ไม่มีใครปฏิเสธหากวิทยาศาสตร์จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในจักรวาล เรื่องราวที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบส่วนใหญ่วางใจได้ว่าแจ่มแมวเสมอ ตั้งแต่ลึกซึ้งระดับอะตอมจวบจนการปะทะของดาวนิวตรอนอันไกลโพ้น แม้เราจะเป็นชาว non science แต่พวกเราก็ยังสนุกที่จะรู้อะไรใหม่ๆ อย่างน้อยก็มีเรื่องเจ๋งๆ ไปเล่าให้เพื่อนฟังก่อนเข้าแถวเคารพธงชาติ ตอนพักกลางวัน หรือตอนทำงานยามบ่าย
การค้นพบใหม่ๆ ของปีนี้ก็น่าสนใจไม่น้อย ด้วยฐานข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ตที่มากขึ้น เอกสารวิชาการสดใหม่อัพเดทรวดเร็ว แถมเป็น Open Source เราจึงยก 10 การค้นพบสำคัญของปี 2017 มาให้ เผื่อคุณพลาดอะไรไป แม้วิทยาศาสตร์จะค้นพบอะไรมากมาย แต่ยังไกลนักที่จะอ้างว่าเราเข้าใจทุกสรรพสิ่งได้ดีพอ
1. พบคลื่นความโน้มถ่วงจากดาวนิวตรอน 2 ดวงชนกัน
เราตามอดีตได้เสมอ แม้จะเกิดขึ้นมานานกว่า 130 ล้านปีก็ตาม เมื่อดาวนิวตรอน 2 ดวงชนกันตูม แม้จะไม่เกิดโกโก้ครันซ์ แต่ได้ทองคำและแพลทินัมแทน เป็นสัญญาณว่าพวกเราได้เข้าสู่ยุคสมัยดาราศาสตร์แห่งคลื่นความโน้มถ่วงอย่างเป็นทางการแล้ว
หลายครั้งที่นักวิทยาศาสตร์สามารถตรวจจับปรากฏการณ์ของหลุมดำ แต่การชนกันครั้งก่อนๆ ของหลุมดำไม่มีแสงใดๆ เล็ดลอดออกมา ทำให้นักดาราศาสตร์มองไม่เห็นภาพใดๆ แต่ครั้งนี้พิเศษที่การชนกันของดาวนิวตรอนเหมือน ‘พลุไฟที่งดงามที่สุดของเอกภพ’ มันสว่างสดใสเสียเหลือเกิน
เหตุการณ์ชนกันครั้งนี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์พบว่าโลหะหนักอย่าง ทองคำ ยูเรเนียม แพลทินัม อาจจะมีต้นกำเนิดมาจากการชนกันของดาวนิวตรอนในลักษณะเช่นนี้ และช่วยให้แวดวงดาราศาสตร์สามารถวัดขนาดเอกภพที่กำลังแผ่ขยายออกทุกขณะ
2. ช่องว่างปริศนาในมหาพีระมิดแห่งกิซ่า
อียิปต์วิทยาและฟิสิกส์อนุภาค หากนำ 2 ศาสตร์มารวมกันอาจทำให้เราเจออะไรเซอร์ๆ เหนือความคาดหมาย หลายคนบอกว่าเราสำรวจมหาพีระมิดแห่งกิซ่า (Great Pyramid of Giza) ไปจนพรุนแล้ว ไม่เหลืออะไรให้ค้นพบอีก แต่แล้วก็คิดผิด เมื่อนักสำรวจพบช่องว่างใจกลางมหาพีระมิดที่ไม่มีใครเคยค้นพบมาก่อน
นักวิจัยใช้อนุภาคมิวออน (Muon) เป็นอนุภาคมูลฐาน อยู่ในจำพวกเดียวกับอิเล็กตรอนจากรังสีนอกโลกที่มาทำปฏิกิริยากับชั้นบรรยากาศ โดยตรวจจับเมื่อมันผ่านชั้นหินของมหาพีระมิด ที่คล้ายการ X-ray จนพบช่องว่างที่แอบซ่อนมานานหลายพันปีโดยทีมนักวิจัยญี่ปุ่นและฝรั่งเศส ซึ่งหากจะสำรวจให้แจ่มแจ้งกว่านี้ จำต้องใช้การขุดเจาะ โดยต้องขออนุญาตทางการของอียิปต์อีกถึงจะยืนยันได้ว่า มีอะไรแอบซ่อนอยู่หรือไม่
3. เพรียงเรือจัมโบ้ที่หายไปนานกว่า 200 ปี
นักชีววิทยาตื่นเต้นกันใหญ่เมื่อเจ้าเพรียงเรือ (Shipworm) ตัวดำทะมึน ที่หน้าตาไม่ค่อยรับแขก แต่หายากสุดๆ ระดับ Ultra-Rare สายพันธุ์ Kuphus polythamia ด้วยขนาดใหญ่ถึง 3 ฟุต แบบไม่เคยพบเคยเห็น พอๆ กับไม้เบสบอลเลยล่ะ ซึ่งนักสำรวจพบมันอาศัยอยู่ในแอ่งโคลนของอ่าวในประเทศฟิลิปปินส์ มันสามารถดำรงชีวิตจากการที่มันมีความสัมพันธ์แบบการอยู่ร่วมกัน (symbiotic relationships) กับแบคทีเรียที่เปลี่ยนไฮโดรเจนซัลไฟด์ในโคลนให้เป็นอาหารที่เพรียงเรือใช้ดำรงชีพ อันแสดงถึงความละเอียดอ่อนของระบบนิเวศแบบจำเพาะ ซากของเพรียงเรือที่พวกเราเคยมีนั้น พบในปี 1960 แต่อยู่ในสภาพย่ำแย่ที่ดองไว้ หรือไม่ก็หลักฐานการค้นพบเมื่อ 200 ปีที่แล้ว ดังนั้นการค้นพบเพรียงเรือที่ยังมีชีวิต จึงนับเป็นความมหัศจรรย์ของอนุกรมวิธานวิทยาที่ถูกเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายไปให้สมบูรณ์
4. น้ำแข็งขนาดมหึมาแยกตัวออกจากทวีปแอนตาร์กติก
น้ำแข็งละลายรวดเร็วคงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้ามันเกิดขึ้นกับน้ำแข็งในแก้วน้ำ แต่สำหรับทวีปแอนตาร์กติกที่มีน้ำจืดคิดเป็น 70% ของน้ำทั้งหมดบนโลก การละลายของน้ำแข็งหมายถึงการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลทั่วโลก ที่ส่งผลกระทบต่อการเดินเรือ และสัตว์ที่น่าสงสารอย่างเพนกวิน สิงโตทะเล หมีขั้วโลกและแมวน้ำ ที่อยู่ดีๆ ก็จะไม่มีที่อยู่เสียอย่างนั้น
เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หิ้งน้ำแข็งขนาดมหึมาที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกบริเวณแหลมทางตะวันตกของทวีปแอนตาร์กติกหรือบริเวณขั้วโลกใต้ ได้แยกตัวออกจากแผ่นน้ำแข็งลาร์เซน ซี (Larsen C) ที่มีอายุหลายพันปี หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์เริ่มสังเกตเห็นรอยร้าวขนาดใหญ่มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 หิ้งน้ำแข็งที่ว่านี้มีขนาดใหญ่ถึง 6,000 ตารางกิโลเมตร และ หนากว่า 200 เมตร ซึ่งเป็นขนาดที่ใหญ่กว่ากรุงลอนดอนและกรุงเทพฯมหานครถึง 4 เท่า สาเหตุหลักมาจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วของน้ำทะเลโดยรอบ ซึ่งทีมนักวิจัยเชื่อว่าระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้นถึงประมาณ 10 ฟุต
ถึงแม้ว่าเหตุการณ์น้ำแข็งละลายเร็วผิดปกตินี้ จะยังไม่ส่งผลกระทบเป็นรูปธรรมโดยตรงมาถึงประเทศไทย แต่มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราทุกคนจะตระหนักถึงสภาวะอันย่ำแย่ลงของบ้านที่เรียกว่า ‘โลก’ หลังนี้ และเริ่มต้นลงมือทำบางอย่าง ก่อนที่หายนะจะมาเคาะประตูเรียกที่หน้าห้องของเรา
5. เลี้ยงลูกแกะใน ‘มดลูกเทียม’
“ลูกแกะอยู่ในถุงพลาสติกใส เชื่อมต่อเข้ากับท่อและของเหลว ช่วยยังชีพให้มันเติบโตเหมือนในท้องแม่” แม้ภาพที่คุณเห็นเหมือนฉากฝันร้ายจากภาพยนตร์ Sci-fi สยองขวัญจนคิดเลยเถิดถึงอนาคตแบบ Dystopia
แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า พวกเขาสามารถอุ้มชูและปกป้องลูกแกะในมดลูกเทียมให้เติบโตได้ในช่วงระยะหนึ่ง ซึ่งในอนาคต (ราว 3 ถึง 5 ปี) มันอาจช่วยชีวิตเด็กๆ ที่คลอดก่อนกำหนดได้นับล้านคน เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด (ก่อน 25 สัปดาห์) มักมีอัตรารอดชีวิตที่ต่ำมาก ซึ่งในสหรัฐอเมริกาเองที่มีวิทยาการการแพทย์ชั้นสูงก็ยังประสบปัญหานี้เช่นกัน ดังนั้นการที่เราสามารถยื้อช่วงเวลาที่เด็กอยู่ในครรภ์ต่อ อย่างน้อยอีกสักเพียง 1 ถึง 2 สัปดาห์ ก็อาจเป็นตัวชี้วัดความเป็นความตายของเด็ก และลดอาการแทรกซ้อนที่อาจบ่อนทำลายสุขภาพของพวกเขาทั้งชีวิต
นักวิจัยทดลองในลูกแกะ 8 ตัว ที่มีอายุครรภ์ ระหว่าง 105 วัน ถึง 120 วัน (เทียบเท่ากับทารกมนุษย์ก็ราว 23 ถึง 24 สัปดาห์) โดยย้ายพวกมันอย่างระแวดระวัง มาอยู่ในถุงมดลูกเสมือนที่ปิดผนึกมิดชิดและผ่านการฆ่าเชื้อ ในถุงเต็มไปด้วยของเหลวที่จำลองการทำงานของน้ำคร่ำ โดยสายสะดือของลูกแกะถูกปั้มด้วยเครื่องผสมอากาศภายนอก (Gas Blender)
เทคนิคนี้เพียงพอที่จะทำให้ลูกแกะมีพัฒนาการทางสมองและปอดในสภาวะที่เหมาะสม คุณอาจเห็นขนที่ขึ้นมาใหม่ ลูกแกะดิ้นดุ๊กดิ๊ก และกระพริบตาได้ภายในถุงพลาสติกใสอย่างพิลึกกึกกือ
แต่การนำไปปรับใช้ในทารกมนุษย์ ก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะมดลูกเทียมก็ไม่ใช่ของใหม่ มันถูกทดลองอย่างผิดๆ ถูกๆ มาตั้งแต่ปี 1996 แต่ส่วนใหญ่มักเกิดความผิดพลาดในการควบคุมสมดุลและระบบการไหลเวียนในครรภ์เสมือนนี้ (แต่ยังไม่เคยทำกับคนนะ) กลไกของหลอดเลือดแดงอัมบิลิคัลในแกะ ก็ยังแตกต่างกับของมนุษย์ ดังนั้นมันจึงมีโจทย์อีกมากที่เรายังไม่ได้คำตอบ
6. TRAPPIST-1 ทำความรู้จักกับบ้านใหม่ที่คุ้นเคย
นักดาราศาสตร์ของ NASA ค้นพบดาวเคราะห์ขนาดใกล้เคียงกับโลกที่อาจมีสิ่งมีชีวิตถึง 7 ดวง โคจรรอบๆ ดาวแคระแดง TRAPPIST-1 ที่อยู่ห่างออกไป 39 ปีแสงในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ แม้แวดวงดาราศาสตร์จะค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (exoplanet) อยู่ได้เรื่อยๆ ในจำนวนนี้เป็นดาวเคราะห์หินใกล้เคียงกับโลกกว่า 348 ดวง
ทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตอาจจะไม่ใช่สิ่งที่หายากอีกต่อไป การค้นพบในครั้งนี้พบดาวเคราะห์หินที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลกถึง 7 ดวงโคจรอยู่ในระบบดาวฤกษ์ดวงเดียว และดาวเคราะห์ 3 ดวงในดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวงนี้อยู่ในช่วงที่เรียกว่า ‘habitable zone’ หรือโซนที่เอื้อต่อการมีชีวิต ไม่ร้อนเกินไปหรือหนาวเกินไป
7. ‘โอมูอามูอา’ วัตถุผู้มาเยือนจากแดนไกล
นักดาราศาสตร์พบดาวเคราะห์น้อยรูปร่างประหลาด เดินทางเข้ามาในระบบสุริยะ ซึ่งวัตถุดังกล่าวมีรูปทรงยาวรีคล้ายกับบุหรี่ซิการ์ มีความยาวประมาณ 400 เมตร หมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็ว และยังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วกว่า 315,000 เมตรต่อชั่วโมงซึ่งไม่ใช่ลักษณะของวัตถุทั่วไปในระบบสุริยะของเรา ดังนั้นเจ้าดาวเคราะห์น้อยประหลาดนี้จึงถูกตั้งชื่อว่า โอมูอามูอา หรือ โอมัวโอมัว (Oumuamua) ที่มีรากศัพท์มาจากภาษาฮาวายและมีความหมายว่า ‘ผู้ส่งสาส์นจากแดนไกลที่มาถึงก่อน’ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บางส่วนรวมถึง สตีเฟน ฮอว์คิงเองก็ยังสงสัยว่า วัตถุดังกล่าวอาจเป็นยานอวกาศจากต่างดาวหรือไม่ โครงการ Breakthrough Listen และศูนย์วิจัยเพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากต่างดาว (SETI) ได้ร่วมกันตรวจสอบหาสัญญาณคลื่นวิทยุความถี่จากโอมูอามูอาเป็นเวลากว่า 10 ชั่วโมง แต่ก็ไม่พบสัญญาณใดๆ จึงมีการสันนิษฐานว่านี่อาจเป็นเพียงดาวเคราะห์น้อยธรรมดาๆ ถึงอย่างไรก็ยังเป็นครั้งแรกที่มีวัตถุจากนอกระบบสุริยะเดินทางเข้ามาในระบบของเรา ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงตรวจสอบโอมูอามูอาต่อไป เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดระบบสุริยะจักรวาลอื่นเพิ่มเติมด้วย
8. ซากฟอสซิลขนนกจากยุคไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุด
จุดเชื่อมของไดโนเสาร์สู่การเป็นนกอยู่ตรงไหนในวิวัฒนาการ เราสันนิฐานการเปลี่ยนผ่านนี้จากขนนกในปัจจุบันแล้วนำมาเทียบเคียง แต่มีโอกาสไหมที่เราจะได้เห็นขนนกจริงๆ ที่มีอายุถึง100 ล้านปี อำพันก้อนล่าสุดถูกค้นพบที่หุบเขาหูกวาง ทางตอนเหนือของประเทศพม่า ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นสถานที่พบความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์มากที่สุดจากยุคครีเทเชียส (Cretaceous) ภายในก้อนฟอสซิลนั้น มีทั้ง ส่วนหัว คอ ปีก หาง และ เท้า ของลูกนกตัวอ่อนโบราณที่เพิ่งฟักออกจากไข่ได้ไม่นาน ซึ่งตัวอ่อนของนกในซากฟอลซิลนี้ เป็นกลุ่มของนกมีฟันที่ชื่อ Enantiornithes ซึ่งสูญพันธุ์ไปพร้อมกับไดโนเสาร์เมื่อประมาณ 65 ล้านปีก่อน การค้นพบครั้งนี้ จึงเป็นการให้ข้อมูลใหม่ที่สำคัญเกี่ยวกับนกโบราณเหล่านี้ และทำให้เรารู้ว่านกสมัยโบราณมีความแตกต่างจากนกสมัยนี้อย่างไร
การค้นพบครั้งนี้ให้มุมมองที่ครบถ้วนและละเอียดมากที่สุดเท่าที่เราเคยมีมา เมื่อตรวจสอบการกระจายตัวของขน และพบว่ามีแผ่นหนังโปร่งแสงเชื่อมต่อกับบริเวณต่างๆในร่างกายของนกโบราณ ตามที่ปรากฏในข้อมูล CT scan ฟอสซิลนกยุคโบราณ มีชื่อเล่นที่เรียกว่า ‘Belone’ ตามภาษาของชาวพม่า จะถูกหมุนเวียนจัดแสดงตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเป็นวิทยาทานสำหรับผู้สนใจศึกษาอดีตอันเป็นรากฐานของปัจจุบันต่อไป
9. ‘ไวรัสซิก้า’ มีศักยภาพในการกำจัดเซลล์มะเร็งสมอง
การปล่อยให้ ‘วายร้ายจัดการกับวายร้าย’ อาจเป็นพล็อตสุดเด๋อด๋าของภาพยนตร์ฝั่งฮอลลีวู้ด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย เชื้อไวรัสซิก้าแผลงฤทธิ์ไปเมื่อปีที่แล้วสร้างความหวั่นวิตกไปทั่วโลก เนื่องจากไวรัสทำให้สมองและพัฒนาการตัวอ่อนทารกในครรภ์มารดาเสี่ยงต่อความพิการ (microcephaly) หัวเด็กที่เกิดใหม่จะบุบเบี้ยวและมีทักษะการเรียนรู้ล่าช้า
แต่ล่าสุดทีมวิจัยพบว่า ไวรัสซิก้ามีศักยภาพกำจัดเซลล์มะเร็งสมอง (brain cancer) อย่างน่าทึ่งอย่างที่วิธีการรักษาปกติไม่สามารถทำได้ ซึ่งไวรัสซิก้ามุ่งเล่นงานสเต็มเซลล์ (เซลล์ต้นกำเนิด) เจ้าปัญหาก่อนที่มันจะลุกลามเป็นก้อนมะเร็ง
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Washington University School of Medicine ร่วมกับ University of California San Diego School of Medicine ตีพิมพ์การค้นพบในวารสาร The Journal of Experimental Medicine ยืนยันว่าไวรัสซิก้า (Zika virus) อาจเปิดประตูความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการรักษาโรคมะเร็งสมองจีบีเอม GBM (Glioblastoma multiforme) ซึ่งเป็นมะเร็งร้ายกาจ มีอัตราการตายสูง เพียงภายใน 1 ปีหลังจากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยแล้ว
ปกติการรักษามะเร็งที่ใช้กันอยู่ ทั้งการใช้เคมีบำบัด (chemotherapy) และรังสีบำบัด (radiation) มีผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติ ทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบที่ไม่น่าอภิรมย์ และมีโอกาสที่เซลล์มะเร็งจะหลุดรอดจนสร้างเนื้อร้ายแห่งใหม่ได้ แต่ไวรัสซิก้าแม้มีผลเสียต่อเซลล์สมอง แต่โดยตัวมันเองมีธรรมชาติที่สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งสมองจีบีเอม จึงเป็นไปได้ที่จะใช้ไวรัสซิก้า ‘ร่วมกัน’ กับการรักษากระบวนการอื่นๆ
นักวิจัยทดลองฉีดไวรัสซิก้าไปยังมะเร็งสมองของหนูทดลองโดยตรงอย่างต่อเนื่อง พบว่าภายใน 2 สัปดาห์ก้อนมะเร็งสมองของหนูค่อยๆ มีขนาดเล็กลง ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่เราจะฉีดไวรัสซิก้าโดยตรงไปยังเซลล์มะเร็งเพื่อรักษามนุษย์ได้เช่นกัน ในขณะที่ทำการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งสมองออก (หากฉีดบริเวณส่วนอื่นของร่างกาย ไวรัสอาจถูกภูมิต้านทานร่างกายกำจัดไปเสียก่อน)
ขั้นตอนต่อไปทีมวิจัยจะทำให้ไวรัสซิก้ากลายพันธุ์ เพื่อให้ตอบสนองกับระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ เพราะแม้คุณจะหายจากมะเร็งสมอง คุณก็ไม่อยากจะเป็นตัวแพร่ไวรัสซิก้าไปสู่คนอื่นๆ อยู่ดี
10. พฤติกรรมสุดพิลึก เมื่ออวกาศทำให้หนอน ‘งอกหัวแฝด’
นักวิทยาศาสตร์ส่งหนอนตัวแบน (flatworm) กลุ่มหนึ่งไปศึกษาบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เพื่อหาผลกระทบของระบบฟื้นฟูร่างกาย พฤติกรรม หรือลักษณะทางกายภาพที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อสิ่งมีชีวิตต้องท่องอวกาศเป็นระยะเวลานาน
แล้วพวกเขาก็คาดไม่ผิด! ธรรมชาติแสดงออกอย่างพิลึกในอวกาศอันไกลโพ้น มีเรื่องแล้วค่ะหมวด! เพราะทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Tufts ส่ง ‘หนอนตัวแบน’ ไปสถานีอวกาศนานาชาติ เป็นเวลาถึง 5 สัปดาห์ ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ผิดแปลกไปจากธรรมชาติอย่างสิ้นเชิง ทั้งสภาวะไร้น้ำหนัก คลื่นแม่เหล็กที่มากกว่าบนผิวโลก พวกเขาทดสอบว่าภายใต้สภาพแวดล้อมอันไม่เอื้ออำนวย หนอนตัวแบนพลานาเรีย D. japonica จะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างไรเมื่อกลับสู่พื้นโลก (กลิ่นอายแบบหนังเรื่อง Life เตะจมูกเลย)
พวกเขาเลือกหนอนพลานาเรีย (Planarian) เนื่องจากพวกมันสามารถงอกร่างกายได้ใหม่ เมื่อถูกหั่นเป็นชิ้นๆ แต่ยังไม่มีใครคิดออกว่า ความมหัศจรรย์ของพลานาเรียนยังคงความขลังอยู่ไหมเมื่ออยู่นอกโลก เพราะนักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องศึกษาอิทธิพลของแรงโน้มถ่วง คลื่นแม่เหล็ก และรังสี ที่มีผลต่อการแสดงออกของเซลล์และการฟื้นฟูเนื้อเยื่อ หรือปัจจัยทางชีวภาพอื่นๆ ทั้งในคนและสัตว์ หากพวกเราจะอาศัยในอวกาศกันจริงๆ จังๆ
หนอนจะถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยทั้งหมดจะถูกเฉือนร่างกายออก กลุ่มที่ 1 เรียกว่า ‘กลุ่มโลก’ จะเก็บไว้ในน้ำแร่ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส ในที่มืดมิดเพื่อจำลองความมืดคล้ายอวกาศ กลุ่มที่ 2 เรียกว่า ‘กลุ่มทัวร์อวกาศ’ ถูกเก็บไว้ในน้ำแร่เช่นกัน แต่ต้องไปอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักและอุดมไปด้วยคลื่นแม่เหล็ก บนสถานีอวกาศ
ผ่านไปเพียง 5 สัปดาห์ ก็พบเรื่องพิลึกแล้ว ทีมวิจัยพบว่า หนอนพลานาเรียกลุ่มทัวร์อวกาศ งอกหัวแฝดออกมา ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ การงอกหัวแฝดพบเห็นได้ยากมากในธรรมชาติ ตั้งแต่ทีมวิจัยเลี้ยงหนอนมา 18 ปี คลุกคลีกับหนอน 15,000 ตัว ก็ยังไม่เคยพบหนอนหัวแฝดเลย
นอกจากนั้นเมื่อพวกเขาย้ายหนอนกลุ่มทัวร์อวกาศ มาอยู่บนพื้นโลกและแช่ในน้ำแร่ กลุ่มทัวร์อวกาศมีอาการชา ไม่กระดุกกระดิก เป็นอัมพาต หรือตัวโค้งงอ ต้องใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง พวกมันถึงแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติอีกครั้ง
ทีมวิจัยพบว่า ไมโครไบโอม (Microbiome) หรือจีโนมของจุลินทรีย์ทั้งหมดที่อาศัยในร่างกายของหนอนพลานาเรียเปลี่ยนไป ซึ่งเป็นผลพวงจากสภาพแวดล้อมที่ผิดแปลกไปในอวกาศ
มันช่างน่าสงสัยเหลือเกินว่า อวกาศจะเปลี่ยนคุณได้มากขนาดไหน ถ้าเรามองมันเป็นบ้านหลังที่ 2 เพราะร่างกายมนุษย์นั้นซับซ้อนกว่าหนอนตัวแบนเยอะ เรามีระบบนิเวศทางชีวภาพอันเป็นเอกลักษณ์ อวกาศยังมีอะไรที่พิลึกๆ รอให้ค้นพบอีกเยอะ
อ้างอิงข้อมูลจาก