เรื่องราวอันร้อนระอุในตะวันออกกลาง เป็นที่รับรู้กันมายาวนาน และยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงได้ง่ายๆ และ ล่าสุด ข่าวที่ดังคึกโครมไปทั่วคือ การบุกโจมตีกลุ่มชาวเคิร์ดในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย โดยตุรกี ศัตรูของชาวเคิร์ด ซึ่งให้เหตุผลว่า เป็นการปรามปราม ‘กลุ่มผู้ก่อการร้าย’
การโจมตีดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศถอนกองกำลังที่อยู่พื้นที่ความขัดแย้งมายาวนานตั้งแต่สมัยบารัค โอบาม่า ทำให้ความขัดแย้งของชาวเคิร์ด กับตุรกี ก็มีมายาวนาน กลับมาปะทุรุนแรงอีกครั้ง จนต้องกลับมาทบทวนกันว่า ใครเป็นใคร และเกิดอะไรขึ้นบ้าง
1). ชาวเคิร์ด คือ กลุ่มชาติพันธ์ในตะวันออกกลางที่เก่าแก่ที่สุดกลุ่มชาติพันธ์ของโลกนับตั้งแต่ยุคโบราณ มีจำนวนประมาณ 300 ล้านคน แต่เพราะเป็นชนชาติที่มีความหลากหลายสูงมากๆ พอถึงยุคที่เริ่มมีการรวมกลุ่มเป็นรัฐสมัยใหม่ ชาวเคิร์ดจึงกลายเป็นชนกลุ่มที่ไม่มีแผ่นดิน อาศัยกระจัดกระจายอยู่ในภูมิภาค โดย ตุรกี เป็นประเทศที่มีชาวเคิร์ดอยู่เยอะที่สุด การไร้ประเทศอยู่ ทำให้ชาวเคิร์ดกลายเป็น ‘ชนกลุ่มน้อย’ ไปโดยปริยาย
2). ช่วงปี ค.ศ. 1980 เป็นช่วงเวลาที่กลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ด ที่ชื่อว่า PKK (The Kurdistan Workers’ Party) ลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐบาลตุรกี โดยมีเป้าหมายที่จะก่อตั้งรัฐอิสระเป็นของตัวเอง หลังจากถูกตุรกีกดขี่มายาวนาน จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 40,000 คน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีและชาวเคิร์ด อยู่ในภาวะย่ำแย่มาโดยตลอด
3). ช่วงปี ค.ศ. 2011 เกิดการประท้วงในซีเรียที่ลุกลาม มีหลายฝ่ายมาเข้าร่วม รวมทั้งสองประเทศยักษ์ใหญ่อย่างรัสเซีย และสหรัฐฯ ที่มาพร้อมกับพันธมิตรหลายชาติ โดยตุรกีเอง ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่สนับสนุนกองทัพปลดปล่อยซีเรีย ที่ต่อต้านรัฐบาลของ บาชาร์ อัล-อัสซาด และเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ช่วงต้นของสงครามซีเรีย แต่ขณะเดียวกัน ตุรกีก็ปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือชาวเคิร์ดในซีเรียทุกรูปแบบ แม้ว่าชาวเคิร์ดจะเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ในการร่วมมือต่อต้านรัฐบาลของซีเรียอยู่ก็ตาม
4). สาเหตุที่ตุรกีไม่ให้การสนับสนุนชาวเคิร์ดเลย เพราะตุรกีกลัวว่า หากชาวเคิร์ดที่อยู่ในประเทศใดก็ตาม ประสบความสำเร็จในการแยกตัวออกเป็นอิสระแล้ว ชาวเคิร์ดในตุรกี ก็จะลุกขึ้นก่อความวุ่นวายในตุรกีด้วยเช่นกัน ซึ่งดินแดนที่ชาวเคิร์ดหมายตาจะให้เป็นพื้นที่สำหรับรัฐอิสระของตนเอง ก็คือพื้นที่ทางตอนเหนือของซีเรีย
5). ขณะเดียวกัน ISIS ที่เคยยึดครองพื้นที่ในซีเรียและอิรักได้เป็นจำนวนมาก ก็เริ่มอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่ ปี ค.ศ. 2016 จนเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา สำนักข่าว AP รายงานว่า พื้นที่ที่ ISIS ยึดครองอยู่เหลือไม่เกิน 700 ตารางเมตร โดยชาวเคิร์ดเองก็เป็นหนึ่งในกองกำลังสำคัญ ที่ช่วยปราบปรามไอเอส
6). จนเมื่อทรัมป์ออกมาทวีตว่า “ถึงเวลาแล้วที่สหรัฐฯ ต้องถอนตัวออกจากสงครามไร้สาระที่ไม่มีวันสิ้นสุดนี้ และนำทหารอเมริกันกลับบ้าน เราจะสู้เพื่อผลประโยชน์ของเราเท่านั้น และจะสู้เพื่อชัยชนะของเราเท่านั้น” และยังบอกอีกว่าประเทศคู่ขัดแย้งทั้งหลายในตะวันออกกลาง ต้องหาทางรับมือกับ ISIS กันเอง ไว้ ISIS มาตอแยสหรัฐฯ เมื่อไหร่ ถึงเวลานั้นสหรัฐฯ ค่อยยื่นมือไปช่วย
7). แล้วสหรัฐฯ ก็ถอนกำลังออกจากพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นเหมือนการให้ไฟเขียวตุรกี เดินหน้าโจมตีกลุ่มชาวเคิร์ดที่อยู่ทางตอนเหนือของซีเรีย ซึ่งกลุ่มเคิร์ดนี้ เคยมีบทบาทสำคัญในการสู้รบกับ ISIS การกระทำครั้งนี้ ทำให้ทรัมป์ได้รับเสียงวิจารณ์จากทั้งฝั่งเดโมแคตรและรีพับลีกัน
.
8). สัญญาณ ‘ไฟเขียว’ จากการถอนกำลังออกของสหรัฐฯ (ที่แม้สหรัฐฯ จะปฏิเสธว่าไม่ได้ให้ซะหน่อย) ทำให้ตุรกี เดินหน้าข้ามพรมแดนเข้าไปโจมตีชาวเคิร์ดที่อาศัยอยู่ในทางตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย โดยมุ่งหวังให้ชาวเคิร์ดถอยออกจากบริเวณพรมแดน
9). การโจมตีครั้งนี้ ทำให้เรดูร์ เซลิล เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองกำลังชาวเคิร์ด ออกมาแถลงว่า การคุ้มกันนักโทษ ISIS ไม่ใช่ภารกิจหลักของชาวเคิร์ดอีกต่อไปแล้ว เพราะพวกเขาจำเป็นต้องเคลื่อนพลไปปกป้องเมืองและพลเรือนจากการถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงแทน พร้อมขู่กลายๆ ว่า หากตุรกียังคงโจมตีแบบนี้ต่อไป อาจทำให้กลุ่มนักรบ ISIS ที่ถูกคุมขังไว้ ออกมาสู่โลกได้อีกครั้ง
10). ความโกลาหลนี้ ทำให้รัฐบาลซีเรีย ซึ่งมีรัสเซียให้การสนับสนุนกับซีเรียมาโดยตลอด ตัดสินใจช่วยเหลือชาวเคิร์ด โดยการทำข้อตกลงร่วมกันต่อต้านการรุกรานของกองทัพตุรกี ซึ่งผู้นำฝ่ายเคิร์ดกล่าวว่า ตัวเขายังคงไม่ไว้รัฐบาลซีเรียและรัสเซียมากนัก แต่ ณ เวลานี้ ชีวิตของชาวเคิร์ดเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ทำให้ตอนนี้ กองกำลังของซีเรีย ภายใต้รัฐบาล บาชาร์ อัล-อัสซาด เดินหน้าเข้าสู่พื้นที่ที่เป็นข้อพิพาทดังกล่าว
11). ขณะเดียวกัน การตัดสินใจถอนกำลังทหารออกของทรัมป์ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ทรัมป์โทรศัพท์หา เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีของตุรกี ขอให้กองทัพตุรกีหยุดยิงทันที และคว่ำบาตรกระทรวงกลาโหมและกระทรวงพลังงานของตุรกี ทั้งยังระงับการเจรจาข้อตกลงการค้ากับตุรกี และสั่งขึ้นภาษีศุลกากรเหล็กจากตุรกีที่อัตราสูงสุดถึง 50% อีกด้วย
12). ถึงอย่างนั้น ตุรกียังก็คงเดินหน้าเข้าโจมตีกลุ่มชาวเคิร์ดในซีเรียอยู่ดี และปฏิเสธข้อเรียกร้องให้หยุดโจมตีของสหรัฐฯ พร้อมแถลงว่า “เขาบอกว่า ให้ยุติการโจมตี แต่เราจะไม่มีทางหยุดการโจมตีเด็ดขาด” ซึ่งเป็นไปได้ว่า กลุ่มพันธมิตรจะถึงคราวแตกหักกันแล้วก็เป็นได้
ขณะนี้ ความขัดแย้งและสงครามในพื้นที่ดังกล่าวยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงแต่อย่างใด และคงต้องติดตามบทสรุปของเรื่องราวกันต่อไป
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/news/world-middle-east-50039856
https://www.aljazeera.com/news/2019/10/trump-impose-sanctions-turkey-191014195833562.html
https://www.theguardian.com/commentisfree/2019/oct/14/kurds-endless-war-turkey-erdogan
https://www.institutkurde.org/en/info/the-kurdish-population-1232551004
https://www.voathai.com/a/trump-pull-us-troops-from-syria/5114076.html
https://www.bbc.com/thai/international-50028709
#recap #TheMATTER