ตอบเร็วๆ เลยว่า “ยังไม่ถึงขั้นนั้น” ที่ว่าไทยจะเสียค่าโง่หลายหมื่นล้านบาท หลังแพ้คดี Philip Morris กับฟิลิปปินส์ในการพิจารณาคดีพิพาทขององค์การการค้าโลก (WTO) แต่ถามว่า แล้วเรามีโอกาสจะเสียค่าโง่ที่ว่าไหม – คำตอบก็คือ ไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้
ที่ต้องตอบวกไปวนมา เพราะคดีนี้มีความสลับซับซ้อน The MATTER เลยหาข้อมูลมาสรุปให้อ่านกันง่ายๆ ว่า คดี Philip Morris มันคือคดีอะไร? ทำไมฟิลิปปินส์ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง? ทำไมไปฟ้องกันที่ WTO? และถึงขั้นไหนที่ไทยจะต้องเสียค่าโง่มหาศาล?
1.) เอ่ยถึงชื่อ Philip Morris ก่อน หลายคนน่าจะรู้จักว่าเป็นบริษัทบุหรี่ระดับโลก เจ้าของบุหรี่ยี่ห้อดังที่มีขายในไทย เช่น L&M หรือ Marlboro
2.) คดี Philip Morris ครั้งนี้ จริงๆ แล้วเริ่มจากฝั่งไทย โดยอัยการสูงสุดไทยได้ยื่นฟ้องตัวแทนบริษัท Philip Morris ในไทย เมื่อปี 2559 ฐานละเมิดกฎหมายศุลกากร สำแดงราคาสินค้านำเข้าเป็นเท็จ ต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อให้เสียภาษีอากรน้อย (สำแดงราคานำเข้า ซองละ 7 บาท แต่ขายปลีก ซองละ 145 บาท) ซึ่งมูลค่าของสินค้าและภาษีอากรที่หลีกเลี่ยงรวมกันคือ 2 หมื่นล้านบาท
3.) จำตัวเลข 2 หมื่นล้านบาทไว้ให้ดี เพราะนี่คือตัวเลขที่จะไปพูดกันภายหลังว่า คือ ‘ค่าโง่’ ที่ไทยอาจเสีย
4.) แม้ความเสียหายที่รัฐไทยประเมินภายหลังจะอยู่ที่ 8 หมื่นล้านบาท (ตามกฎหมายศุลกากร มีโทษปรับสี่เท่าของราคาสินค้าและภาษีอากรที่หลีกเลี่ยง และโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี) โดยคดีเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2545-2549
และเหตุที่ต้องฟ้องในปี 2559 เพราะคดีนี้มีอายุความ 15 ปี หรือหมดอายุความระหว่างปี 2560-2564
5.) บางคนอาจสงสัยว่า คดีนี้คู่กรณีน่าจะเป็นไทยกับ Philip Morris สิ แล้วเหตุใดฟิลิปปินส์จึงเข้ามาเกี่ยวข้อง? นั่นเพราะฟิลิปปินส์มีโรงงานขนาดใหญ่ของ Philip Morris และเป็นผู้ส่งออกบุหรี่ยี่ห้อดังนี้มายังไทยนั่นเอง (อีกส่วนมาจากอินโดนีเซีย)
6.) เหตุที่กรณีนี้ต้องไปที่ WTO เพราะฟิลิปปินส์อ้างเหตุผลว่า ไทยเล่นงาน Philip Morris เพราะต้องการกีดกันสินค้าจากฟิลิปปินส์ (บุหรี่) เพื่อปกป้องโรงงานยาสูบของตัวเอง
7.) ความจริงฟิลิปปินส์เคยฟ้องไทยกรณีนี้กับ WTO มาครั้งหนึ่งแล้วในปี 2551 โดยครั้งนั้น องค์กรระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement Body – DSB) ของ WTO ตัดสินให้ไทยแพ้ และยอมรับจะปรับปรุงมาตรการเกี่ยวกับการคิดภาษีนำเข้าบุหรี่ใหม่
8.) พออัยการสูงสุดฟ้องตัวแทน Philip Morris ในไทยในปี 2559 ฟิลิปปินส์ก็ฟ้องซ้ำต่อ DSB ของ WTO อีกครั้ง และมีการตั้งคณะพิจารณาคดีขึ้นมา ผลปรากฎว่าไทยแพ้ในชั้นต้น และชั้นอุทธรณ์
9.) การแพ้ในชั้นอุทธรณ์นี่แหล่ะที่มาเป็นข่าวล่าสุด ว่าไทยแพ้คดีใน WTO และบางสื่อเขียนไปในทำนองว่า อาจทำให้เราต้องเสียค่าโง่เป็นเงินก้อนโต
10.) ตัวเลข 2 หมื่นล้านบาท ก็มาจากมูลค่าสินค้าและภาษีอากรที่ทางการไทยอ้างว่า Philip Morris หลีกเลี่ยงแต่แรกนั่นเอง ซึ่งเคยมีแหล่งข่าวในกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า หากไทยแพ้คดีใน WTO ก็ ‘อาจจะ’ ถูกฟิลิปปินส์ฟ้องเรียกค่าเสียหายในเงินจำนวนใกล้เคียงกัน ..ย้ำคำว่า อาจจะ
11.) แต่ฝ่ายไทย โดยสรศักดิ์ มีนะโตรี รองอธิบดีกรมศุลกากร ก็ยืนยันว่าคดียังไม่จบ ยังอุทธรณ์ได้อีกครั้ง
“ส่วนการเรียกค่าเสียหาย ยังไม่ได้ระบุ และมีขั้นตอนอีกพอสมควร”
12.) รามอน โลเปซ รมว.กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของฟิลิปปินส์ บอกว่า คดีนี้ยืดเยื้อมาเป็นสิบปี ไทยควรจะปฏิบัติตามคำชี้ขาดของ WTO ได้แล้ว
13.) ส่วนตัวแทนของ Philip Morris ก็ส่งอีเมลถึงนักข่าวรอยเตอร์ เรียกร้องให้ทางการไทยยุติการฟ้องร้องตัวแทนของบบริษัทตนในไทย
14.) สำหรับคดีกล่าวหาว่า Philip Morris สำแดงราคาสินค้าเป็นเท็จเพื่อเลี่ยงการเสียภาษีอากรที่ทางการไทยฟ้อง ปัจจุบัน ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญาชั้นต้น ยังไม่มีคำตัดสินออกมา
15.) ก่อนหน้านี้ เคยมีเอกสารหลุด ดอน ปรมัตย์วินัย รมว.ต่างประเทศ เสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ช่วงต้นปี 2562 ให้ใช้อำนาจฝ่ายบริหาร ยุติการฟ้องร้องคดี “เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับประเทศ” จนถูกสมาชิกพรรคเพื่อไทยวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงว่า ก้าวก่ายคดีที่ฟ้องกับศาลไปแล้ว
16.) กล่าวโดยสรุป เรื่องค่าโง่ยังไกลไปที่จะพูดถึง เพราะคดีหลักที่ฟ้องใน WTO ยังไม่ยุติ อย่างไรก็ตาม ทางการไทยก็ยังไม่ตัดความเป็นไปได้ที่หากไทยแพ้คดีขึ้นมา อาจถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายภายหลัง
17.) พูดง่ายๆ คือยังต้องติดตามต่อไป อย่างใกล้ชิด
อ้างอิงจาก
https://thaipublica.org/2016/01/philip-morris-19-1-2559/
http://btc.ddc.moph.go.th/th/view.php?type=4&id=474
https://workpointnews.com/2019/07/15/wto-thai-measures-on-imported-cigarettes/
https://www.wto.org/english/news_e/news19_e/371rw2_e.htm
https://www.isranews.org/isranews/76518-morris00.html
https://www.hfocus.org/content/2019/05/17200
https://www.matichon.co.th/local/crime/news_116364
#Recap #TheMATTER