‘Jazz speaks for life. The Blues tell the story of life’s difficulties…they take the hardest realities of life and put them into music, only to come out with some new hope or sense of triumph.’
-Opening Address to the 1964 Berlin Jazz Festival, Martin Luther King Jr.
มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr.) หนึ่งในไอคอนของการเรียกร้องสิทธิเจ้าของวลี I have a dream นอกจากความสนใจเรื่องการเมืองแล้ว ตัวคิงเองรวมถึงกระแสความเคลื่อนไหวของคนผิวดำในสหรัฐสัมพันธ์กับดนตรี โดยเฉพาะดนตรีแจ้สและบลูที่ตัวดนตรีเองมีความเป็นการเมือง และส่งผลกับการต่อสู้เคลื่อนไหวโดยตรง นักร้องและนักดนตรีผิวดำจำนวนมากอยู่ร่วมอยู่ในขบวนการและใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการแสดงความคิด
ข้อความข้างต้นเป็นจดหมาย เป็นปาฐกถาเปิดงานเทศกาลแจ๊สที่เบอร์ลินในปี ค.ศ.1964 ของคิง (ตัวคิงไม่ได้เดินทางไปร่วม แต่ส่งข้อเขียนไป) งานเทศกาลแจ๊สในครั้งถือเป็นงานนานาชาติที่ทำให้ดนตรีแจ๊สกลายเป็นแนวดนตรีอย่างจริงจัง คิงกล่าวถึงดนตรีแจ๊สในฐานะดนตรีที่แม้จะขับขานความยากลำบาก เป็นการสานต่อวัฒนธรรมดั้งเดิมในพื้นที่เมือง แต่ในที่สุดดนตรีแจ๊สคือการนำเอาความข้นแค้นเหล่านั้นแปลงให้กลายเป็นพลังและความหวัง คิงเชื่อว่าดนตรีแจ๊สคือท่วงทำนองแห่งชัยชนะ
จึงพูดได้ว่าคิงเป็นคนที่รักดนตรีแจ๊สคนหนึ่ง และแน่นอนว่าดนตรีแจ๊สเป็นพันธมิตรสำคัญ และเป็นท่วงทำนองที่ร่วมนำชัยชนะมาให้การต่อสู้ของคนผิวดำ ตลอดชีวิตของคิงจึงมีเพลงแจ๊สเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ และในทางกลับกันดนตรีแจ๊สก็รักมาติน ลูเธอ คิงเป็นอย่างยิ่ง
นักร้องและนักดนตรีจำนวนมากขึ้นเวทีร่วมแสดงในการเดินขบวน หนึ่งในนักร้องคนสำคัญคือ มาฮาเรีย แจ็คสัน (Mahalia Jackson) นักร้องก็อซเปลระดับตำนานที่เธอนั้นทำการแสดงสำคัญก่อนที่คิงจะกล่าวสปีชแห่งตำนาน
การแสดงของมาฮาเรียนั้นก็เป็นบอกเล่าการต่อสู้และตำนานต่อหน้าคนนับแสนไม่แพ้กัน และเธอนี่แหละขับร้องเพลง Precious Lord, Take my Hand เพลงสุดท้ายที่คิงอยากฟังก่อนจะถูกลอบสังหาร บทเพลงมีเพียงเธอเท่านั้นที่สามารถยืนหยัดขึ้นร้องเพลงสุดท้ายนี้ให้กับราชันอันเป็นที่รักยิ่งของทุกคนได้
ในโอกาสวันเกิดมาติน ลูเธอร์ คิง The MATTER จึงรวบรวมและชวนฟัง 10 เพลงที่สัมพันธ์กับตัวคิงในหลายมิติ เป็นบทเพลงที่งดงามในตัว และยังเปี่ยมไปด้วยความหมาย ความหวัง และความระลึกถึงการต่อสู้และบุคคลอันยิ่งใหญ่ ที่หมายรวมถึงการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคอื่นๆ จากเพลงแจ๊สที่เคียงข้างการต่อสู้ของคนผิวดำ ถึงบทเพลงที่ขับขานถึงการจากไปของราชาที่พวกเขารัก ไปจนถึงเพลงชั้นหลังที่ศิลปินร็อคจากราชาเพลงร็อคถึง Queen ที่ต่างได้รับแรงบันดาลใจและใช้บทเพลงเพื่อส่งเสียงกับไปสู่นักต่อสู้ระดับตำนานที่ไม่เคยจากไปไหน บทเพลงที่ล้วนมาจากศิลปินระดับตำนาน
Now’s The Time, Charlie Parker
แน่นอนว่าคิงเป็นแฟนเพลงแจ๊ส และเพลงแจ๊สนั้นก็ส่งผลกับคิงอย่างลึกซึ้ง กระทั่งว่าในสุนทรพจน์ระดับตำนาน I have a dream ในปี ค.ศ.1963 นั้นก็มีบางถ้อยคำที่คิงอ้างถึงผลงานเพลงแจ๊สระดับคลาสสิก ในครั้งหนึ่งสาธุคุณ แซมสัน อเล็กซานเดอร์ (Sampson Alexander) เพื่อนของคิงรำลึกความหลังว่า คิงเคยคุยกันว่าใครคือสุดยอดนักทรัมเป็ตแจ๊สระหว่างไมลด์ เดวิด (Miles Davis) และคริฟฟอร์ด บราวน์ (Clifford Brown) คิงบอกว่าคิดว่าเป็นไมลด์ เดวิดมากกว่าสำหรับทรัมเป็ต แต่สำหรับคิงแล้วนักดนตรีแจ๊สที่ยอดเยี่ยมที่สุดคือชาลี ปาร์กเกอร์(Charlie Parker)
ซึ่งสาธุคุณเองได้กล่าวอ้างอิงเพิ่มเติมว่า ในช่วงหนึ่งของสุนทรพจน์ I have a dream นั้น ช่วงที่คิงเล่นกับคำว่า ขณะนี้คือห้วงเวลานั้นแล้ว หรือ now is the time ที่คิงย้ำว่าตอนนี้คือห้วงเวลาที่เหมาะสมแล้วที่จำกำจัดเรื่องไม่ถูกต้องทั้งหมดออกไปและมอบคำมั่นสัญญาใหม่ให้กับพี่น้อง ท่านสาธุคุณกล่าวว่าวลีดังกล่าวคิงได้มาและอ้างถึงจากชื่อเพลง Now’s The Time เพลงระดับขึ้นหิ้งของปาร์กเกอร์ที่เผยแพร่ในปี ค.ศ.1954
How I Got Over, Mahalia Jackson
การรวมตัวประท้วงในปี ค.ศ.1963 ณ อนุสรณ์สถานลินคอน ที่ที่คิงกล่าวสุนทรพจน์ระดับตำนานนั้นมีหลายองค์ประกอบ และหนึ่งในนั้นคือเหล่าศิลปินที่ขึ้นเวลาและใช้เสียงเพลงเพื่อปลุกใจ ดึงความสนใจ และดึงความสนใจของผู้คน นึกภาพบรรยากาศของผู้ประท้วงกว่าสองแสนคน มาฮาเรีย แจ็คสัน นักร้องก็อซเปลระดับตำนานได้ขึ้นทำการแสดงก่อนที่คิงจะกล่าวสุนทรพจน์
เพลงก็อซเปลที่เป็นเหมือนพี่น้องของแจ๊สและเป็นเพลงที่คนผิวดำใช้ร้องและเสริมสร้างพลังแก่กันทั้งจากการปรบมือและสวดภาวนาสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าในโบสถ์ ก่อนสปีชสำคัญของคิงนั้น มาฮาเรียก็ได้แสดงเพลง How I Got Over เพลงก็อซเปลคลาสสิกและผนึกความสนใจของผู้คนโดยรอบไว้ได้
เพลง How I Got Over แม้จะเป็นเพลงที่ร้องในโบสถ์ แต่ด้วยนัยทางการเมืองและการใช้บทเพลงในการต่อสู้ของคนผิวสี ตัวเนื้อเพลงแต่เดิมนั้นแต่งขึ้นเพื่อสรรเสริญและกล่าวขอบคุณต่อพระผู้เป็นเจ้า แต่ในบรรยากาศของการถูกกดขี่และการต่อสู้ มาฮาเรียรวมถึงนักร้องกลับใส่นัยใหม่ลงในการร้องเพลงนี้คือเน้นการก้าวผ่าน–get over การกดขี่ทางสีผิวที่มีมานานนับพันปี
ซึ่งโดยทั่วไปทั้งมาฮาเรียและนักร้องก็อซเปลคนอื่นๆ จะใช้วิธีตะโกนในขณะที่ร้องเพลงนี้ในโบสถ์เพื่อสื่อสารนัยที่แข็งกร้าวขึ้น สำหรับการแสดงเพลงนี้นี้ในการรวมตัวประท้วง มาฮาเรียได้ขับขานเนื้อร้องว่า ‘You know my soul looks back in wonder, how I got over,’
เธอสรรเสริญสรวงสวรรค์และผู้คนเรือนแสนถึงการเดินทางของการต่อสู้อันยาวไกล และเธอเองก็ตระหนักว่าการดิ้นรนนั้นยังต้องดำเนินอีกแสนไกล เธอร้องด้วยท่วงทำนองอันสง่างาม บางช่วงกระแทกกระทั้น ท่ามกลางเสียงปรบมือตามจังหวะของผู้ร่วมประท้วงที่ล้วนเคยรับฟังเพลงเดียวกันขณะรวมตัวกันในโบสถ์
ชมการแสดงสำคัญและบรรยากาศการประท้วงในตำนานได้ที่นี่
The Selma March, Grant Green
หลังจากสปีชสำคัญที่ลินคอนเมมโมเรียลในปี ค.ศ.1963 การเดินขบวนจากอัลลาบามาสู่เมืองมอนโกเมรี่ในปี ค.ศ.1965 ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการประท้วง และการแสดงพลังอย่างสันติของคนผิวดำ ซึ่งการการขบวนในครั้งนั้นก็ได้คิงมาร่วมนำขบวน ในการเดินอย่างสันตินั้นในที่สุดนำมาซึ่งเหตุการนองเลือดจากรัฐและคนผิวขาวเมื่อการเดินขบวนถึงที่หมายทำให้ประชาชนมองเห็นความรุนแรงและความเลวร้ายที่รัฐและความเกลียดชังที่มีต่อกลุ่มคนผิวดำที่รวมตัวกันอย่างสันติเป็นครั้งแรก
การเดินประท้วงในครั้งนั้นถือเป็นการรวมตัวครั้งประวัติศาสตร์และสร้างแรงกระเพื่อมเรื่องการกดขี่ทางสีผิว ในปีเดียวกันนั้น แกรนต์ กรีน (Grant Green) นักดนตรีแจ้สคนสำคัญก็ได้ออกอัลบั้มชื่อ His Majesty King Funk ในนั้นก็มีเพลงชื่อ The Selma March เป็นเพลงแนวแจ๊ส ฟั้งก์ที่มีจังหวะสนุกสนาน เต็มไปด้วยสีสันสะท้อนกับความรู้สึกรื่นเริงและเต้นกับการเดินขบวนครั้งยิ่งใหญ่ที่ลุล่วงและนำไปสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องอย่างเป็นรูปธรรม
Precious Lord, Take my Hand, Mahalia Jackson
Precious Lord, Take my Hand เป็นเพลงโปรดของคิงเอง คิงมักจะเชิญให้มาฮาเรีย แจ็คสันร้องต่อหน้าผู้คนในการรวมตัวเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจอยู่บ่อยครั้ง และเพลงนี้ที่แสดงโดยมาฮาเรียนั้นก็ถือเป็นบทเพลงส่งท้ายที่มาฮาเรียได้ร้องแด่คิงในฐานเพื่อนที่รักยิ่งเป็นครั้งสุดท้าย คือในงานศพของคิงหลังถูกลอบสังหารในปี ค.ศ.1968
เพลง Precious Lord, Take my Hand เป็นเหมือนคำขอสุดท้ายของคิง คือคิงเองค่อนข้างมีชีวิตและมีบทบาทในเวลาอันสั้น คิงถูกลอบสังหารที่ระเบียงในโรงแรมในเมืองเทนเนสซี่ เป็นการลอบสังหารที่เหนือความคาดหมายและยังความเสียใจไปทั่วประเทศ คำขอสุดท้ายของคิงคือการขอให้มาฮาเรียแสดงเพลงเดิมในงานที่คิงเตรียมตัวไปในคืนนั้น
ในงานศพจึงถือว่าคำขอนี้ควรได้รับตอบสนองเป็นเหมือนคำขอสุดท้าย ในงานศพนั้น โรเบิร์ต แบรดลี่ย์ (Dr J. Robert Bradley) นักร้องก็อซเปลคนโปรดของคิงถูกขอให้ร้องเพลงนี้เพื่ออำลาคิง แต่เขาไม่สามารถร้องได้ ในคืนนั้นมาฮาเรียราชีนีก็อซเปลจับรับหน้าที่ส่งคิงกลับสู่พระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าด้วยน้ำเสียงและความรู้สึก ที่แม้แต่มาฮาเรียเองก็แทบจะไม่สามารถผ่านการแสดงดังกล่าวไปได้
บันทึกการแสดงในงานศพของคิงบางส่วนของมาฮาเรีย ดูได้ที่นี่
Why (The King Of Love Is Dead), Nina Simone
นอกจากมาฮาเรียแล้ว นีน่า ซิโมน (Nina Simone) เป็นอีกหนึ่งนักร้องหญิงที่ใช้บทเพลงและร่วมอยู่กับขบวนการต่อสู้อย่างเข้มข้น ทั้งยังเป็นเหมือนแม่มดและราชีนีแห่งเพลงแจ๊สที่น้ำเสียงของเธอนั้นลุ่มลึก สั่นไหวและสะกดหัวใจของผู้ฟังได้อย่างแปลกประหลาด และในการจากไปอย่างน่าตกใจของคิงนั้น นิน่า ซิโมนเป็นอีกหนึ่งคนที่เป็นทั้งเพื่อน เป็นผู้ร่วมอุดมการณ์ที่เธอเองแทบจะรับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้
สามวันหลังจากการลอบสังหารนิน่า ซิโมนพร้อมด้วยวงของเธอขึ้นแสดงที่ Westbury Music Festival ในคืนนั้นเธอแสดงเพลงชื่อ ‘Why? (The King of Love is Dead)’ เพลงที่ Gene Taylor มือเบสของวงแต่งขึ้นหลังจากทราบข่าว ทั้งวงและนิน่าเองมีเวลาเพียงสามวันเพื่อซ้อม
ในคืนนั้นการแสดงของนิน่าดังขึ้นท่ามกลางความเงียบ เธอค่อยๆ ร้องบทเพลงดังกล่าวอย่างแช่มช้า การแสดงกินเวลาไปเกือบ 15 นาที เป็นการแสดงคลอกับกับการเว้นช่วงและการพูดของนิน่าเอง เป็นห้วงเวลาที่เราซึมซับได้ถึงความสูญเสีย ความรู้สึก และการรำลึกถึงที่ทั้งสวยงามและร้าวราน หลังจากนั้นเพลง Why? (The King of Love is Dead) ก็กลายเป็นเพลงสำคัญอีกเพลงของเธอ มักได้รับการรวบรวมอยู่ในอัลบั้มรวมเพลงเสมอมา
ฟังการแสดงสดครั้งแรกในปี ค.ศ.1968 ยาว 12 นาทีได้ที่นี่
I Have a Dream, Herbie Hancock
สุนทรพจน์ I have a dream ในที่สุดกลายเป็นวลีระดับตำนานและกลายเป็นแรงบันดาลใจทั้งกับผู้คนและแน่นอนกับศิลปินทั้งที่ร่วมสมัย และในยุคหลังก็ยังมีการสร้างงานที่อ้างอิงความฝันอันอุดมของคิงอยู่ เฮอร์บี แฮนค็อก (Herbie Hancock) เป็นอีกหนึ่งนักดนตรีแจ้สที่มีความก้าวหน้าทั้งในแนวคิดการสร้างงาน และการทดลองผสมผสานดนตรีแจ้สเข้ากับเทคนิกใหม่ๆ เช่นการฟิวชั่นแจ๊สเข้ากับแนวเพลงอื่นๆ ไปจนถึงการใช้ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาร่วม
ด้านแนวคิดแฮนค็อกต้องการใช้เพลงเป็นเครื่องมือเหมือนกับบทเพลงนั้นเป็นข้อความทางสำคัญที่จะส่งข้อความต่อสังคม ในอัลบั้ม The Prisoner ในปี ค.ศ.1969 หนึ่งปีหลังคิงถูกลอบสังหาร อัลบั้มคนคุกนี้เป็นงานแจ๊สที่ต้องการสื่อถึงวิธีการที่พันธนาการเหล่าคนดำเอาไว้ หนึ่งในเพลงก็คือ I Have a Dream ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสุนทรพจน์สำคัญ
นอกจากนี้เพลง He Who Lives in Fear ก็อ้างอิงคิงที่อยู่ในห้วงเวลาแห่งความน่าหวาดกลัว บางเพลงว่าด้วยเช่น Firewater ที่พูดถึงขั้วทั้งสองคือผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่ ความรุนแรงและความสงบเย็นของน้ำ อาจด้วยบรรยากาศของความเศร้าและความสิ้นหวังทำให้อัลบั้มนี้เต็มไปด้วยความหม่นเศร้า (แต่ตัวเพลงก็ยังหวือหวาและเปี่ยมสีสันตามสไตล์แจ๊สอยู่) แม้แต่เพลง Promise of the Sun ยังมีนัยว่าแม้ว่าดวงอาทิตย์จะสาดแสงและมองเสรีภาพแก่สิ่งมีชีวิต แต่คนผิวดำก็ยังคงติดอยู่กับตรวน
Abraham, Martin And John, Marvin Gaye
‘but it seems the good, they die young’ เหมือนกับว่าเพื่อนเก่าของเรา เหล่าคนดีๆ ล้วนตายตั้งแต่ก่อนเวลาอันควร Abraham, Martin And John เป็นเพลงของ มาร์วิน เกย์ (Marvin Gaye) แต่งโดย ดิค คอร์เวตต์ (Dick Holler) เผยแพร่ในปี ค.ศ.1968 เป็นเพลงที่รำลึกถึงชาวอเมริกันสี่คนที่ถูกลอบสังหารคืออับราฮัม ลินคอน, มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์, จอห์น เอฟ เคเนอดี้ และโรบิร์ต เอฟ เคนเนอดี้
ในปีที่คิงถูกลอบสังหารถือว่าปีนั้นมีบุคคลที่เป็นรักถูกลอบสังหารต่อเนื่องกันคือคิงและโรเบิร์ต เคเนอดี้ที่ถูกสังหารในเดือนเมษายนและมิถุนายน ตามลำดับ เนื้อเพลงเป็นการรำลึกและเล่าเรื่องราวอย่างคร่าวๆ ถึงคนที่พยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงแต่ลงเอยด้วยความตาย ท่อนที่ร้าวรานที่สุดคือช่วงที่กล่าวว่าคนเหล่านี้ เพื่อนของพวกเราที่จากไปนั้นกลับจากไปในวัยที่อ่อนเยาว์ และสำหรับคิงถือเป็นคนผิวดำคนแรกๆ ที่ได้รับการสดุดีร่วมกับผู้นำสำคัญระดับประเทศ ประธานาธิบดีผิวขาว
If I Can Dream, Elvis Presley
คิงได้รับสมญาว่าเป็น King of love เป็นราชาอันเป็นที่รักของพี่น้องและชาวอเมริกัน และความตายของคิงสั่นสะเทือนไปยังแทบทุกภาคส่วน จากราชาอันเป็นที่รัก เอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley) ราชาเพลงร็อคก็ร่วมสดุดีให้กับความตายนั้นด้วย If I Can Dream แต่งโดย Walter Earl Brown แน่นอนเป็นการเล่นซ้ำและหวนไห้กับถ้อยคำของคิง
เพลงนี้หลังจากแต่งแล้วเอลวิสได้ทำการเข้าห้องอัดในเวลาเพียงสามเดือนหลังเหตุการณ์ลอบสังหาร และเมื่อเอลวิสได้อ่านเนื้อเพลงเป็นครั้งแรก ราชาเพลงร็อคผู้ยิ่งใหญ่ถึงกับหลั่งน้ำตาและให้คำมั่นว่าเขาจะไม่ร้องและแสดงหนังที่เขาไม่ศรัทธาอีกต่อไป
คิงอาจจะไม่ใช่แฟนร็อคแอนโรล แต่เอลวิส ราชารุ่นหลังที่อายุน้อยกว่าคิง 6 ปีกลับมีคิงเป็นต้นแบบหนึ่งที่เขานับถือ เอลวิโตขึ้นในพื้นที่ทางตอนใต้ในเมืองที่เต็มไปด้วยการเหยียดผิว เอลวิสเป็นหนึ่งในผู้ที่นับถือ และเขาเองจริงอยากจะไปร่วมงานศพของคิงแต่ติดการถ่ายทำภาพยนตร์
เอลวิสชมการถ่ายทอดสดคิงผ่านจอโทรทัศน์และร่ำไห้ไปพร้อมกับความสูญเสีย และเอลวิสเองนี่แหละที่ต้องการแสดงออกถึงความสูญเสีย ต้องการใช้บทเพลงและจุดยืนของตนเพื่อพูดถึงความตายและการเหยียดสีผิวที่กำลังเกาะกินประเทศ ส่งเสียงอันสำคัญออกไปยังโลกใบนี้
เพลง If I Can Dream ถูกแสดงครั้งแรกในรายการ ‘68 Comeback Special รายการสำคัญที่เอลวิสกลับมาขึ้นเวทีในฐานะนักร้องอีกครั้งหลังไปทำงานด้านอื่น การแสดงของเอลวิสนี้เต็มไปด้วยพลัง เป็นการตีความความหวังและความกล้าหาญของคิงที่เต็มไปด้วยพลังและความเชื่อ การกลับไปชมการแสดงนี้อีกครั้งอาจทำให้เรามองเห็นบางภาพที่คิงทั้งเพรสลี่ได้ร่วมฝันและเชื่อว่าเรายังฝันกันได้ต่อไป
Happy Birthday, Stevie Wonder
สตีวี่ วันเดอร์ (Stevie Wonder) เป็นศิลปินที่ศรัทธาและเคยพบกันมาติน ลูเธอร์ คิง ในตอนเป็นวัยรุ่น สตีวี่กล่าวว่าตัวเขาเองก็เป็นอีกหนึ่งที่ร้องไห้กับการจากไปของคิง ในปี ค.ศ.1980 สตีวี่เข้าร่วมกับสมาพันธ์คนผิวดำที่เข้าเสนอเรื่องต่อสภาคองเกรซ เพื่อเสนอให้วันเกิดของมาติน ลูเธอร์ คิง เป็นวันสำคัญและเป็นวันหยุดประจำชาติ
เพลง Happy Birthday เผยแพร่ในปี เดียวกันนั้น เป็นเพลงที่สตีวี่แต่งขึ้น ใช้เสียงสังเคราะห์ของคีย์บอร์ดร่วมกับเนื้อเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ เป็นท่วงทำนองที่เปี่ยมสีสันและสนุกสนาน จนในที่สุดก็ผลักดันจนเกิดเป็นวันสำคัญประจำชาติขึ้น
ในเนื้อเพลงวันเดอร์ร้องว่า มันเป็นช่วงเวลาที่เราต้องร่วมกันแสดงว่า พวกเรารักมาติน ลูเธอร์ คิงมากแค่ไหน และเพลงนี้ก็ควรเป็นประจำตัวหนึ่งของคิง ที่แสดงความรักของอนุชนที่ใช้บทเพลงของตัวเองแสดงและเชื่อมโยงกลับไปสู่การต่อสู้ก่อนหน้า
One Vision, Queen
จากอเมริกาสู่เกาะอังกฤษ จากราชาอันเป็นที่รัก สู่เพลงร็อคใหม่ One Vision เป็นเพลงที่ Queen ปล่อยครั้งแรกในปลายปี ค.ศ.1985 ริเริ่มโดยโรเจอร์ เทย์เลอร์ (Roger Taylor) ภายหลังในสารคดีเมื่อปี ค.ศ.2011 ของ BBC ทาง Taylor อธิบายว่าเนื้อเพลงที่เขาขึ้นได้แรงบันดาลใจมาจากสุนทรพจน์สำคัญของคิงนั่นเอง
ลักษณะเพลงเป็นร็อคก้าวหน้า เต็มไปด้วยจังหวะดุดันและเต็มไปด้วยพลัง ความพิเศษของ MV เพลงนี้คือการจัดวางสมาชิกวงไว้สี่จุดอันใช้ในเพลง Bohemian Rhapsody และกลายเป็น MV ระดับตำนานในเวลาต่อมา เพลง One Vision จึงเป็นเหมือนเพลงส่งท้ายจากการต่อสู้เพื่อปลดแอกของคิง สู่กระแสดนตรีแห่งการแหกคอกของ Queen เป็นการสดุดีที่ทรงพลังที่ก้าวผ่านยุคสมัย ทวีป ประเภทดนตรี และสีผิว
อ้างอิงข้อมูลจาก