คนเราจะชอบคุยโวถึงเรื่องเครียดๆ ในงานของตัวเองไปทำไมกัน?
แน่นอนเราต่างรู้ดีว่าความเครียดนั้นสร้างปัญหาให้คนทำงานในหลายๆ มิติ แต่ทำไมนะเวลาเดินเข้าออฟฟิศที่ไร เรามักจะเจอเพื่อนร่วมงานที่มาขิงให้ฟังว่าเขาต้องทำโปรเจ็กต์ใหญ่ยังไง งานชิ้นนั้นหนักแค่ไหน เขาต้องรับผิดชอบอะไรบ้างจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน แถมยังเล่าซ้ำๆ จนดูเหมือนกับกำลังเจอภาระที่ยิ่งใหญ่ ที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่งอยู่คนเดียว ทั้งที่ความจริงมันก็คืองานเหมือนๆ กับที่เราทำแท้ๆ
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสังคมที่ให้คุณค่ากับการทำงานหนัก จนทำให้มีคนบางกลุ่มรู้สึกว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติในการทำงาน เลยเถิดไปจนถึงภูมิใจในความกดดันมหาศาลที่ต้องเจอด้วย โดย แชนนอน การ์เซีย (Shannon Garcia) นักจิตบำบัดจากศูนย์บำบัด State of Wellness กล่าวว่า เมื่อบางคนรู้สึกทุ่มเทกับงานมากแค่ไหน เขาก็ย่อมอยากประกาศความทุ่มเทนั้นออกไปให้คนอื่นๆ ได้รับรู้
มองเผินๆ แล้ว การให้ความสำคัญกับงานก็ดูจะเป็นเรื่องดี แต่ถ้าแสดงความสำคัญออกมาในรูปแบบการอวดความรู้สึกกดดันผ่านวาจาอยู่บ่อยๆ ก็อาจบอกได้ว่า เขาน่าจะกำลังมีพฤติกรรม ‘Stress Bragging’ หรือพฤติกรรมอวดความเครียดจากการทำงานอยู่ก็ได้
แม้การโม้เรื่องความเครียดในออฟฟิศจะดูเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นมาช้านาน แต่เหมือนกับว่าผลลัพธ์ของมันจะไม่ได้ปกติสักเท่าไหร่ เพราะมีงานวิจัยของ เจสสิกา โรเดลล์ (Jessica Rodell) อาจารย์ประจำวิทยาลัยธุรกิจเทอร์รี มหาวิทยาลัยจอร์เจียและคณะ ได้ทดลองสร้าง ‘บันทึกความรู้สึก’ จากการสัมมนาว่าด้วยการทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง ประกอบไปด้วยบันทึกความดีงามของงานเกินจริง บันทึกบอกความรู้สึกกลางๆ และบันทึกระบายความเครียดจากงาน แล้วนำไปให้กลุ่มตัวอย่างวัยทำงานจำนวน 360 คนอ่าน แล้วแสดงความรู้สึกของตัวเองออกมา ผลปรากฏว่า ยิ่งบันทึกมีความเครียดมากเท่าไหร่ ยิ่งไม่ได้ผลตอบรับเชิงบวกกลับมา
ไม่เพียงเท่านั้น แม้การบ่นๆ เรื่องเครียดๆ จะเป็นการบอกโดยนัยว่าคนพูดทำงานหนัก แต่การบ่นบ่อยครั้งเข้าก็อาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ในการทำงานได้เช่นกัน เพราะงานวิจัยชั้นนี้ของเจสสิกาและคณะก็มีความเห็นถึวเรื่องนี้เช่นกัน เมื่อผู้ที่อวดความเครียดในการทำงานมีแนวโน้มที่จะถูกมองว่าความสามารถในการทำงานต่ำ รวมไปถึงทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเจ้าตัวกับเพื่อนร่วมงานแย่ลง เนื่องจากปกติแล้ว ความสามารถในการรับมือกับแรงกดดันจะสัมพันธ์กับความรับผิดชอบต่องานและความเป็นมืออาชีพ การบ่นแบบนี้จึงอาจทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่า คนคนนี้มีศักยภาพไม่มากพอจะจัดการภาระงานในมือได้
มากไปกว่านั้น พฤติกรรมดังกล่าวยังทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกไม่พอใจ เนื่องจากสังคมที่ทำงานประกอบด้วยผู้คนร้อยพ่อพันแม่ ต่างคนต่างมีพื้นฐานความคิด ความเชื่อ และรู้สึกต่อสถานการณ์แตกต่างกันไปด้วย การถ่อมตัวและเห็นอกเห็นใจกันจึงเป็นปัจจัยหลักของการอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่น เหตุนี้เอง การอวดความความเครียดซึ่งเป็นพฤติกรรมตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราพูดมาจึงอาจเพิ่มโอกาสการทะเลาะกันระหว่างเพื่อนร่วมงานมากขึ้น หรือหากวันหนึ่งวันใดคนที่มีพฤติกรรมอวดความเครียดต้องการความช่วยเหลือ ก็มีแนวโน้มว่าจะถูกปฏิเสธมากกว่าคนอื่นๆ
นอกจากเรื่องภาพลักษณ์การทำงาน งานวิจัยชิ้นเดียวกันนี้ยังระบุว่า stress bragging ยังอาจส่งผลให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกหมดไฟและเครียดตามผู้ที่มีพฤติกรรมนี้ไปด้วย เพราะพนักงานแต่ละคนก็ย่อมเผชิญปัญหาจากเนื้องานของตัวเองอยู่แล้ว การอยู่ใกล้เพื่อนร่วมงานแบบนี้ก็ยิ่งส่งผลให้อาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของตัวเราเองและทีมลดลงไปอีก
อย่างไรก็ดี ลอเรน แอปปิโอ (Lauren Appio) นักจิตบำบัดเจ้าของสถาบัน Appio Consulting ก็ได้ให้ความเห็นถึงการอวดความเครียดว่า พฤติกรรมนี้อาจเป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือที่คนทำงานคนหนึ่งส่งถึงเพื่อนร่วมงานรอบตัว ก่อนที่ความเครียดจะแพร่กระจายจนกลายเป็นไวรัสในที่ทำงานได้เช่นกัน
แบบนี้แล้วเราควรจะทำอย่างไร เมื่อเพื่อนร่วมงานกำลังอวดความกดดันของตัวเอง?
ลอเรนให้คำแนะนำว่า แทนที่ผู้ฟังอย่างเราจะเมินเฉย ลองคุยกับเขาตรงๆ ว่ามันเกิดอะไรขึ้น รู้สึกเครียดกับงานชิ้นไหนเป็นพิเศษ แล้วพอจะมีทางแก้ไขได้ไหม โดยสิ่งสำคัญของการพูดคุยดังกล่าวคือ ‘บรรยากาศของความไว้ใจ’ ในฐานะเพื่อนที่พร้อมหาทางแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน เพราะลึกๆ แล้ว คนที่กำลังอวดความเครียดมักคาดหวังให้ผู้อื่นรับรู้และรับฟังความเครียดในใจเขาโดยไม่ตัดสิน
ยิ่งไปกว่านั้น stress bragging ยังอาจเป็นสัญญาณถึงผู้ดูแลองค์กรว่า วัฒนธรรมการทำงานหนักอาจใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป การสะท้อนปัญหาความเครียดเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาจึงจำเป็นไม่แพ้กัน หากไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากอะไร ลองขอคำแนะนำจากหัวหน้างานหรือ HR ดูว่า พอจะมีทางไหนที่ช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานของเราได้บ้าง ทั้งในเชิงการจัดสรรงาน การอบรม หรือสวัสดิการเกี่ยวกับสุขภาพจิต ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมงานเท่านั้น แต่ยังทำให้เราได้รู้วิธีการจัดการสมดุลภาระงานขององค์กรที่สังกัดอยู่ด้วย
แต่ถ้าหากพูดก็แล้ว บอกก็แล้ว แต่เขาก็ไม่หยุดอวดความเครียดเสียที การเพิกเฉยต่อเสียงบ่นของเขาก็อาจทำให้เราสุขภาพจิตดีขึ้น ทั้งยังอาจช่วยให้เจ้าตัวรู้ว่า การพูดอวดไม่ได้ช่วยให้ความเครียดที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเอง (และคนอื่นๆ) ลดลงไป และอาจทำให้เขาปรับพฤติกรรมของตัวเองในที่สุด
จริงอยู่ที่การตั้งใจทำงาน ทุ่มเทกับสิ่งที่เรารับผิดชอบจะทำให้คุณค่าในฐานะพนักงานของเรามีความหมาย ความจริงอีกด้านหนึ่งในสังคมก็บอกเราว่างานหนักก็อาจฆ่าเราทั้งกายและใจได้เช่นกัน การปล่อยให้ใครสักคนเผชิญกับความกดดันในเนื้องานเพียงเพราะเราจัดการตัวเองได้จึงไม่ควรเกิดขึ้น
กลับกัน หากเราทำให้พื้นที่ทำงานเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่จะพูดถึงความเครียดได้อย่างตรงไปตรงมา ก็คงไม่มีใครต้องแขวนความภูมิใจไว้กับความรู้สึกเชิงลบอย่างความเครียดหรอก
อ้างอิงจาก