นับถอยหลัง อีก 10 วัน ก่อนจะถึงวันที่ 12 เมษายน 2019 ซึ่งเป็นเส้นตาย ถ้ารัฐบาลอังกฤษยังไม่สามารถหาข้อตกลงของ Brexit ได้ สหราชอาณาจักรจะต้องถอนตัวออกจาก EU อย่างไร้ข้อตกลง ท่ามกลางความตึงเครียดของสภา ที่ไม่ว่าเสนอแผนอะไร ก็ยังไม่ได้รับเสียงโหวตจาก ส.ส. เกินครึ่ง ทำให้การเจรจาอยู่ในสภาวะ deadlock
ในระหว่างที่เวลากระชั้นชิดเข้ามา สภากำลังรีบร้อนหาทางออก การเจรจาระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้านกำลังดุเดือด พร้อมด้วยประชาชนที่ออกมาเดินขบวนเรียกร้อง การถอนตัวของ Brexit พอจะมีทางเลือกอะไรบ้าง และทางไหนจะมาเป็นทางออกให้กับสหราชอาณาจักรได้ The MATTER ได้สรุป 6 ทางเลือกที่เป็นไปได้มาให้แล้ว
1. รัฐสภาพยายามบังคับให้เทเรซา เมย์ยอมรับข้อตกลงจากการลงมติเสนอแนะของ ส.ส.
หลังจากวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา มีการลงมติยึดอำนาจ ให้สภาสามารถลงคะแนนความเห็นชอบทางเลือกอื่นๆ แทนร่างข้อตกลงของรัฐบาลได้ ก็ได้มีความพยายามลงมติเสนอแนะไปแล้ว 2 ครั้ง โดยมีข้อเสนอทั้งการให้อังกฤษอยู่ในตลาดเดียวกับ EU, ลงนามอยู่ในสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA), ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจขยาย Brexit หรือมาตรการป้องกันไม่ให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลง
จากการลงมติทั้งสองครั้ง ซึ่งครั้งแรกมีข้อเสนอ 8 ข้อ และครั้งที่ 2 อีก 4 ข้อ ต่างไม่มีแผนไหนได้รับการโหวตเสียงข้างมาก จึงต้องจับตาการลงมติเสนอแนะครั้งที่ 3 ในวันพรุ่งนี้ (4 เมษายน) ว่า จะมีข้อเสนอไหนได้รับเสียงข้างมากหรือไม่ ซึ่งถ้ามี ก็จะส่งผลให้เทเรซา เมย์ต้องพิจารณาต่อไป ว่าจะยอมรับข้อเสนอนี้หรือไม่
2. ข้อเสนอครั้งที่ 4 ของเมย์ ผ่านการยอมรับจากสภา
ล้มลุกคลุกคลานกี่ครั้ง ก็ยังไม่ยอมแพ้ แม้ว่าเมย์ จะเสนอแผน Brexit ไปแล้วถึง 3 ครั้ง และทุกครั้งต่างก็โดนรัฐสภาตีกลับ ไม่ได้รับการยอมรับ โดนฝ่ายค้าน และ ส.ส. ในสภากดดันให้ลาออก ให้ยอมแพ้ แต่เมย์ก็ยังยืนยันว่า เธอจะเสนอแผนอีกเป็นครั้งที่ 4 และถ้าแผนของเธอผ่านเมื่อไหร่ เธอจะยอมลาออกให้มีการเลือกตั้งใหม่ทันที!
แต่ในการเสนอแผนครั้งนี้ ดูมีทิศทางความเป็นไปได้มากขึ้น หลังจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีนานกว่า 7 ชั่วโมง เธอได้ออกมาประกาศว่าจะขอเจรจากับ เจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงาน และผู้นำฝ่ายค้าน เพื่อตกลงแผนที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันได้ ด้านคอร์บินเองก็กล่าวว่า “เขายินดีมาก” แม้ว่าเมย์ยืนยันว่าข้อตกลงในการถอนตัวของเธอที่ถูกโหวตตีตกเมื่อสัปดาห์ก่อน ก็จะยังเป็นส่วนนึงของข้อตกลงด้วย
3. ส.ส. ลงมติให้มีการทำประชามติครั้งที่ 2
การทำประชามติครั้งที่ 2 เป็นสิ่งที่ประชาชนจำนวนมากเรียกร้อง โดยในวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา มีประชาชนกว่า 1 ล้านคนที่ออกมาเดินประท้วงหน้ารัฐสภา เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในแนวคิด ‘Put It To The People’
แต่ถึงอย่างนั้น ในการลงมติเสนอแนะของ ส.ส. 2 ครั้งที่ผ่านมา ข้อเสนอนี้กลับไม่ได้รับเสียงข้างมาก แม้ว่าในการเสนอครั้งแรก ตัวเลือกนี้จะได้รับคะแนนเห็นด้วยมากที่สุด และในครั้งที่ 2 ได้รับคะแนนเห็นด้วยเป็นอันดับ 2 ซึ่งจากคะแนนโหวตจะเห็นได้ว่า ส.ส. พรรคแรงงานส่วนใหญ่ได้สนับสนุนความคิดนี้ ทำให้คาดการณ์ว่า มันอาจถูกนำกลับมาเป็นตัวเลือก เพื่ออนุมัติข้อตกลงถอนตัวใหม่ได้ ในการลงมติครั้งที่ 3 ที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้
แม้ว่าตัวเลือกนี้ จะมีประชาชนรวมถึง ส.ส. หลายคนที่สนับสนุน แต่ก็มีข้อจำกัด เพราะพรรคอนุรักษ์นิยมของรัฐบาลส่วนใหญ่ต่อต้านตัวเลือกนี้ และยังมีความคิดเห็นของ ส.ส.หลายคนที่กลัวว่า การจัดทำประชามติอีกครั้งจะทำให้สูญเสียความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษ และทำให้เกิดการแบ่งแยกในประเทศอีกครั้งด้วย
4. สหราชอาณาจักรออกจาก EU แบบ ‘ไร้ข้อตกลง’
ทางออกนี้ เป็นสิ่งที่สหราชอาณาจักร ประชาชน รวมถึง EU ต้องการหลีกเลี่ยงมากที่สุด แต่ดูเหมือนว่าตัวเลือกนี้อาจจะเป็นไปได้สูงเช่นกันในตอนนี้ ท่ามกลางการชะงักงันในแผนถอนตัว ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่สามารถตกลงถึงข้อเสนอภายในวันที่ 12 เมษายนนี้ จะทำให้ สหราชอาณาจักรต้องออกจาก EU ทันที
ซึ่ง ส.ส. ฝั่ง Hard Brexit (ฝั่งที่ต้องการตัดความสัมพันธ์หลายอย่างกับ EU) ก็มองว่า อย่างน้อยพวกเขาก็ได้ทำให้ Brexit เป็นไปตามทฤษฎี และกรอบเวลาแล้ว ในขณะที่ EU เองก็ได้ประกาศออกมาแล้วว่า พร้อมจะรับมือหากอังกฤษไร้ข้อตกลง โดยแถลงว่า “แม้ว่าการถอนตัวแบบไร้ข้อตกลงจะไม่เป็นที่ต้องการ แต่ EU ก็เตรียมพร้อมรองรับ”
5. เทเรซา เมย์ เรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้ง
หากไม่มีอะไรสามารถตกลงกันได้ในสภา เมย์เคยระบุเป็นนัยๆ ไว้แล้วว่า อาจจะให้มีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐมนตรีอาวุโสหลายคนของเธอ รวมถึงพรรคแรงงาน และพรรคชาติสก็อตแลนด์ที่เรียกร้องเช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ EU พร้อมยอมรับ และจะอนุญาตให้มีการขยายเวลาถอนตัวออกไปเกินกว่าวันที่ 22 พฤษภาคม (เส้นตายออกจาก EU ในกรณีที่สหราชอาณาจักรเห็นชอบแผน Brexit)
แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ทำให้เมย์จำเป็นต้องได้รับเสียงข้างอย่าง 2 ใน 3 ของสภา เพื่อจะมีเสียงข้างมากในการรับรองแผน Brexit ของเธอ และก็มีความเสี่ยงที่ ส.ส. พรรคอนุรักษ์นิยมไม่เห็นด้วย เพราะจากการยุบสภาเลือกตั้งครั้งก่อนของเมย์ ในปี 2017 แม้พรรคจะชนะเลือกตั้ง แต่กลายเป็นว่าก็สูญเสียการครองเสียงข้างมากในสภาไปเช่นกัน
6. เทเรซา เมย์ ขอ EU ขยายระยะเวลาถอนตัวจาก 12 เมษายน 19
ขอเลื่อนแล้ว เลื่อนอีก แต่ที่อังกฤษไม่ใช่การเลื่อนเลือกตั้งเหมือนประเทศไทย แต่เป็นการขอเลื่อนเวลาถอนตัวออกไปอีกครั้งในระยะสั้น หลังครั้งแรกเส้นตายเดิม คือวันที่ 29 มีนาคม ซึ่งเมย์ได้ขอเลื่อน EU มาเป็นวันที่ 12 เมษายนแล้ว แต่จากการประชุมอย่างคร่ำเครียด 7 ชั่วโมงติดของเมื่อวาน เมย์ได้ออกมาเรียกร้องว่าจะขอเลื่อนการถอนตัวจาก Brexit อีกครั้ง เพื่อขอเวลาในการเจรจาแผนกับฝ่านค้านด้วย
โดยเมย์กล่าวว่า “เราจำเป็นต้องขยายเวลาการบังคับใช้มาตรา 50 เพื่อให้เราสามารถแยกตัวจาก EU ตามกำหนดเวลาอย่างเป็นระบบระเบียบ และฉันเสนอที่จะนั่งลงเจรจากับฝ่ายค้านเพื่อให้มีการตกลงกันถึงแผนการที่เราจะปฏิบัติตามเพื่อให้มั่นใจว่าเราจะแยกตัวจาก EU โดยมีการทำข้อตกลง”
แต่ก็ใช้ว่าเมย์ขอ แล้ว EU จะยอมให้ ซึ่งต่อจากนี้ สหราชอาณาจักรจะต้องส่งคำขอไปยังผู้นำ EU อีก 27 ประเทศล่วงหน้าก่อนการประชุมสุดยอดฉุกเฉินในวันที่ 10 เมษายนนี้ โดยเมย์ระบุว่า เธอต้องการขยายเวลาแบบสั้นที่สุดให้รัฐบาลหาข้อตกลงก่อน 22 พฤษภาคม เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสที่สหราชอาณาจักรต้องเข้าร่วมในการเลือกตั้งของ EU ในเดือนพฤษภาคม ซึ่ง EU ก็มีโอกาสที่จะยอมรับ หรือปฏิเสธคำขอขยายเวลาของเมย์ได้เช่นกัน
แผนถอนตัวของ Brexit และป้าเมย์จะเป็นไปอย่างไร ป้าเมย์และรัฐบาลอังกฤษ จะเลือกทางออกไหน Brexit นี้จะจบลงอย่างไร เราคงต้องติดตามการเมือง และเจรจาของผู้นำอังกฤษกันต่อไป
อ้างอิงจาก