My only sin is in my skin
What did I do to be so black and blue?
เพลงแจ๊สเป็นดนตรีที่ทรงอำนาจ และเปี่ยมไปด้วยอารมณ์อย่างล้ำลึกและแปลกประหลาด แน่นอนว่าเพลงแจ๊สเป็นวัฒนธรรมของคนผิวดำทางตอนใต้ของสหรัฐ ดินแดนของการเหยียดสีผิวและการกดขี่คนดำ ดนตรีแจ๊สจึงเต็มไปด้วยลักษณะพิเศษที่สัมพันธ์กับบริบททางประวัติศาสตร์การกดขี่ เป็นดนตรีที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมแบบแอฟริกันและแนวดนตรีจากตะวันตก เพลงแจ๊สจึงเป็นการแสดงความรู้สึก แสดงตัวตน เป็นทั้งเครื่องมือในการปลอบประโลมซึ่งกันและกัน และเป็นเครื่องมือในการต่อต้าน ดนตรีแจ๊สจึงเต็มไปด้วยการแหกขนบ การเล่นกับจังหวะและความลื่นไหล การแสดงอารมณ์ที่ลึกซึ้ง
แน่นอนว่าเพลงแจ๊สเกิดขึ้นในช่วงที่ยังมีการค้าทาส มีการแบ่งสีผิวอย่างชัดเจน นักร้องนักแต่งเพลงแจ๊สล้วนเป็นคนผิวดำที่ได้รับรู้และได้รับผลกระทบจากการกดขี่โดยตรง โดยแจ๊สเฟื่องฟูที่แถบนิวออร์ลีนในช่วงทศวรรษ 1960-1970 นักวิชาการมักจะพูดถึงบริเวณ Congo Square ในฐานะแหล่งกำเนิดของดนตรีแจ๊ส จัตุรัสที่เหล่าคนดำจะใช้วันหยุดในวันอาทิตย์ไปร้องเพลง เต้นรำและเล่นดนตรีกัน ซึ่งในยุคนั้นเองก็เป็นช่วงที่เกิดการรวมตัวและเกิดกระแสการเรียกร้องร้องสิทธิของคนผิวดำขึ้น
นึกภาพว่าการรวมตัวกันของเหล่าผู้ถูกกดขี่ ร้องเพลง เล่นดนตรีนั้น ย่อมเป็นกิจกรรมอันสำคัญ และแน่อนว่าวัฒนธรรมแจ๊สย่อมเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของความเคลื่อนไหวและการต่อสู้ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr.) เองก็เป็นผู้สนับสนุนเพลงแจ๊ส ในเทศกาลแจ๊สที่เบอร์ลินในปี ค.ศ.1964 อันถือเป็นเทศกาลดนตรีแจ๊สครั้งแรกของโลกและเป็นการสถาปนาวัฒนธรรมแจ๊สในฐานะแนวดนตรีระดับโลกขึ้นอย่างเป็นทางการ มาร์ตินเองส่งความเรียงเข้าร่วมเปิดเทศกาล มีข้อความบางตอนว่า “พระเจ้าได้สร้างหลายสิ่งขึ้นจากการกดขี่ พระองค์ได้ประทานความสามารถในการสร้างสรรค์กับสิ่งมีชีวิตของพระองค์ และด้วยอำนาจนี้จึงบังเกิดบทเพลงแห่งความโศกเศร้าและสุขสันต์” และสรุปว่าเพลงแจ๊สคือการเปลี่ยนความจริงที่ขมขื่นให้กลายเป็นเพลง และบทเพลงเหล่านั้นนำมาพร้อมความหวังและชัยชนะ
แน่นอนว่าดนตรีเป็นส่วนสำคัญของการต่อสู้ เป็นสิ่งที่ยึดโยงผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน ในช่วงเวลานั้นที่เกิดเหตุการณ์ทั้งความรุนแรง การเดินขบวนประท้วง เหล่านักร้องนักดนตรีผิวดำย่อมเป็นสักขีพยาน ชื่อสำคัญๆ ที่เราคุ้นเคยไม่ว่าจะ หลุยส์ อาร์มสตรอง (Louis Armstrong) บิลลี่ ฮอลิเดย์ (Billie Holiday) หรือ นิน่า ซิโมน (Nina Simone) ก็ล้วนรับรู้เรื่องราว และได้ใช้ดนตรีของตนแสดงออกถึงการต่อต้าน ใช้เป็นอาวุธในการต่อสู้การกดขี่และการเย้ยหยัน เพลงแจ๊สสำคัญๆ อย่าง ‘Strange Fruit’ ที่ฮอลิเดย์ให้ภาพต้นไม้ประหลาดทางใต้ที่ออกผลเป็นร่างไร้วิญญาณเพื่อเล่าถึงการสังหารคนดำและแขวนทิ้งไว้ นักร้องหญิงที่มีน้ำเสียงเหมือนมาจากโลกอื่นเช่น นิน่า ซิโมน ก็เป็นนักร้องที่ลุกขึ้นต่อสู้อย่างเปิดเผย เธอเรื่องแสดงเพลงต่อหน้าคนผิวขาวที่คาร์เนกี้ ฮอลล์ เป็นเพลงที่เหมือนจะสนุกสนานกลับพูดถึงเหตุการณ์การวางระเบิดที่มิสซิสซิปปี้จนทำให้คนในฮอลล์ประหลาดใจ หรือกระทั่ง หลุยส์ อาร์ม สตรอง เองก็อัดเพลง ‘Black and Blue’ ในช่วงปี ค.ศ.1929 ไปจนถึงการออกอัลบั้มต่างๆ ที่เปิดหน้า มีการทวงถามเสรีภาพหรือเรียกร้องการต่อต้านอย่างเปิดเผย
Black and Blue, Louis Armstrong
หลุยส์ อาร์มสตรอง ถือเป็นนักร้องและนักดนตรีแจ๊สแถวหน้า โดยส่วนตัวเป็นทูตทางวัฒนธรรมให้กับทางการในช่วงสงครามเย็น แน่นอนว่าตัวหลุยส์เองอาจจะไม่ได้มีท่าทีวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผยหรือรุนแรง แต่การขัดขืนของหลุยส์ อาร์ม สตรองเป็นไปอย่างไม่โจ่งแจ้ง โดยหนึ่งในนั้นคือการที่หลุยส์มักจะเลือกแสดงเพลง (What Did I Do to Be So) Black and Blue หนึ่งในเพลงแจ๊สมาตรฐานในยุค 1920 และทำการบันทึกเสียงในปี ค.ศ.1929 เนื้อเพลงบางส่วนค่อนข้างพูดถึงความโศกเศร้าและการเป็นคนดำ มีการพูดเรื่องสีผิวอย่างตรงไปตรงมาว่า ‘My only sin is in my skin What did I do to be so black and blue?’
Strange Fruit, Billie Holiday
‘Strange Fruit’ ถือเป็นหนึ่งในเพลงที่ทั้งงดงาม ร้าวราน และกล้าหาญที่สุดเพลงหนึ่งในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนผิวสี Strange Fruit ผลไม้ประหลาดนี้เป็นที่อัดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.1939 ร้องโดยบิลลี่ ฮอลิเดย์ คือแค่ชื่อฮอลิเดย์มาเราก็นึกถึงน้ำเสียงที่ทั้งแข็งแรงและสั่นไหวของเธอแล้ว ตัวเพลงนี้พูดถึงการถูกทำร้าย โดยเฉพาะการตั้งศาลเตี้ยต่อคนผิวดำที่เกิดขึ้นอย่างหนักทางตอนใต้ในยุคนั้น ซึ่งการฆ่านั้นมักเป็นการรุมประชาทัณฑ์เหยื่อและนำไปแขวนคอประจานตามต้นไม้ ตัวเพลงเริ่มต้นด้วยประโยคว่า ‘Southern trees bearing strange fruit Blood on the leaves and blood at the roots’ แน่นอนว่าเนื้อหาเพลงพูดถึงการสังหารและความโหดเหี้ยม และบิลลี่ ฮอลิเดย์ก็ยืนยันที่จะแสดงเพลงนี้ต่อไปเพื่อบอกเล่าความร้าวรานแม้ว่าจะถูกทางการจับจ้องและขัดขวางก็ตาม
ในการแสดงเพลงครั้งแรกคือที่ Café Society ไนต์คลับในนิวยอร์กปี ค.ศ.1939 ฮอลิเดย์กล่าวว่าเพลงนี้ทำให้เธอจมอยู่กับความกลัวเพราะภาพการสังหารทำให้เธอคิดถึงพ่อของเธอ แต่เธอก็ร้องและกลายเป็นเพลงประจำ ด้วยอำนาจของเพลงและน้ำเสียงของเธอ เพลงนี้จึงถือเป็นเพลงพิเศษ ทางเจ้าของมีการวางกฏพิเศษเฉพาะสำหรับเพลงไม้ประหลาดนี้ คือในขณะที่ฮอลิเดย์ร้องเพลงนี้ การบริการอาหารในห้องทั้งหมดต้องหยุดลง ห้องอาหารต้องอยู่ในความมืดและฉายไฟลงไปที่ใบหน้าของฮอลิเดย์เท่านั้น และเพลงนี้จะไม่มีการอังกอร์หรือขอซ้ำอย่างเด็ดขาด ทุกครั้งที่ฮอลิเดย์ร้องเพลงนี้ เธอจะยืนตัวตรงอย่างมั่นคง ดวงตาทั้งสองหลับลงราวกับกำลังสวดภาวนา เธอเองถือเป็นผู้หญิงคนแรกๆ ที่ออกมาเผชิญหน้ากับการเหยียดผิวและความอยุติธรรมอย่างเปิดเผย
Freedom Day, Max Roach
Freedom Day เป็นเพลงหนึ่งในอัลบั้มชื่อ We Insist! เผยแพร่ในปี ค.ศ.1960 ตัวอัลบั้มนี้อถือเป็นปรากฏการณ์และความกล้าหาญแรกๆ ที่กลุ่มนักดนตรีแจ๊สแนวหน้า คือ แม็กซ์ รอช (Max Roach) มือกลองและนักประพันธ์ ออสการ์ บราวน์ (Oscar Brown) ผู้ประพันธ์คำร้อง ร่วมด้วย แอ็บบี้ ลินคอล์น (Abbey Lincoln) นักร้องหญิง และ โคลแมน ฮอว์กิน (Coleman Hawkins) นักแซ็กโซโฟน ตัวอัลบั้ม We Insist! เป็นการอุทิศทั้งอัลบั้มเข้ากับกระแสความเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำออกกับค่าย Candid Record มีชื่อรองอัลบั้มว่า Max Roach’s Freedom Now Suite คือประกาศกันชัดๆ ที่ปกอัลบั้มอย่างแข็งกร้าวเลยว่าจะอิสรภาพต้องมาแล้ว
ตัวปกเป็นภาพคนผิวดำนั่งอยู่ในร้านซึ่งก็อ้างอิงกับกระแส sit-in movement อันเป็นรูปแบบการประท้วงต่อต้านในช่วงนั้นคือห้ามคนดำนั่ง คนดำที่เป็นนักศึกษาจึงแต่งตัวดีๆ แล้วเข้าไปนั่งเฉยๆ เป็นการประท้วงแบบไม่ใช้ความรุนแรง โดยเพลงทั้ง 5 เพลงนั้นเกี่ยวข้องกับกระแสต่อสู้และการปลดปล่อยคนผิวดำจากการปลดแอกทาส Freedom Day เองก็เป็นเพลงที่พูดถึงเลิกทาสในช่วงปี ค.ศ.1865 โดยเพลงอื่นๆ ก็จะสัมพันธ์กับกระแสการต่อสู้ปลดปล่อย ซึ่งในอัลบั้มนี้ก็ถือเป็นหมุดหมายสำคัญทั้งสำหรับดนตรีแจ๊สที่นักดนตรีหาทางจับสิ่งที่เป็นนามธรรมจนกลายเป็นดนตรีได้ และการเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การต่อสู้อันยาวนานและไม่รู้จบ
How I got over, Mahalia Jackson
จริงๆ เพลงนี้เป็นเพลงแนว Gospel ซึ่งจริงๆ ก็เป็นดนตรีพี่น้องที่สัมพันธ์กับแจ๊ส และวัฒนธรรมคนดำของสหรัฐฯ ถ้าพอนึกภาพออก เพลงแนวกอสเปลนี้จะสัมพันธ์กับการร้องเพลงในโบสถ์ที่เน้นเสียงร้องและการการประสานเสียง ในขณะที่แจ๊สอาจจะเน้นลวดลายความสนุกสนานของดนตรีและท่วงทำนอง ซึ่งดนตรีทั้งสองแนวจริงๆ ก็มีความสัมพันธ์ต่อกัน ตัวเพลงแต่งขึ้นโดย คลาร่า วอร์ด (Clara Ward) นักร้องและนักแต่งเพลงกอสเปลหญิงที่เจอกับการแบ่งแยกและดักทำร้ายในช่วงที่เธอออกทัวร์คอนเสิร์ต โดยตัวเพลงโด่งดังขึ้นจากฉบับบันทึกเสียงของ มาฮาเรีย แจ็กสัน (Mahalia Jackson) ในปี ค.ศ.1961 และด้วยการร้องของราชีนีกอสเปลนี้ เธอได้นำเพลงไปแสดงที่การเดินขบวนเรียกร้องของคนผิวดำในปี ค.ศ.1963 จนกลายเป็นการแสดงระดับตำนานต่อหน้าคนสองแสนห้าหมื่นคน และเป็นการแสดงก่อนที่มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ จะกล่าวสุนทรพจน์ระดับตำนาน ‘I Have a Dream’ ในตอนนั้นดนตรีจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการหลอมรวม และช่วยชี้นำให้กับคนดำในการต่อสู้
This Little Light of Mine, Sam Cooke
This Little Light of Mine มีเนื้อเพลงและภาพรวมเป็นเหมือนเพลงร้องสำหรับเด็กที่ใช้ร้องในโบสถ์ เป็นเพลงทำนองสดใสพูดเรื่องศรัทธาในพระเจ้า แต่ This Little Light Of Mine เป็นเพลงที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์คนผิวดำ แต่ตัวเพลงยังค่อนข้างคลุมเครือ บ้างก็ว่าเป็นเพลงร้องเล่นที่คนผิวดำร้องในขณะที่ทำงานในไร่ เป็นการปลุกใจและรวมพลังรูปแบบหนึ่ง บ้างก็บอกว่าถูกแต่งขึ้นในชั้นหลัง แต่ประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างชัดเจนคือเพลงนี้ได้รับการนำมาร้องใหม่โดย ซิลเฟีย ฮอร์ตัน (Zilphia Horton) นักดนตรีและนักคติชนวิทยาผู้ศึกษาเพลงร้องเล่นต่างๆ เจ้าของเพลง ‘We Shall Overcome’ เพลงสำคัญในการเรียกร้อง ซึ่งได้นำเพลงนี้ไปสอนให้ พีท ซีเกอร์ (Pete Seeger) ร้องจนกลายเป็นอีกเพลงสำคัญที่เหล่าคนผิวดำใช้ร้องเพื่อรวมพลังในขณะที่เกิดการล้อมปราบหรือเผชิญหน้ากับตำรวจ เป็นเพลงที่ร้องในการ sit-in protest และเดินขบวนในช่วงปี ค.ศ.1950 โดยหลังจากนั้นช่วงทศวรรษ 1960 ศิลปิน แซม คุก (Sam Cooke) ก็นำเอาเพลงดังกล่าวแต่งใส่ทำนองแบบแจ๊ส เร่งจังหวะให้มีความสนุกเสนอ ฮึกเหิม ให้กำลังใจขึ้น
Mississippi Goddam, Nina Simone
Nina Simone นักร้องหญิงที่เหมือนกับแม่มดหมอผีที่ใช้เสียงอันลุ่มลึก โรยแรง แต่ก็ทรงพลังพาผู้ฟังจมดึ่งไปกับห้วงอารมณ์แปลกประหลาด นิน่า ซิโมนถือเป็นนักร้องหญิงชั้นแนวหน้าที่ใช้ความเป็นศิลปินเพื่อต่อต้านและสู้เพื่อเสรีภาพคนผิวดำ และเธอเองก็เห็นว่าเป็นพันธกิจของการเป็นศิลปินอย่างหนึ่ง เธอเองยังเคยขึ้นแสดงบนเวทีปราศรัยในการเดินขบวนใหญ่ และได้รับสมญาว่าเป็นเสียงแห่งการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ ผลงานในช่วงกลางทศวรรษ 1960 จึงมีเนื้อเกี่ยวข้องกับการกดขี่และปลดปล่อยเรียกร้องสิทธิ แต่ด้วยสไตล์ของซิโมนที่มีความล้ำสมัยในทางดนตรี เพลงของเธอจึงเต็มไปด้วยความเซอไพรส์ ใช้จังหวะเร็วบ้าง ช้าบ้าง ไม่ได้มีแต่คร่ำครวญ แต่ยังเจือไว้ด้วยความหวังและการมีชีวิต ผลงานสำคัญในช่วงนั้นคือการแสดงเพลง ‘Mississippi Goddam’ อันเป็นเพลงที่แสดงท่าทีการลอบสังหาร เม็ดการ์ เอเวอร์ (Medgar Evers) ด้วยการวางระเบิดที่โบสถ์ช่วงปลายปี ค.ศ.1963 ทำให้มีเด็กผู้หญิงผิวดำเสียชีวิตด้วย 4 คน
ในการแสดงสำคัญครั้งที่สองอันเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ที่คาร์เนกี้ ฮอล์ รายล้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติผิวขาวในปี ค.ศ.1964 ถือเป็นการแสดงที่สร้างความตื่นตะลึงและทรงพลัง เธอเริ่มแนะนำเพลงพร้อมกับอินโทรเพลงที่สนุกสนาน เธอบอกชื่อเพลงกับผู้ชม โดยผู้ชมยังคงหัวเราะและคิดว่าเพลงจะสนุกๆ และเธอก็กล่าวตามว่า ‘เธอหมายความตามนั้นจริงๆ’ ช่วงแรกเธอยังคงคุยแทรกกลั้วเสียงหัวเราะ จนกระทั่งกลางเพลงที่เธอเริ่มร้องอย่างดุดันขึ้น และเนื้อเพลงนำไปสู่ช่วง ‘Hound dogs on my trail School children sitting in jail’ ผู้ฟังจึงเริ่มเงียบลง และเข้าใจว่าเพลงของเธอนั้นเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่อกันและเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมา นอกจาก Mississippi Goddam เธอยังมีเพลงว่าด้วยการต่อสู้อีกหลายเพลงเช่น ‘Four Woman’ เล่าถึงความยากลำบากของการเป็นนักร้องประสานเสียงผิวสี ‘Young, Gifted and Black’ ที่กลายเป็นหนึ่งในเพลงสัญลักษณ์ของการเรียงร้องสิทธิ หรือ ‘Why (The King of Love Is Dead)’ อันเป็นเพลงที่เธอแต่งและแสดงขึ้นเพื่อรำลึกถึงการลอบสังหารมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์
Alabama, John Coltrane
ในทำนองเดียวกับ Mississippi Goddam เหตุการณ์วางระเบิด ที่ 16th Street Baptist Church bombing ในวันที่ 15 กันยายน ค.ศ.1963 โดยกลุ่ม Ku Klux Klan นั้นสร้างความสั่นสะเทือนให้กับผู้คนอย่างรุนแรงด้วยการวางเป้าที่พื้นที่ทางศาสนา และมีเด็กเป็นเหยื่อ หลังจากนั้น จอห์น โคลแทรน (John Coltrane) นักแต่งเพลงและมือแซ็กโซโฟนก็แต่งเพลงชื่อ ‘Alabama’ บันทึกเสียงในวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ.1963 สามเดือนหลังเหตุการณ์ และหลังจากนั้นจอห์นก็นำเพลงออกแสดงสดในที่ต่างๆ แน่นอนว่าทั้ง จอห์นและวงสี่ชิ้น (Classic Quartet) ถือเป็นวงระดับตำนานที่สร้างงานแจ๊สมาตราฐานไว้ให้วงการ วงสี่ชิ้นประกอบด้วย แม็คคอย ไทเนอร์ (McCoy Tyner), จิมมี่ แกร์ริสัน (Jimmy Garrison) และ เอลวิน โจนส์ (Elvin Jones) ตัวเพลง Alabama นี้ถือเป็นอีกหนึ่งเพลงแจ๊สที่เวรี่แจ๊ส คือเริ่มต้นด้วยเสียงของแซ็กโซโฟนที่เต็มไปด้วยท่วงทำนองของความเศร้าและการคร่ำครวญ ก่อนจะค่อยๆ คลี่คลายลงด้วยเครื่องดนตรีอื่นๆ เป็นการคร่ำครวญที่ภาคภูมิ
Fables of Faubus, Charles Mingus
‘Fables of Faubus’ เป็นเพลงที่ใช้ท่วงทำนองเลื่อนไหลชวนพิศวง แต่เพลงนี้ถือเป็นเพลงที่พูดเรื่องการเมืองอย่างเปิดเผยเพลงหนึ่งของ ชาลส์ มินกัส (Charles Mingus) โดย ‘นิทานของโฟบัส’ นี้อ้างอิงถึง ออร์วัล โฟว์บัส (Orval Faubus) ผู้ว่าการรัฐอาคันซอร์ที่อยู่ในอำนาจ และทำให้เกิดเหตุการณ์ ‘Little Rock Crisis’ คือเกิดการกีดกันไม่ให้เด็กผิวดำ 9 คนเข้าเรียนที่ Little Rock Central High School มีการล้อมโรงเรียนโดยกลุ่มคนผิวขาว ด่าทอ ถุยน้ำลายและทำร้ายเด็กและผู้ปกครองที่พยายามเข้าโรงเรียนโดยมีผู้ว่าส่งกองกำลังสนับสนุนการแบ่งแยก เรื่องนั้นใหญ่ เนื่องจากมีกฏหมายกลางเกี่ยวข้องกับการยกเลิกการแบ่งแยกโรงเรียนสีผิวแล้ว ทางประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) ถึงกับต้องแทรกแซงและทำให้เด็กทั้ง 9 นั้นเรียนต่อ แม้ว่าเกือบจะเอาชีวิตไม่รอดในระหว่างเรียน แต่ทั้งหมดก็เติบโตขึ้นและมีอนาคตที่ดี โดยตัวเพลง Fables of Faubus เนื้อเพลงคือออกชื่อและสบถด่าการกระทำไปเลยว่าโฟว์บัส หรือรัฐ ไปจนถึงกลุ่ม KKK มันเฮงซวย มันล้างสมอง
ในการบันทึกเพลงในรอบแรกปี ค.ศ.1959 ในอัลบั้ม Mingus Ah Um ทาง Columbia Records ปฏิเสธให้ใส่เนื้อร้องลงไปด้วย จนกระทั่งการอัดในปี ค.ศ.1960 ในอัลบั้ม Charles Mingus Presents Charles Mingus ออกกับค่าย Candid Record ค่ายเพลงหัวก้าวหน้าและสนับสนุนการต่อสู้จึงได้อัดเพลงนี้พร้อมเนื้อร้องด้วย ตัวเพลง Fables of Faubus นี้ใช้ท่วงทำนองแบบแจ๊ส และสอดแทรกด้วยเนื้อเพลงที่จริงๆ คือการพูด และสถบด่าทอ ซึ่งนักวิชาการหลายคนก็มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมดนตรีแอฟริกัน-อเมริกันที่คลี่คลายกลายเป็นเพลงแร็พ และฮิปฮอบต่อมา
อ้างอิงข้อมูลจาก