ระยะหลัง กิจกรรม ‘ระบายสี’ ดูจะไม่ใช่แค่เรื่องของเด็กๆ ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็มี ‘สมุดภาพระบายสีสำหรับผู้ใหญ่’ เป็นหนังสือลายเส้นสวยงาม มาพร้อมสีต่างๆ
การกลับมาของหนังสือภาพระบายสีที่ไม่ได้เป็นกิจกรรมของเด็กๆ ก็ดูจะตอบสนองกับความต้องการของผู้ใหญ่อย่างเราๆ ในการหลบหนีจากชีวิตประจำวันที่ยุ่งเหยิงวุ่นวาย ให้เราได้ใช้เวลาว่างค่อยๆ ลงสี ได้ปล่อยใจ ใช้เวลา ใช้ความคิดสร้างสรรค์ จากวันเครียดๆ นักวิจัยบอกว่าการระบายสีถือเป็นกิจกรรมที่ส่งผลดีทางอารมณ์ ช่วยลดความวิตกกังวล ขณะลงสีเราก็จะมีสติมากขึ้น
ถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์ของสมุดภาพระบายสี จุดเริ่มต้นของการระบายสีก็เริ่มจากเป็นกิจกรรมสำหรับผู้ใหญ่เหมือนกับกระแสในช่วงปี 2012-2013 นี้ คือในตอนแรกด้วยความที่หนังสือก็ถือเป็นของแพง และถ้าไม่ว่างจะเอาเวลาที่ไหนมานั่งระบายสี หนังสือระบายสีในยุคแรกจึงเป็นกิจกรรมของพวกชนชั้นสูงที่มีเงิน สามารถซื้อทั้งหนังสือและสีมาระบายแก้ว่างได้ – ไม่ใช่ของที่จะซื้อมาให้เด็กระบายฝึกมือทิ้งๆ ขว้างๆ
Anne Louise Avery นักประวัติศาสตร์อังกฤษบอกว่าหนังสือรวมกวีนิพนธ์ขนาดยาวชื่อ Poly-Olbion ตีพิมพ์ช่วงปี 1612 และ 1622 ถือเป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่ก่อกระแสซื้อมาแล้วมาลงสีกันเอง หนังสือที่ว่าเป็นหนังสือที่พูดถึงสัตว์วิเศษทั่วอังกฤษและเวลส์ Avery บอกว่าพวกไฮโซที่ซื้อหนังสือนี้มาก็จะมานั่งระบายสีแผนที่ว่างๆ กัน แต่ข้อเสนอนี้นักประวัติศาสตร์บางคนก็บอกว่าไม่มีหลักฐานว่าผู้ดีอังกฤษในยุคนั้นซื้อหนังสือเล่มนี้มาแล้วมานั่งระบายสีกันในวันหยุด
ถึงแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าผู้ดีในศตวรรษที่ 17 ซื้อหนังสือมานั่งระบายสีกันรึยัง แต่มีหนังสือหลักฐานที่บอกว่า การระบายสีถือเป็นกิจกรรมที่ควรทำ เป็นการฝึกฝนทางศิลปะที่มีประโยชน์ ในงานเขียนที่แนะนำการเป็นสุภาพบุรุษชื่อ Compleat Gentleman ของ Henry Peacham ตีพิมพ์ในปี 1634 พูดถึง ‘การวาดเส้นตามลายไพ่และระบายสีภาพแผนที่ประเทศต่างๆ ถือเป็นกิจกรรมที่ควรทำ เป็นการฝึกฝนการใช้มือที่ฝึกไปที่จิตใจ และทำให้มีความทรงจำที่หนักแน่นดีขึ้น’
ในปี 1760 ที่ลอนดอน The Florist ถือว่าเป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่ถูกพิมพ์ขึ้นเพื่อให้คนซื้อซื้อมาระบายสีด้วยตัวเอง หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือรวมภาพดอกไม้ของ Robert Sayer เป็นหนังสือที่คนซื้อมาเพื่อระบายสีให้สวยงาม ทั้งในแง่ของการลงสีตามเส้นให้แม่นยำ และการได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการเลือกสีไปลง ในหนังสือเล่มนี้มีการให้ข้อมูลและความรู้เรื่องสี มีบอกวิธีการผสมและลงสีดอกไม้แต่ละดอกว่าจะลงอย่างไรให้สวยงามและดูสมจริงขึ้นมา
สมุดภาพระบายสียุคแรกถูกพิมพ์จำหน่ายสำหรับผู้ใหญ่เป็นหลัก
สมุดภาพระบายสีเริ่มกลายเป็นกิจกรรมฝึกมือของเด็กน้อยก็เมื่อกิจการการพิมพ์สามารถพัฒนาแท่นพิมพ์หิน (lithography) ในช่วงปี 1970 ในเยอรมันได้ทำให้สามารถพิมพ์หนังสือภาพได้ในง่ายขึ้น กินเวลาน้อยลงในราคาที่ถูกลง ด้วยหนังสือที่ราคาถูกลง ประจวบกับแนวคิดเรื่องการให้ศึกษาเด็กๆ ที่เติบโตขึ้นในช่วงปี 1850 หนังสือภาพเพื่อการระบายสี เลยค่อยๆ เริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเชิงพัฒนาของหนูๆ
นวัตกรรมเรื่อง ‘สี’ ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้หนังสือภาพระบายสีเป็นเรื่องของเด็กๆ แพร่หลายได้มากขึ้น สีน้ำเป็นสีที่ใช้ระบายแรกๆ มาจนถึงหนังสือภาพระบายสีที่โดดเด่น เช่น Little Folks ตีพิมพ์ในปี 1879 คือถ้าเป็นสีน้ำก็แพงและลำบากเนอะ การเกิดขึ้นของสีเทียนในช่วงศตวรรษที่ 20 จึงเป็นอีกจุดพลิกผันที่สำคัญ ที่ทำให้การระบายสีของหนูๆ แพร่หลาย สะดวก ปลอดภัย และเป็นเรื่องของคนทั่วๆ ไปมากขึ้น
จากกระแสที่สมุดภาพระบายสีกลับมากลายเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ประวัติศาสตร์ของสมุดภาพระบายสีเล่มเล็กๆ จริงๆ แล้วกลับเกี่ยวข้องกับมิติทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างซับซ้อน จากการบริโภคหนังสือในฐานะสินค้าฟุ่มเฟือย มาสู่การค่อยๆ เปลี่ยนไปสู่กิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ของเด็กๆ เกี่ยวพันกับนวัตกรรมทั้งในแง่ของการพิมพ์ แนวคิดเรื่องการศึกษา แนวคิดเรื่องพัฒนาการของร่างกายที่เชื่อมโยงกับสมอง ไปจนถึงการประดิษฐ์สีเทียนแท่ง ก็ค่อยๆ วนกลับมาสู่กิจกรรมที่ผู้ใหญ่หวนกลับไปเพื่อผ่อนคลายและเรียนรู้ในยามว่างสำหรับทุกวันนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก