แม้ว่าสื่อภาพยนตร์ส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาเป็นความบันเทิงเพื่อปลุกจินตนาการผู้สร้างให้กลายเป็นภาพเคลื่อนไหว และนำความบันเทิงไปสู่ผู้ชม แต่ก็เหมือนกับสื่ออื่นๆ ที่ตัวงานส่วนหนึ่งก็เป็นการบันทึกและวิพากษ์สังคมในบางประเด็น ผ่านมุมมองของผู้สร้าง หรืออาจเป็นมุมมองของยุคสมัยนั้นๆ
การเมือง คือเรื่องหนึ่งที่ถูกนำมาบอกเล่าให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง หนังบางเรื่องหยิบจับเหตุการณ์การเมืองมาเล่าตรงๆ อาจจะเป็นเชิงชีวประวัติ ไม่ก็เป็นการตีความใหม่ตามหลักฐานเพิ่มเติม หรือตามการนึกคิดของผู้เขียนบท และบางเรื่องก็ใช้เหตุการณ์ทางการเมืองเป็นฉากหลังที่คอยขับดันเรื่องราว
สำหรับภาพยนตร์ไทยที่อาจจะมีข้อจำกัดค่อนข้างรัดกุม แถมยังมีมาตรฐานในการตัดสินที่คลุมเครือ การนำเสนอการเมืองผ่านแผ่นฟิล์มจึงมีไม่มากนัก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีหนังที่พูดเรื่องแบบนี้อยู่เสียเลย และนี่คือ 10 หนังไทยสายการเมืองหลากหลายอารมณ์ที่ The MATTER อยากแนะนำให้ลองไปหาดูกัน
ผู้แทนนอกสภา (2526)
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2526 เรามีหนังไทยเรื่องนี้ ที่บอกเล่าสังคมไทยในตอนนั้น โดยตัวเอกเป็นปัญญาชนที่เดินทางกลับไปพัฒนาบ้านเกิดและสุดท้ายกลายเป็นแกนนำในท้องถิ่นเพื่อรณรงค์ให้ทำการเลือกตั้งอย่างถูกต้องขาวสะอาด นอกจากที่จะเป็นหนังไทยไม่กี่เรื่องที่จับประเด็นการเลือกตั้งตรงๆ ในหนังยังมีนักการเมืองตัวจริงในยุคนั้นมาปรากฎตัวในหนังด้วย จนบางคนพิเคราะห์ว่าหนังเรือนี้อาจจะเป็นโฆษณาแฝงของพรรคการเมืองก็เป็นได้
เวลาในขวดแก้ว (2534)
ปัจจุบันคนอาจจะคุ้นเคยนิยายเรื่องนี้ของ ประภัสสร เสวิกุล ในฐานะเพลงหรือละครมากกว่า (เพิ่งมีการทำฉบับล่าสุดไปเมื่อปี ปี พ.ศ. 2558 นี่เอง) แต่ในการดัดแปลงครั้งแรกนั้น เป็นการเอานิยายมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2534 ถ้ามองจากเปลือกนอกก็เป็นเรื่องราวของชีวิตวัยรุ่นที่พบปัญหาจากครอบครัวและสังคม ที่ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นั่นเอง
The Moon Hunter 14 ตุลา สงครามประชาชน (2544)
หรือเดิมที่ใช้ชื่อว่า คนล่าจันทร์ (ซึ่งชื่อภาษาอังกฤษยังคงใช้ชื่อเดิม) ก่อนจะปรับเปลี่ยนชื่อมาให้ตรงตัวด้วยเหตุผลทางการตลาด ตัวหนังถือว่าเป็นอัตชีวประวัติของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล กับ จิระนันท์ พิตรปรีชา โดยหยิบเอาเรื่องราวที่่พวกเขาประสบนับตั้งแต่การเดินขบวนของนักศึกษาใน ปี พ.ศ. 2516 รวมถึงช่วงชีวิตในป่า ที่สำหรับคนดูหนังทั่วๆ ไปอาจจะรู้สึกลับแลกว่าเรื่องราวในเดือนตุลาคมเสียอีก การที่หนังได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทย ส่งเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ในการประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 74 ก็น่าจะบอกได้ว่าเรื่องราวในเรื่องมีความสากลมากพอที่จะลองหยิบมาดูสักครั้ง
หนังสั้น I’m Fine สบายดีค่ะ (2551)
หากว่ากันตามจริง หนังสั้นมักจะมีโอกาสเล่าเรื่องการเมืองได้มากและบ่อยกว่า อาจจะเพราะเรื่องราวนั้นไม่ต้องยืดยาวมากและส่วนใหญ่ก็ทำได้โดยไม่ต้องแคร์นายทุนมากนัก หนังสั้นเรื่องนี้เป็นผลงานของ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ที่ถูกจดจำนับตั้งแต่นาทีที่เธอเดินทางไปถ่ายทำบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กับคำถามสั้นๆ ง่ายๆ เพียงไม่กี่คำถามแต่ทำให้คนดูได้คิดตามและถกเถียงกันอย่างมาก ซึ่งนั่นก็อาจจะถือว่าประสบความสำเร็จตามที่ผู้สร้างต้องการแล้ว
เชือดก่อนชิม (2552)
แม้หนังเรื่องนี้จะเป็นที่จดจำได้จาก การดราม่าชื่อแรกเริ่มของหนัง หรือเลือดสาดๆ กับการแสดงของใหม่ เจริญปุระ ซึ่งเธอก็แสดงได้น่ากลัวจริงๆ จนหลายคนกลัวหนักไปหน่อยเลยลืมไปว่า ฉากหลังของเรื่องอยู่ในช่วง 6 ตุลาคมด้วย ถึงตัวหนังอาจต้องการบอกเล่าการลุกขึ้นสู้แบบสุดกำลังของหญิงสาวและเด็ก (จนเธอไล่เชือดไปหลายศพ) แต่ก็ไม่แน่ว่าหนังอยากจะสะท้อนถึงการไม่จริงจังในการตรวจสอบเรื่องการตายของคนในช่วงนั้นด้วยหรือไม่
October Sonata รักที่รอคอย (2552)
หนังเรื่องนี้ไม่ได้เล่าเนื้อหาการเมืองให้คนดูเห็นโดยตรง แต่เล่าเรื่องราวความรักและการค่อยๆ เติบโตของ แสงจันทร์กับรวี และลิ้ม ที่สอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในช่วงเดือนตุลาคม นับตั้งแต่ การเสียชีวิตของ มิตร ชัยบัญชา ในปี พ.ศ. 2513 / เหตุการณ์ 14 ตุลาคมในปี พ.ศ. 2516 / เหตุการณ์ 6 ตุลาคมในปี พ.ศ. 2519 ซึ่งทุกเหตุการณ์นั้นล้วนแล้วแต่เปลี่ยนแปลงชีวิตของทั้งสามคนไปอย่างไม่น่าเชื่อ และยังมีนักวิจารณ์หลายท่านวิเคราะห์ว่า รักสามเส้าในเรื่องนี้เป็นการสะท้อนการปกครองแบบรัฐของไทยในยุคที่บอกเล่าในเรื่องแบบแยบคาย
ฟ้าใสใจชื่นบาน (2552)
หนังสร้างขึ้นตามคอนเซ็ปต์ ‘ประวัติศาสตร์ก็ขำได้’ และได้ผู้อำนวยการสร้างเป็นผู้ผลิตรายการคดีเด็ด โดยหยิบจับเหตุการณ์หลังจากที่นักศึกษาผู้เข้าร่วมเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ได้หนีเข้าป่าไปแล้ว และได้พบกับความหมายในชีวิตอีกครั้ง แม้ว่าตัวหนังจะถูกลืมอย่างค่อนข้างแรง แถมรายละเอียดบางอย่างยังถูกคอมเมนต์ว่าไม่ตรงกับเรื่องจริง แต่ก็ถือว่าเป็นความพยายามที่ดีของวงการหนังบ้านเราที่กล้าสร้างหนังแนวตลกอิงความเป็นจริง
อินทรีแดง (2553)
นิยายตัวต้นฉบับของ เศก ดุสิต ได้เขียนให้ อินทรีแดง ต่อสู้กับเหล่าคอมมิวนิสต์ ตรงกันขัามกับฉบับภาพยนตร์ล่าสุดของผู้กำกับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ประกาศไว้อย่างชัดเจนว่าหนังฉบับของเขาเป็น ฉบับวิพากษ์การเมือง ตัวอินทรีแดงทำการต่อสู้กับรัฐบาลที่ใช้อำนาจช่วยเหลือพวกตนเอง มีการจัดม็อบมาชนกับม็อบ และมีสัญญะในหนังอีกมากที่สะท้อนสภาวะการเมืองไทยในยุคนั้น แม้จะใช้ฉากในเรื่องเป็นเมืองไทยในโลกสมมติก็ตามที
ดาวคะนอง (2559)
เพิ่งมีปัญหาในการฉายรอบพิเศษไปหมาดๆ สำหรับตัวภาพยนตร์ไทยที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ในปีนี้ เนื้อหาในหนังเป็นเรื่องของการถ่ายทำหนังที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ปี พ.ศ. 2519 ตัวหนังซ้อนหนังได้รับบันดาลใจมาจากผู้นำนักศึกษาหญิงคนหนึ่ง และในเรื่องก็จะเล่าช่วงที่สัมภาษณ์อดีตนักศึกษาท่านนั้นในที่พักแห่งหนึ่ง ก่อนเรื่องจะเล่าข้ามไปถึงชีวิตของนักแสดงคนหนึ่ง สลับกับบางจังหวะที่มีเรื่องเหนือจริงเกิดขึ้นด้วย หนังอาศัยการเล่าเรื่องที่อาจจะไม่เกี่ยวกันเลยมาเดินเรื่องหมายว่าจะให้ผู้ชมปะติดปะต่อเรื่องเองเหมือนลักษณะภาพโปสเตอร์ของเรื่อง ซึ่งก็ชวนตั้งคำถามว่าสุดท้ายแล้ว มันอาจจะสอดคล้องกับเรื่องราวการเมืองที่ถูกตีความให้ชิคขึ้น ก่อนจะโดนพร่าเลือนไปด้วยค่านิยมอื่นทางสังคม
หนังสั้น พิราบ (2560)
หนังสั้นเรื่องนี้ ภาษิต พร้อมนำพล ผู้กำกับก็เลือกจะบอกเล่าชีวิตของนักศึกษาคนหนึ่ง ที่ไม่ได้เป็นผู้นำ ไม่ได้ถูกจดจำ แต่ได้เข้าร่วมเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ซึ่งชีวิตต้องพลิกไปอีกด้านหนึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนั้น อาจจะเพราะตัวผู้กำกับได้รับฟังเรื่องราวมาจากพ่อที่เคยหนีเข้าป่าและเขาในฐานะคนที่เสพข้อมูลยุคหลังจึงเลือกบอกเล่าเรื่องราวในอดีตจากมุมของเขาเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Facebook : Natthanai Prasannam
หนังกับการเมือง และการเมืองในหนัง (มิถุนายน 2547)