วันนี้ (14 สิงหาคม 2567) ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย ‘เศรษฐา ทวีสิน’ คดีคุณสมบัตินายกฯ ปมแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ชี้ ขาดคุณสมบัติ ต้องลงจากตำแหน่งนายกฯ ทันที
ก่อนหน้านี้เกิดอะไรขึ้น พิชิต ชื่นบาน เป็นใคร และทำไมเศรษฐาจึงขาดคุณสมบัติ? The MATTER ชวนทำความเข้าใจตั้งแต่จุดเริ่มต้นกัน
- ปี 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
- พิชิต ชื่นบาน เป็นหัวหน้าทีมทนายความของทักษิณ ชินวัตร ช่วยต่อสู้คดีที่ดินรัชดาในปี 2550 แต่ต่อมาในปี 2551 เขาถูกศาลฎีกาสั่งจำคุก 6 เดือนไม่รอลงอาญา ฐานละเมิดอำนาจศาล จาก ‘คดีถุงขนม 2 พันล้าน’
- คดีดังกล่าว มาจากการที่พิชิตพยายามนำถุงขนมใส่เงินสด 2 ล้านบาทไปมอบให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และหลังจากนั้นก็ถูกสภาทนายความถอดชื่อออกจากทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพทนายความเป็นเวลา 5 ปีอีกด้วย
- ดังนั้น พิชิตจึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมาตรา 160 (5) เนื่องจากมีการกระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
- 15 พฤษภาคม 2567 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 40 คน จึงได้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถึงการที่เศรษฐาแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้ว่าพิชิตขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ซึ่งสะท้อนว่าเศรษฐาขาดคุณธรรม จริยธรรม
- 23 พฤษภาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6:3 รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และมีมติ 5:4 ไม่สั่งให้เศรษฐาหยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างรอคำวินิจฉัย
- 14 สิงหาคม 2567 ผลพิจารณาจากศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ข้ออ้างว่าเศรษฐาไม่รู้นั้นรับฟังไม่ได้ เพราะนายกฯ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในฝ่ายบริหาร ทุกการตัดสินใจมีผลกระทบต่อบ้านเมือง จึงต้องมีความรับผิดชอบในทุกการกระทำ ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่าเศรษฐารู้ในข้อเท็จจริงเรื่องคดีของพิชิต
- ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก (5:4 เสียง) วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของ เศรษฐา สิ้นสุดลง เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ทำให้ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมาตรา 160 (5) จึงต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ทันที และไม่สามารถรักษาการนายกฯ ได้อีก
- คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลเศรษฐาก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะเช่นกัน แต่ในขณะนี้ยังคงเป็นชุดรักษาการต่อไปได้ จนกว่าจะมีนายกฯ ใหม่ และมีการแต่งตั้งฝ่ายบริหารชุดใหม่
- นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ ลำดับที่ 1 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะทำหน้าที่รักษาการนายกฯ จนกว่าจะมีนายกฯ คนใหม่
- หลังจากนี้ สส. จะต้องลงมติเลือกนายกฯ คนใหม่ โดยแคนดิเดตจะต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรคการเมืองที่มี สส. ในสภาไม่น้อยกว่า 5% หรือมี สส. เกิน 25 เสียงขึ้นไป ทำให้มีแคนดิเดตรวม 7 คน จาก 5 พรรค ได้แก่
- แพทองธาร ชินวัตร, ชัยเกษม นิติสิริ พรรคเพื่อไทย
- อนุทิน ชาญวีรกุล จากพรรคภูมิใจไทย
- -พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ
- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค จากพรรครวมไทยสร้างชาติ
- จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จากพรรคประชาธิปัตย์
- เศรษฐา จึงนับเป็นนายกฯ คนที่ 3 ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วยคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านี้คือ สมัคร สุนทรเวช นายกฯ คนที่ 25 จาก ‘คดีชิมไปบ่นไป’ ในปี 2551 และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ คนที่ 28 จาก ‘คดีโยกย้ายเลขาธิการ สมช. โดยมิชอบ’ ในปี 2556