บ้านเมืองมีขื่อมีแป มีกฎหมาย มีระเบียบ มีกฎเกณฑ์ ไอ้เรานี่มันก็รู้แหละว่าสนามที่เขาทำไว้สวยๆ ติดป้ายว่าห้ามลัด แต่ในวันอันน่าเบื่อที่เราเดินผ่านไปผ่านมาตามทางที่เขากั้นไว้ให้ บางวันเราก็รู้สึกว่า อยากจะข้ามรั้วแล้วไปเดินลัดให้มันหนำใจไปเลย
ความอยากละเมิดกฎ หรือทำความผิดเล็กๆ น้อยๆ อย่างการไม่แยกขยะ การโกงข้อสอบ หรือบางครั้งก็อยากจะหัวเราะขึ้นมาในขณะที่บรรยากาศกำลังตึงเครียด ไปจนถึงบางเรื่องซึ่งอาจจะเข้าข่ายความผิดสถานเบาอย่างการลักเล็กขโมยน้อยหรือการขีดเขียนในที่สาธารณะ มันเป็นเรื่องที่เรารู้อยู่ในใจแหละว่าไม่ควรทำ แต่ในใจลึกๆ ก็คันยุบยิบที่อยากจะลงมือทำเหลือเกิน
ส่วนหนึ่ง…ยอมรับเถอะว่า มันเป็นเพราะชีวิตประจำวันที่จำเจของเรา รวมถึงการที่เราต้องอยู่ในกรอบ ในกฎระเบียบด้วย พอเราอยู่ในการควบคุมของกฎและต้องควบคุมตัวเองให้อยู่ในระเบียบต่างๆ นานเข้า มันก็ไม่แปลกที่เราจะรู้สึกอยากที่จะเอาเท้าของเราล้ำเส้นที่มาจำกัดควบคุมเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
สังคมกับการถูกห้าม
ทฤษฎีจิตวิทยาเบื้องต้นมักบอกว่า ‘การห้าม’ หรือการเรียนรู้กฎระเบียบต่างๆ เป็นส่วนสำคัญของการเติบโตและการเข้าสู่สังคมของคนเรา พูดง่ายๆ คือโดยธรรมชาติของเราก็มีความอยากที่จะทำนู่นทำนี่ตามอำเภอใจ เช่น ตอนทารกเราอยากจะเล่นน้ำลาย ไม่ใส่เสื้อผ้า พอโตขึ้นเราก็จะค่อยๆ ถูกห้ามว่า ทำแบบนี้ไม่ได้นะ ทำแล้วสังคมจะไม่ยอมรับนะ ซึ่งยิ่งเวลาผ่านไปข้อห้ามทั้งหลายมันก็ยิ่งซับซ้อนขึ้น
การตัดสินใจที่จะทำหรือไม่ทำอะไรเลยเหมือนถูกครุ่นคิดพิจารณาขึ้นจากหลายๆ ปัจจัยประกอบกัน เช่น มันผิดศีลธรรมมั้ย ผิดกฎหมายมั้ย ทำแล้วเราหรือใครจะเดือดร้อนรึเปล่า ดังนั้นมันเลยคล้ายๆ กับว่า จริงๆ เราก็อยากทำแหละ แต่มันมีอะไรบางอย่างที่มาคัดกรองว่าเราควรหรือไม่ควรทำเรื่องนี้
ภาพในจินตนาการของมโนสำนึกของเรา เช่นในการ์ตูนต่างๆ เลยมักวาดภาพจิตสำนึกของเราเป็นเสมือนการต่อสู้กันระหว่างจิตใจฝ่ายดีกับฝ่ายชั่วร้าย เป็นการต่อสู้กันของเสียงแห่งแสงสว่างและเสียงแห่งความมืดมิด เป็นเทวดาและปีศาจที่ถกเถียงกันว่า เราจะทำเรื่องชั่วร้ายพวกนี้ดีไหมนะ
ความสุขของการแหกกฎ
‘กฎมีไว้แหก’ ไม่ได้เป็นแค่คำพูดคูลๆ สำหรับวัยรุ่นในยุคนึงเท่านั้น นักสังคมวิทยามีแนวคิดหนึ่งเรียกว่าการละเมิดหรือ ‘transgression’ อธิบายอย่างง่ายที่สุดคือ นักทฤษฎีมองเห็นว่าการอยู่ในสังคมมันคือการที่เราอยู่ในชุดของกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่สังคมตั้งไว้ให้ แต่มนุษย์เราเองก็ไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียบง่ายชนิดที่ว่า โอเค มีกฎ ก็ทำตามไปเรื่อยๆ เพราะมนุษย์เรานั้นพยศ และหาทางที่จะละเมิดกฏเกณฑ์ที่มาควบคุมเราอยู่ตลอด
หรือมากไปกว่านั้น กฎเกณฑ์ทั้งหลายที่มนุษย์ตราขึ้น
จริงๆ มันก็ไม่ได้ครอบคลุมกับทุกคนในสังคม
ภาวะบังคับทั้งหลายในที่สุดก็ย่อมถูกท้าทายและละเมิดไปในที่สุด
คำอธิบายที่ง่ายที่สุดว่าทำไมมนุษย์เราถึงละเมิดกฎ บางครั้งก็อธิบายได้ด้วยแค่คำว่ามัน ‘สนุก’ ทำไปเพื่อความสนุก และปลดปล่อยตัวเองจากความเคร่งครัดที่ต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน
ปัจจัยของการลงมือกระทำผิด
ในเมื่อลึกๆ แล้ว เราอาจจะทำอะไรบ้าๆ ที่มันผิดกฎผิดระเบียบบ้าง แล้วอะไรเป็นสิ่งที่อยู่ระหว่างแค่การคิดกับการลงมือกระทำผิดเลย
จริงๆ แล้ว มนุษย์เรามีปัจจัยที่ซับซ้อนในกระบวนการตัดสินใจว่าเราจะลงมือทำหรือไม่ทำอะไร มากไปกว่าแค่จะคิดว่า โอเคเราจะทำสิ่งนี้เพราะมีกฎบอกว่าให้ทำหรือไม่ให้ทำ ตัวอย่างเช่น การที่เราจะเดินลัดสนามหรือไม่ เราอาจจะมองว่าไม่เห็นเป็นไรเลยแค่ไม่ได้เดินตามทางที่ถูกวางไว้ให้ หรือเราอาจจะไม่เดินลัดเพราะเรารู้สึกว่าอาจจะทำให้หญ้าที่ปูไว้เสียหาย หรืออาจจะทำให้ทรัพย์สินเสียหายด้วย หรืออาจจะแค่รู้สึกว่าทำไปแล้วจะมีคนเห็นหรือไม่
นักวิจัยทางจิตวิทยาและเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจากมหาวิทยาลัยดุ้ก (Duke University) ชื่อ แดน แอเรียลรี่ (Dan Ariely) ก็สงสัยเหมือนกันว่าอะไรนะที่เป็นปัจจัยให้เราทำผิด เช่น เราจะโกงในการสอบมั้ย ผลที่พบคือ ปัจจัยของการที่นักศึกษาจะโกงการสอบไม่ได้ขึ้นอยู่กับการจะถูกจับได้หรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับว่ารอบๆ ตัวนั้น เห็นว่ามีการโกงเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน
พูดง่ายๆ คือ ถ้าเราอยู่ในโลกที่เกิดการโกงหรือการทำผิดจนเป็นเรื่องปกติ ในสังคมนั้นก็มีแนวโน้มที่จะคดโกงเกิดขึ้นในทุกระดับ ทุกสเกลนั่นเอง จากผลการศึกษาก็อาจจะอนุมานได้ว่า ถ้าเราเห็นการโกงเล็กๆ น้อยๆ เป็นเรื่องปกติ ในสังคมนั้นก็จะมีโอกาสเกิดการโกงในสเกลที่ใหญ่โตขึ้นได้ง่ายๆ เช่นกัน
จริงอยู่ว่ามนุษย์เราโดยธรรมชาติไม่ได้ถูกกำกับโดยกฎและระเบียบใดๆ จนกระทั่งเราต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น แต่ในด้านหนึ่งกฎเกณฑ์ก็ไม่ได้แปลว่าเป็นสัจจะ มนุษย์เราอาจจะท้าทายและตั้งคำถาม ไปจนถึงมีความสุขกับการแอบแหย่นิ้วเท้าแหกกฎต่างๆ เพื่อตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่บ้าง สุดท้าย ความกวนประสาทหรืออยากจะท้าทายกฎก็อาจจะนำไปสู่ความเข้าใจ ว่าจริงๆ แล้วกฎนั้นมีไว้เพื่ออะไรและเราจะทำตามกฎหรือไม่ทำผิดไปเพื่ออะไร เราเข้าแถวเพื่อไม่เบียดบังคนอื่น และการเคารพคนอื่นอาจนำไปสู่สังคมที่ไม่เบียดเบียงคดโกงกันในระดับที่ใหญ่โตขึ้น
มันคือความเข้าใจที่ไม่ใช่แค่ ‘เพราะมันมีกฏเขียนไว้’ ไง