1. แรกที่ผมได้ยินว่าจะมีการสร้างหนังเรื่องนี้ ผมรู้สึกไม่ค่อยจะวางใจนัก ด้วยความเป็นหนังสัตว์ประหลาดที่พอเห็นอยู่ว่าเมื่อมันถูกนำมาชุบชีวิตขึ้นมาทำเป็นหนังอีกครั้ง หลายๆ เรื่องก็ประสบชะตากรรมที่ไม่ค่อยจะเข้าท่าสักเท่าไหร่ หรืออย่าง ‘Godzilla’ ที่ถึงกับได้ผู้กำกับซึ่งน่าจะไว้ใจได้อย่างแกเร็ต เอดเวิร์ดส (Monsters, Rogue One) แต่หนังก็ไม่ได้ออกมาดีหรือชวนให้จดจำอะไรนัก
ครั้นแล้ว หลังจากที่ได้ดูตัวอย่างของ Kong และเห็นโปสเตอร์หนังที่ดูตั้งใจคิดเป็นพิเศษ ผมก็เริ่มจะมีความหวังขึ้นบ้าง ด้วยเพราะ Kong ดันไม่ได้นำเสนอตัวเองออกมาในลักษณะเดียวกับภาพจำที่เรามีต่อหนังสัตว์ประหลาดหลายๆ เรื่อง โดยพาเราย้อนเวลากลับไปสักสี่สิบปีก่อน ช่วงที่สงครามเวียดนามเพิ่งจะสิ้นสุด แต่สิ่งที่ทำให้ผมตื่นเต้นกับมันจริงๆ ไม่ใช่พื้นหลังทางประวัติศาสตร์ของมันหรอกครับ เป็นตัวอย่างและโปสเตอร์ของมันซึ่งต่างฉาบแน่นด้วยกลิ่นอายอันชัดเจนของภาพยนตร์ชั้นครูอีกเรื่องหนึ่งที่ชื่อ ‘Apocalypse Now’ นั่นต่างหาก ที่ทำให้ผมลุ้นว่าหนังสัตว์ประหลาดเรื่องนี้อาจจะดีก็ได้
2. ‘Kong’ เล่าเรื่องของนักสำรวจกลุ่มหนึ่งที่เดินทางไปยังเกาะกะโหลก (skull island) ซึ่งเรียกกันว่า ‘The Last Uncharted Land on Earth’ หรือพื้นที่ซึ่งยังตกสำรวจ รายล้อมรอบเกาะนี้คือพายุอันบ้าคลั่งที่จมทั้งเรือหรือเครื่องบินไปไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ และเพราะเกาะแห่งนี้ดูจะเต็มไปด้วยอันตรายที่มนุษย์เองอาจยังไม่รู้จัก พวกเขาจึงได้ว่าจ้างกองกำลังทหารสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่งถูกปลดประจำการจากปฏิบัติการในเวียดนามพอดิบพอดี เพื่อมาให้ความคุ้มครองพวกเขาระหว่างเดินทางสำรวจเกาะแห่งนี้
ซึ่งก็เป็นบนเกาะกะโหลกแห่งนี้แหละครับที่พวกเขาได้พบกับสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์และแปลกประหลาดสารพัดซึ่งไม่เคยถูกค้นพบบนโลกใบนี้ รวมถึง คอง ลิงยักษ์ซึ่งสูงอย่างกับตึกระฟ้า ผู้มีสถานะเป็นดั่งพระเจ้าผู้แข็งแกร่งที่สุดบนเกาะแห่งนี้
3. อย่างที่ได้เกริ่นไปว่า Kong ถูกเคลือบไว้ด้วยกลิ่นอายแบบ Apocalypse Now หนังที่เล่าเรื่องสงครามเวียดนามด้วยเหมือนกัน โดยในเรื่องนี้เล่าถึงทหารกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับภารกิจให้ล่องแม่น้ำเข้าไปยังป่าลึกเพื่อตามหา เคิร์ทซ นายพันผู้หายสาบสูญไปในป่าลึก และมีเสียงร่ำลือสาระพัดถึงความวิปลาสของเขา รวมถึงข้อมูลที่ว่า เคิร์ทซได้สถาปนาตนเป็นดั่งพระเจ้าของคนท้องถิ่นไปแล้ว
หากลองเอา Kong กับ Apocalypse Now มาวางเทียบกัน นายพันเคิร์ทซ กับ คอง ก็คล้ายจะวางตัวอยู่ในสถานะเดียวกัน นั่นคือพระเจ้าของพื้นที่หนึ่งๆ ด้วยภายในเกาะกะโหลกเองก็มีชนเผ่าท้องถิ่นซึ่งถูกตัดขาดจากโลกภายนอก และพวกเขาก็บูชา คอง ประหนึ่งพระเจ้าผู้ให้ความคุ้มครองพวกเขา เฉกเช่นเดียวกับเคิร์ทซ เพียงแต่มันจะต่างกันอยู่หน่อยตรงที่ว่า Kong นั้นไม่ได้เดินตามวิธีคิดและเรื่องราวของ Apocalypse Now แต่ออกจะไปในทางของการหยิบวัตถุดิบในเรื่องนั้นมาประกอบสร้างเพื่อจะเล่าใหม่ ด้วยเหตุนี้ แม้หลายๆ จุดในเรื่องจะคล้ายคลึงกัน แต่วิธีที่ Kong หยิบยกมาเล่าก็เป็นไปในทางที่ขัดกับ Apocalypse Now อย่างน่าสนใจ
ตัวอย่างเรื่อง ‘เคิร์ทซกับคอง’ นำเสนอจุดแตกต่างนี้ได้อย่างชัดเจน ด้วยเคิร์ทซนั้นได้รับสถานะของพระเจ้าด้วยเพราะเขาเป็นคนนอก (และคนขาว) เป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในพื้นที่หนึ่ง แล้วจึงได้รับการเทิดทูญ สวนทางกับคองซึ่งไม่ได้เป็นคนนอกของพื้นที่ แต่เป็นคนในมาโดยตลอด คนในผู้ซึ่งแข็งแกร่งและทรงพลังกว่าที่คอยปกป้องชนเผ่าท้องถิ่นจากอันตรายต่างๆ โดยเฉพาะกับสัตว์ร้ายนาม skull crawlers ซึ่งผุดโผล่ขึ้นมาจากผิวดิน และรุกล้ำอาณาเขตของคอง
เป็นเรื่องการรุกล้ำอาณาเขตนี่เองที่คือประเด็นสำคัญของหนังเรื่องนี้ ตั้งแต่ที่มันเลือกสงครามเวียดนามเป็นฉากหลัง ที่เล่าถึงการที่สหรัฐฯ ส่งทหารเข้าไปสู้รบในอีกซีกโลกหนึ่งซึ่งเป็นพื้นที่ของคนอื่นมาโดยตลอด รวมถึงยังบุกรุกประชาชนและคาดโทษพวกเขาว่าเป็นศัตรู หรือคอมมิวนิสต์
การเดินทางเข้ามายังเกาะกะโหลกของทีมนักสำรวจที่ด้วยการนำเอาวิทยาการของโลกภายนอก รวมถึงอาวุธอีกสารพัดก็ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและรูปแบบการปกครองของเกาะแห่งนี้ เช่นกันกับความเป็นพระเจ้าของคองที่ก็ถูกคัดง้าง ท้าทาย ด้วยวิทยาการและความอหังการ์ของมนุษย์ในเรื่อง
ความอหังการ์ที่ว่าไม่เพียงแต่จะปรากฏผ่านวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงระบบทหารในช่วงเวลานั้น ซึ่งคล้ายว่าจะหล่อหลอมมนุษย์ให้เป็นเครื่องจักรสังหารที่แสวงหาแต่การฆ่าล้างทำลาย เพรสตัน แพกการ์ด (รับบทโดยซามูเอล แจ๊คสัน) คือภาพแทนของทหารผู้ถูกระบบอันโหดร้ายประกอบสร้างขึ้นอย่างน่ารังเกียจ เขาคือตัวละครซึ่งถูกความแค้นขับเคลื่อนการกระทำ และด้วยสถานะผู้นำ เขาจึงใช้อำนาจที่ตัวเองมีบงการนายทหารใต้บังคับบัญชาให้เดินตามคำสั่งของเขา ปัญหาของระบบทหารที่หนังแสดงให้เราเห็นมันจึงเป็นการน้อมรับต่ออำนาจอย่างไม่อาจขัดขืน ไม่กล้าทักท้วงหรือตั้งคำถาม ได้แต่งอหัวอยู่ใต้คำสั่งเด็ดขาด แม้ว่าลึกๆ แล้วมันจะขัดแย้งกับความเป็นมนุษย์มากขนาดไหนก็ตาม
4. อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวหนังดูจะเลือกวิธีการเล่าที่พยายามจะแตกต่างและแปลกใหม่ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันยังมีรูรั่วให้เห็นอยู่ หรืออย่างการที่สุดท้ายแล้วมันก็ยังไปได้ไม่ไกลเท่ากับความทะเยอทะยานของมัน Kong ยังคงเป็นหนังสัตว์ประหลาดที่ยังติดอยู่ในหล่มของหนังบล็อคบัสเตอร์เชยๆ เรื่องหนึ่ง ขนาดว่ามันหยิบเอา Apocalypse Now มาเป็นต้นแบบ แต่ด้วยเนื้อเรื่องอันกระจัดกระจาย มิติตัวละครที่เบาบาง และการตัดต่อที่ไม่ค่อยจะแม่นมือนัก หนังที่ดูจะมี potential ก็ถูกทอนลงเหลือแค่หนังทำเงินเรื่องหนึ่งที่ไม่นานก็คงจะลืมมันไป แต่ที่น่าเสียดายสุดๆ คือการที่หนังเองก็มีนักแสดงเบอร์ใหญ่ๆ อย่าง ทอม ฮินเดิลสตัน, บรี ลาร์สัน หรือ ซามูเอล แจ๊คสัน แต่กลับไม่ได้เรียกร้องพลังทางการแสดงของพวกเขาแต่อย่างใด จนอดไม่ได้ที่จะรู้สึกเสียดายแทนดาราเหล่านี้จริงๆ