เพราะโลกหมุนเร็ว เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไว และอะไรๆ ก็ 4.0 คนในวงการเทคโนโลยีจึงเป็นที่ต้องใจและต้องการของบริษัทต่างๆ มากมาย แม้แต่ประเด็นของ AI หรือสตาร์ทอัพ ก็ยังกลายมาเป็นหัวข้อสนทนาบนโต๊ะอาหารหรือระหว่างนั่งรถกลับบ้าน
The MATTER เลยชวน ‘คุณศุภเสฏฐ์ ชูชัยศรี’ นายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสังคมอุดมเทคโนโลยี สภาพแวดล้อมในตอนนี้ของโปรแกรมเมอร์ไทย รวมไปถึงเรื่องบทบาทของสตาร์ทอัพที่กำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ยันเรื่องโลกของ AI ในอนาคตอันใกล้ด้วย
The MATTER : ปัญหาโปรแกรมเมอร์ขาดตลาดเป็นประเด็นที่พูดกันมาตลอดตั้งแต่มีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ตอนนี้สถานการณ์เป็นยังไงบ้าง?
คุณศุภเสฏฐ์ : เรื่องแรกคือการจ้างงาน ขาดคนหรือเปล่า ขาดแน่นอน ถ้าไปคุยกับบริษัท เขาต้องการโปรแกรมเมอร์มาก แต่หาไม่ได้ ปัญหาหลักๆไม่ได้เกิดจากปริมาณโปรแกรมเมอร์ไม่พอ แต่เกิดจากปริมาณโปรแกรมเมอร์ที่มีทักษะที่ต้องการไม่เพียงพอมากกว่า หลายที่ที่คุยมาก็มีคนมาสัมภาษณ์เรื่อยๆ สัมภาษณ์ไปสิบยี่สิบคนได้มาหนึ่งคน หรือบางครั้งก็ไม่ได้เลย
The MATTER : ปัญหาทักษะที่ต้องการไม่เพียงพอนี่เกิดจากอะไร?
คุณศุภเสฏฐ์ :ประเด็นหลักๆ ผมคิดว่าวัฒนธรรมและระบบการเรียนบ้านเราไม่ค่อยเอื้อต่อการสร้างคนที่มีความสนใจเฉพาะด้าน คนเลือกคณะเพราะสังคมบอกว่าดี โดยที่ไม่รู้ว่าจริงๆแล้วอาชีพนี้ทำอะไรหรือจะเรียนเกี่ยวกับอะไร พอเข้าไปแล้วก็ไม่ชอบ ทำให้ไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาทักษะตัวเอง ในขณะที่หลักสูตรบางครั้งก็ตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปไม่ทัน เพราะช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีเปลี่ยนไวมาก บางครั้งเนื้อก็ยังไม่ได้อัพเดทตาม ประกอบกับนักศึกษาส่วนใหญ่ไม่มีความสนใจจะตามเทคโนโลยีด้วยตัวเองเพราะขาดแรงจูงใจอยู่แล้ว พอจบออกมาก็เลยไม่มีทักษะที่พร้อมทำงาน
The MATTER : คิดว่าสถานศึกษามีวิธีรับมือยังไงกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เร็วมาก?
คุณศุภเสฏฐ์ : สิ่งที่มหาวิทยาลัยจะช่วยตรงนี้คือพยายามเชื่อมต่อกับภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น อาจารย์ควรเพิ่มบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้นักเรียนได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลที่อุตสาหกรรมใช้กันจริงๆ เชิญคนที่เชี่ยวชาญ คนที่อยู่ในวงการ มาสอนมาแนะนำ ผมว่าก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทางมหาวิทยาลัยด้วย นักเรียนก็จะได้เห็นว่าเวลาใช้จริงเป็นยังไง
ปัญหาที่เป็นมานานคือมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะเน้นที่เกรดหรือคะแนน แต่ว่าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยในความเห็นผมคือควรจะเน้นให้นิสิตนักศึกษาสนุกกับการเขียนโปรแกรมมากกว่า ให้เขาลองเล่นและสนุก เพราะเวลาสนุกแล้วก็จะอยากไปลองทำอะไรๆ ต่อเอง แต่ถ้าเกิดเขาต้องมาแก้โจทย์ยากๆ เพื่อเอาเกรดเอาคะแนน เขาจะเริ่มไม่ชอบ ทั้งที่จริงแล้วมันสนุกมากถ้าหากว่าเขาได้ไปทำโปรเจคจริงๆที่เขาอยากทำ
เคยคุยกับเพื่อนชาวต่างชาติ ถ้าเป็นของที่สหรัฐฯ บางรายวิชาเขาจะเป็น Hands-on Project มีการทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอัน แต่ของไทยจะเน้นอ่านหนังสือสอบแล้วก็จะมีโปรเจคเล็กๆ นิดเดียว หรือว่าที่เยอรมนี เขาจะไม่เน้นการเรียนในห้องเรียนเท่าไหร่ เขาพยายามให้นักเรียนไปสัมผัสประสบการณ์นอกห้องเรียนตั้งแต่มัธยมต้นเลยด้วยซ้ำ ให้ได้ไปฝึกงานจริง ได้ทดลองว่าชอบไม่ชอบอะไร
หน้าที่ของมหาวิทยาลัยในความเห็นผมคือควรจะเน้นให้นิสิตนักศึกษาสนุกกับการเขียนโปรแกรมมากกว่า ให้เขาลองเล่นและสนุก เพราะเวลาสนุกแล้วก็จะอยากไปลองทำอะไรๆ ต่อเอง
The MATTER : หลายคนพูดถึงการใส่หลักสูตรการเขียนโปรแกรมเข้าไปในชั้นประถมและมัธยม ซึ่งในตอนนี้ก็มีหลายโรงเรียนที่ทำแล้ว มองว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จหรือไม่? อย่างไร?
คุณศุภเสฏฐ์ : ผมมองว่าสมัยมัธยม ระบบแนะแนวหรือการทำให้รู้ตัวเองตั้งแต่เด็กยังไม่ค่อยดี มีหลายคนเข้ามหาวิทยาลัยมาแล้วก็รู้สึกว่าไม่ใช่ ไม่ชอบ แล้วสุดท้ายก็เสียเวลาสี่ปีไป ก็ย้ายสายไป ในสายที่เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมส่วนใหญ่ในสาขาจะเหลือคนเขียนโปรแกรม 30% จาก 100% ของคนที่เข้ามาเรียน เพราะว่าเขามาไม่รู้ว่าเข้ามาจะเจออะไร รู้แค่ว่าวิศวะคอม คงงานเกี่ยวกับคอม งานใช้คอม สบายๆ อยู่ในห้องแอร์ โดยที่ไม่เคยสัมผัสกับการเขียนโปรแกรมจริงๆ มาก่อน ที่จริงแล้วมันก็มีความยาก มีความท้าทายในรูปแบบของมัน ซึ่งหลายคนไม่ชอบหรือไม่ถนัดงานลักษณะนี้
ดังนั้นการเอาวิชามาให้เรียนตั้งแต่เด็ก ก็เป็นข้อดีที่เปิดโอกาสได้สัมผัสการเขียนโปรแกรมตั้งแต่เด็ก แต่ผมยังไม่คิดว่าควรเป็นวิชาบังคับ ควรเป็นวิชาเลือกที่เปิดโอกาสว่าถ้าเด็กสนใจให้ทดลองเรียนได้ก่อน เพราะว่าวิชาเขียนโปรแกรมก็ไม่ได้เหมาะกับทุกคนหรอก แต่ถ้าใครรู้ก็จะได้เปรียบกว่าคนอื่น
The MATTER : สภาพแวดล้อมแบบไหนที่เหมาะกับการที่เป็นประเทศที่อุดมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม?
คุณศุภเสฏฐ์ : ถ้านอกจากระบบการศึกษาที่ดีแล้ว ส่วนใหญ่ประเทศที่พัฒนาแล้วจะเป็นประเทศที่คนไม่ค่อยทนอยู่กับสิ่งไม่ดี ชอบบ่น ชอบแก้ปัญหา หรือเป็นประเทศที่ค่อนข้างเสรี มีการแสดงออกทางความคิดเห็นให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิดเห็นเยอะๆ
เช่น สหรัฐอเมริกา ถือเป็นประเทศที่มีความเจริญทางด้านเทคโนโลยี ค่อนข้างมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อะไรไม่ดีก็สามารถพูดกันได้ แลกเปลี่ยนกันได้ หรือแม้กระทั่งเยอรมนี คนส่วนใหญ่ยินดีที่จะโต้แย้งกัน เขามีความคิดที่ว่าการโต้แย้งคนอื่นไม่ใช่การโจมตีบุคคล แต่เป็นการแย้งไอเดียว่ามันไม่ดียังไง เราไม่เห็นด้วยยังไง มาแลกเปลี่ยนกันได้
ถ้าเป็นเมืองไทย เราไปโจมตีไอเดียเขา คนก็จะรู้สึกเราไปด่าเขาหรือเปล่า เราก็ไม่ค่อยกล้าให้ความเห็นกัน การพัฒนามันก็จะช้ากว่าประเทศอื่น เพราะมันไม่มีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน คนไทยจะเป็นแนว passive ไม่ค่อยบ่นหรือจะบ่นกันลับๆ หรือบ่นไม่เป็นระบบ คำบ่นนั้นก็ไม่ได้เอามาพัฒนาปรับปรุงอะไร
The MATTER : เราพูดถึงไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งใช้เทคโนโลยีเข้ามาปรับทุกภาคส่วนให้ก้าวหน้าขึ้น ในสายตาโปรแกรมเมอร์แล้ว เรามีความพร้อมหรือยัง? และจุดมุ่งหมายที่ไปถึงได้จริงในระยะสั้น เราควรเริ่มต้นที่อะไรก่อน?
คุณศุภเสฏฐ์ : อันดับแรกเลยคือผมมองว่าโครงการนี้เจตนาดี ยังไงเราควรมีโครงการนี้ เพราะถ้าไม่ทำ ก็จะไม่มีอะไรมากระตุ้นให้เราผลักดันทางด้านเทคโนโลยีมากขึ้น แต่ถ้าถามว่าพร้อมไหม ผมบอกได้เลยว่าไม่พร้อม ที่ไม่พร้อม หนึ่งก็คือจำนวนนักพัฒนาซอฟแวร์ในเมืองไทยที่มีคุณภาพค่อนข้างน้อย
ผมลองไปดูในเว็บไซต์หางาน ตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับการเขียนโปรแกรมมีประมาณ 3,900 ตำแหน่ง ส่วนจำนวนของคนที่จบต่อปีอยู่ประมาณ 5,000-6,000 คน ดูซัพพลายก็เพียงพอ แต่ที่มันยังขาดแคลนมาก ก็เพราะปัญหาอย่างที่ผมบอก ว่าจบมา 100 เหลือเขียนโปรแกรมอยู่แค่ประมาณ 30 และในบรรดากลุ่มที่เหลือ ที่มีความสามารถเพียงพอต่อความต้องการก็น้อยลงไปอีก มันก็เลยเป็นปัญหา ถ้าเกิดว่าให้วันนี้เราเป็น 4.0 เลยทุกที่ เป็นเทคโนโลยีให้หมด ตอนนี้ยังไม่พร้อม เพราะเรายังหาคนที่มาพัฒนาโปรแกรมไม่ได้ ดังนั้นเราก็ต้องมาช่วยกันแก้ ทำยังไงให้มีจำนวนนักพัฒนาโปรแกรมเพียงพอที่จะตอบโจทย์นี้ได้
ถ้าเกิดว่าให้วันนี้เราเป็น 4.0 เลยทุกที่ เป็นเทคโนโลยีให้หมด ตอนนี้ยังไม่พร้อม เพราะเรายังหาคนที่มาพัฒนาโปรแกรมไม่ได้ ดังนั้นเราก็ต้องมาช่วยกันแก้
The MATTER : พูดถึงการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพกันบ้าง คิดยังไงกับการเติบโตของสตาร์ทอัพ
คุณศุภเสฏฐ์ : ในแง่หนึ่งผมมองว่าดี เพราะว่าประเทศก็จะมีบริษัทที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มันก็ช่วยตอบโจทย์หรือลดต้นทุนให้กับหลายๆ อุตสาหกรรมได้ ผมว่ามีถือว่าดีกว่าไม่มี
The MATTER : แต่ว่าก็มีคนบอกเหมือนกันว่า สตาร์ทอัพเป็นเกมของคนที่มีการศึกษา และต้องมีความพร้อม มันอาจจะทำให้ประเทศเราเกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นไหม?
คุณศุภเสฏฐ์ : ถ้าในแง่ความเหลื่อมล้ำ ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำมากอยู่แล้ว ติดท็อปไฟว์ของโลก ซึ่งผมมองว่าส่วนนี้ก็มีความเหลื่อมล้ำในแง่ที่ว่า ถ้าหากเป็นคนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา จะเข้าถึงวงการสตาร์ทอัพยาก เพราะต้องมีความรู้เรื่องเทคโนโลยีพวกนี้ ถ้าไม่มี เขาก็มาเล่นเกมพวกนี้ไม่ได้
แต่ถ้าผมมอง ผมมองว่ามันก็เหมือนการทำธุรกิจอื่นๆ ซึ่งถ้าเข้าถึงความรู้ได้มากกว่าก็ได้เปรียบกว่าเป็นธรรมดา ดังนั้นมันอาจไม่ได้ส่งผลให้เพิ่มความเหลื่อมล้ำมากขึ้นขนาดนั้น ผมมองว่าเป็นแค่ส่วนหนึ่งในความเหลื่อมล้ำที่เรามีอยู่แล้วมากกว่า แต่ในขณะเดียวกัน หากว่ามันสร้างความเหลื่อมล้ำมากจริงๆ ผมก็ยังมองว่าควรต้องมีสตาร์ทอัพอยู่ดี ไม่ใช่ว่าถ้าเกิดมีสตาร์ทอัพ เกิดความเหลื่อมล้ำ เราไม่ควรทำสตาร์ทอัพ มันก็เหมือนคุณไปได้ดี คุณอย่าไปได้ดีเลย ลงมาดีกว่า เราจะได้ไม่เหลื่อมล้ำ มันไม่ใช่ เราควรไปแก้ที่ ถ้าหากมีความเหลื่อมล้ำ แล้วจะทำยังไงให้คนที่อยู่ในระดับด้อยกว่าได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่มากขึ้น เพื่อลดช่องว่างตรงนี้
ผมกลับมองว่า การที่เรามีสตาร์ทอัพ บางครั้งก็เป็นส่วนที่ลดช่องว่าตรงนั้นเหมือนกัน มีสตาร์ทอัพหลายเจ้าที่ทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีการศึกษาให้กับจังหวัดที่ไม่พร้อม คุณครูก็สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ สามารถศึกษาข้อมูลจากพวกยูทูปหรือบริการทางความรู้อื่นๆ ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่การมีสตาร์ทอัพจะช่วยลดช่องว่างตรงนี้ได้
The MATTER : แล้วคิดยังไงกับการเอาเทคโนโลยีมาใช้ แล้วมีประเด็นในสังคม ทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อย่างกรณีของ Uber หรือ Grab
คุณศุภเสฏฐ์ : ผมคิดว่ามันเป็นการนำมาใช้ที่ดี คือเอามาแก้ปัญหา เพราะถ้ามันแก้ปัญหาชีวิตคนไม่ได้คงไม่มีคนใช้งานมากขนาดนี้ แต่ตอนนี้ที่มันเป็นปัญหาคือมันไปกระทบกับกลุ่มธุรกิจเดิมที่มีอยู่ ซึ่งการกระทบนี้ผมมองว่ามันก็เป็นธรรมชาติของธุรกิจ คือพอมีธุรกิจใหม่ที่มาแก้ปัญหาเก่าก็อาจจะมีธุรกิจเก่าที่เดือดร้อนหรือตายไป แล้วก็แน่นอนว่าเกิดความไม่พอใจ
แต่อีกปัญหาก็คือในแง่กฎหมายมากกว่า ธุรกิจที่ดีก็ควรอยู่ในกรอบของกฎหมายนั่นแหละ แต่ว่าคนออกกฎหมายก็ควรออกกฎหมายที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกฝ่าย เพราะว่าคนออกกฎหมายก็คือคนของรัฐบาล ของประเทศชาติ สุดท้ายแล้วต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ถ้าท้ายที่สุดแล้ว ธุรกิจพวกนี้มันเป็นประโยชน์ของประชาชน เราก็ควรมีการพัฒนากฎหมายเอื้อให้ได้รับผลที่ดีกับทุกฝ่าย แล้วมันจะทำให้เราขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเราไปได้ด้วย
The MATTER : อยากให้จินตนาการถึงโลกในอนาคตว่าในอีก 5-10 ปี ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติจะเปลี่ยนโลกอย่างไร? และประเทศไทยเองมีพื้นที่ในโลกใหม่นี้ไหม?
คุณศุภเสฏฐ์ : ภาพรวมผมมองว่า AI จะมีบทบาทสำคัญมากๆ อย่าง Tesla ก็บอกว่าจะทำรถยนต์อัตโนมัติ ถ้าเรามีรถที่ปกติเราไม่ค่อยได้ขับ เราก็ให้ AI เอารถไปเข้าระบบของ uber แล้วก็สามารถแชร์ริ่งสร้างรายได้ รถก็สามารถขับเคลื่อนไปเองได้ เป็นไอเดียที่อีกหน่อยผมว่า ถ้าตัวเองให้อนาคตมองกลับมายุคปัจจุบัน เราคงมองว่าตัวเองล้าหลังมากแน่ๆ เทคโนโลยียิ่งวิ่งเร็วขึ้นเรื่อยๆ บริษัทใหญ่ๆ ก็เน้นการพัฒนา AI เป็นอย่างมาก
ถามว่าในประเทศไทยจะมีโอกาสเข้าร่วมตรงนี้ไหม ผมก็มองว่ายังมีโอกาสแต่ค่อนข้างยากหน่อย หนึ่งคือการศึกษาด้าน AI ในบ้านเราค่อนข้างน้อย มีไม่กี่ที่ที่สอนเรื่องพวกนี้ได้ ถ้าจะพัฒนาให้ทันเราต้องทุ่มตรงนี้หน่อย ทั้งเชิญคนสอนต่างชาติเข้ามาสอนในส่วนที่เราสอนไม่ได้ หรือว่าจะเน้นให้มหาวิทยาลัยและบริษัทต่างๆพยายามผลักดันในด้าน AI มากขึ้น หลายบริษัทในต่างประเทศ เขามีมิชชั่นเป็น AI First ไม่ว่าเขาจะอยู่แผนกไหน ทำงานหน้าที่อะไร แต่ละคนก็ต้องพยายามเอา AI ไปประกบกับสินค้าและบริการของตัวเอง