เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวใหญ่ว่ารัฐบาลไทยผ่านร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และเห็นชอบในหลักการ พร้อมส่งให้กฤษฎีกาและสภาพิจารณาเป็นกฎหมายต่อไป
ถ้าหากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภา และได้รับการบังคับใช้จริง ก็จะถือเป็น ‘ครั้งแรก’ ในประเทศไทยที่ LGBT สามารถจดทะเบียนเป็น ‘คู่ชีวิต’ ได้พร้อมกับสิทธิหลายข้อที่จะได้รับตามมาเท่าเทียมกับคู่ชายหญิง
แต่ถึงอย่างนั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ถูกวิจารณ์พอสมควรว่ามันจะยังไม่ได้สร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง เนื่องจากสิทธิของ ‘คู่ชีวิต’ ยังไม่ได้มีเท่ากับ ‘คู่สมรส’ แบบชายหญิง
ด้วยเหตุผลนี้ กลุ่ม Love United และพันธมิตรผู้เคลื่อนไหวด้านความหลากหลายทางเพศ ได้จึงมีงาน ‘LGBT+ Family Meeting’ ขึ้นมาเมื่อวันที่ 19 มกราคม เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกันถึงประสบการณ์ของ รวมถึงเนื้อหาของ พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่เพิ่งผ่านการเห็นชอบไปจากคณะรัฐมนตรี
หนึ่งในหัวข้อที่ได้รับการพูดถึงการอย่างมาก คือคำถามที่ว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิตนั้น จริงๆ แล้วให้สิทธิอะไร และไม่ได้ให้สิทธิอะไรแก่คู่รัก LGBT บ้าง?
“พ.ร.บ.คู่ชีวิตเป็นการรับรองความสัมพันธ์ในรูปแบบหนึ่ง แต่ไม่ใช่การสมรสตามกฎหมาย เพราะการสมรสตามกฎหมายในปัจจุบัน กฎหมายไทยเรามีแค่การประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้นและที่เดียว มีหลายคนพยายามสื่อสาร แต่ไม่รู้ว่ากว้างแค่ไหน การจดทะเบียนคู่ชีวิตไม่ใช่การจดทะเบียนสมรส คู่ชีวิตไม่ใช่คู่สมรสแน่นอน”
ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร ทนายความและนักวิจัยประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศ ผู้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘สิทธิความเสมอภาคในการสมรสของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย’ หนึ่งในวิทยากรผู้ร่วมเสวนา เล่าให้กับ The MATTER ฟัง
เราชวนชวินโรจน์คุยกันต่อหลังจากงานเสวนา ถึงข้อสังเกตและทิศทางการแก้ไขเนื้อหาในร่างกฎหมายที่ควรจะเป็น
ทำไมต้องแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับผ่านคณะรัฐมนตรี?
ชวินโรจน์ อธิบายว่า เหตุผลสำคัญก็เพื่อให้คู่รัก LGBT ได้รับสิทธิอันเท่าเทียม ซึ่งเป็นสิทธิที่พวกเขาควรจะได้โดยชอบธรรม
“ถ้าไม่เสนอแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต กฎหมายก็จะออกไปตามที่ผู้ร่างซึ่งขาดความเข้าใจ อาจไม่ได้รู้ถึงสภาพปัญหาที่แท้จริงของ LGBT ในที่สุดกฎหมายที่ออกมา ก็ใช้การไม่ได้ เป็นแค่ไปจดทะเบียนได้กระดาษมาแผ่นหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้สิทธิสำคัญที่เขาควรจะได้ เช่น สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน” ชวินโรจน์ อธิบาย
เราถามต่อไปว่า แล้วอะไรคือสิ่งที่ขาดหายไปจากร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับนี้ โดยเฉพาะกับข้อสงสัยของหลายๆ คนว่า เหตุใดร่าง พ.ร.บ.ที่เคยมีถึง 70 มาตราในฉบับรับฟังความคิดเห็น ได้ถูกลดลงมาเหลือ 44 มาตรา
ชวินโรจน์ เชื่อว่า จำนวนมาตราที่ลดลงไปนั้น ไม่ได้สร้างผลกระทบมากเนื่องจากเป็นเรื่องเทคนิคการรับกลุ่มประเด็นในข้อกฎหมาย หากแต่เรื่องใหญ่จริงๆ ที่น่ากังวลมากกว่า อยู่ที่สิทธิที่คู่ชีวิตไม่ได้รับมาตั้งแต่ฉบับรับฟังความคิดเห็น เมื่อมาถึงฉบับที่ผ่าน ครม. ก็ยังไม่ได้อยู่เช่นเดิม
“จริงๆ ตัวร่างที่กรมคุ้มครองสิทธิฯ รับฟังความคิดเห็น 70 มาตรา ใน เดือน พ.ย. 61 กับ ร่าง 44 มาตราที่ ครม.รับหลักการ ในเดือน ธ.ค. 61 ไม่ได้แตกต่างกันมาก
“สิทธิที่คู่ LGBT ได้รับเมื่อจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต คือ การจัดการทรัพย์สินร่วมกัน การให้รับมรดก การเป็นผู้อนุบาลถ้าอีกฝ่ายเป็นคนไร้ความสามารถ แต่สิทธิที่ LGBT ไม่ได้รับ คือ สิทธิในศักดิ์ศรีการเป็นคู่สมรส การรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน การรับสวัสดิการร่วมกันจากรัฐในฐานะคู่สมรส การลดหย่อนภาษี การเปลี่ยนคำหน้านาม การเปลี่ยนชื่อสกุล สิทธิการเปลี่ยนสัญชาติของคู่ชีวิต สิทธิอุ้มบุญ”
ชวินโรจน์ เชื่อด้วยว่า สิทธิต่างๆ ที่ LGBT ไม่ได้รับอย่างเท่าเทียมจากร่างกฎหมายคู่ชีวิต มันสะท้อนถึงเนื้อหาที่ไม่ได้ตอบโจทย์วิถีชีวิตของกลุ่ม LGBT ในปัจจุบันด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะ การขาดหายไปของสิทธิที่ได้รับด้านสวัสดิการรัฐ และการรับบุตรบุญธรรม
“ยกตัวอย่าง LGBT ที่รับราชการอยู่ ส่วนอีกคนเขาก็อยากได้รับสวัสดิการของคู่ชีวิต แต่เขาก็ไม่ได้รับสวัสดิการนั้น หรือ LGBT ที่รับบุตรบุญธรรม มาเลี้ยงดู เขาก็อยากมีสิทธิในการปกครองบุตรบุญธรรมร่วมกัน หรืออย่างสิทธิในการตัดสินใจรักษาพยาบาลสิทธิในการจัดการศพ สิทธิในการดำเนินคดีอาญาแทน ร่างที่ออกมา ก็ยังไม่แน่ว่าจะใช้ได้ในทางปฏิบัติหรือไม่”
ในมุมของเขาแล้ว แม้สิทธิหลายอย่างจะถูกกำหนดให้กับคู่ชีวิต แต่ในทางปฏิบัติอาจทำไม่ได้จริง เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ ยังไม่ได้ถูกปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับคำว่า ‘คู่ชีวิต’ ตามไปด้วย
“สิทธิที่ไม่ได้ก็ไม่ได้มาตั้งแต่ฉบับที่รับฟังความคิดเห็น เมื่อเดือน พ.ย. 61 แต่สิ่งที่เปลี่ยนในร่างฉบับปัจจุบัน 44 มาตรา ก็คือ เขาไปเพิ่มคำว่า ให้มีสิทธิต่าง ๆ ในฐานะคู่ชีวิต อาทิ การยินยอมรักษาพยาบาล จัดงานศพ การดำเนินคดีอาญาแทน การได้รับค่าขาดไร้อุปการะ
“คำถามก็คือ การเขียนกฎหมายแบบนี้ อาจจะบังคับใช้ไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะคำว่าคู่ชีวิตไม่ได้ไปอยู่ในกฎหมายอื่น ๆ เลย เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่เขาให้สิทธิแจ้งความแทนคู่สมรส”
ชวินโรจน์ย้ำประเด็นนี้ให้เราฟังอีกครั้งถึงเหตุผลที่สิทธิหลายอย่างอาจใช้ไม่ได้จริงในทางปฏิบัติ “เพราะคำว่าคู่ชีวิต เป็นคำที่กฎหมายไม่รู้จักมาก่อน ในที่สุดก็ต้องมีการเรียกร้องให้ไปแก้กฎหมายอื่นๆ”
รับกฎหมายไปก่อนแล้วค่อยแก้ทีหลัง?
หลังจากข่าวเรื่อง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวางในกลุ่มของ LGBT และผู้สนในเรื่องสิทธิในสังคม ดูเหมือนว่าจะมีทั้งกลุ่มที่เข้าใจว่า แม้กฎหมายฉบับนี้จะมีความไม่สมบูรณ์อยู่จริง แต่มันอาจจะถึงเวลาที่ต้องอะไรมีสักอย่างเกิดขึ้นแล้ว ขณะที่หลายคนเชื่อว่า เราอาจจะต้องสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ไปก่อน แล้วค่อยแก้ไขประเด็นที่ต้องการในภายหลัง
ในช่วงเวลาเช่นนี้ ชวินโรจน์ คิดว่า สิ่งที่ต้องทำกันอย่างจริงจัง คือทำให้สังคมเห็นภาพเดียวกันก่อนว่า ร่างกฎหมายคู่ชีวิตนั้น ‘ให้’ และ ‘ไม่ให้’ อะไรกับ LGBT บ้าง เพื่อที่จะหาทางรับมือกันได้ทัน
“ความจำเป็นในการคุ้มครองสิทธิของ LGBT มีมานานแล้ว ปัญหาของเขาก็มีมานานแล้ว การที่ภาครัฐออกกฎหมาย ก็ต้องทบทวนใหม่ว่าออกกฎหมายมาแล้วแก้ปัญหาให้พลเมืองไม่ได้ แล้วบอกว่ารับๆ ไปก่อน เป็นความจริงใจที่จะแก้ปัญหาให้พลเมืองรัฐ หรือสร้างกฎหมายเพียงแค่บอกกับชาวโลกว่า เป็นชาติแรกในเอเชีย ที่มีกฎหมาย แต่ว่ารับรองสิทธิให้พวกเขาบางเบาเหมือนปุยนุ่น”
ความเสมอภาคที่แท้จริง ไม่ได้อยู่ใน พ.ร.บ.คู่ชีวิต
ชวินโรจน์มองว่า ในระยะยาวแล้ว การมี พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น สิ่งที่สามารถทำกันควบคู่ไป คือผลักดันการขยายคำนิยามของการสมรสประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) มาตรา 1448 ที่จำกัดเฉพาะชายหญิง ให้ครอบคลุมกลุ่ม LGBT ด้วย
“บทเรียนที่เราเห็นก็คือ ความเสมอภาคที่แท้จริง ไม่ได้อยู่ใน พ.ร.บ.คู่ชีวิต แต่คือการสมรส ตาม ปพพ. ทำไมคู่ชายหญิงใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ แต่ทำไมคู่ LGBT ต้องมาสร้างกฎหมายเฉพาะให้เขา เขาเป็นพลเมืองชั้นสองเหรอ ถึงต้องไปใช้กฎหมายแยกแบบนั้น
“เราก็สามารถทำไปพร้อมๆ กันได้ โดยใช้การสื่อสารกับสังคมว่า สิ่งที่รัฐออกมาเป็น พรบ.คู่ชีวิต อาจจะเป็นบันไดขั้นหนึ่ง เป็นแค่การรับรองสิทธิการใช้ชีวิตคู่รูปแบบหนึ่ง แต่ไม่ใช่ความเสมอภาคในการสมรสที่แท้จริง”
“มีคู่รัก LGBT คู่หนึ่งไปร้องเรียนแล้ว ว่าการไม่อนุญาตให้เขาไปจดทะเบียนสมรสตาม ปพพ. ถือเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ขั้นตอนต่อไป คือ ถ้า วลพ. วินิจฉัยว่าเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ วลพ. ก็จะเสนอสู่ผู้ตรวจการแผ่นดิน แล้วผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะเสนอไปที่ศาลรัฐธรรมนูญต่อว่า บทบัญญัติตาม ปพพ. 1448 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ย่อมจะมีคำสั่งให้แก้ไข ให้ขยายคำนิยาม ของ ปพพ. 1448 ให้คลอบคลุม LGBT ก็จบเลย”
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ยากที่สุด ดูเหมือนจะเป็นการเปลี่ยนมุมมองให้กับสังคม เพราะถึงแม้ว่าในวันนี้ LGBT จะได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่อคติทางเพศและความไม่เข้าใจต่อ LGBT อยู่เช่นกัน
“ความยากอยู่ตรงที่เราต้องให้บริบทของสังคมทั้งสังคมรับรู้ และมองเห็นว่า คู่ LGBT ไม่ได้แตกต่างจากคนทั่วไป เพราะเขาคือคู่รักที่ควรได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน เขาก็เสียภาษีและเป็นพลเมืองของรัฐเหมือนกัน
“ถ้าผู้มีอำนาจของรัฐ ผู้ที่มีส่วนในการร่างกฎหมาย และประชาชนทุกคน เห็นถึงความจำเป็นของการสร้างกฎหมายให้ทุกคนเท่ากันอย่างแท้จริง ถ้าผ่านจุดนี้ไปได้ การเสนอให้ขยายคำนิยามของคู่สมรสใน ปพพ. ก็ไม่ยาก” ชวินโรจน์ อธิบาย