเกี่ยวข้องกับประเด็นนี้
การฆาตกรรมนักข่าว จามาล คาช็อกกี ชาวซาอุดิอาระเบีย ในประเทศตุรกี ก็ถูกพูดถึงในการประชุมครั้งนี้เช่นกัน ซึ่งแม้สหรัฐฯ เพื่อนซี้ของซาอุฯ และซาอุฯ จะพยายามหลีกเลี่ยงการพูดถึงประเด็นนี้ แต่เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ปธน.ตุรกี ซึ่งเป็นประเทศที่เกิดเหตุการณ์ฆาตรกรรม ก็ออกมาวิจารณ์ว่า ซาอุฯ ควรให้ความกระจ่างในประเด็นนี้ด้วย
นอกจากนี้ ประเด็นยังมีคาบสมุทรเกาหลี ที่ในขณะการประชุม ทรัมป์ได้ทวีตว่าเขาจะไปเกาหลีใต้หลังจบประชุมนี้ และหวังว่า คิม จองอึน จะมาพบเขาเพื่อทักทาย และจับมือกันบริเวณพรมแดนของเกาหลีเหนือ-ใต้ ซึ่งทั้งคู่จะได้พบกันหรือไม่ เราคงต้องติดตามกันต่อไป
สุนทรพจน์ของประยุทธ์
แม้ว่าไทยจะไม่ได้เป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกของ G20 แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ของเราก็ได้เดินทางไปร่วม ในฐานะประธานอาเซียน ในสถานะอาคันตุกะ ที่เข้าร่วมประชุมได้ แต่ไม่มีบทบาทในการประชุม แต่ก็ได้มีการพบผู้นำประเทศอื่นๆ แบบทวิภาคี รวมถึงกล่าวสุนทรพจน์แสดงความคิดเห็นในหัวข้อ ‘เศรษฐกิจโลก’ ด้วย
โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า หลังจากได้เป็นประธานอาเซียน ก็พบว่าเศรษฐกิจโลกมีความเปราะบาง ไม่แน่นอน โดยสาเหตุหลักคือการขาดความเชื่อมั่นต่อระบบการค้าพหุพาคี ที่นำไปสู่การกระทบต่อบรรยากาศความร่วมมือระหว่างประเทศ นายกฯ จึงได้เสนอแนวทางความร่วมมือ 3 ข้อคือ การเปิดเสรีทางการค้า และรวมตัวทางเศรษฐกิจ, เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการค้าพหุภาคี และสร้างความสอดคล้องในภูมิภาค
ทั้งตลอดการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ยังได้โพสต์ภาพร่วมกับผู้นำประเทศอื่นๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดีย พร้อมด้วยแฮชแท็กประจำตัวอย่าง #PrayuthG20 ด้วย
อ้างอิงจาก
https://edition.cnn.com/politics/live-news/g20-june-2019-intl-hnk/index.html
https://www.aljazeera.com/news/2019/06/g20-summit-2019-latest-updates-190624071602768.html
https://www.thairath.co.th/news/politic/1603086
https://www.posttoday.com/world/593452
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/21316
#Recap #G20 #TheMATTER