เข้าช่วงหลังปีใหม่ของแต่ละปี คอภาพยนตร์ก็จะได้ลุ้นกับรางวัลออสการ์ รางวัลที่น่าจะถือได้ว่าเป็นรางวัลสำหรับภาพยนตร์ที่ผู้คนรู้จักกันมากที่สุดในโลก ส่งผลให้ภาพยนตร์หลายเรื่องที่ได้รับรางวัลนี้ไปครองก็จะถูกพูดถึงไปมากขึ้นอีก ทั้งยังมีโอกาสได้รีเทิร์นกลับเข้ามาฉายในโรงภาพยตร์อีกครั้งในฐานะภาพยนตร์มีรางวัล (ถ้าในบ้านเรา โรงภาพยนตร์บางเจ้าก็เอาหนังที่เข้าชิงกลับมาฉายอยู่ด้วยเหมือนกัน)

ภาพจาก – Oscars.org
ทีนี้เมื่อสัปดาห์ก่อนทาง สถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์ ได้ประกาศรายชื่อผู้ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ที่ได้เข้าชิงในปีนี้หลายเรื่องก็เข้าชิงในเวทีอื่นๆ มาก่อนหลายรางวัล อย่างเช่น La La Land, Moonlight หรือ Manchester by the Sea ตามปกติแล้วหลายๆ รางวัลก็จะคัดเลือกหนังมาให้ตรงกับจริตของตัวรางวัลเอง ทำให้ผู้ชมมีดราม่ากันอยู่บ้างเวลาหนังที่เชียร์ไม่เข้าชิงรางวัลใดรางวัลหนึ่ง

ภาพจาก – Majorcineplex.com
ดราม่าในบ้านเราที่ค่อนข้างจะเสียงดังชัดเจนสักหน่อยสำหรับปีนี้ก็คงไม่พ้น ดราม่าจากฝั่งรางวัลสาขาแอนิเมชั่นยอดเยี่ยม ที่ไม่มีชื่อของแอนิเมชั่นชื่อดังจากญี่ปุ่นอย่าง ‘Your Name’ ติดเข้าสู่ 5 ผู้เข้าชิงรางวัล จนเกิดคำถามว่ารางวัลออสการ์ขาดคุณภาพ ไม่ก็ให้พื้นที่เฉพาะหนังติสต์ๆ หรือกั๊กรางวัลให้เฉพาะแอนิเมชั่นฝรั่ง โดยเฉพาะ Disney กับ Pixar เท่านั้น เลยทำให้รายชื่อผู้เข้าชิงเป็น Moana, Zootopia, Kubo Of The Two Strings, My Life as a Zucchini แล้วก็ The Red Turtle (ซึ่งจริงๆ แล้ว ก็มี Moana และ Zootopia ที่เป็น Disney ส่วน Kubo Of the Two Strings เป็นของ Laika, My Life as a Zucchini เป็นของฝรั่งเศสสวิส และ The Red Turtle เป็นของ Studio Ghibli แต่เครดิตว่าสร้างร่วมสามประเทศ คือฝรั่งเศส เบลเยี่ยม และญี่ปุ่น)
ก่อนจะคุยกันว่าทำไม Your Name ถึงแห้วไป เราขอย้อนทำความเข้าใจพื้นเพกันก่อนว่า รางวัลออสการ์สาขาแอนิเมชั่นยอดเยี่ยม ถูกจัดขึ้นครั้งแรกในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 74 เพื่อเป็นการแยกย่อยให้การ์ตูนแอนิเมชั่นซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นได้มีพื้นที่รางวัลของตนเอง จากที่ก่อนหน้านั้นแอนิเมชั่นเรื่องต่างๆ ต้องลงไปดวลกับหนังเรื่องอื่นๆ อย่าง Beauty and the Beast ที่ไปไกลจนได้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปี 1991 ไม่เช่นนั้นภาพยนตร์แอนิเมชั่นก็จะได้ รางวัลเกียรติยศ (Honorary Award) อย่างเรื่อง Snow White หรือรางวัลความสำเร็จพิเศษ (Special Achievement Award) อย่างที่ Who Framed Roger Rabbit กับ Toy Story เคยได้รับมา
ทีนี้ในสาขาแอนิเมชั่นก็จะมีกฏกติกาเพิ่มเติมขึ้นมาจากปกติ ส่วนหนึ่งของกติกาที่เพิ่มมาก็คือตัวภาพยนตร์นั้นจะต้องมีความยาวมากกว่า 40 นาที ในภาพยนตร์ต้องใช้เทคนิคภาพแบบ frame-by-frame แล้วก็มีเนื้อหาของภาพยนตร์มากกว่า 75% ที่เป็นส่วนแอนิเมชั่น ว่ากันว่ากติกาเพิ่มเติมนี้ทำให้แอนิเมชั่นจากญี่ปุ่นอย่าง ‘Blood : The Last Vampire’ ต้องกินแห้วการเข้าชิงออสการ์แอนิเมชั่นในปีแรกไป

ภาพจาก – Weirdasianews.com/
พอพูดถึง Blood อันเป็นแอนิเมชั่นจากญี่ปุ่น แล้วก็ขอวนเข้าไปในส่วนที่ว่าออสการ์ปิดโอกาสของแอนิเมชั่นจากชาติอื่นหรือไม่ จากที่เราค้นข้อมูลมานั้นก็ต้องว่าไม่ใช่เสียทีเดียว อย่างผู้ได้รับรางวัลสาขานี้ในการประกาศรางวัลครั้งที่ 75 ประจำปี 2002 ก็เป็นเรื่อง ‘Spirited Away’ หรือ ‘Sen to Chihiro no Kamikakushi’ แอนิเมชั่น ระดับขึ้นหิ้งของทาง Studio Ghibli ซึ่งออกฉายในบ้านเกิดตั้งแต่ปี 2001 ก็ได้คว้ารางวัลไปครอง
และหลังจากนั้นแอนิเมชั่นของทาง Ghibli ก็ยังได้เข้าชิงออสการ์อยู่อีกหลายครั้ง ทั้ง ‘Howl’s Moving Castle’, ‘The Wind Rises’, ‘The Tale of the Princess Kaguya’, ‘When Marnie Was There’ หรือ แม้แต่ ‘The Red Turtle’ ปีนี้ก็ถือเป็นผลงานร่วมสร้างของทาง Studio Ghibli กับ ผู้กำกับ Michaël Dudok de Wit
แล้วตัวแอนิเมชั่นหลายๆ เรื่อง ที่ได้เข้าชิงก็มาจากฝรั่งเศสอย่าง ‘The Triplets of Belleville’ (เข้าชิงในปี 2003) ‘The Illusionist’ (ภาพยนตร์ร่วมทุนฝรั่งเศส-สวีเดน เข้าชิงในปี 2003) ‘A Cat in Paris’ (เข้าชิงในปี 2011) ‘Ernest & Celestine’ (เข้าชิงในปี 2013) นอกจากนี้ยังมีแอนิเมชั่นจากบราซิลอย่าง ‘Boy and the World’ (เข้าชิงในปี 2015) ติดห้ารายชื่อสุดท้ายมาแล้ว

ภาพจาก – Vintagemovieposters.co.uk
นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์สต็อปโมชั่นจากเกาะอังกฤษ ‘Wallace & Gromit: The Curse of the Were-Rabbit’ ที่ไม่ใช่ภาพยนตร์อเมริกาและไม่ได้มาจาก Disney หรือ Pixar ที่ไปไกลจนคว้ารางวัลออสการ์มาแล้ว
ดังนั้นพอจะบอกได้ว่า ตัวรางวัลไม่ได้กีดกันชาติที่เข้าส่งเข้าชิงสาขาแอนิเมชั่นแต่อย่างไร แต่ก็ต้องยอมรับว่า ทาง Pixar ก็เหมารางวัลไปบ่อยที่สุดถึง 8 เรื่อง ส่วน Dreamwork ทางเทคนิคถือว่าได้ออสการ์ไปแล้ว 2 ครั้ง (ครั้งหนึ่งมาจาก Wallace & Gromit: The Curse of the Were-Rabbit ที่ผลงานการสร้างมาจาก Aardman Animations ส่วน Dreamwork เป็นผู้ร่วมผลิตและจัดจำหน่าย) งานจากทาง Disney เอง ก็เพิ่งเคยได้รับรางวัลไป 2 เรื่อง และมีดราม่าจากรางวัลนี้ทั้งสองครั้งซึ่งจะขอกล่าวถึงในช่วงต่อไป
ดราม่าของฝั่งรางวัลออสการ์เกิดขึ้นหนักๆ จากรางวัลในปี 2013 ที่ ‘Frozen’ ได้รับรางวัล แม้ว่าคู่แข่งในปีนั้นอาจจะไม่ถือว่า ‘แข็ง’ มากนัก แต่ก็มีคำถามจากนักวิจารณ์หลายคนว่ามันดูไม่มีตัวเลือกดีกว่านี้ในการเข้าชิง (ตั้งแต่รอบคัดตัว) แล้วเหรอ

ภาพจาก – IMDB.com
พอถึงปี 2014 ที่ออสการ์ตกเป็นของ ‘Big Hero 6’ ก็เกิดคำถามขึ้นมากกว่าเดิม ไม่ใช่จากการที่ Big Hero 6 ได้รับรางวัลเท่านั้น แต่รวมถึงการที่ชื่อของ ‘The Lego Movie’ หายไปจากฝั่งแอนิเมชั่น ณ เวลาช่วงนั้นก็มีการตีความกันมากมายว่าทำไมจึงเกิดปัญหาเช่นนี้ ซึ่งก็มีบางส่วนคิดว่าคณะกรรมการของสถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์ส่วนใหญ่นั้นไม่ใช่คอแอนิเมชั่น หลายครั้งก็แค่เลือกแอนิเมชั่นที่อยู่ในลิสต์หรือที่เห็นตามโฆษณาบ่อยๆ แทนการนั่งดูมาก่อน หรือถ้าเป็นกรรมการที่อยู่ในสายงานแอนิเมชั่นก็จะนิยมงาน ‘ทำมือ’ มากกว่า ทำให้มีการตัดชื่อ The Lego Movie ที่เป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นคอมพิวเตอร์ที่จำลองการเคลื่อนไหวของสต็อปโมชั่นเป็นการดูถูกงาน ‘ทำมือ’ หรือแม้แต่ข่าวลือที่ว่าเพราะตัวภาพยนตร์เรื่องนี้ในช่วงท้ายมี ‘คนจริง’ มาร่วมแสดงด้วยจึงอดเข้าชิงไป
กระนั้นไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตามคณะกรรมการของสถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์ก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ตัดการเข้าชิงเพราะมีคนแสดงและบอกว่าถ้าแอนิเมชั่นงานดีจริงก็มีสิทธิ์เข้าชิงสาขาอื่นร่วมด้วย และยอมรับในการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการให้มีคนจากฝั่งวงการแอนิเมชั่นมากขึ้น (ออกมารับลูกในลักษณะคล้ายๆ กับ ปัญหา ‘Oscar So White’ ที่เคยเป็นข้อครหาว่ารางวัลออสการ์ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้นักแสดงผิวสี)

ภาพจาก – Comingsoon.net
วนกลับเข้าสู่ประเด็นว่าทำไม Your Name จึงไม่ได้เข้าชิง ทั้งที่มีกระแสตอบรับในบ้านเกิดดีมาก รับรายได้ไปมากกว่า 23,230 ล้านเยน มีโอกาสอีกมากที่จะทำลายสถิติของ Spirited Away ที่ทำรายได้สูงสุดในประเทศที่ 30,800 ล้านเยน และกระแสนั้นก็ยังกระจายไปยังประเทศอื่นๆ ด้วย
ก่อนอื่นก็คงต้องย้อนไปเทียบมวยกับไปดูภาพยนตร์ 5 เรื่องที่เข้าชิงออสการ์กัน อย่าง ‘Moana’ ที่หลายคนมองว่าพลอตเรื่องสู้ Your Name ไม่ได้ กระนั้นในงานสร้างที่ต้องลงรายละเอียดเรื่อง ‘ของเหลว’ และ ‘หมอกควัน’ ของเรื่องนี้นั้นออกมางดงามและอลังการมากกว่า Your Name ที่มีช็อตโชว์พลังน้อยกว่า

ภาพจาก – Comingsoon.net
ส่วนเรื่อง ‘Kubo Of The Two Strings’ ด้านรายได้อาจจะด้อยกว่าเรื่องอื่นๆ ที่เข้าชิง ตัวเนื้อเรื่องก็อาจจะง่ายดายแล้วก็มีบรรยากาศที่ติดฟีล ‘อยากเป็นเอเชีย’ แรงเกินไปหน่อย ชวนให้คิดว่าเรื่องนี้เข้ารอบมาได้เพราะออสการ์ชอบงาน ‘ทำมือ’ แต่ขั้นตอนการถ่ายทำของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เหมือนกับที่หลายคนบอกไว้ว่ามันดูน่าสนุกกว่าตัวหนังจริงเสียอีก

ภาพจาก – Movielala.com
‘My Life as a Zucchini / My Life As A Courgette’ หลายคนอาจจะไม่รู้จัก ด้วยความที่มันเป็นหนังพูดภาษาฝรั่งเศสที่มาจากสวิตเซอร์แลนด์ กวาดรางวัลในโซนยุโรปมามาก แต่เพิ่งจะมีโอกาสเข้าฉายในไทยก็เพิ่งจะในงาน World Film Festival of Bangkok ที่จัดไปไม่นานนักนี่เอง คอหนังที่มีโอกาสไปดูเรื่องนี้บอกกล่าวว่ามันเป็นหนังที่ดึงอารมณ์ร่วมได้ดี ทั้งในบรรยากาศของความเป็นเพื่อนและความเป็นเด็กกำพร้า แล้วถ้านั่นยังฟังดูไม่มากพอ ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเป็นตัวแทนของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในการเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมอีกด้วย แม้ว่าจะไม่สามารถฝ่าคู่แข่งจนมาถึงรอบ 5 ชื่อสุดท้ายได้ก็ตาม

ภาพจาก – Thefilmstage.com
‘The Red Turtle’ น่าจะใกล้เคียงกับคำว่า ‘หนังอาร์ต’ ที่สุดในผู้เข้าชิงครั้งนี้ ด้วยความที่ได้รับรางวัล Un Certain Regard Special Prize จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์มาแล้ว รวมไปถึงการที่ภาพยนตร์ทั้งเรื่องไม่ได้มีบทพูดเป็นชิ้นเป็นอัน ใช้เพียงภาพแอนิเมชั่นผสมกับเสียงเพลงและเสียงประกอบในการบอกเล่าเรื่อง ซึ่งต้องถือว่าเป็นการแสดงพลังในการทำงานแอนิเมชั่นอย่างยิง แม้ว่าตัวภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าแป้กสนิทในญี่ปุ่นอาจจะเพราะสไตล์ที่ไม่โดนใจชาวญี่ปุ่นนั่นเอง

ภาพจาก – Collider.com
ส่วน ‘Zootopia’ ที่นักวิจารณ์หลายคนให้เป็นตัวเก็งจ๋าของออสการ์สาขาแอนิเมชั่นครั้งนี้ก็เข้มแข็งทั้งในส่วนการสร้างโลกของสิงห์สาราสัตว์ให้มาอยู่รวมกันแล้วใช้ชีวิตแบบมนุษย์แต่ยังไม่ทิ้งความเป็นสัตว์ป่า รวมถึงพลอตเรื่องที่จะดูจากมุมมองแบบเด็กน้อยก็เพลินกับความน่ารักของตัวละครต่างๆ หรือจะดูแบบตีความเชิงวิพากษ์สังคมที่มีการแบ่งแยกชนชั้นก็ทำได้เช่นกัน จึงไม่แปลกที่กรรมการของรางวัลต่างๆ จะนิยมเรื่องนี้กัน (ล่าสุดแอนิเมชั่นเรื่องนี้ก็เพิ่งได้รางวัล Golden Globe Awards ในสาขาแอนิเมชั่นยอดเยี่ยมมา)
ส่วน Your Name นั้น แม้จะมีจังหวะเล่าเรื่องราวที่ดี แต่ตัวเนื้อหาของเรื่องก็ยังวนอยู่กับเรื่องความรักของตัวเอกทั้งสองคน แม้จะมีการแทรกความคิดแนวคติชนวิทยาของญี่ปุ่นมาบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นหลักที่จะถูกหยิบยกมาพูดถึง (ฉบับนิยายยิ่งชัดเจนว่าตัวเรื่องขับเน้นไปที่เรื่องคู่พระนางมากกว่า) การนำเสนอก็ถือว่าไม่แปลกใหม่มากนัก ด้วยความที่มีภาพยนตร์และการ์ตูนหลายเรื่องที่เล่นพลอตรักข้ามเวลาเช่นนี้มาก่อนแล้ว แม้งานด้านภาพฉากหลังจากมีคุณภาพสมกับสไตล์ของ ชินไค มาโคโตะ แต่ช็อตที่ทรงพลังและน่าจดจำยังมีไม่มากพอเมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆ ที่เข้าชิง
สิ่งที่พูดได้เต็มปากว่า Your Name ทำได้ดีก็คงไม่พ้นความกลมกล่อมในการเล่าเรื่องกับจังหวะของเรื่องที่ทำให้คนดูสามารถนั่งลุ้นและติดตามไปจนจบเรื่อง หรือถ้าพูดสั้นๆ คือ เป็นแอนิเมชั่นที่ดี จนสามารถคว้ารางวัลจากเวทีต่างชาติได้บ้าง เพียงแค่ยังดีไม่พอสำหรับเวทีออสการ์ในปีนี้
ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ว่า Your Name จะสิ้นหวังในเวทีออสการ์แล้วอย่างสมบูรณ์ แต่ต้องลุ้นให้ทางประเทศญี่ปุ่นคัดตัวภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องดังกล่าวเป็นตัวแทนในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมในปีถัดๆ ไป แทน ด้วยเหตุที่ว่ากฎของทางออสการ์จะละเว้นเรื่องปีที่ฉายให้กับภาพยนตร์ที่เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็แปลว่าต้องลุ้นให้ปี 2017 นี้ ทางญี่ปุ่นไม่มีภาพยนตร์เรื่องอื่นที่ฟอร์มเด็ดกว่าออกมาเช่นกัน
และ Your Name ก็ยังมีโอกาสได้รางวัล Annie Awards ที่ถือว่าเป็นรางวัลสายแอนิเมชั่นที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา หลังจากเข้าชิงรางวัลในสายหนังอิสระที่ไม่ต้องแบ่งแย่งรางวัลกับหนังดังของทางอเมริกาเองด้วย แต่ผลจะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องติดตามกันต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก