“ผมทำด้วยหัวใจบริสุทธิ์ ต้องการให้ความยุติกรรมแก่ประชาชน และไม่เสียใจที่ได้กระทำ ผมภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน”
จากคนที่ออกมาตั้งคำถามกระบวนการยุติธรรม ได้กลายมาคนที่ถูกตรวจสอบ—เรื่องราวของผู้พิพากษา คณากร เพียรชนะ ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่สังคมไทยกำลังพูดถึงกันอีกครั้ง
ข่าวใหญ่ในวันนี้คือการยิงตัวเองอีกครั้งของ คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา หลังจากที่เขายิงตัวเองที่บ้านพักส่วนตัวในจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนที่จะเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ในช่วงเช้าวันนี้ ผู้พิพากษาคณากร ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กเป็น ‘จดหมายลา’ เนื้อหาในนั้นเขาย้ำถึงเจตนารมย์ ที่ต้องการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน ซึ่งเป็นจุดยืมเดิมที่สอดคล้องกับวันที่เขาตัดสินใจยิงตัวเองในศาลเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว
เรื่องราวของผู้พิพากษาคณากรมีที่มาที่ไปอย่างไร ตลอดเส้นทางนี้เขาชวนพวกเราตั้งคำถามกับเรื่องอะไรบ้าง? The MATTER สรุปมาให้ในโพสต์นี้นะ
1) วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2561 เกิดเหตุคนร้ายยิงชาวบ้าน 5 คนจนเสียชีวิต โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน บ้านตือโละดือลง จ.ยะลา โดยเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัว ‘ผู้ต้องสงสัย’ ได้ทั้งหมด 5 คนจากคดีนี้
2) เมื่อเรื่องมาถึงในชั้นศาล ผู้พิพากษา คณากร เคยระบุว่า ก่อนหน้านี้ เขาได้เขียนสำนวนว่าให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คน เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ทั้งจากการไม่พบ DNA ของจำเลยทั้ง 5 คนบนอาวุธปืน รวมถึงข้อสังเกตที่ว่า ปืนที่พบเป็นหลักฐานอาจไม่ใช่อาวุธที่ถูกนำมาก่อเหตุในคดีนี้
“คดีนี้ไม่ใช่คดีความมั่นคง ไม่ใช่คดีก่อการร้าย โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยทั้งห้าว่ากระทำความผิดฐานก่อการร้ายหรือความผิดต่อความมั่นคง แต่พยานหลักฐานทั้งหมดกลับเกิดจากหรือเกิดมีขึ้น ในขณะที่จำเลยทั้งห้าถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์ซักถามเป็นเวลานานในฐานะผู้ต้องสงสัย ตามกฎหมายพิเศษคือกฎอัยการศึก” ผู้พิพากษาคณากร อธิบาย
เขาย้ำด้วยว่า ไม่ใช่ว่าจำเลยทั้ง 5 คนจะไม่ใช่คนร้าย แต่จากพยานหลักฐานที่ได้รับมาพิจารณาแล้ว ทั้งหมดมันยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะลงโทษได้
3.) คณากร บอกว่า ถึงแม้ในตอนแรกเขาจะเห็นว่าควรให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คน แต่ถึงอย่างนั้น ก็ถูก ‘ผู้ใหญ่’ ขอให้แก้ไขเป็นการประหารชีวิตจำเลย 3 คน และจำคุกอีก 2 คน
4.) ถ้าหากสิ่งที่คณากรกล่าวไว้เป็นความจริง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงน่าจะชวนให้พวกเรานึกถึงถ้อยคำในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ในมาตรา 188 วรรคสอง ที่เขียนไว้ว่า “ผู้พิพากษาและตุลาการ ย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง”
ถ้อยคำนี้ในรัฐธรรมนูญถูกคณากรอ้างถึงหลายครั้ง เพื่อตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทยว่าเป็นไปตามหลักการที่ถูกต้องหรือไม่
5.) คณากร ยังได้อ้างอิงถึง พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11(1) ที่มีเนื้อหาสำคัญว่า ถึงแม้ผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ จะไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของผู้ใต้บังคับบัญชา (ผู้ใต้บังคับบัญชาในกรณีนี้ หมายถึงตัวคณากรเอง) ก็สามารถทำความเห็นแย้งได้ แต่โดยหลักการที่ถูกต้องแล้ว จะไม่มีอำนาจสั่งให้แก้ไขสำนวนได้
6.) เขาได้เรียกร้องผ่านคำแถลงไว้ 2 เรื่องคือ
-เรียกร้องให้สภานิติบัญญัติ ออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พระธรรมนูญศาลยุติธรรม เพื่อห้ามกระทำการตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง ทั้งห้ามกระทำใดๆ อันมีผลเป็นการแทรกแซงผลคำพิพากษา
-เรียกร้องให้สภานิติบัญญัติและนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีให้ความเป็นธรรมทางการเงินแก่ผู้พิพากษาทั่วประเทศ ซึ่งทราบมีผู้พิพากษาบางกลุ่มจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้นานแล้ว แต่มีข้อขัดข้องไม่สามารถส่งออกจากศาลยุติธรรม เพื่อนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติและคณะรัฐมนตรีได้
7.) ผู้พิพากษาคณากร ทิ้งท้ายในแถลงการณ์ว่า
“คำแถลงของผม อาจะมีน้ำหนักเบาบางเหมือนขนนก แต่หัวใจผู้พิพากษาหนักแน่นปานขุนเขา จึงมอบหัวใจชั่งบนตราชู ยืนยันคำแถลง ขอความสุขสวัสดีจงมีแต่ทุกท่าน”
หลังจากแสดงจุดยืนต่อกระบวนการยุติธรรม และอ่านคำแถลงที่เขาเตรียมมาจบ ผู้พิพากษาคณากรได้หยิบปืนขึ้นมาและยิงเข้าที่ตัวเอง
8.) ในเวลาต่อมา คำแถลงของเขาได้ถูกนำไปเผยแพร่ต่อกันเป็นวงกว้าง สื่อมวลชนให้ความสนใจนำไปรายงานต่อ และสร้างเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ๆ ต่อกระบวนการยุติธรรมในบ้านเรา
9.) คืนวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2562 รายการข่าวสามมิติได้นำเสนอรายงานพิเศษ ซึ่งมีคำชี้แจงจาก สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ที่เป็นผู้ถ่ายทอดคำพูดของ อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 9 ที่ยืนยันว่า ไม่มีเจตนาแทรกแซงคดีตามที่คณากรกล่าวอ้าง และที่ผ่านมาก็ปฏิบัติหน้าที่ตามระบบ
“หัวหน้าศาลหรืออธิบดีผู้พิพากษาจะไปสั่งผู้พิพากษาให้ตัดสินตามความต้องการไม่ได้ เพราะไม่ใช่ระบบข้าราชการพลเรือนที่บังคับบัญชาตามลำดับชั้น แต่เราสร้างกลไกให้คำพิพากษามีมาตรฐานและได้รับการกลั่นกรองจากผู้ที่มีประสบการณ์สูงกว่า เพื่อเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวกับผู้สื่อข่าว 3 มิติ
[อ่านรายละเอียดคำชี้แจงเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bbc.com/thai/thailand-49996715]
10.) กลับมาที่ทางด้านของคณากร เขาได้รับการช่วยเหลือจากแพทย์ จนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม แต่ช่วงเวลาต่อจากนั้นก็มีความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นกับเขาที่น่าสนใจด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมถึงตรวจสอบตัวเขาเองจากเรื่องที่เกิดขึ้น ขณะที่บางฝ่ายก็ตั้งคำถามถึงเจตนาที่แท้จริงของเขา
11.) ด้านเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้เปิดเผยในวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 ว่า การประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ครั้งที่ 16/2562 ได้รับทราบรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว
และมีมติตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีของคณากร ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 68 คือเป็นกรณีที่ถูกกล่าวหา หรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัย และมีมติให้นายคณากรไปช่วยทำงานชั่วคราวในกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ขณะเดียวกัน ก็ยังมีมติให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาอีกชุด เพื่อศึกษาและพัฒนาหลักเกณฑ์ แนวทาง และวิธีการตรวจร่างคำพิพากษา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นอีก
12.) เมื่อมาถึงวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2563 เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ก็ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าเรื่องการตรวจสอบคณากร โดยการแถลงข่าวครั้งนั้น ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า
พนักงานสอบสวน สภ.เมืองยะลา ได้ขออนุญาตประธานศาลฎีกาดำเนินคดีนายคณากร ตามความผิด พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490 ด้วย ซึ่งขณะนี้ครบกำหนดระยะเวลาฝากขังแล้ว แต่พนักงานอัยการยังไม่ได้มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดยะลา
ขณะเดียวกัน เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ย้ำว่า ประธานศาลฎีกา ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและสอบวินัยไปแล้ว และได้กำชับว่าต้องทำอย่างตรงไปตรงมา
13.) เหตุการณ์เดินทางมาถึงเช้าวันนี้ (7 มีนาคม พ.ศ.2563) คณากรได้ยิงตัวเองอีกครั้งหนึ่งที่บ้านพักในจังหวัดเชียงใหม่ โดยโฆษกศาลยุติธรรมได้ยืนยันกับไทยรัฐออนไลน์ว่า คณากรก่อเหตุยิงตัวเองจริงโดยถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาล และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
14.) ก่อนที่จะเสียชีวิต ผู้พิพากษาคณากรได้โพสต์จดหมายลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยใจความช่วงหนึ่งเขียนว่า
“ผมเชื่อว่าต้องถูกลงโทษออกจากราชการเป็นแน่…การสูญเสียหน้าที่การงานที่รักนั้นคือการสูญเสียตัวตน ทั้งกลับกลายเป็นผู้ต้องหาเสียเอง สภาพร่างกายและจิตใจของผมไม่อาจรับไหว เต็มไปด้วยความทุกข์ เส้นทางชีวิตของผมในชาตินี้ได้ขาดลงแล้ว”
และอีกช่วงหนึ่งเขียนว่า
“ผมขอยืนยันกับเพื่อน ๆ พี่น้อง ประชาชนชาวไทยทุกท่านว่าสิ่งที่ทำลงไป ผมทำด้วยหัวใจบริสุทธิ์ ต้องการให้ความยุติกรรมแก่ประชาชน และไม่เสียใจที่ได้กระทำ ผมภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน”
การยิงตัวเองอีกครั้งของคณากร จึงได้สร้างคำถามขึ้นอีกครั้งกับสังคมไทย และต้องจับตากันต่อไปถึงความเปลี่ยนแปลงในอนาคต
อ้างอิงจาก
https://thematter.co/brief/recap/recap-1570251389/86554
https://prachatai.com/journal/2020/03/86673
https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2033640
https://www.isranews.org/isranews-news/82630-isranewss-82630.html
https://www.thairath.co.th/news/local/north/1789206
https://news.thaipbs.or.th/content/289605
https://www.bbc.com/thai/thailand-49996715
https://www.bbc.com/thai/thailand-51780253
https://www.mcot.net/viewtna/5e240aafe3f8e40af54154d1
#recap #คณากรเพียรชนะ #TheMATTER