ความเครียดก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนหมดไฟในการทำงานได้ แต่คนที่ต้องทำงานในสภาวะที่มีแรงกดดันและความเครียดสูงจำนวนมากกลับไม่หมดไฟในการทำงาน ซึ่งสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขาผ่านปัญหานี้มาได้ก็คือเรื่องของ “ความฉลาดทางอารมณ์” (emotional intelligence) นั่นเอง
ตัวอย่างของคนที่ต้องทำงานเครียดๆ ก็คือบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับบริหารทางการแพทย์ซึ่งมีงานวิจัยที่ทำการทดลองกับคนกลุ่มนี้ใน 35 โรงพยาบาล พบว่าในกลุ่มตัวอย่างกว่า 69% ที่บอกว่าตัวเองมีระดับความเครียดขั้น “รุนแรง”, “รุนแรงมาก”, “เลวร้ายอย่างที่สุด” แต่ส่วนใหญ่กลับไม่เจอกับปัญหาการหมดไฟ ด้วยพวกเขารู้จักใช้ความฉลาดทางอารมณ์มาจัดการให้ความเครียดอยู่ภายใต้ความควบคุม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเขาก็มีข้อแนะนำไว้ดังนี้คือ
1. อย่าทำตัวเองให้เป็นแหล่งที่มาของความเครียด อันนี้พวกนักอุดมคตินิยม (perfectionism) จะเป็นกันเยอะ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเขาบอกว่า คนที่จะควบคุมระดับความเครียดได้ดีก็ต้องรู้จักปรับแรงกดดันจากตัวเองได้ดีด้วย พูดง่ายๆ ว่าถ้าเครียดมาก ก็รู้จักลดความเข้มงวดกับตัวเองลงหน่อย
2. รู้จักขีดจำกัดของตัวเอง การรู้จักจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเองจะเป็นสิ่งที่บอกให้คุณรู้ได้ว่า คุณต้องการความช่วยเหลือตรงไหน และคนที่รู้ว่าสิ่งที่งานต้องการจากตัวเขามันเกินไปกว่าความสามารถของตัวเอง เขาก็จะรู้จักขอความช่วยเหลือ หรือหาที่ปรึกษาที่เชื่อใจได้
3. ปรับทัศนคติของคุณต่อสถานการณ์ อย่างเรื่องบางเรื่องที่คุณอาจจะรู้สึกว่ามันคือภัยคุกคามต่อสิ่งที่คุณหวงแหน แต่ถ้าคุณกลับมุมมองได้ว่ามันคือปัญหาที่จะต้องได้รับการแก้ไข มันก็จะช่วยเปลี่ยนให้กลายเป็นแรงผลักดันในการแก้ปัญหาได้
4. ลดระดับความขัดแย้งด้วยการรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการรู้จักตั้งคำถาม และรับฟังอย่างลึกซึ้ง ให้ความสำคัญกับผู้อื่นและจับประเด็นให้ได้ว่าผู้อื่นต้องการจะสื่ออะไร ซึ่งการเข้าใจมุมมองของคู่ขัดแย้งจะทำให้คุณอยู่ในสถานะที่ดีที่จะได้รับความเชื่อถือ และมีอิทธิพลเหนือบุคคลนั้นๆ ได้ด้วย
อย่างไรก็ดี การใช้ความฉลาดทางอารมณ์มันก็ต้องมาจากการฝึกฝนและก็ต้องใช้เวลา ซึ่งคุณก็ต้องอดทน พร้อมกับรู้จักให้อภัยและใจดีกับตัวเองด้วยเหมือนกัน ไม่งั้นการพยายามพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ของคุณจะกลับเป็นแหล่งที่มาของความเครียดเพิ่มเข้าไปอีก
ที่มา: https://hbr.org/2016/11/why-some-people-get-burned-out-and-others-dont