เมื่อสถานะของ ‘คู่ชีวิต’ ไม่เท่ากับ ‘คู่สมรส’ และสิทธิบางอย่างได้หายไปจากร่างกฎหมาย
หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับที่ผลักดันโดยกระทรวงยุติธรรม และแม้จะมีคนที่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่ในอีกทางหนึ่งก็มีข้อสังเกตที่น่าสนใจเกิดขึ้นมา นั่นคือกระแสการคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ และมองว่ามันอาจจะไม่ได้นำไปสู่สิทธิที่คนทุกเพศควรได้อย่างเท่าเทียม
วันนี้ The MATTER จะอธิบายและสรุปให้ฟังว่า ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับนี้ถูกตั้งคำถามทั้งในเชิงหลักการและข้อกฎหมายอย่างไรบ้าง? แล้วทิศทางหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป?
1. ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตเคยถูกพูดถึงและผลักดันกันอยู่หลายปี โดยร่างกฎหมายฉบับนี้มีเจ้าภาพเป็นกระทรวงยุติธรรม และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนธันวาคมปี 2561 (ก่อนหน้านี้ก็มีความพยายามจะรัฐบาลในช่วงก่อนรัฐประหาร แต่ก็สะดุดไปอยู่ช่วงหนึ่งเพราะความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง)
2. ในเวลานั้นเองก็มีข้อถกเถียงต่อร่างกฎหมายฉบับนี้กันพอสมควร ในเชิงกระบวนการออกกฎหมาย ที่นักเคลื่อนไหวและนักวิชาการหลายคนตั้งคำถามในเชิงหลักการว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากรัฐในช่วงเวลานั้นมันอาจจะยังไม่เพียงพอ และยังไม่เปิดกว้างเท่าที่ควร รวมถึงความชอบธรรมของการออกกฎหมายโดยสภาที่ไม่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
(อ่านประเด็นเรื่องกระบวนการออกกฎหมายและความชอบธรรมได้ที่ : https://thematter.co/thinkers/sex-ray/democracy-and-lgbtq/45578)
ขณะเดียวกันก็มีหลายกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวว่า จริงๆ แล้ว สิ่งที่รัฐควรจะทำ อาจไม่ใช่ พ.ร.บ.คู่ชีวิต แต่เป็นการแก้ไขกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรสมากกว่า เพราะจะทำให้ LGBTQ ได้รับรองสถานะเท่ากับเพศชายและหญิง ไม่ได้เป็นเพียงแค่ ‘คู่ชีวิต’ แต่เป็น ‘คู่สมรส’
3. โดยข้อสังเกตว่าด้วยเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ได้กลับมาอีกครั้ง หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบไปเมื่อวานนี้ (8 ก.ค. 2563)
ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คือคนสำคัญที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างจริงจังในเรื่องนี้ โดยได้เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ มีสิทธิสมรสเช่นเดียวกับชายหญิง โดยจะได้รับสถานะเป็น ‘คู่สมรส’ ไม่ใช่ ‘คู่ชีวิต’
สาระสำคัญในการแก้ไขถ้อยคำในหลายมาตราที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติ โดยจะเปลี่ยนจากคำว่า ‘สามีและภรรยา’ เป็น ‘คู่สมรส’ รวมถึงการแก้ไขถ้อยคำว่า ‘ชาย’ และ ‘หญิง’ ให้เป็นคำว่า ‘บุคคล’ เพื่อรองรับกับความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น และให้ทุกคนได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่จำเป็นต้องแยกกฎหมายออกไปเป็นฉบับใหม่
4. ธัญวัจน์ ให้สัมภาษณ์กับ The MATTER โดยชี้ชวนให้พวกเราเห็นถึงสิ่งที่ขาดหายไปจาก พ.ร.บ.คู่ชีวิต และความสำคัญที่ต้องแก้ไขถ้อยคำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เอาไว้ว่า
“ถ้าพูดถึง พ.ร.บ.คู่ชีวิต จริงๆ หลักฐานคิดมันอาจจะตั้งต้นมาไม่ตรงกับปัญหาเท่าไหร่นัก ดังนั้นจึงมีปัญหาเยอะ พูดง่ายๆ คือ คำว่าคู่ชีวิต ไม่ได้อยู่ในกฎหมายอื่นเลย เพราะฉะนั้น คำว่าคู่ชีวิตจึงไม่ตอบโจทย์ในกฎหมายต่างๆ สวัสดิการรัฐ หรือการปกป้องดูแลอื่นๆ ในกฎหมายสมรส” ธัญวัจน์กล่าว
ธัญวัจน์ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การออก พ.ร.บ.คู่ชีวิต จะทำให้เกิดความทับซ้อนในเชิงกฎหมายด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า ถ้ามีคนที่ไปจดทะเบียนสมรสแล้ว จะสามารถจดคู่ชีวิตซ้อนไปอีกทางได้ไหม ซึ่งประเด็นนี้จะทำให้เกิดความสับสนขึ้นมาในทางกฎหมายได้
5. คำถามต่อมาคือ แล้วในเชิงสิทธิล่ะ พ.ร.บ.คู่ชีวิต กับ การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต่างกันอย่างไรบ้าง?
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ได้เปรียบเทียบความแตกต่างออกมาให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากๆ ว่า ความต่างข้อแรกเลย คือสถานะของคนที่ไปจดทะเบียน ถ้าตามข้อกฎหมายใน พ.ร.บ.คู่ชีวิตแล้ว คนที่ไปจดทะเบียนจะได้สถานะเป็น ‘คู่ชีวิต’ ส่วนแนวทางตามการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือ ‘คู่สมรส’
ความต่างข้อต่อมาคืออายุขั้นต่ำในการจดทะเบียน
-พ.ร.บ.คู่ชีวิต = 17 ปี
-แก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ = 18 ปี
ความต่างในเรื่องการหมั้น
-พ.ร.บ.คู่ชีวิต = ไม่มีเขียนไว้
-แก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ = ทำได้
6. นอกจากนั้น บทวิเคราะห์จากไอลอว์ยังได้มองถึงปัญหาเรื่องการแยกสถานะออกมาเป็น ‘คู่ชีวิต’ ที่จะทำให้ผู้ที่ไม่จดทะเบียน ไม่ได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์และสวัสดิการภาครัฐหลายอย่างเหมือนกับ ‘คู่สมรส’ เช่น การลดหย่อนภาษีของคู่สมรส
(อ่านข้อสังเกตว่าด้วยความแตกต่างระหว่าง คู่รักและคู่สมรสอย่างละเอียดต่อได้ที่ : https://thematter.co/thinkers/civil-partnership-bill/64439)
7. อีกประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ถ้อยคำในรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศเรา ซึ่งในมาตรา 27 ได้เขียนเอาไว้ว่า
“บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมหรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้”
จากข้อความข้างต้นนี้จึงน่าสนใจว่า แล้วการออกกฎหมายฉบับใหม่ แต่พรากสิทธิบางอย่างออกไปจากคนในกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศนั้น มันขัดกับหลักการของรัฐธรรมนูญไทย ที่กำหนดว่าทุกคนต้องได้รับสิทธิเท่าเทียมกันหรือไม่ หรือพูดให้ชัดกว่านั้นคือ การกำหนดให้คู่รักมีสถานะเป็น ‘คู่ชีวิต’ ที่ไม่ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับ ‘คู่สมรส’ นั้น มันขัดกับหลักที่รัฐธรรมนูญไทยรับรองเอาไว้รึเปล่า?
8. ประเด็นการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ยังคงเป็นที่พูดถึงกันอยู่อย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดีย ขณะเดียวกัน ด้านรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย วิษณุ เครืองาม ได้ให้ความเห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้สามารถปรับแก้ไขเพิ่มเติมได้ในสภา พร้อมกับยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายพิเศษฉบับอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ได้รับสิทธิที่เท่าเทียม
9. ตามขั้นตอนแล้ว หลังจากร่างกฎหมายผ่านคณะรัฐมนตรี จะต้องเข้าสู่การพิจารณาตรวจสอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา และส่งให้กับสภาให้ความเห็นชอบก่อนจะเป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ
สิ่งที่เราต้องจับตากันหลังจากนี้คือ ความเห็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ จะถูกนำไปปรับแค่ไหน ขณะเดียวกัน การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อการสมรสที่เท่าเทียมจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ คู่ขนานไปกับ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่รัฐบาลกำลังผลักดันอยู่
อ้างอิงจาก
https://www.ilaw.or.th/node/5695
https://prachatai.com/journal/2017/06/71823
https://mgronline.com/politics/detail/9630000070279
https://www.bbc.com/thai/thailand-53332376
https://thematter.co/social/inequality-in-civil-partnerships/69495
https://thematter.co/brief/brief-1594031400/116705
#recap #สมรสเท่าเทียม #TheMATTER