“จุดหมาย (destination) ใหม่แห่งการช้อปปิ้งระดับเวิลด์คลาสที่ตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ หลากหลายด้วยแบรนด์ชั้นนำทั้งต่างประเทศและในประเทศกับส่วนลด 35-70% ทุกๆ วัน” คือคำโฆษณาของโครงการ Central Village ลักชูรี่ เอาท์เล็ต แห่งแรกของไทย ในเครือเซ็นทรัล
แต่ก่อนจะถึงวันเปิดตัว 31 สิงหาคมนี้ ก็มีเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องต้องปวดหัว เมื่อบริษัท ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT นำเต๊นท์มาตั้งขวางทางเข้า-ออก โดยอ้างว่าเป็นพื้นที่เขตการบิน ซึ่ง AOT ได้รับอนุญาตจากกรมธนารักษ์ให้มาบริหาร และโครงการนี้ก็รุกล้ำที่ดินโดยไม่ขออนุญาต
แต่เครือเซ็นทรัลก็เดินหน้าชี้แจงว่า ดำเนินการถูกต้องทุกอย่างตลอด 4 ปีที่พัฒนาโครงการนี้!
เรื่องนี้มีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เหตุใด AOT ถึงเพิ่งขยับในช่วงโครงการใกล้เปิดทำการ และที่สุดแล้ว ใครจะได้ประโยชน์สูงสุดจากข้อพิพาทนี้กันแน่ The MATTER จะพยายามไล่เรียงข้อมูลให้ทุกคนได้อ่านกัน
1.) เวลาเราพูดถึง ‘เครือเซ็นทรัล’ ของตระกูลจิราธิวัฒน์ เรามักจะนึกถึงห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลสาขาต่างๆ เป็นหลัก ทั้งที่จริงๆ แล้ว คนในเครือนี้ทำธุรกิจ 8 กลุ่มธุรกิจ ทั้งห้างสรรพสินค้า โรงแรม ขายสินค้าอุปโภคบริโภค ขายวัสดุก่อสร้าง ขายเครื่องเขียน ศูนย์การค้าและสำนักงาน ร้านอาหาร และนำเข้าสินค้า มีบริษัทในเครืออย่างน้อย 18 บริษัท
2.) โครงการ Central Village ตั้งอยู่ใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะห่างขับรถยนต์ 10 นาที อยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจศูนย์การค้าและสำนักงาน
3.) CPN ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง โครงการ Central Village ราว 5,000 ล้านบาท บนที่ดิน 100 ไร่ มีพื้นที่โครงการรวม 137,000 ตร.ม. ซึ่งทางเครือเซ็นทรัลหวังว่าจะดึงดูดผู้ใช้บริการได้ราว 6-10 ล้านคนต่อปี 65% เป็นคนไทย และ 35% นักท่องเที่ยวต่างชาติ มีร้านค้าให้บริการกว่า 150 ร้าน
4.) ลองสมมุติว่า ผู้มาใช้บริการใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 1 พันบาท ก็จะทำให้โครงการนี้มีรายได้ 6,000-10,000 ล้านบาท/ปีแล้ว คิดเป็น 15-25% ของรายได้ของ CPN ในปี พ.ศ.2561 ซึ่งอยู่ที่กว่า 38,000 ล้านบาท เลยทีเดียว
5.) ตามข้อมูลที่ CPN ให้กับสื่อมวลชน โครงการนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 เดิมมีกำหนดการเปิดให้บริการในช่วงไตรมาสที่สามของปีนี้ (ระหว่างเดือนกรกฎาคม – เดือนกันยายน) และล่าสุด ก็ประกาศฤกษ์เปิดทำการในวันที่ 31 สิงหาคมนี้
6.) แต่ท่ามกลางความหวังว่าโครงการนี้จะเป็นหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยว กับตัวโครงการที่ก่อสร้างใกล้เสร็จสมบูรณ์ 100% เหลือเพียงตกแต่งและนำสินค้าเข้าร้าน จู่ๆ AOT ก็นำเต๊นท์และแบริเออร์มาตั้งขวางทางเข้า-ออกโครงการ ที่ตั้งอยู่บนถนนหมายเลข 370 โดยอ้างว่าการตัดหินทางเท้าทำทางเข้า-ออกโครงการ เป็นการรุกล้ำที่ดินราชพัสดุที่ AOT เป็นผู้ดูแล
7.) ทาง CPN ยืนยันว่า โครงการนี้ทำตามกฎหมายทุกอย่าง พร้อมยื่นหนังสือขอให้นายกรัฐมนตรีเข้าช่วยเหลือ กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐ
8.) ในหนังสือที่ CPN ยื่นถึงนายกฯ ชี้แจงสาระสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ 3 ประเด็น
หนึ่ง ที่ AOT อ้างว่า โครงการนี้รุกล้ำที่ดินราชพัสดุที่ AOT ดูแลอยู่ ขอยืนยันว่าถนนหมายเลข 370 เป็น ‘ทางหลวงแผ่นดิน’ ที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของกรมทางหลวง และเป็นสาธารณะสมบัติที่ประชาชนได้ใช้ร่วมกัน เห็นได้จากการที่ไม่มีการปิดกั้นทางสัญจร
สอง การขออนุญาตตัดหินทางเท้าเพื่อทำทางเชื่อมเข้า-ออก เป็นสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของที่ดินที่อยู่ติดกับทางหลวงแผ่นดิน และปัจจุบันก็มีผู้ได้รับอนุญาตให้ตัดหินทางเท้าเพื่อทำทางเข้า-ออก บนถนนสายเดียวกัน ถึง 37 ราย ทั้งนี้ได้หารือไปยังกรมธนารักษ์ (เจ้าของที่ดินราชพัสดุ) และรับการยืนยันว่าไม่ขัดข้องกับการดำเนินการดังกล่าว
สาม ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับโครงการ Central Village ไม่ได้เกิดกับบริษัทหรือพนักงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนักท่องเที่ยว ทั้งไทยและต่างชาติ และประชาชนทั่วไป รวมถึงช่วยสร้างงานจำนวนมาก ส่งเสริมการท่องเที่ยว และช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
9.) CPN ยังส่งแผนที่ให้สื่อมวลชน พร้อมรูปถ่ายป้าย ‘สุดเขตพื้นที่รับผิดชอบของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ’ ซึ่งอยู่ค่อนข้างห่างจากโครงการ Central Village เพื่อยืนยันว่า โครงการนี้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของ AOT
10.) มีการวิเคราะห์กันว่า หากโครงการ Central Village ซึ่งวางตัวเองเป็นศูนย์การค้าแบบ outlet (ต่อให้มีคำว่า luxury มาด้วย) เปิดให้บริการจริง ผู้ที่จะได้รับผลกระทบก็คือผู้ประกอบการที่ขายสินค้าในลักษณะใกล้เคียงกัน และใช้กลยุทธ์ทางราคาเหมือนๆ กัน เช่น ดิวตี้ฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิ
11.) แต่ทางผู้บริหาร CPN ก็บอกว่า โครงการนี้กับดิวตี้ฟรีอยู่คนละตลาด และคนอาจจะซื้อของที่นี่ และไปซื้อของที่ดิวตี้ฟรีในสนามบินต่อได้
12.) เช้าวันนี้ หลายๆ คนคงได้เห็นภาพไปแล้ว ที่ AOT ตั้งป้ายริมถนนสาย 370 ก่อนถึงโครงการ Central Village ว่าเป็น “พื้นที่ครอบครองของ AOT ห้ามผู้ใดบุกรุก มิฉะนั้นจะดำเนินการตามกฎหมายโดยเด็ดขาด”
แต่อีกไม่กี่สิบเมตรถัดไป ทาง CPN ก็ขึ้นป้ายว่า “โครงการนี้ตั้งอยู่ติดทางหลวงแผ่นดิน มิได้รุกล้ำพื้นที่ผู้ใด”!
13.) ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.กระทรวงคมนาคม ในฐานะกำกับดูแล AOT บอกว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูข้อกฎหมายแล้ว พร้อมบอกว่า “ถ้าถูกก็คือถูก ไม่ถูกก็คือไม่ถูก ไม่มีอย่างอื่น”
ส่วนทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกำกับดูแลกรมโยธาธิการและผังเมือง สั่งให้ตรวจสอบว่าการใช้พื้นที่โครงการนี้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และให้รายงานกลับมาภายใน 1 เดือน หากพบอะไรที่ผิดกฎหมายจะดำเนินการทันที
14.) ทาง CPN ได้ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้สั่งให้ AOT ยุติการปิดกั้นไม่ให้เข้าใช้ที่ดินในโครงการนี้แล้ว
น่าสนใจว่า เรื่องนี้จะยุติลงเช่นไร
15.) ล่าสุด เครือเซ็นทรัลได้ประกาศเลื่อนการเปิดตัว Central Village ในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ ออกไปก่อน
อ้างอิงจาก
https://thaipublica.org/2018/03/central-group-strategy/
https://www.brandbuffet.in.th/2019/08/open-central-village-first-thailand-luxury-outlet/
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/844865
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/845162
https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1647321
https://www.posttoday.com/economy/news/598966
https://www.thaipost.net/main/detail/44111
https://brandinside.asia/cpn-central-village-aot/
#Recap #TheMATTER