ยังจำบรรยากาศตอนนั้นได้ไหม? อย่างน้อยๆ คุณก็เคยโดนกล่อมเรื่องภัยยาเสพติดมาจากโรงเรียนสักแห่ง
อาจจะตอน ป.6 โรงเรียนเชิญตำรวจในพื้นที่ใกล้เคียงมาอบรมเรื่องยาเสพติด ในรูปแบบกิจกรรมสันทนาการ และที่ขาดไม่ได้คือ ‘ร้องเพลง’ ออกมาดังๆ
“ยาบ้าเป็นยาเสพติด ถ้าใครหลงผิดควรคิดหลีกหนี…”
“ยาบ้าเป็นอันตรายใครเสพถึงตาย ใครขายติดคุกทันที…”
บทเพลงสุดฮิตติดหู ถูกย้ำให้จดจำด้วยภาพการจับกุมของเจ้าหน้าที่ การบุกค้นที่ตื่นเต้นเร้าใจเหมือนหลุดมาจากภาพยนตร์ ภาพข่าวคนคลั่งยาถือปังตอยืนจังก้า และจบลงอย่าง ‘ฟินัลเล่’ ด้วยภาพผู้คนที่ถูกจองจำในคุกเหมือนผักเหี่ยวๆ ไร้ค่ารอวันดับสูญ
นั้นล่ะคือการเดินทางของยาเสพติดที่พวกเรารับรู้เพียงมิติเดียว
และเป็นแบบนั้นเสมอมา…
ปฏิเสธไม่ได้ว่า พวกเราเติบโตในสังคมที่หวาดกลัวยาเสพติดขึ้นสมอง (และยุคหนึ่งก็มองว่าเป็นภัยแทรกแซงของคอมมิวนิสต์บั่นทอนความมั่นคงตามสมัยนิยม) และรัฐพยายามกำจัดสิ่งแปลกปลอมออกจากสังคมโดยการใช้กำลังและอำนาจ ‘คุก’ จึงเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาศักดิ์สิทธิ์ การโยนปัญหาเข้าตารางดูง่ายดี และการป้ายความโสมมของสังคมไปที่ยาเสพติดก็ดูเป็นความสะดวกสบายที่สังคมใช้จัดระเบียบมามากกว่า 50 ปี
สังคมที่ไม่มียาเสพติด ไม่มีหรอก
ครั้งหนึ่งประชาคมโลกเคยวาดฝันไว้ว่า พวกเราจะพาสังคมยุคใหม่เข้าสู่สังคมปลอดยาเสพติด และจะไม่อดทนต่อยาเสพติดทุกรูปแบบ (Zero tolerances) ที่ปะปนในสังคมดุจภัยคุกคาม แม้สหประชาชาติเองในปี 1998 ก็เคยตัดสินใจผิดพลาด ออกมากล่าวเจตนารมณ์ในงาน United Nations Drug control Program ขอความร่วมมือทุกประเทศร่วมกันกดดันวงจรยาเสพติดด้วยวลี A drug free world : We can do it ที่ฟังสวยหรู
แต่เอาเข้าจริงความเฟ้อฝันนั้นดูยากเกินคว้าถึง (จนต้องใช้คำว่า We can’t do it แทนกระมัง) เพราะเทรนด์การค้ายาเสพติดทั่วโลกแทบไม่ได้ลดลงเลย กฎหมายห้ามยาเสพติดกลับส่งผลเลวร้ายซ้ำเติมสังคม ระบบการค้าส่วนใหญ่อยู่ในอุ้งมืออาชญากรทรงอิทธิพล การปรามปรามด้วยความรุนแรงจึงกลายเป็นความชอบธรรมตั้งแต่นั้นมา
‘สงครามยาเสพติด’ จึงเป็นวาทกรรมสุดฮิต เรียกเสียงสนับสนุนจากผู้คนที่เกลียดชัง แต่อย่าลืมนะ หากใช้คำว่า ‘สงคราม’ แล้ว ย่อมมีผู้สูญเสียทั้งสองฝ่าย
รัฐไทยเองก็เคยประกาศสงครามยาเสพติดเต็มรูปแบบด้วยมาตรการรุนแรงต่อผู้เสพและผู้ค้าด้วย ‘ตาต่อตาฟันต่อฟัน’ มีการใช้กำลังเข้าปราบปรามแหล่งซ่องสุมยาเสพติดในชุมชน การตั้งสินบนรางวัลนำจับแก่เจ้าหน้าที่อย่างล่อตาล่อใจ จนเกิดเหตุฆ่าตัดตอนครั้งมหึมาสร้างความประทับใจให้แก่คนในสังคมสายฮาร์ดคอร์ เพราะเชื่อว่าความดุดันจะทำลายล้างความชั่วร้ายได้
แต่จากงานวิจัยกลับแสดงให้เห็นว่า เมื่อการปราบปรามเข้ากดดันฐานผลิตยาเสพติดผิดกฎหมายในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง การผลิตจะย้ายฐานไปเกิดที่อื่นอีกทันที เส้นทางขนส่งยาเปลี่ยนทิศลึกลับซับซ้อนกว่าเดิม เหมือนการบีบลูกโป่งในกำมือ แต่ไปปูดตรงอื่น จนเกิดทฤษฏี Balloon effect ที่การกดดันห่วงโซ่อุปทาน แค่ทำให้ปัญหาเปลี่ยนที่เท่านั้นเอง
คุกเหรอ? ไม่ว่างซะแล้ว
เรามาแง้มประตูคุกไทยกันดู จากที่เคยเชื่อกันว่าคุกมีไว้จัดการกับคนที่เป็นภัยรุนแรงของสังคม แต่ปัจจุบันกลับล้นไปด้วยผู้ต้องโทษคดียาเสพติดเมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine)รายย่อยๆ ผู้ต้องขังในเรือนจำราชทัณฑ์กว่า 3 แสนคน ซึ่งร้อยละ 90 เป็นคดีเกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีน ยิ่งย้ำเตือนว่าที่ผ่านมาสังคมไทยพึ่งพากระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยใช้คุกเป็นคำตอบสุดท้าย
ทำให้ร้อยละ 80 ของผู้ต้องขังในเรือนจำ เป็นผู้ด้อยโอกาสที่มีความเปราะบางทั้งทางฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งคนยากจน เด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ ล้วนเป็นบทบาทเกี่ยวข้องระดับล่างสุดในตลาดยาเสพติดอันมหึมา พวกเขาเป็นเพียงผู้เสพ หรือรับจ้างขนเท่านั้น เป็นเพียงกลไกกระจายสินค้า มีคนมาทำหน้าที่สลับสับเปลี่ยนได้ทุกเมื่อ แต่กฎหมายกลับปราบปรามแบบเหมารวม และโยนความรับผิดชอบไปให้คุก (ราชทัณฑ์ใช้งบประมาณ 12,141 ล้านบาทในการดูแลผู้ต้องขังทั่วประเทศเลยนะ) โดยที่จับมือรายใหญ่มาดมไม่ได้เลย
มันเหมือนคุณจัดการกับภูเขาน้ำแข็งที่เป็นเพียงแค่ส่วนพ้นน้ำ แต่ส่วนอยู่ใต้น้ำไม่ได้สะท้านสะเทือนแม้แต่น้อย กระบวนการยุติธรรมที่ปลายเหตุทำให้พวกเราติดนิสัยส่งคนเข้าคุกจนชินชา แล้วแยกย้ายกันไปทำมาหากินตัวใครตัวมัน แต่คนที่ใช้ชีวิตในคุกได้รับการประทับตราความเลวทรามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเขาไม่สามารถกลับมาร่วมสังคมเดียวกับคุณได้อีก อย่างน่าเสียดาย
หรือจริงๆ แล้ว ถึงเวลาที่ยอมรับว่าสังคมเรามียาเสพติด และเป็นไปได้ไหมที่เราจะใช้มันอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่หวาดกลัวราวภูตผีในนิทานที่เคยฟังๆ อย่างฝังใจ
ปัดฝุ่นความคิดและควบคุมเมทแอมเฟตามีนอย่างสร้างสรรค์
ในงานสัมมนาเชิงวิชาการ “บูรณาการควบคุมเมทแอมเฟตามีนอย่างสร้างสรรค์และนวัตกรรมยุติธรรมร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด” โดยสำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ปปส. ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส.ส.ส. และ IDPC พาเราไปตั้งคำถามของการดำรงอยู่ของสารเสพติดในสังคมครั้งใหญ่ (และเป็นครั้งสำคัญของชาติไทยทีเดียว)
หากเราไม่สามารถจัดการยาเสพติดให้เป็นศูนย์
คำถามคือ ทำอย่างไรที่คนในสังคมจะไม่ใช้มันในทางที่ผิด
ได้ชื่อว่า ‘ยา’ แน่ล่ะที่มันต้องมีประโยชน์ในเชิงการแพทย์ในมิติใดมิติหนึ่ง แม้แอมเฟตามีน (Amphetamine) จะเป็นปัญหาด้านสาธารณสุข แต่มีหลักฐานจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าแอมเฟตามีน ทำให้สารในสมองหลั่งโมโนอะมีน (Monoamine) ทำให้ร่างกายตื่นตัวและระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันมันก็สนับสนุนการสร้างอนุมูลอิสระที่ทำลายเซลล์สมองผู้ใช้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
แต่เมื่ออยู่ในการวินิจฉัยของแพทย์ ตามปกติการจะใช้ยาอะไรหมอต้องหาที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย ต้องมีการชั่งน้ำหนักระหว่างพิษและประโยชน์ ส่วนของแอมเฟตามีนมีประโยชน์ในทางการแพทย์ที่ปฏิเสธไม่ได้ ใช้สำหรับการรักษาโรคสมาธิสั้น โรคซึมเศร้า เจ็บปวดเรื้อรัง และสามารถนำมาใช้รักษาผู้ที่ติดยาบ้าในระดับรุนแรงได้ โดยใช้เป็นสารทดแทนในช่วงรักษาบำบัด 2 – 3 เดือนแรก
ที่ผ่านมามีการจัดแอมเฟตามีนทั้งกลุ่มให้อยู่ในวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 1 ซึ่งมีการปราบปรามอย่างเข้มงวด ทำให้เมืองไทยไม่ได้มีการใช้ประโยชน์แอมเฟตามีนในทางการแพทย์เลย (หมอก็คงไม่เสี่ยงคุกเนอะ)
การพยายามปรับลดกลุ่มแอมเฟตามีนให้อยู่ในวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 แทน ซึ่งจะส่งผลให้แพทย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ดูเป็นข้อเสนอต่อการร่างกฎหมายในมิติใหม่ที่น่าสนใจ
แต่ต้องควบคุมโดยมีใบสั่งแพทย์ ทำให้บรรดาหมอๆ มีทางเลือกในการแนะนำยาที่ราคาไม่แพงและตอบสนองต่อผู้ป่วยแต่ละรายได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ทำให้ผู้ใช้สารเสพติดเลือกที่จะเข้าถึงการบำบัดจากแพทย์ โดยไม่ต้องถูกตลาดมืดช่วงชิงไป เพราะยังไงแอมเฟตามีนของสาธารณสุขจำหน่ายเอง มีราคาต่ำกว่าและอยู่ในการควบคุมชัดเจน
แต่ยาบ้าเม็ดละ 50 สตางค์ฝันไปเถอะ ลูกฉันก็ติดยาพอดี
ความหวาดกลัวยาเสพติดที่รัฐผลิตเองแบบดัมพ์ราคาสู้ ทำให้สังคมหวั่นวิตก แท้จริงแล้วการผลิตยาเสพติดภายใต้อุปสงค์อุปทานอยู่ในมือองค์กรอาชญากรรมมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ไม่ว่าจะขายในราคาใด ในยุคสมัยไหน ก็มีคนพยายามไปขวนขวายมาเสพอยู่ดี การปราศจากการควบคุมเลยทำให้ยาเสพติดมีแต่ทวีความเสี่ยงเมื่ออยู่ในมือ Bad Guys
การดึงผู้เสพออกจากเงามืดสู่ที่สว่าง ภายใต้การควบคุมโดยการสั่งจ่ายทางการแพทย์หรือเภสัชกรที่มีความชำนาญ สร้างโอกาสในการควบคุมให้ผู้ใช้เมทแอมเฟตามีนไปใช้สารกระตุ้นที่มีความแรงน้อยกว่า พิษน้อยกว่า หรือติดน้อยกว่า (อย่าง เด็กซ์แอมเฟตามีน โมดาฟินิล หรือ อาร์โมดาฟินิลิ) ก็เป็นเรื่องเป็นไปได้
90% ของยาเสพติดที่หมุนเวียนในประเทศมาจากแหล่งค้าส่งทรงอำนาจจากสามเหลี่ยมทองคำ การทำลายวงจรแบบยั่งยืน คือต้องยึดฐานผู้เสพหลักกลับคืนมา แต่ไม่ได้หมายความว่า ลูกหลานคุณจะกำเงิน 10 บาทไปซื้อแอมเฟตามีนมาดูดเล่นเคี้ยวเพลินได้ มันไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะรูปแบบการควบคุมจะมีข้อจำกัด ยิ่งยาเสพติดที่มีฤทธิ์ติดมากก็ต้องมีการควบคุมมาก ซึ่งในบทบาทนี้เองที่เราควรมีส่วนร่วมในการออกแบบเช่นกัน
การควบคุมไม่ใช่ความพ่ายแพ้ซะทีเดียว
ทั่วโลกเปลี่ยนท่าทีต่อยาเสพติดแล้ว การทำสงครามเป็นความล้าหลังที่ระบบยุติธรรมมีแต่จะรับภาระ และไม่ได้ตอบโจทย์ให้กับสังคมเลย เมื่อยาเสพติดสามารถให้ความรู้ได้ไม่ต่างจากเพศศึกษา การไม่ห้ามอย่างดื้อแพ่ง แต่เปลี่ยนเป็นการให้ความรู้อย่างต่อเนื่องและเข้าอกเข้าใจผู้ที่จำเป็นต้องเข้าถึงยาน่าจะดีกว่าไหม
พิจารณาให้สาธารณสุขผลิตยาเพื่อการแพทย์ โดยไม่ผิด ไม่พิษและไม่แพง แนะนำการใช้เมตแอมแฟตามีนอย่างเหมาะสม จำหน่ายให้คนที่จำเป็นต้องใช้จริง แบ่งคัดกรองชัดเจนระหว่างผู้ค้า (ที่ยังคงต้องได้รับการลงโทษอยู่ดี) แต่ผู้เสพและผู้ติดยังเหลือพื้นที่ให้พวกเขาเลี้ยวกลับสู่สังคมโดยไม่ถูกกีดกันหรือโยนใส่กรงขังโดยสังคมไม่ร่วมกันรับผิดชอบ
แม้ประเทศไทยจะมีพัฒนาการแก้ปัญหายาเสพติดแบบลองผิดลองถูกมาบ้าง ลอกเลียนฝรั่งมาบ้าง แต่ยาเสพติดจะยังอยู่คู่โลกใบนี้อีกแสนนาน รุ่นลูกคุณต้องเจอแน่นอน แต่ทำอย่างไรให้เขาไม่หวาดกลัวยาบ้าขึ้นสมองเหมือนพ่อแม่รุ่นก่อนๆ และมองมันเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ถกเถียงกันเพื่อนำไปสู้มุมมมองใหม่ๆ
วันนั้นล่ะสังคมจะเข้มแข็ง แม้เราจะมียาเสพติดอยู่ด้วยก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก
เอกสารงานสัมมนาเชิงวิชาการ “บูรณาการควบคุมเมทแอมเฟตามีนอย่างสร้างสรรค์และนวัตกรรมยุติธรรมร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด”
ขอขอบคุณ
สำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม