ช่วงที่เหตุการณ์บ้านเมืองร้อนระอุ มีเรื่องให้ต้องเกาะติดอยู่ตลอดเวลา เลยต้องอัพเดตข่าวให้เป็นปัจจุบันทันด่วน ใครโดนจับ ใครได้รับการปล่อยตัว จุดไหนมีม็อบ จุดไหนมีตำรวจ แต่งานก็ต้องทำ ข่าวก็ต้องตาม สถานการณ์ตึงเครียด พาให้ตัวเราเองเครียดไปด้วย เราจะจัดการตัวเองยังไงให้โปรดักทีฟดังเดิม แม้ในวันที่บ้านเมืองตึงเครียดรอบด้าน
เมื่อกลับมานั่งในออฟฟิศอีกครั้ง แม้กายหยาบจะหอบมาถึงที่โต๊ะทำงาน แต่กายละเอียดอาจล่องลอย ไม่ได้ประกอบกันได้สมบูรณ์ 100% เพราะต้องแบ่งส่วนหนึ่งไปกับความเหนื่อยล้า แบ่งส่วนหนึ่งไปกับการติดตามข่าวสาร ที่ไหลผ่านนิวส์ฟีดจนแทบจับไม่ทัน แต่เมื่องานก็ยังต้องทำ ปากท้องยังต้องเลี้ยง อย่าให้ทุกปัญหาเข้ามาบั่นทอนเราและประสิทธิภาพในการทำงาน
มาดูวิธีกอบกู้ความโปรดักทีฟในช่วงที่บ้านเมืองแสนจะตึงเครียด อาจจะไม่ได้ทำปุ๊บ เป็นคนใหม่ได้ปั๊บ (แบบนั้นออกจะเกินจริงไปหน่อย) แต่ถือว่าเป็นการเยียวยาตัวเองในขั้นต้น ให้เราได้ทำหน้าที่พนักงานและหน้าที่พลเมืองได้แบบไม่มีหน้าที่ไหนขาดตกบกพร่อง
รู้เท่าที่จำเป็น
ช่วงนี้เนี่ย เรียกว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ คลาดสายตาจากไทม์ไลน์ไปเพียงหนึ่งชั่วโมง อาจมีข้อมูลใหม่ผุดขึ้นมาอีกนับไม่ถ้วน แต่ว่ากันตามตรง ยิ่งข่าวเยอะเท่าไหร่ ไวเท่าไหร่ เราเองก็ยิ่งต้องกรองข่าวมากเท่านั้น ชัวร์มั้ยนะ แชร์ได้หรือยัง มีหลักฐานหรือเปล่า เอาจริงๆ เจอแค่ข่าวเดียวก็ต้องคิด กลั่นกรองกันสิบตลบแล้ว (ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วล่ะ) แคเรน โฮ (Karen Ho) นักมานุษวิทยา เรียกสิ่งนี้ว่า ‘doomscrolling’
แล้วถ้าหากนั่งทำงานไปด้วย ติดตามข่าวไปด้วย เพราะอยากทันเหตุการณ์เนี่ย เราจะมีเวลามานั่งพินิจพิเคราะห์หรือเปล่า? แล้วหากเราทุ่มเทสมาธิ ความสนใจ ไปกับการตามข่าว งานที่อยู่ในมือเราล่ะ มันจะด้อยคุณภาพลงหรือเปล่านะ
งั้นเราลองมาเสพข่าวเท่าที่จำเป็นกันดีกว่า ไม่ได้หมายความว่าให้เพิกเฉยต่อข่าวเล็กๆ น้อยๆ แต่หมายถึงในเวลางาน เราทำงานให้เต็มที่ อย่าเพิ่งกังวลกับข่าวว่าเราต้องทันตลอดเวลา เพราะคุณภาพของงานเองก็สำคัญเช่นกัน ถามตัวเองก่อนว่า ตอนนี้เราอยากรู้อะไร แล้วค่อยสอดส่องมองหาข่าวนั้นเมื่อถึงเวลาส่วนตัว เวลาพักผ่อน ไถนิวส์ฟีดดูความเป็นไปอย่างเคย
เช่น วันนี้อยากไปม็อบจัง รอใกล้เวลาเลิกงานแล้วค่อยดูก็ยังทันว่า วันนี้มีที่ไหน ต้องเดินทางด้วยรถไฟฟ้า มีสถานีไหนปิดหรือเปล่านะ อัพเดตกันก่อนเดินทางก็ยังได้ เป็นต้น ไม่จำเป็นต้องคอยรีเฟรชนิวส์ฟีดตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิด information overload จนสุดท้ายเราคว้าอะไรไว้ไม่ได้สักอย่าง
อย่าเข้มงวดกับตัวเองมากเกินไปนัก
ไม่อยากเสียประสิทธิภาพของอะไรไปสักอย่าง อยากเป็นพลเมืองดี ใส่ใจปัญหาสังคม เป็นกลไกตัวเล็กคอยขับเคลื่อนภาพรวม แต่ก็ต้องเป็นพนักงานที่ดี ที่ยังคงคุณภาพของงานไว้ได้ด้วยเช่นกัน การเคี่ยวเข็ญให้เราเองทำหน้าที่ทั้งสองทางได้ดีไปพร้อมๆ กัน อาจเป็นการกดดันตัวเองมากเกินไป
โดยเฉพาะปัญหาของสังคม บ้านเมือง มันไม่อาจสำเร็จได้ด้วยการจัดการของเราคนเดียว เรายังคงต้องใจเย็น ค่อยๆ เดินทางไปกับมันอยู่เรื่อยๆ ทำหน้าที่ที่ทำได้ในตอนนี้ให้เต็มที่ เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว ยังไงการเดินไปข้างหน้า ก็ยังคงต้องอาศัยการร่วมมือกันของทุกคน จุดนี้แหละ ที่ไม่สามารถทำให้ทุกอย่างมันรวดเร็วได้อย่างใจนึก
ออกไปสูดอากาศ ด้วยสูตร 4-7-8
นั่งหน้าเครียดอยู่ในออฟฟิศ เพราะปัญหารอบด้านรุมเร้า จะเอาเวลาที่ไหนไปคลายเครียดได้นะ เล่นเกมสักตา ก็กินเวลาครึ่งชั่วโมง จะแอบนั่งอู้ ก็ใช่ว่าจะรอดพ้นสายตา ลองมาใช้การหายใจมาคลายเครียดให้ตัวเองดีกว่า
เริ่มจากเราควรนั่ง หรือนอนอยู่ในท่าผ่อนคลาย (มากที่สุดเท่าที่สถานที่จะเอื้ออำนวย) ค่อยๆ หลับตา หรือลืมตาไว้ก็ได้ตามสะดวก (แต่การกลับตาจะช่วยให้เรามีสมาธิกับการกำหนดลมหายใจมากกว่า) หายใจช้าๆ จนกว่าจะรู้สึกว่ามันเป็นจังหวะและร่างกายรู้สึกผ่อนคลายไปกับมันมากขึ้น
สูดให้เต็มปอดด้วยสูตร 4-7-8 หายใจเข้า นับ 1-4 อย่าเพิ่งหายใจออก หยุดลมหายใจค้างไว้ นับ 1-7 หายใจออกนับ 1-8 ลองทำแบบนี้ซ้ำเรื่อยๆ ร่างกายจะผ่อนคลายมากขึ้น หายใจเต็มปอด รู้สึกปลอดโปร่งมากขึ้น
ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรให้ยุ่งยาก เพียงแค่ฝึกลมหายใจให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ความเครียดลดลงแล้ว วิธีนี้ สามารถใช้ตอนก่อนนอน เพื่อให้หลับง่ายขึ้นได้อีกด้วย สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ที่หนังสือ ‘Breathing: The Master Key to Self Healing ของ Dr. Andrew Weil’
แม้เป็นกิจกรรมที่เราทำอยู่ทุกวินาที แต่ว่าไม่เคยให้ความสนใจไปที่มันโดยตรงกันสักเท่าไหร่ ลองมาฝึกหายใจให้เต็มปอด ด้วยการออกกำลังทางลมหายใจกันดูบ้าง เพราะมันส่งผลถึงความผ่อนคลาย อารมณ์ การนอน และการแลกเปลี่ยนเปลี่ยนออกซิเจน
เรื่องปวดหัวรุมเร้ารอบตัวขนาดไหน อย่าลืมดูแลตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัย ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ เพื่อให้มีแรงสู้กับสิ่งรุมเร้า น่าจะเป็นเป้าหมายอันดับแรกที่เราต้องทำเลยล่ะ
อ้างอิงข้อมูลจาก