เคยสงสัยกันไหมว่า เราสามารถมีทางเลือกการดื่มคราฟต์เบียร์มากกว่านี้ไหม? อะไรคือข้อจำกัดที่ทำให้วงการคราฟต์เบียร์ไทยต้องเจออยู่นะ? ข้อถกเถียงและประเด็นเรื่องคราฟต์เบียร์ในไทยกลับมาให้ได้พูดถึงกันอีกครั้ง กับการอภิปรายในรัฐสภาเมื่อวันก่อน
The MATTER สรุปเหตุผลของความเคลื่อนไหวเรื่อง ‘ปลดล็อกคราฟต์เบียร์’ และข้อจำกัดต่างๆ ที่ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์รายย่อยต่างๆ กำลังเผชิญอยู่
1.) ตั้งต้นกันอย่างนี้ก่อนว่า คราฟต์เบียร์ มันต่างจากเบียร์ทั่วไปกันอย่างไรบ้าง? โดยภาพรวมๆ แล้ว คราฟต์เบียร์ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากผู้ผลิตที่ไม่ใช่รายใหญ่มากนัก จุดเด่นอยู่ที่วิธีการผลิต ซึ่งค่อนข้างใช้ฝีมือและความปราณีตสูง เพื่อทำให้เบียร์ที่ออกมานั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ที่สำคัญคือ คราฟต์เบียร์มักมีลูกเล่นเรื่องรสชาติแปลกแหวกแนวกันไป เช่นการผสมผสานวัตถุดิบต่างๆ รวมถึงวิธีการหมัก ที่ค่อนข้างลงรายละเอียดเยอะ จนทำให้เบียร์มีสไตล์ต่างไปจากเบียร์ที่ผลิตตามโรงงานใหญ่ๆ
หรือถ้ากลับมาที่ชื่อของตัวมันเอง คำว่า ‘Craft’ มันก็สื่อถึง ‘ความพิถีพิถัน’ ในตัวเองอยู่แล้วเหมือนกัน
2.) ลักษณะร่วมกันของคราฟต์เบียร์หลายแบรนด์ คือการผลิตมาจากโรงเบียร์ขนาดย่อมๆ ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติเกือบทั้งหมด รวมถึงการที่เจ้าของเป็นผู้ถือหุ้นมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์
Brewer Association กำหนดคุณลักษณะของคราฟต์เบียร์ไว้สามข้อ คือ Small (ในแง่จำนวนการผลิต) Independent (เป็นอิสระจากทุนในระดับหนึ่) และ Brewer (มี TTB คือ Alcohol, Tobbacco Tax และ Trade Bureau เข้ามาเกี่ยวข้อง)
3.) ทีนี้มาดูสถานการณ์ในเมืองไทยกันบ้าง สถานะของคราฟต์เบียร์ไทยตอนนี้อยู่ภายใต้การดูแลกำกับของกระทรวงการคลัง โดยข้อกำหนดสำคัญคือประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องวิธีการบริหารสุรา พ.ศ. 2543 ที่ระบุเอาไว้ว่า
ผู้ขออนุญาตผลิตเบียร์ต้องเป็นบริษัท ซึ่งมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท มีเงินค่าหุ้นหรือเงินลงทุน ที่ชำระแล้วไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท และในกรณีที่เป็นโรงงานเบียร์ขนาดเล็ก จะต้องมีปริมาณผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตร แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี
4.) ส่วนกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ.2560 ก็ได้ระบุว่าประเภทของโรงเบียร์ที่จะได้รับใบอนุญาตอย่างถูกกฎหมายนั้น มีอยู่ 2 ประเภท
A) โรงเบียร์อุตสาหกรรม คือผลิตแล้วขายให้ได้แค่โรงงงาน ซึ่งโรงเบียร์แบบนี้ต้องผลิตได้ 100,000 ลิตรต่อปี หรือราวๆ 300 ลิตรต่อวัน
B) โรงเบียร์แบบบริวเวอรี หรือที่ผลิตแล้วบรรจุขวดขายเองได้ โรงเบียร์ประเภทนี้ต้องผลิตได้ขั้นต่ำ 10 ล้านลิตรต่อปี หรือราวๆ 30,000 ลิตรต่อวัน
5.) ด้วยข้อกำหนดแบบนี้แหละ ที่เกิดคำถามกันมาอย่างต่อเนื่องว่า มันเอื้อต่อกลุ่มทุนรายใหญ่มากเกินไปรึเปล่านะ? เพราะถ้าใครสักคนในประเทศนี้อยากทำธุรกิจเรื่องคราฟต์เบียร์ ‘ในประเทศไทย’ ก็ต้องมีทุนอย่างน้อย 10 ล้าน ซึ่งมันก็เป็นกำแพงใหญ่มากๆ ที่ผู้ประกอบการรายเล็กๆ จะเข้าสู่ตลาดได้ ขณะเดียวกัน หลายคนก็เชื่อว่า เสน่ห์ของคราฟต์เบียร์ มันคือความคิดสร้างสรรค์ของคนตัวเล็กๆ และความพิถีพิถันในรายละเอียดที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทุนมากมายขนาดนั้นก็ได้)
6.) กระแสปลดล็อกคราฟต์เบียร์ในไทย เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นมากๆ จากกรณีชายที่ชื่อ ‘เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร’ ถูกตำรวจจับจากกรณี หมักและปรุงเบียร์ขึ้นมาเอง พร้อมกับใส่ขวดจำหน่ายเมื่อปี 2560 ในตอนนั้นเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาสนใจและรักเบียร์เป็นชีวิตจิตใจ และมีความฝันว่า สักวันหนึ่งจะทำคราฟต์เบียร์ไทยให้ถูกกฎหมายให้ได้
7.) การจับกุมเท่าพิภพ ทำให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมไทยว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ควรมีการปรับปรุง หรือแก้ไขกฎเกณฑ์บางอย่าง ที่จะช่วยให้คนไทยสามารถผลิตคราฟต์เบียร์ในไทยได้มากกว่านี้ เพราะเกณฑ์ที่มีอยู่นั้น มันเป็นกำแพงใหญ่มากๆ ที่บรรดารายย่อยต่างๆ จะก้าวข้ามขึ้นมาได้
8.) คำถามคือ แล้วทำไมเราต้องปลดล็อกคราฟต์เบียร์ด้วยนะ? หนึ่งในบุคคลสำคัญในวงการคราฟต์เบียร์ไทยอย่าง วิชิต ซ้ายเกล้า หรือ ‘ชิต’ เคยพูดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ผ่านบทสัมภาษณ์ของ a day ว่า เขาอยากเปลี่ยนแปลงระบบในไทย และอยากจะต้มเบียร์เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ
“เมื่อก่อนผมแทบไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่าคนธรรมดาจะต้มเบียร์ดื่มเองได้ คงซื้อเขาดื่มไปตลอดชีวิต แต่วันดีคืนดีผมก็ต้มมันขึ้นมาได้ ผมถือว่าการต้มเบียร์ดื่มเองที่บ้านก็คือการพึ่งพาตัวเองอย่างหนึ่ง”
รายงานของโพสต์ทูเดย์ เคยสัมภาษณ์หนึ่งในผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ไทยรายหนึ่ง ที่ตั้งข้อสังเกตถึงความต่างระหว่างผู้ผลิตรายเล็กๆ กับบริษัทระดับใหญ่ๆ ว่า “ความที่เขาด้อยกว่ารายใหญ่ทุกเรื่องในแง่การผลิต ทั้งเทคโนโลยี เงินทุน ช่องทางการจัดจำหน่าย สิ่งเดียวที่เขามีก็คือ ความคิดสร้างสรรค์และความคล่องตัว เขาจะเอาตรงนี้มาผลักดันการแข่งขันในตลาด จนนำไปสู่สิ่งใหม่ๆ ที่เราจินตนาการไม่ถึง”
9.) ที่ผ่านมาก็มีคนไทยจำนวนหนึ่ง ที่พยายามต่อสู้ในเรื่องคราฟต์เบียร์ผ่านวิธีการต่างๆ เช่นการยอมรับความเสี่ยงถูกตำรวจจับ ผ่านการทดลองต้มและปรุงเบียร์กันในบ้าน (คล้ายกับที่เท่าพิภพเคยทำ) ก็ต้องออกไปผลิตคราฟต์เบียร์กันภายนอกประเทศ โดยเฉพาะในเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา เวียดนาม หรืออย่างบางคนก็ตั้งใจระดมกำลังและทุนเพื่อเปิดโรงงาน หรือขอใบอนุญาตตามที่เกณฑ์ที่รัฐกำหนดให้ได้
10.) ในรายงานวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เรื่อง ‘คราฟท์เบียร์ไทยเสียท่าด้วยกติกาขัดขาตัวเอง’ ระบุว่า ในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และสหรัฐ ได้แยกการผลิตเบียร์เป็น 2 แบบคือ ผลิตเพื่อบริโภคเอง จะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ต้องขออนุญาตแต่จะกำหนดอายุของผู้ที่สามารถผลิตหรืออาจจำกัดปริมาณการผลิตร่วมด้วย
ส่วนอีกแบบคือ ผลิตในเชิงค้าขายนั้น ถึงแม้จะต้องขออนุญาต แต่ก็ไม่ได้กำหนดทุนจดทะเบียน และปริมาณการผลิตขั้นต่ำเหมือนประเทศไทยแต่อย่างใด
11.) ตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทย ในการประชุมสภาเมื่อวานนี้ (21 สิงหาคม) เท่าพิภพ ที่ตอนนี้อยู่ในสถานะ ส.ส.จากพรรคอนาคตใหม่ ได้ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ถึงข้อจำกัดเรื่องการผลิตเบียร์และสุรากลั่นของรัฐว่า มันเอื้อต่อนายทุนหรือไม่
“ถ้าเราลองเข้าร้านสะดวกซื้อจะพบว่า มีอยู่ไม่กี่ยี่ห้อ จากไม่กี่เจ้าของ ซึ่งถ้าเทียบกับอเมริกา ราว 40 ปีก่อน ก็เป็นแบบประเทศเรา คือ มีเจ้าของไม่กี่สิบโรง ครอบครองโดยคนไม่กี่ตระกูล” เท่าพิภพ ตั้งคำถาม
12.) ขณะที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สันติ พร้อมพัฒน์ ตอบกระทู้ด้วยคีย์เวิร์ด ที่น่าจะบาดแทงเข้าไปในความรู้สึกของผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ไทยไม่น้อยว่า การตั้งปริมาณขั้นต่ำและทุนจดทะเบียนเอาไว้นั้น ก็เพื่อให้ ‘ปกป้อง’ ผู้บริโภค
“การผลิตต้องมีมาตรฐานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะเบียร์ หากไม่มีความปลอดภัย หรือมาตรฐานจะเกิดปัญหาได้ ส่วนโรงเบียร์ขนาดใหญ่ที่ผลิตในประเทศ 3-4 ราย ต้องมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ผลิตขั้นต่ำ 10 ล้านลิตรนั้นไม่ได้กีดกัน โดยเฉพาะผลิตเบียร์ไม่มีข้อห้ามการผลิต เพราะเป็นไปโดยเสรี แต่ผู้ผลิตต้องได้รับใบอนุญาตเพื่อให้การผลิตมีมาตรฐานและความปลอดภัย” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงในสภา
แต่ดูเหมือนว่าคำตอบนี้ยังไม่สามารถคลายความสงสัยของเท่าพิภพไปได้
“ผลิตเยอะไม่ใช่ว่าคุณภาพจะดี การผ่อนปรนใบอนุญาตให้คุณภาพเบียร์ดีขึ้น ซึ่งกรมสรรพสามิต สามารถส่งตรวจในห้องแล็ปได้ ดังนั้นกรณีกำหนดปริมาณ เพื่อวัดมาตรฐานคุณภาพนั้นเป็นสิ่งที่ฟังไม่ขึ้น” ส.ส.อนาคตใหม่ กล่าว อย่างไรก็ดี เขาก็เชื่อว่า นี่เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นการต่อสู้เพื่อปลดล็อกคราฟต์เบียร์ผ่านกระบวนการทางรัฐสภาเท่านั้น
13.) สรุปในสรุปก็คือ สถานการณ์ของคราฟต์เบียร์ไทยในตอนนี้ กำลังเผชิญอยู่กับกฎเกณฑ์โดยรัฐ ที่มักถูกตั้งคำถามว่าเกณฑ์ดังกล่าวมันสูงเกินไป หรือเอื้อให้แก่กลุ่มทุนใหญ่ๆ และกีดกันผู้ผลิตรายย่อยๆ หรือไม่
เช่นเดียวกับคำถามที่ว่า มันจะดีกว่านี้ไหมนะ ถ้าหาก ‘คราฟต์เบียร์’ ในฐานะที่มีเสน่ห์เรื่องความคิดสร้างสรรค์ของคนตัวเล็กๆ และความพิถีพิถันตามชื่อของมัน จะเกิดขึ้นในไทยได้ง่ายกว่านี้ โดยที่คนไทยไม่ต้องลงทุนหอบเงินและทุนไปผลิตเบียร์ที่ต่างประเทศ เพื่อนำคราฟต์เบียร์สัญชาติไทยให้คนไทยได้ดื่มกัน
อ้างอิงจาก
https://www.thairath.co.th/news/politic/1642853
https://www.posttoday.com/politic/report/478430
https://www.komchadluek.net/news/politic/384549
https://adaymagazine.com/chit-beer/
https://tdri.or.th/2019/04/th-craft-beer-industry/
http://phad.ph.mahidol.ac.th/journal_law/4-3/11-Kanittha%20Thailkla.pdf
#Recap #คราฟต์เบียร์ #TheMATTER