แม้เป็นจำนวนเงินที่หลายคนเชื่อว่า ไม่ระคายสถานะการเงินของเฟซบุ๊กมากนัก แต่ว่าค่าปรับ 150,000 ล้านบาทที่เฟซบุ๊กโดนเรียก ก็ถือว่า เป็นค่าปรับที่มากสุดเป็นประวัติศาสตร์ในคดีเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล
เฟซบุ๊กถูกปรับเงินเพราะอะไร? แล้วคดีนี้จะเป็นหมุดหมายสำคัญต่อบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ และโซเชียลมีเดียทั่วโลกอย่างไรบ้าง? เราสรุปมาให้แล้ว
1.) จุดเริ่มต้นของคดีนี้ มาจากแอพฯ ทำนายบุคลิกภาพชื่อว่า ‘thisisyourdigitallife’ ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาโดย Aleksandr Kogan ซึ่งเป็นนักวิชาการใน University of Cambridge ประเทศอังกฤษ
2.) แอพฯ ทำนายบุคลิกภาพนี้ สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้แอพฯ ได้ประมาณ 270,000 ราย แต่ด้วยความที่กฎเกณฑ์ของเฟซบุ๊กในช่วงก่อนปี 2015 นั้น แอพฯ จะสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของ ‘เพื่อน’ ผู้ใช้งานได้อีกจำนวนมหาศาลด้วยเช่นกัน
3.) จึงกลายเป็นว่า Kogan มีข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊กทั้งหมดกว่า 50 ล้านบัญชี เรื่องนี้ดูเหมือนจะซีเรียสขึ้นมาระดับ เมื่อมีการค้นพบในภายหลังว่า Kogan ได้ขายข้อมูลเหล่านั้นไปให้กับบริษัท Cambridge Analytica (CA) ซึ่งเคยเป็นบริษัทวิจัยด้านข้อมูล รวมถึงบริษัทอื่น เช่น Strategic Communication Laboratories (SCL) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ CA
4.) CA เป็นบริษัทที่ทำงานด้านข้อมูล วางแผนและช่วยนักการเมืองหาเสียงเลือกตั้งจากข้อมูลที่บริษัทหามาได้ หนึ่งในโปรเจ็กต์ที่ CA เข้าไปทำก็คือแคมเปญหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อช่วงปี 2016
5.) Christopher Wylie อดีตผู้ช่วยเก็บข้อมูลของ CA ผู้ออกมาเปิดโปงเรื่องนี้กับสื่อมวลชนเคยพูดว่า “เราใช้ประโยชน์จากเฟซบุ๊กเพื่อรวบรวมรายละเอียดของผู้คนนับล้าน และสร้างแบบจำลองเพื่อใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับพวกเขาและกำหนดเป้าหมายให้พวกเขา นั่นคือพื้นฐานที่บริษัทถูกสร้างขึ้นมา”
6.) อย่างไรก็ดี เฟซบุ๊กเองออกมาประกาศในเวลาต่อมาว่า ได้แบน CA และ SCL ไปแล้วเพราะทำผิดข้อตกเลงเรื่องการลบข้อมูล รวมถึงการวิจารณ์บทบาทของ Kogan ที่นำข้อมูลจากเฟซบุ๊กไปให้กับบริษัทอื่น
7.) หลังจากเกิดกรณีอื้อฉาวขึ้นมา กระแสด้านลบต่อเฟซบุ๊กก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องหุ้นเฟซบุ๊กตก ถูก Federal Trade Commission (FTC) หรือคณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหพันธรัฐสอบสวน ขณะที่ซีอีโออย่าง มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ก็ถูกเชิญเข้าให้การต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภา
8.) ซัคเคอร์เบิร์ก ถูกซักถามเป็นเวลา 2 วัน เขาถูกถามหลายเรื่อง เช่น บทบาทของเฟซบุ๊กในการเลือกตั้งปี 2016, วิธีการดูแลข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานหลังจากมีกรณีข้อมูลรั่วไหล, ความเห็นต่อเรื่องบทบาทของภาครัฐที่จะเข้ามากำกับเฟซบุ๊ก รวมถึงโซเชียลมีเดียอื่นๆ ตลอดจนคำถามว่าด้วยการผูกขาดทางการตลอดของเฟซบุ๊ก
.
9.) การซักถามใน 2 วันนั้นถูกจับตามองโดยคนทั่วโลก ซึ่งก็ดูเหมือนว่าซัคเคอร์เบิร์กเองก็พอจะเอาตัวรอดไปได้ไม่ยากนัก และที่สำคัญคือเขาก็ยอมรับถึงการบทบาทของรัสเซียเข้ามีอิทธิพลต่อการใช้โซเชียลมีเดียด้วย
“มีคนในรัสเซียที่ทำงานด้วยการหาทางใช้ประโยชน์จากระบบของเรา และระบบอินเทอร์เน็ตอื่น ๆ หรือระบบอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เราจำเป็นต้องลงทุนเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้นด้วย” ซีอีโอเฟซบุ๊ก กล่าว
10) อย่างไรก็ดี เขายอมรับต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และให้สัญญาว่าจะแก้ไขปรับปรุงให้การปกป้องผู้ใช้งานเป็นไปอย่างดีขึ้นกว่าเดิม “เป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ มันเป็นความผิดพลาดของผม และผมขอโทษ” ซัคเคอร์เบิร์ก ระบุ “เป็นที่ชัดเจนตอนนี้ว่าเราไม่ได้ทำอะไรมากพอในการป้องกันไม่ให้เครื่องมือเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด”
10.) ในช่วงที่มีดราม่าเรื่องนี้อย่างเข้มข้น ในโลกอินเทอร์เน็ตมีกระแสที่ชื่อว่า #deletefacebook เกิดขึ้น หลายคนให้เหตุผลว่า พวกเขาอยากจะเลิกเล่นเฟซบุ๊กเพราะไม่มั่นใจในการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลอีกต่อไปแล้ว นอกจากนั้นผู้บริหารของเฟซบุ๊กหลายคน ก็ได้ตัดสินใจลาออกจากบริษัท
11.) หลายเดือนมานี้ เฟซบุ๊กพยายามรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับสังคมโลก โดยมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวอยู่เรื่อยๆ เช่น การปรับปรุงหน้า setting เพื่อให้ผู้ใช้สามารถจัดการกับเรื่องข้อมูลส่วนตัวได้ง่ายยิ่งขึ้น รวมถึงการจัดการโฆษณาที่จะแสดงบนฟีด ตลอดจนการเข้าไปเซ็ตเรื่องล็อกอิน 2 ชั้นให้ง่ายกว่าเดิม
12.) ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊กจะได้ปรับระบบอัลกอริทึมใหม่ โดยเพิ่มวิธีทำงานที่เน้นไปทางด้านลดยอดรีชของสิ่งที่น่าจะเป็น ‘ข่าวปลอม’ รวมถึงเพิ่มฟังก์ชั่นให้ผู้ใช้ได้ตรวจสอบได้ว่าโฆษณาต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามเพจนั้น ถูกจ่ายเงินโดยใคร
13.) มาถึงวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา FTC ก็ได้เผยแพร่ข้อสรุปว่า จะปรับเงินจากเฟซบุ๊กจากกรณี Cambridge Analytica เป็นเงินทั้งสิ้น 5 พันล้านดอลลาร์ หรือเป็นเงินไทยคือราวๆ 150,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าปรับที่มากที่สุดเท่าที่บริษัทใดๆ เคยเจอมาจากความผิดในคดีเรื่องละเมิดความเป็นส่วนตัว
14.) FTC ยังได้ขอให้เฟซบุ๊กทำตามคำสั่ง เช่นเฟซบุ๊กต้องตั้งคณะกรรมการทำหน้าที่ควบคุมดูแลเรื่องความเป็นส่วนตัวขึ้นมาใหม่เป็นชุดพิเศษ โดยจะต้องมีสมาชิกที่ซัคเคอร์เบิร์กไม่สามารถไล่ออกไปได้ด้วยการตัดสินใจคนเดียว
15.) นอกจากนั้น FTC ยังสั่งให้เฟซบุ๊กต้องระบุให้ผู้ใช้งานได้รับทราบ และต้องขอรับความยินยอมอย่างชัดเจนว่า กำลังจะมีการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้า รวมถึง ห้ามให้ใช้เบอร์มือถือของผู้ใช้งานที่ใช้การเข้ารหัส 2 ชั้นไปใช้เพื่อเรื่องการโฆษณา
16.) ย้อนกลับมาเรื่องค่าปรับกันอีกครั้ง จริงอยู่ที่ค่าปรับเป็นเงินกว่า 150,000 ล้านนั้นอาจกระทบสถานะการเงินของเฟซบุ๊กไม่มากเท่าไหร่ แต่ถ้ามองผลในทางสังคมแล้ว กรณีนี้น่าจะเป็นหมุดหมายสำคัญ ที่บ่งชี้ว่าหากบริษัทเทคโนโลยี หรือผู้ใช้บริการโซเชียลมีเดียไม่สามารถปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานได้ดีพอ พวกเขาก็มีความเสี่ยงสูงที่จะต้องถูกปรับเช่นเดียวกัน และต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากภาครัฐ
ซัคเคอร์เบิร์ก เองก็ออกมาประกาศว่า พร้อมจะจ่ายเงินค่าปรับตามที่ได้พูดคุยกันไว้ รวมถึงจะตั้ง CPO หรือ Chief Privacy Officer ไว้ในบริษัท เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากผู้ใช้งานกลับมายังเฟซบุ๊ก รวมถึงยกระดับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีให้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
“เรามีหน้าที่ในการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ และเริ่มทำงานอย่างหนักเพื่อให้เหมาะสมกับความรับผิดชอบนี้” ซีอีโอเฟซบุ๊ก กล่าว
17.) กรณี Cambridge Analytica ยังได้เป็นสิ่งกระตุ้นผู้ใช้งานทั่วไปอย่างเราๆ อีกด้วยว่าต้องคอยหมั่นดูแล ‘ความเป็นส่วนตัว’ ของเราเองบนโลกอินเทอร์เน็ต และอาจจะต้องตระหนักกันว่า ข้อมูลที่เราให้ไปกับเจ้าของแพลตฟอร์มอย่างเต็มใจ หรือกระทั่งไม่รู้ตัวก็ตามที มันอาจถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางการเมืองได้เช่นเดียวกัน
ในแง่แพลตฟอร์มและบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ก็น่าจะต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น เพราะขนาดยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊กก็พลาดได้ แถมยังถูกปรับเงินเพราะคดีที่ไม่สามารถปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ได้ดีเพียงพอ
ส่วนผู้ใช้งานจำนวนไม่น้อยก็เริ่มตั้งคำถามกับแอพฯ ต่างๆ ที่ขอเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเราทั้งในอินเทอร์เน็ตและมือถือ ว่าแอพฯ เหล่านั้นจะเอาข้อมูลเราไปทำอะไรต่อหรือไม่ และทำต่ออย่างไร
สิ่งสำคัญที่เราอาจจะต้องคอยคิดกันไว้ก็คือ เฟซบุ๊กเองก็มีข้อมูลส่วนตัว และรู้พฤติกรรมของเราอยู่แทบจะตลอดเวลา อะไรที่ปกป้องหรือคุ้มครองความเป็นส่วนตัวนั้น ถ้าเราทำได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็ควรทำไว้ก่อนดีกว่าเนอะ
อ้างอิงจาก
https://www.wired.com/amp-stories/cambridge-analytica-explainer/
https://edition.cnn.com/2018/03/21/politics/zuckerberg-cnn-interview-analysis/index.html
https://edition.cnn.com/2019/07/24/tech/facebook-ftc-settlement/index.html
https://newsroom.fb.com/news/2018/03/privacy-shortcuts/
https://www.facebook.com/zuck/posts/10108276550917411
#Recap #Facebook #CambridgeAnalytica #TheMATTER