ทะเลาะกันมาบ่อย ขัดแย้งกันมาก็หลายประเด็น สำหรับประเทศเกาหลีใต้-ญี่ปุ่น สองประเทศเศรษฐกิจใหญ่ในเอเชีย แต่ตอนนี้ สถานการณ์ความสัมพันธ์ของคู่ กำลังอยู่ในจุดเดือดมากๆ อีกครั้ง แถมครั้งนี้ยังกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้งคู่ จนหลายฝ่ายมองว่าอาจจะกลายเป็นสงครามการค้าอีกคู่หนึ่งต่อจากสหรัฐฯ และจีนเลยด้วย
เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น กำลังทะเลาะอะไรกันในรอบนี้ ทำไมจากความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ที่มักเป็นชนวนของความแตกหัก จึงลามไปสู่เรื่องของเศรษฐกิจ และการบอยคอตสินค้า The MATTER มาสรุปสถานการณ์ความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศในโพสต์นี้แล้ว
1. ความขัดแย้งระหว่างเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เรียกได้ว่าเดือดเป็นระยะๆ ตลอดอยู่แล้ว โดยมีชนวนมาจากประวัติศาสตร์ของทั้งสองประเทศ ตั้งแต่ช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ซึ่งเกาหลีใต้เคยตกอยู่ใต้การปกครองของอาณานิคมญี่ปุ่น โดยสมัยนั้น มีชาวเกาหลีที่ถูกต้อนไปเป็นทาสบำเรอทางเพศให้กับทหาร รวมถึงถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานในอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในสมัยนั้น ที่การกดขี่ในสมัยนั้น ก็ได้กลายมาเป็นมรดกของสงครามและเหตุความขัดแย้งของทั้งคู่ถึงทุกวันนี้
2. แม้สงครามจะผ่านมาหลายทศวรรษแล้ว และทางญี่ปุ่นเอง เคยจ่ายค่าเยียวยาตามสนธิสัญญาปี 1965 จากการรับผิดชอบการกระทำในช่วงอาณานิคม เป็นเงินช่วยเหลือ 800 ล้านดอลลาร์แล้ว (ประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท) แต่เมื่อปลายปี 2018 ศาลฎีกาของเกาหลีใต้ ก็ได้สั่งให้บริษัท Nippon Steel & Sumitomo Metal และบริษัท Mitsubishi Heavy Industries จ่ายเงินให้กับโจทย์ทั้งหมด 9 คน ที่ถูกใช้แรงงานช่วงสงครามอีก ประมาณคนละ 100-150 ล้านวอน (ประมาณ 2.5-4 ล้านบาท) เพราะสนธิสัญญาฉบับนั้น ไม่รวมสิทธิของบุคคลในการเรียกร้องค่าชดเชยของตัวเอง
3. คำสั่งนี้ ส่งผลไปสู่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศที่เริ่มมึนตึงกันมาตั้งแต่ต้นปี จนจากการขัดแย้ง เรียกร้องให้ชดเชยทางประวัติศาสตร์ กลายมาเข้าสู่ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา อยู่ๆ ทางรัฐบาลญี่ปุ่น ได้ถอดเกาหลีใต้ออกจาก Whitelist หรือประเทศคู่ค้าสำคัญที่ได้รับการยกเว้น หรือได้รับการผ่อนปรนสูงสุดในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าและวัตถุดิบสำคัญกับญี่ปุ่น ซึ่งเกาหลีได้อยู่ในลิสต์นี้มาตั้งแต่ปี 2004 และคาดว่าการถอดถอนจะมีผลในวันที่ 24 เดือนนี้
4. การถูกถอดออกจากลิสต์จะทำให้ญี่ปุ่นเข้มงวดกับการส่งออกวัตถุดิบ หรือชิ้นส่วน กว่า 1,100 ชนิด ที่แต่เดิม เกาหลีใต้สามารถสั่งซื้อโดยไม่ต้องขออนุมัติ แต่ต่อจากนี้ซัพพลายเออร์ในญี่ปุ่นก็ต้องยื่นเรื่องขออนุมัติทุกครั้ง โดยใช้เวลาประมาณ 90 วัน ก่อนส่งออกให้กับผู้ซื้อในเกาหลีใต้ ที่มีความเป็นไปได้ว่า ญี่ปุ่นสามารถถ่วงเวลาในการอนุมัติ ซึ่งจะส่งผลต่อการขาดช่วงในการส่งสินค้าที่สำคัญให้กำกับบริษัทเกาหลีใต้
5. ในจำนวนสินค้ากว่า 1,100 ชิ้นนี้ที่ต้องทำการขออนุมัติ มีชิ้นส่วน 3 ชนิดที่สำคัญต่อกระบวนการผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีในบริษัทเกาหลีใต้ ได้แก่ Fluorinated Polyimide (หน้าจอแสดงผล), Photosensitising Agent Resist (ชิปประมวลผล) และ Hydrogen Fluoride (สารกึ่งตัวนำ) ซึ่งญี่ปุ่นครองส่วนแบ่งในตลาดโลกอยู่ราว 70-90% โดยวัสดุเหล่านี้ ถือว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ สมาร์ทโฟน และโทรทัศน์ ที่ทั้งในช่วง 5 เดือนแรกของปี เกาหลีใต้ก็ได้นำเข้าวัตถุดิบ 3 ชนิดนี้จากญี่ปุ่นเป็นจำนวน 144 ล้านดอลลาร์เลยด้วย
6. แน่นอนว่า บริษัทที่ได้รับผลกระทบแน่นอนในครั้งนี้ ก็คือบริษัทเทคโนโลยีเจ้าใหญ่ของเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็น Samsung, LG และ SK Hynix ที่ต้องเพิ่งพาการนำเข้าเหล่านี้ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ว่าบริษัทญี่ปุ่น จะไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย เพราะสายพานการผลิตของบริษัทในญี่ปุ่นเอง อย่างบริษัท Sony และ Sharp ก็ต้องเพิ่งพาวัสดุอย่าง เซมิคอนดักเตอร์ หรือเมมโมรี่ชิป จากเกาหลีเช่นกัน
7. ฮิโรชิเงะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าญี่ปุ่น อ้างว่า การถอดเกาหลีใต้ออกจาก Whitelist ไม่ใช่การตอบโต้ต่อกรณีการเรียกร้องเงินชดเชยแรงงานช่วงสงคราม แต่เพราะเกาหลีใต้ ไม่มีการตอบสนองที่เพียงพอต่อการคว่ำบาตร และละเมิดการควบคุมการส่งออกสินค้าไปให้เกาหลีเหนือ ทำให้สูญเสียความเชื่อมั่นในเกาหลีใต้ แต่ทางเกาหลีใต้ก็ตอบโต้ว่า เป็นการอ้างที่ไม่เป็นความจริง และจากการตรวจสอบ ตั้งแต่ปี 2015 ไม่มีละเมิดการส่งสินค้าไปเกาหลีเหนือเลย
8. หลังการถอดถอนเกาหลีใต้ออกจาก Whitelist แล้ว ทั้งสองประเทศก็ได้มีการนัดประชุมกันกว่า 5 ชั่วโมง เมื่อวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมา แต่การประชุมกลับล้มเหลว โดยฝั่งเกาหลีใต้ ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อให้ญี่ปุ่นยุติการถอดถอน ในขณะที่ฝั่งญี่ปุ่นเองก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะรับข้อเสนอ รวมถึงบรรยากาศในการประชุม ที่เต็มไปด้วยความเย็นชา ตัวแทนของทั้งสองประเทศไม่มีการทักทายกันก่อนเริ่มเจรจา และสภาพห้องประชุมที่สื่อเกาหลีใต้เรียกว่า เป็นเหมือนโรงรถด้วย
9. การเจรจาก็ล้มเหลวแล้ว ท่าทีของประชาชนเกาหลีใต้เองก็โกรธเคืองมากขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุดมีการลงชื่อบอยคอตบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งมีคนลงชื่อถึงหลักหมื่นแล้ว นำสินค้าญี่ปุ่นออกจากชั้นวางของร้านค้า ทั้งยังมีการชุมนุมของประชาชนที่ถือป้ายประท้วงรัฐบาล นายกฯ ชินโซะ อาเบะ และบริษัทญี่ปุ่น ทั้งถือป้ายเรียกร้องบอยคอตหน้าร้านค้าญี่ปุ่น เช่น ร้านเสื้อผ้า Uniqlo
10. เกาหลีใต้เรียกร้องว่าการกระทำของญี่ปุ่นนั้น ไม่เป็นธรรมและขัดต่อข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) และจะยื่นเรื่องในการประชุมสภา WTO ในวันที่ 23-24 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ ทั้งยังพยายามให้สหรัฐฯ เข้ามาช่วยแทรกแซงทางการทูต ในการแก้ไขปัญหานี้ โดยรมต. ต่างประเทศของเกาหลี อ้างว่า การถูกถอดถอนออกจากลิสต์ จะไม่ส่งผลกระทบต่อเพียงบริษัทของเกาหลีใต้เท่านั้น แต่จะส่งผลต่อการค้า เศรษฐกิจ และห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
11. ด้านมุน แจอิน ปธน.ของเกาหลีใต้ ได้ออกมาเตือนญี่ปุ่นว่า จะได้รับความเสียหายมากขึ้นจากการตอบโต้ทางเศรษฐกิจ และเรียกร้องให้ญี่ปุ่นลดการอ้างสิทธิผิดๆ ซึ่งกำลังทำต่อการส่งออกของเกาหลีใต้ และให้กลับไปเจรจาต่อรองทางการทูตแทน “ฉันต้องชี้ให้เห็นว่ามันไม่ฉลาดนักสำหรับญี่ปุ่น ที่จะดำเนินการเชื่อมโยงประเด็นทางเศรษฐกิจและประวัติศาสตร์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน” เขากล่าวระหว่างการพบปะกับผู้ช่วยอาวุโส
.
12. ชินโซะ อาเบะ นายกฯ ของญี่ปุ่น ยังไม่ได้ออกมากล่าวถึงประเด็นนี้ ซึ่งญี่ปุ่นกำลังจะมีการเลือกตั้งวุฒิสภาในวันที่ 21 กรกฎานี้ โดยอาเบะต้องการได้รับการสนับสนุนจากประเด็นนี้ แต่นักวิเคราะห์ ก็มองว่า ญี่ปุ่นอาจะไม่ได้รับการสนับสนุนในครั้งนี้ และหากการค้าระหว่างสองประเทศ ยังคงบาดหมางลึกกว่านี้ ญี่ปุ่นเองก็จะได้รับผลกระทบความสูญเสียทางเศรษฐกิจเช่นกัน
ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้จะกลายเป็นสงครามการค้าอีกคู่ที่บาดหมางยาวนาน เหมือนอย่างสหรัฐฯ กับจีนหรือไม่ และการทะเลาะกันครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อวงการเทคโนโลยีแค่ไหน จะส่งผลมาถึงตลาดในไทยหรือไม่ เราต้องติดตามกันต่อไป
อ้างอิงจาก
https://en.yna.co.kr/view/AEN20190715003200320?section=national/diplomacy
http://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2019/07/356_272336.html
http://www.koreatimes.co.kr/www/tech/2019/07/694_272325.html
#สงครามการค้าเกาหลีใต้ญี่ปุ่น #Recap #TheMATTER