การเมืองในสหราชอาณาจักร ยังคงวุ่นวายกับปัญหา Brexit ที่ถึงแม้ผลการทำประชามติ จะเสร็จสิ้นตั้งแต่ 3 ปีก่อน และชาวอังกฤษส่วนใหญ่เลือกขอถอนตัวออกจาก EU แล้ว แต่ถึงอย่างนั้นกระบวนการในการถอนตัว ก็ยังคงคาราคาซัง ไม่ได้ข้อสรุปว่า อังกฤษจะถอนตัวอย่างไร ด้วยเงื่อนไขแบบไหน ?
แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้ข้อสรุป นายกฯ คนใหม่ อย่างบอริส จอห์นสัน ก็ออกมาประกาศเลื่อนเปิดประชุมสภาออกไปอีก ซึ่งทำให้เวลาที่จะได้หาทางออกใน Brexit ยิ่งน้อยลงไปใหญ่ ท่ามกลางเสียงประท้วงของทั้งฝ่ายค้าน ประธานสภา ไปถึงประชาชน
เกิดอะไรขึ้นกับการเมืองอังกฤษ? ทำไมบอริส จอห์นสันถึงเลือกวิธีนี้? สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้อย่างไร? อังกฤษจะมีข้อสรุป Brexit ทันเวลาไหม? The MATTER สรุปเหตุการณ์มาให้แล้ว
1. บอริส จอห์นสัน นายกฯ คนใหม่ของอังกฤษ ได้ทูลต่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ขอพระบรมราชานุญาต เลื่อนเปิดสมัยประชุมสภา จากเดิมคือระหว่างวันที่ 9-12 กันยายนไป เป็นวันที่ 14 ตุลาคม หรือล้าช้ากว่าเดิม 5 สัปดาห์ ซึ่งจะส่งผลให้สมาชิกสภามีเวลาเพียงแค่ 2 สัปดาห์ ในการพูดคุย และอนุมัติกฎหมาย Brexit เพื่อถอนตัวจาก EU
2. การเลื่อนเปิดประชุม ทำให้สภามีเวลาเพียง 17 วัน ในการผ่านกฎหมาย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า หากไม่สามารถพูดคุยให้เสร็จภายในกรอบเวลา สุดท้ายอังกฤษก็ต้องออกจาก EU แบบไร้ข้อตกลง หรือ No deal ซึ่งจอห์นสันมองว่า 17 วันนี้ เป็นเวลาเหลือเฟือที่ผู้นำ EU และ ส.ส. อังกฤษจะพูดคุยกัน ทั้งก่อนหน้านี้เอง เขาก็ได้ประกาศจุดยืนไว้แล้วว่า ไม่ว่าจะมีข้อตกลง หรือไม่มี อังกฤษก็จะออกจาก EU ในวันนั้นแน่นอน!
3. ก่อนหน้านี้ ได้มีการเลื่อนเส้นตายเพื่อออกจาก Brexit มาถึง 2 ครั้งแล้ว ในสมัยของเทเรซา เมย์ หลังจากที่สภา และผู้นำ EU ไม่สามารถหาข้อยุติกันได้ และล่าสุดก็ได้เลื่อนมาเป็นวันที่ 31 ตุลาคมที่จะถึงนี้
4. สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ฝ่ายค้าน และประธานสภาไม่พอใจอย่างมาก เพราะการออกจาก EU แบบไร้ข้อตกลง จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสิทธิของประชาชนใน EU อย่างแน่นอน โดจอห์น เบอร์คาว ประธานสภาได้กล่าวว่าถึงการปิดสภาว่า ‘เป็นการทำลายรัฐธรรมนูญ’ และเห็นได้ชัดว่าวัตถุประสงค์คือเพื่อหยุดยั้งสภาไม่ให้ทำหน้าที่ เช่นเดียวกับ เจเรอมี คอร์บิน หัวหน้าฝ่ายค้าน ก็มองว่าเป็นการกระทำที่ ‘ไม่ยั้งคิด’ และฝ่ายค้านบางคนเองที่มองว่า เหมือนการถูกปฏิวัติยึดอำนาจด้วย
5. ภาคประชาชนเอง ก็ไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนเปิดสภาเช่นกัน โดยตอนนี้ ได้มีการลงนามเพื่อเรียกร้องไม่ให้รัฐบาลปิดการประชุม ซึ่งมีประชาชนร่วมลงชื่อถวายฎีกาคัดค้านกว่า 1 ล้านคนแล้ว และในบางพื้นที่ก็มีประชาชนมากกว่า 5% ที่ออกมาร่วมเรียกร้อง รวมถึงมีประชาชนบางส่วนที่ออกมาชุมนุม ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (28 สิงหาคม) และวันนี้เองก็ยังมีการรวมตัวต่อเนื่อง ทั้งค่าเงินปอนด์ของอังกฤษเอง ก็ร่วงลงท่ามกลางวิกฤตกังวลทางการเมืองด้วย
6. ผู้ชุมนุมมองว่า การกระทำของจอห์นสันถือไม่เป็นการเคารพประชาธิปไตย ผู้ชุมนุมต่างถือป้าย และตะโกนว่า ‘หยุดการรัฐประหาร’ และผู้ประท้วงวัย 17 คนหนึ่งก็ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ประชาธิปไตยมีความสำคัญมาก มันเป็นเรื่องที่ถูกสอนตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเป็นคนอังกฤษ และในวันนี้ก็กลายเป็นเพียงซากปรักหักพังที่เหยียบย่ำ และถูกขว้างออกไป”
7. นอกจากความไม่พอใจในตัวรัฐบาลแล้ว ยังมีประชาชนบางส่วนที่ไม่พอใจ สมเด็จพระราชินีนาถที่ยอมให้พระบรมราชานุญาตเลื่อนเปิดสภา จนเกิดแฮชแท็ก #AbolishMonachy ด้วย ทั้งยังมีการพูดถึงขอบเขตอำนาจของควีนว่าทรงสามารถปฏิเสธคำขอของจอห์นสันได้หรือไม่ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็ออกมาบอกว่า แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่พระองค์จะปฏิเสธคำขอนี้ เพราะพระองค์มีสิทธิน้อยมากในการตัดสินใจทางการเมือง และมักต้องทำตามคำแนะนำของรัฐบาลอยู่ดี
8. ด้วยระยะเวลาที่กระชั้นชิด ทางออกของอังกฤษในการออกจาก EU ในตอนนี้มี 3 ทางออก คือการเห็นชอบตามมติที่รัฐบาลเสนอ ซึ่งก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ในสมัยของเมย์ ข้อเสนอของรัฐบาลต่างก็ถูกตีตกจากสภา และฝ่ายค้านมาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง
9. ทางออกที่ 2 คือ การออกจาก EU อย่างไร้ข้อตกลง เป็นทางออกที่สหราชอาณาจักร ประชาชน รวมถึง EU ต้องการหลีกเลี่ยงมากที่สุด เพราะจะทำให้ต้องออกจาก EU โดยที่ยังไม่มีการตกลงเงื่อนไขการออก ไม่มีการตกลงสิทธิของประชาชนอังกฤษใน EU, สูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าการลงทุนต่างๆ ที่เคยมีร่วมกัน ต้องจ่ายภาษีนำเข้า เผชิญมาตรการกีดกันการค้า ที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของอังกฤษแน่นอน
10. อีกทางเลือกหนึ่ง คือการลงมติไม่ไว้วางใจในตัวจอห์นสัน หรือการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้น โดยหัวหน้าพรรคแรงงาน คอร์บิน ก็เรียกร้องให้พรรคฝ่ายค้าน และ ส.ส. คนอื่นๆ ให้การสนับสนุนเขา หากมีการลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจรัฐบาลจอห์นสัน เพื่อยุติการออกแบบไร้ข้อตกลงในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ และอาจมีการขยายเวลาออกจาก EU ออกไปอีกครั้ง
11. แต่ถึงอย่างนั้นพรรคเสรีนิยม และ ส.ส.บางส่วนก็กล่าวว่า พวกเขาจะไม่สนับสนุนแผนที่จะทำให้คอร์บินเป็นนายกฯ ซึ่งทางเลือกนี้ก็จะสร้างความวุ่นวายให้กับสภา และทางออก Brexit ไม่น้อยเช่นกัน
12. ประเด็นหลักที่ทำให้การเจรจากับ EU ยังไม่บรรลุคือ นโยบาย backstop หรือพรมแดนที่มีการตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองและด่านตรวจศุลกากรบนเกาะไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้รัฐบาลอังกฤษปฏิเสธข้อตกลงเจรจากับ EU มาตลอด โดยประชาชนที่หนุน Brexit ก็มองเช่นกันว่านโยบายนี้จะผูกมัดให้อังกฤษต้องยอมตามกฎของ EU
13. ทั้งล่าสุดจอห์นสัน ก็ได้เรียกร้องกับ โดนัลด์ ทัสก์ ประธานคณะมนตรี EU ว่า นโยบายนี้ ไม่เป็นประชาธิปไตย อาจทำลายสันติภาพในไอร์แลนด์เหนือ พร้อมทั้งระบุว่าพร้อมข้อตกลง หากยกเลิกนโยบายนี้
การเมืองอังกฤษจะเป็นอย่างไรต่อไป สมเด็จพระราชินีนาถจะถูกดึงลงมาเกี่ยวกับประเด็นการเมืองอีกไหม จะมีการลงมติไม่ไว้วางใจ และเลือกตั้งใหม่หรือไม่ การลงชื่อประท้วงของประชาชนจะเห็นผลอย่างไร และกระบวนการ Brexit ที่ยืดเยื้อมาหลายปีนี้ จะจบแบบไม่มีข้อตกลงหรือไม่ ? เราคงต้องติดตามกันต่อไป
อ้างอิงจาก
https://thematter.co/quick-bite/6-scenario-for-brexit/74354
https://edition.cnn.com/2019/08/28/uk/brexit-suspend-parliament-gbr-intl/index.html?no-st=1567054128
https://www.cbc.ca/news/world/brexit-britain-boris-johnson-eu-1.5262554
https://www.bbc.com/news/uk-politics-49495575
https://www.euronews.com/2019/08/29/protesters-take-to-the-streets-after-johnson-suspends-parliament
#Brexit #Recap #TheMATTER