บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญในเรื่อง
1. สำหรับหลายๆ คน M. Night Shyamalan กลายเป็นชื่อของผู้กำกับที่ชวนให้ลุ้นกันสนุกเสียทุกครั้งว่าหนังเรื่องใหม่ของเขาจะรุ่งหรือร่วง นับจากช่วงสมัยอันรุ่งเรืองที่ชยามาลันเคยได้ฝากชื่อเสียงไว้จากภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ‘The Sixth Sense’, ‘Unbreakable’ หรือ ‘The Sign’ ถึงขนาดที่เคยถูกขนานนามว่า ‘สตีเว่น สปีลเบิร์กคนต่อไปของวงการ’
แต่แล้วก็อย่างที่รู้กันครับว่าพักหลังๆ มานี้ หนังใหม่ๆ ของเขากลับไม่ค่อยได้รับเสียงชื่นชมเท่าแต่ก่อน ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่ตัวชยามาลันเป็นที่รู้จักในฐานะผู้กำกับจอมหักมุม จนกลายเป็นว่าเมื่อเห็นชื่อเขาแปะหราหน้าโปสเตอร์เข้าทีไร คนดูอย่างเราๆ ก็อดเสียไม่ได้ที่จะคาดหวังว่าจะมีการหักมุมสุดเจ๋งในตอนท้ายของหนังความคาดหวังนี้เอง ที่อย่างน่าเศร้า มันก็ได้กลายมาเป็นกับดักที่สร้างภาพจำลอยๆ ให้วาดหวังกันล่วงหน้า แต่เมื่อสิ่งที่หวังไม่ได้รับการสนองตอบก็ไม่แปลกที่เขาเหล่านั้นจะรู้สึกผิดหวัง ‘Split’ ผลงานล่าสุดของเขาเองก็ตกอยู่ในกับดักที่ว่านี้เช่นกัน นั่นคือไม่เพียงแต่มันจะถูกโปรโมตว่าเป็นหนังคืนฟอร์มของชยามาลันเท่านั้น แต่ยังมาพร้อมกับจุดหักมุมที่ชวนให้อึ้ง
2. Split เล่าเรื่องของเด็กสาวสามคนที่จู่ๆ ก็ถูกลักพาตัวโดยชายปริศนา โดยไม่รู้เลยว่าสาเหตุที่เขาจับพวกเธอไปนั้นคืออะไร เด็กสาวถูกขังไว้ในห้องแคบ มีเพียงเตียงให้นอนพัก และห้องน้ำให้ขับถ่าย บ่อยครั้งชายปริศนาก็จะเข้ามาหาพวกเธอ พูดคุยสัพเพเหระบ้าง นำอาหารมาให้บ้าง แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคลิกลักษณะของเขา บ้างก็มาในมาดของชายท่าทางเคร่งเครียด บ้างก็มาในฐานะของแม่ชีหญิงที่คล้ายจะโอบอ้อมอารีย์ บ้างก็มาในท่าทีของเด็กชายวัยไม่ถึงสิบขวบที่อยากรู้อยากเห็นและถามโน่นนี่ด้วยความสงสัย
ผ่านการเผชิญหน้าอย่างแปลกประหลาดซ้ำๆ นี้เอง ที่เด็กสาวทั้งสามก็ได้รู้ว่าชายปริศนาที่จับพวกเธอมาแท้จริงแล้วมีหลายบุคลิกในตัว 24 บุคลิกจากที่เขากล่าวอ้างสับเปลี่ยนเวียนวนกันออกมาเป็นครั้งคราว บางบุคลิกในตัวเขาก็ดูราวกับจะเป็นคนดี บ้างก็น่าเคลือบแคลงสงสัย แต่ลึกๆ แล้วมีบุคลิกหนึ่งซึ่งถูกซุกซ่อนไว้ บุคลิกอันน่ากลัวที่เขาเรียกมันว่า ‘เดอะบีสต์’ ซึ่งมันนี่เองที่เป็นสาเหตุให้เด็กสาวถูกลักพาตัวมายังสถานที่แห่งนี้เพื่อรอวันที่เดอะบีสต์จะปรากฏร่างออกมาและทำอะไรบางอย่างกับพวกเธอ
แน่นอนว่าจุดที่ดึงดูดให้หนังเรื่องนี้น่าสนใจในทันทีคือตัวละครหลายบุคลิก ซึ่งหนังก็เลือกนำเสนอความซับซ้อนในตัวเขาได้อย่างน่าสนใจทีเดียว โดยการยึดโยงโครงสร้างความสัมพันธ์ของแต่ละบุคลิกภายใต้ระบบการปกครองที่พวกเขาเรียกมันว่า ‘ชนเผ่า’ นั่นคือ มีบุคลิกหนึ่งที่จะวางตัวคล้ายกับหัวหน้า คอยจัดสรรเวลาและพื้นที่ให้แต่ละบุคลิกได้ออกมาแสดงตัวตน
แต่ความซับซ้อนที่ว่าเกิดขึ้นเมื่อไม่ใช่ทุกบุคลิกที่จะเห็นพ้องกับคำตัดสินของคนเพียงคนเดียวนี้ และเช่นกันที่บุคลิกที่แม้จะอาศัยอยู่ในร่างชายคนเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะรักใคร่ทุกคนอย่างเท่าเทียม เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะจัดวางความรู้สึกต่อใครในระดับเดียวกัน ซึ่งเมื่อมีการเลือกที่รักมักที่ชังขึ้นระหว่างบุคลิกเหล่านี้ จึงไม่แปลกที่พวกเขาได้แบ่งพรรคแบ่งพวกขึ้น เกิดเป็นเพียงการคัดง้างทางอำนาจ ยื้อยุดฉุดกระชากให้ได้มาซึ่งจุดสูงสุดที่จะมีสิทธิ์ในการกำหนดทิศทางการเมืองใหม่ พูดได้ว่า ภายในจิตใจของชายคนนี้คือภาพจำลองของเกมการเมืองอย่างย่อมๆ ที่ต่างบุคลิกก็อยากจะได้ที่ยืนในแสงไฟ
3. แต่ชยามาลันไม่หยุดแค่ตรงนี้ เพราะนอกเหนือไปจากการแก่งแย่งชิงดีทางการเมืองแล้ว เขายังได้สอดแทรกประเด็นอันเปราะบางอย่างเรื่องปมในจิตใจ (trauma) ของตัวละครในเรื่องที่ประกอบสร้างตัวเขาและหลายๆ อัตลักษณ์ขึ้นมาย้อนกลับไปสมัยเด็กๆ ที่บางคนอาจเคยถูกกลั่นแกล้ง หรือถูกล้อเลียน จนสิ่งๆ นั้นมันได้ยึดเกาะตัวเราอย่างลึกซึ้งและกลายเป็นปมอยู่ในใจ และแม้จะเติบโตขึ้นหรือไม่ต้องเผชิญกับการล้อเลียนนั้นอีกแล้ว ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะสลัดมันได้ง่ายๆ และมันอาจยิ่งใหญ่และแข็งแกร่งเสียจนส่งผลต่อตัวตนที่เราเป็น
จุดนี้เองที่ชยามาลันนำมาขยายมิติให้กับตัวละครของเขา และมันก็ได้อธิบายทุกสาเหตุการกระทำในเรื่อง ทั้งไม่ว่าจะเป็น ทำไมถึงต้องเป็นเด็กสาวกลุ่มนี้ที่ถูกจับ (ยกเว้นไว้คนหนึ่งที่จับพลัดจับผลูโดนพาตัวมาด้วย) ด้วยเพราะภาพที่สะท้อนผ่านตัวเด็กสาวนั้นคือขั้วตรงข้ามกับตัวของชายหนุ่ม เธอทั้งสองต่างดูเป็นเด็กสาวที่โดนปรนเปรอและคล้ายจะอยู่ในประเภทที่คอยยุแหย่และสร้างปมปัญหาให้คนอื่นมากกว่าจะเป็นผู้โดนกลั่นแกล้งเสียเอง ในทางหนึ่งอาจพูดได้ว่า เด็กสาวที่เขาเลือกมาไม่ได้มีลักษณะที่จะตกเป็นเหยื่อของการถูกกลั่นแกล้งใดๆ ได้นั่นเอง
4. เอาเข้าจริง Split อาจไม่ใช่หนังหักมุมชนิดที่พร้อมจะตีแสกให้คนดูหน้าหงาย หรือต้องขบคิดพลิกทฤษฎีกันใหม่เพียงเพราะการเฉลยตอนจบที่ชวนพิศวง มันไม่ได้กลับกระดานทั้งหมดเหมือนที่ชยามาลันเคยทำกับเราใน The Sixth Sense หากแต่สิ่งที่น่าสนใจสุดๆ ของมันคือการขยายจักรวาลของชยามาลันเองต่างหากชยามาลันเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ในขณะที่เขาสร้างภาพยนตร์เรื่อง The Unbreakable เรื่องราวในหนังนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งจากทั้งหมดที่เขามีในมือ หรือก็คือ เขายังมีบทหนังที่พาดเกี่ยวกับหนังเรื่องนั้นที่ยังไม่ถูกสร้าง และ Split ก็คือส่วนหนึ่งที่เพิ่งจะถูกสร้างขึ้นนั่นเอง
ในตอนท้ายที่หนังได้นำเสนอให้เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่จะว่าไปก็เชื่อได้ยากเมื่อมันวางอยู่บนฐานของโลกที่เราอาศัยอยู่ แต่แล้วด้วยการปรากฏตัวเพียงสั้นๆ ของตัวละครหนึ่งที่ได้สร้างคำอธิบายให้กับเราว่า แท้จริงแล้ว Split ดำเนินอยู่ในโลกที่ซูเปอร์ฮีโร่มีอยู่จริงต่างหาก ความล้นพ้นของพัฒนาการทางร่างกายที่ดูยังไงก็เหนือไปจากมนุษย์จึงได้รับความชอบธรรมในทันที และเช่นกันที่มันก็คล้ายจะบอกใบ้ถึงความเป็นไปได้ว่าหนังเรื่องต่อไปของชยามาลันจะเกี่ยวกับอะไร