หลายวันก่อนมีข่าวใหญ่เรื่องที่กระทรวงยุติธรรมจะผลักดันร่างกฎหมายคู่ชีวิต (พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต) ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถจดทะเบียนแต่งงานกัน และได้รับรองสิทธิต่างๆ ตามกฎหมาย
รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม พล.อ.ประจิน จั่นตอง ถึงกับประกาศชัดเจนว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะเขียนและปรับปรุงกันให้แล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้ ก่อนที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณากันได้ราวๆ เดือนธันวาคม ถ้าเส้นทางต่อจากนี้ไปมีอุปสรรคอะไรมากนัก เราก็อาจจะได้เห็นร่างกฎหมายคู่ชีวิตเข้าสู่สภา และผ่านได้ในยุคสมัยของรัฐบาล คสช.
ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ประเทศไทยก็มีสิทธิ์จะเป็นประเทศแรกๆ ในเอเชีย ที่เปิดโอกาสให้คนเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และน่าจะเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นใหญ่ภายใต้รัฐบาล คสช.
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่หลายคนกำลังสงสัยกันอยู่คือ แล้วเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตนี้มันมีหน้าตาเป็นแบบไหน และให้สิทธิอะไรนอกเหนือไปจากการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันบ้างนะ
เพราะจนถึงตอนนี้ กรมคุ้มครองสิทธิเองก็ยังไม่ได้เผยแพร่เนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับนี้ (ในเวอร์ชั่นล่าสุดที่เป็นฉบับที่ 3 ซึ่งกระทรวงยุติธรรมเคยอ้างอิงว่ามีทั้งหมด 98 มาตรา) ออกมาให้สังคมดูกันอย่างเป็นทางการเลย สิ่งที่ดูเป็นความคืบหน้าจริงๆ คือการตั้ง ‘คณะอนุกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จดทะเบียนคู่ชีวิต’ ขึ้นมาโดยที่มีรองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นประธาน
ซึ่งมันก็น่าสนใจไม่น้อยแหละ เนื่องจากตัวร่างเวอร์ชั่นก่อนนี้ก็ถูกสังคมตั้งข้อสังเกตอยู่หลายประเด็นเหมือนกัน
มีอะไรอยู่ในร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต (ฉบับเก่า) ?
“พ.ร.บ.คู่ชีวิตมันจะเปลี่ยรูปการใช้ชีวิตของคนในสังคม เมื่อก่อนเราเชื่อกันว่า ครอบครัวจะต้องประกอบด้วยพ่อแม่ลูก แต่สังคมครอบครัวของ LGBTQ มันอาจจะไม่ใช่แบบนั้น พอมีกฎหมายนี้จะช่วยทำให้สังคมเข้าใจถึงวิถีชีวิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน การมีครอบครัวไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้หญิงกับผู้ชาย แต่ระหว่างชายกับชาย หรือหญิงกับหญิง ก็สามารถเป็นครอบครัวได้”
ประโยคข้างบนคือคำตอบจาก พงศ์ธร จันทร์เลื่อน จากมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ เคยเล่าให้กับ The MATTER ฟังถึงความสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งถ้าดูจากเนื้อหาภาพรวมหลักๆ ในตัวร่างเวอร์ชั่นเก่า ที่ได้รับการเผยแพร่เมื่อปี 2560 ก็จะมีเนื้อหาที่น่าสนใจ เช่น
1) ให้สิทธิจัดการทรัพย์สินร่วมกัน เช่นการกู้เงินซื้อบ้าน หรือการยกผลประโยชน์จากประกันชีวิตให้อีกฝ่าย
2) ให้สิทธิการลงชื่อยินยอมให้อีกฝ่ายเพื่อรับการรักษาพยาบาล หรือ ผ่าตัด จากเดิมไม่อนุญาตให้คู่ชีวิตลงชื่อแทนได้ เพราะต้องเป็นญาติ หรือจำกัดเฉพาะคู่สมรสชายหญิงเท่านั้น
3) ให้สิทธิรับมรดกที่คู่ชีวิตร่วมสร้างกันมา ในกรณีที่อีกฝ่ายเสียชีวิตกระทันหันและพินัยกรรมไม่ได้ระบุเอาไว้ ของเดิมคือให้ตกเป็นของญาติทั้งหมด
4) ให้สิทธิได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้จากการมีคู่สมรส
ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต กับความคาดหวังเรื่องสิทธิเลี้ยงดูลูก
หนึ่งในประเด็นใหญ่ที่ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตเวอร์ชั่นเก่าถูกตั้งข้อสังเกต คือการขาดหายไปของสิทธิในการรับเลี้ยงดู ‘ลูกบุญธรรม’ ของคู่ชีวิต เนื่องจากถ้าเราจินตนาการถึงคำว่า ‘ครอบครัว’ การมีลูกก็ส่วนประกอบหนึ่งที่สำคัญด้วยเหมือนกัน ทว่า ร่างกฎหมายในเวอร์ชั่นที่แล้วกลับไม่ได้พูดถึงในส่วนนี้
ในเอกสารของ ‘โครงการศึกษาวิจัยร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต’ ที่นำเสนอต่อคณะอนุกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต ได้สะท้อนถึงการขาดหายไปของเรื่องรับเลี้ยงลูกบุญธรรมเอาไว้ว่า อุปสรรคสำคัญน่าจะอยู่ที่มุมมองของภาครัฐไทย ที่อาจจะยังไม่พร้อมต่อภาพครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ
“จริงอยู่ที่คู่ชีวิตได้รับความคุ้มครองจากการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จึงสมควรที่จะมีอำนาจปกครองบุตรได้ แต่ทว่าข้อโต้แย้งดังกล่าวนี้อาจถูกคัดค้านได้จากรัฐไทย ด้วยการกล่าวอ้างหลักความสงบเรียบร้อยของสังคมและแนวนโยบายของรัฐ (public order and public policy)”
แต่ถึงอย่างนั้น ในเอกสารของโครงการวิจัย ยังระบุต่อว่า ถ้าไม่มีการกำหนดเรื่องนี้เข้าไปก็อาจเกิดปัญหาขึ้นมาในภายหลังต่อสิทธิของเด็กในภายหลังได้
“…หากพระราชบัญญัติคู่ชีวิตไม่รองรับความสัมพันธ์ระหว่างคู่ชีวิตและบุตรแล้ว จะก่อให้เกิดปัญหาสำคัญก็คือ เด็กซึ่งเป็นบุตรของคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะตกอยู่ในสถานะของเด็กที่ถูกเลือกปฏิบัติ เพราะจะได้รับการคุ้มครองสิทธิที่ต่ำกว่าเด็กซึ่งเป็นบุตรของชายหญิง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตลอดจนกฎหมายฉบับอื่นที่กำหนดหน้าที่ให้คู่สมรสจะต้องกระทำต่อเด็ก”
ชุมาพร แต่งเกลี้ยง จากกลุ่มโรงน้ำชาที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิของความหลากหลายทางเพศ อธิบายถึงปัญหาการไม่บัญญัติเรื่องการเลี้ยงดูลูกบุญธรรมในกฎหมายไว้อย่างค่อนข้างน่าสนใจว่า
“ที่บอกว่าใครก็ได้สามารถมีลูกได้นั้น การที่ออกมาบอกว่าคนกลุ่มนี้ห้ามมีลูก เพราะการที่เค้าเป็นเกย์ กระเทย ทอม ดี้ เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน แต่พอกฎหมายออกมาก็เลือกปฏิบัติอีก สังคมไทยมีบทเรียนการเลือกปฏิบัติและความไม่เท่าเทียมมามากพอแล้ว” ชุมาพร บอกกับ BBC Thai
ทางออกที่หลายคนถูกเสนอกันอยู่ คือการไม่ต้องเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่ หากแต่ไปปรับปรุงในเนื้อหาของ ‘กฎหมายสมรส’ ในกรอบใหญ่ไปเลยน่าจะดีกว่า เพราะจะช่วยให้คนทุกเพศถูกนับอย่างเท่าเทียมกันจริงๆ
ไม่เพียงแค่นั้น หลายปีที่ผ่านมา ยังมีคำถามจากภาคประชาสังคมถึงความ ‘ไม่กล้า’ ของภาครัฐที่จะเข้าไปปรับแก้ไขข้อความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในมาตรา 1448 ที่กำหนดไว้ว่า การสมรสจะทำได้แค่ในกรณี ‘ชายและหญิง อายุ 18 ปีบริบูรณ์’ ซึ่งถูกมองว่าเป็นหัวใจสำคัญของกรอบคิดเรื่องครอบครัวแบบชาย-หญิง
พ.ร.บ.คู่ชีวิตในยุครัฐบาล คสช.?
ถึงแม้ว่า ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต จะไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทยมากนัก เพราะถูกเริ่มผลักดันกันมาแล้วหลายรัฐบาล ถ้านับกันอย่างจริงจังคือในช่วงปี 2556 แต่อุปสรรคสำคัญคือความไม่มั่นคงทางการเมือง ทำให้ตัวร่างกฎหมายเองก็ถูกพัดพาไปกับสายลมของความเปลี่ยนแปลงรัฐบาล
เมื่อกระบวนการจัดทำกฎหมายเดินมาต่อถึงยุคสมัยของรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร แถมยังมีข้อสังเกตเรื่องการใช้อำนาจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่หลายครั้ง ทำให้เกิดดีเบตกันว่า ตกลงแล้ว สังคมเราควรมีกฎหมายที่ให้สิทธิกับกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ในยุคสมัยของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและมีข้อพิพาทเรื่องสิทธิกับภาคประชาชนอยู่รึเปล่า
คู่ขนานไปกับสถานการณ์เรื่องสิทธิในสังคม ยังมีคำถามที่กระแทกเข้าไปกระบวนการจัดทำกฎหมายแบบแรงๆ ว่า จริงๆ แล้วสภา (สนช.) ที่ไม่ได้มาจากตัวแทนของประชาชนผ่านการเลือกตั้งนั้น มีความชอบธรรมที่จะออกกฎหมายว่าด้วยเรื่องสิทธิของประชาชนแค่ไหนกันนะ
ในบทความบนประชาไทเรื่อง ‘ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับกรมคุ้มครองสิทธิ์ เมื่อรักเรา (ศักดิ์ศรี) ไม่เท่ากัน’ ได้สะท้อนประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความชอบธรรมของการออกกฎหมาย ด้วยกระบวนการที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ร่างกฎหมายอาจผ่านชั้นรัฐบาลไปได้ ก็ยังมีกำแพงใหญ่ที่ตั้งอยู่นั่นคือมุมมองของสมาชิก สนช.
“ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศที่ออกมาในยุค สนช. แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีร่างของภาคประชาชนที่นำความเห็นของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียมาบรรจุในตัวกฎหมาย แต่พอผ่านขั้นตอน สนช. หรือกฤษฎีกา กลับมีการต่อเติม ตัดแต่ง กระทั่งกลายเป็นกฎหมายที่พิการ ไม่การันตีความเท่าเทียมกันได้เลย เพราะเขาไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนที่อยู่กับความทุกข์ร้อนของปัญหาเข้าไปมีส่วนร่วม นี่คือการตัดตอนกระบวนการประชาธิปไตย” ชุมาพร ระบุ
ด้าน สุภาณี พงษ์เรืองพนธ์ เจ้าหน้าที่ด้านธรรมภิบาล สิทธิมนุษยชนความหลากหลายทางเพศสำนักโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNODP) เคยสะท้อนความเป็นห่วงทำนองนี้ ในที่ประชุมของคณะอนุกรรมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตว่า คนที่จะมีอำนาจตัดสินใจฟันธงให้ผ่านหรือไม่ให้ผ่านตัวกฎหมายทั้งในชั้นกฤษฎีกา รวมไปถึงตัวสมาชิก สนช. เองนั้น ก็อาจมีแนวคิดที่ไม่เห็นด้วย และยังไม่ยอมรับกับการให้สิทธิการแต่งงานกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ
เช่นเดียวกับ นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผอ.กองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ในฐานะเจ้าภาพที่จัดทำร่างกฎหมายนี้ก็ยอมรับว่า ความยากอยู่ที่การออกไปเดินสายทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้นำทางศาสนาที่ยังคงยึดติดกรอบคิดว่า ความรักเป็นแค่เรื่องของเพศชายและหญิง และกฎหมายฉบับนี้อาจทำลายสถาบันครอบครัวในอุดมคติ
เส้นทางของร่างกฎหมายคู่ชีวิต จึงยังต้องผ่านบทพิสูจน์อีกหลายอย่าง ไม่ใช่แค่การทำความเข้าใจจากสังคม หากแต่คำถามถึง ‘ความชอบธรรม’ ในกระบวนการออกกฎหมาย และเนื้อหาที่นอกเหนือไปจากเรื่องการแต่งงาน ก็ยังเป็นประเด็นใหญ่ที่น่าติดตามต่อไปด้วยเหมือนกัน
อ้างอิงจาก