ห้ามนำเข้า ห้ามครอบครอง และห้ามผลิต คือสถานะอย่างเป็นทางการของบุหรี่ไฟฟ้าภายใต้รัฐไทย ประเด็นนี้กลับมาให้ถกเถียงกันอีกครั้ง หลังจากรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นพิษภัยแบบ 100% และจะไม่แก้กฎหมายให้นำเข้าได้
ทำไมบุหรี่ไฟฟ้าถึงผิดกฎหมาย มันเป็นพิษภัยจริงๆ รึเปล่า แล้วที่ผ่านมามีข้อถกเถียงในเรื่องเหล่านี้อย่างไร? The MATTER สรุปประเด็นที่น่าสนใจมาให้ ดังนี้
1.) ที่ผ่านมาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในประเด็นที่ประชาชนค่อนข้างสนใจ ว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่มาแล้วจะมีจุดยืนต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง? ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ รองนายกรัฐมนตรี อนุทิน ชาญวีรกุล ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงสาธาณสุขได้แสดงจุดยืนชัดๆ ว่า บุหรี่ไฟฟ้านั้นเป็นภัยต่อประชาชน
2.) อนุทินระบุว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า โดยให้เหตุผลว่าช่วยลิกบุหรี่ได้ แต่เขาก็อ้างอิงความเห็นจากกรมควบคุมโรคว่า บุหรี่ไฟฟ้ามันมีพิษภัยนะ และในยุครัฐบาลนี้จะไม่มีใครแก้ไขกฎหมายเพื่อนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ขณะเดียวกัน แม้ว่าในบุหรี่ไฟฟ้าจะมี ‘นิโคติน’ ในปริมาณนี้ด้วยกว่าบุหรี่ทั่วไป แต่ถ้าสูบไปแล้วก็เกิดผลลัพธ์เป็นการเสพติดอยู่ดี
3.) ประเด็นที่รัฐมนตรีสาธารณสุขนำขึ้นมาอ้างอิงนั้น มีคีย์เวิร์ดอยู่ที่สองคำ คือ ‘นิโคติน’ และ ‘การเสพติด’ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้วในช่วงที่ผ่านมานี้ก็มีข้อถกเถียงกันมาอย่างต่อเนื่อง
4.) ฝั่งที่มองว่าเป็นพิษภัยและอันตรายต่อประชาชนอย่าง รอง ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช เคยให้ความเห็นเอาไว้ ซึ่งอ้างอิงตัวอย่างงานวิจัยจากสหรัฐฯ ที่พบความสัมพันธ์ระหว่าง ‘การสูบบุหรี่ไฟฟ้า’ กับ ‘การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด’ คือ สูบบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงเกิดโรคเส้นเลือดสมองตีบสูงขึ้น 71% รวมถึง โรคหัวใจวายเฉียบพลันสูงขึ้น 59%, กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดสูงขึ้น 40% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่
ด้าน นายแพทย์ สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ก็ให้ความเห็นสอดคล้องในทางเดียวกันว่า ในตอนนี้มีงานวิจัยที่ชี้ถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆ
“งานวิจัยต่างๆ ชี้ให้เห็นชัดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพเช่นเดียวกับบุหรี่ธรรมดา ซึ่งพบสารก่อมะเร็งหลายๆ ชนิด เช่น ไดเอธิลีนไกลคอล ตะกั่ว แมงกานีส สังกะสี ปรอท สารหนู แคดเมียม ในปริมาณที่สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายได้หากใช้อย่างต่อเนื่อง” นายแพทย์ สุทัศน์ ระบุ
5.) มาดูกันที่ฝั่งตรงข้ามกันบ้าง กลุ่มที่เคลื่อนไหวนโยบายของรัฐมาอย่างต่อเนื่องคือ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ลาขาดควันยาสูบ หรือ (ECST)
อาสา ศาลิคุปต ตัวแทนจาก ECST ยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีความปลอดภัยกว่าบุหรี่มวนทั่วไป เพราะละอองไอจากบุหรี่ไฟฟ้านั้น มีปริมาณสารพิษที่น้อยกว่าควันของบุหรี่ เนื่องจากไม่มีการเผาไหม้ และภาครัฐในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ นิวซีแลนด์ และประเทศในยุโรปอื่นๆ ก็สนับสนุนให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นบุหรี่ทางเลือกแก่ประชาชน รวมถึงช่วยเลิกบุหรี่
เช่นเดียวกับหลายประเทศที่การกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและควบคุมให้เยาวชน หรือผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ได้เกิดการเริ่มใช้บุหรี่ควบคู่กันไปด้วย
ด้าน มาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายฯ เคยตั้งคำถามถึง จุดยืนของหน่วยงานรัฐที่ออกมาตั้งกำแพงในเรื่องนี้ รวมถึงความเป็นกลางของบางหน่วยงานด้วยเช่นกัน
“เราจะไม่ยอมฝากชีวิตไว้กับกฎหมายที่ล้าหลัง เราจำเป็นต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของพวกเราเพราะเราเห็นว่าชีวิตของเราและคนรอบข้างสำคัญกว่า เราจึงขอเรียกร้องให้ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าทุกคน ลุกขึ้นสู้เพื่อตัวเอง และครอบครัว เพื่อจะได้เข้าถึงทางเลือกที่เป็นอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวนได้” มาริษ อธิบาย
ในแง่ของงานวิจัยนั้น Public Health England (PHE) เคยเผยแพร่งานวิจัยเมื่อช่วงปลายปี 2018 ที่ยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้าสามารถช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่มวนได้จริง และมีความอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวนปกติ
6.) ในตอนนี้จึงดูเหมือนจะเป็นความเห็นต่างกันระหว่าง ฝั่งที่สนับสนุนให้เปิดกว้างต่อบุหรี่ไฟฟ้าเพราะเห็นว่าเป็นทางเลือกช่วยลดบุหรี่มวนได้ และปลอดภัยมากกว่า ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งยังคงเห็นคล้องกับรัฐ คือควรคงมาตรการคุมบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป เพราะอาจทำให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ขึ้นได้ และยังจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอีกด้วย
กลายเป็นว่าแต่ละฝั่งก็มีข้อมูลของตัวเอง และข้อถกเถียงนี่ก็น่าจะยังไม่จบง่ายๆ ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะบุหรี่ไฟฟ้าเองก็เกิดขึ้นมาในช่วงสิบกว่าปีหลัง และงานวิจัยก็ให้ผลลัพธ์ที่หลากหลาย
7.) อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องเบื้องหลังการควบคุมและแนวคิดพื้นฐานของรัฐ ต่อการจัดระเบียบ/ควบคุมการสูบบุหรี่ไฟฟ้านี่ก็น่าสนใจพอกันนะ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่ผ่านมาก็มีประชาชนจำนวนไม่น้อยเลย ที่คิดว่าการเลือกที่จะสูบบุหรี่ไฟฟ้าหรือไม่เนี่ย มันก็ควรจะเป็นสิทธิของพวกเขา และเมื่อรัฐเปิดเสรีภาพให้สูบบุหรี่แบบมวนทั่วไป แล้วทำไมพวกเขาถึงจะไม่มีสิทธิสูบบุหรี่ไฟฟ้าบ้าง ในเมื่อทั้งบุหรี่มวนกับบุหรี่ไฟฟ้ามันก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายคน แต่ก็มีมาตรการควบคุมอย่างอื่นขนานกันไปก็ได้
ขณะเดียวกัน ก็มีการตั้งคำถามถึงผลประโยชน์ของบางหน่วยงาน ที่อาจมีส่วนได้ส่วนเสียกับการเปิดเสรีให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน
8.) ในตอนนี้ประเทศไทยมีมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอยู่อย่างน้อย 3 ฉบับ คือ ประกาศกระทรวงพาณิชย์ปี 2557, พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560, คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 โดยทั้งหมดนั้น ส่งผลห้ามข้าย ห้ามครอบครอง ห้ามให้บริการ และห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า
ซึ่งถ้าจุดยืนของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ยังคงเป็นเหมือนเดิม มาตรการทั้งหมดนี้ก็คงไม่ถูกแก้ไข และสถานการณ์ของบุหรี่ไฟฟ้าก็อาจจะเป็นพิษภัยในสายตาของรัฐเช่นเดิม ท่ามกลางคำถามมากมายจากประชาชน
อ้างอิงจาก
https://www.thairath.co.th/news/politic/1639316
https://www.matichon.co.th/politics/news_1631251
https://mgronline.com/daily/detail/9620000047876
#recap #บุหรี่ไฟฟ้า #TheMATTER