การเดินทาง ท่องเที่ยวไปต่างประเทศหลายครั้งนอกจากการรู้จักพื้นที่ วัฒนธรรมใหม่ๆ แต่มันยังเป็นการสะท้อน หรือทำให้เราเห็นมุมมองต่อประเทศของเราเช่นกัน
สำหรับหลายๆ คนที่รู้จักรายการ ‘หนังพาไป’ เราคงได้เห็นว่านอกจากการเดินทาง ท่องเที่ยว พาไปพบสิ่งใหม่ๆ แล้ว สองพิธีกรอย่าง ‘บอล–ทายาท เดชเสถียร’ และ ‘ยอด–พิศาล แสงจันทร์’ ยังคอยตั้งคำถามกับสิ่งรอบข้างที่พวกเขาเจอ ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งสาธารณะ สิ่งแวดล้อม ผู้คน วัฒนธรรม ไปถึงโครงสร้างการเมือง ซึ่งตอนนี้ แม้เข้าปีที่ 10 และซีซั่น 5 ของรายการ แต่บอล และยอดก็ยังคงบอกเราว่า เขายังอยากให้รายการนี้ เป็นพื้นที่ตั้งคำถามไปกับสังคม
The MATTER ชวนอ่านบทสัมภาษณ์เต็ม ที่อัดแน่นไปด้วยบทสนทนาระหว่างเรา และสองพิธีกรรายการนี้ ถึงการท่องเที่ยวรอบล่าสุดในซีซั่นที่ 5 การทำรายการตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ความหวังและสิ่งที่พวกเขาเห็นระหว่างการออนแอร์ ไปถึงว่าการเมืองส่งผลต่อรายการ หรือการเดินทาง มองโลก และโครงสร้างที่พวกเขาเรียนรู้ตลอด 10 ปีนี้ อย่างไร
ซีซั่นนี้ต่างจากซีซั่นที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง
ยอด: การเดินทางครั้งนี้ ที่สำคัญมันมีหนึ่งใน bucket list ด้วย จุดมุ่งหมายของการเดินทางครั้งนี้คือไปตามหาความฝันวัยเยาว์
บอล: สองก็คือ พี่คิดว่าซีซั่นนี้เราน่าจะโตขึ้นเนอะ สังเกตจากประเด็นที่เราได้กลับมา อย่างซีซั่นต้นๆ เราก็จะว้าวกับสิ่งต่างๆ ตึกสวย โบสถ์สวย รถตรงเวลา บ้านเมืองสะอาด แต่พอมันผ่านมา 10 ปี เราตั้งคำถามแบบเดิมซ้ำๆ เราเริ่มรู้สึกแล้วว่า การไปแก้เป็นบางจุดอย่างนี้ มันไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ปัญหาที่จะคลุมทั้งหมดก็คือเรื่องของระบบ การเมือง การที่ภาครัฐแต่ละประเทศจะรับฟังปัญหาจากประชาชนมากแค่ไหน
เราบ่นมาสิบปีครับ จนพบว่ารถไฟกว่าจะตรงเวลา นี่คือตรงเวลาหรือยัง มันก็ดีขึ้นแล้ว แต่มันก็ควรจะดีได้เร็วกว่านี้ได้ตั้งนานแล้ว เราก็เลยรู้สึกว่าซีซั่นนี้ สิ่งที่เราได้กลับมาก็คือเรื่องของโครงสร้างทางสังคม เรื่องของปัญหาที่มันใหญ่ขึ้น เพราะเรามองว่าสิ่งที่มันใหญ่กว่าและแก้ปัญหาได้คือสิ่งที่อยู่ข้างบน ซีซั่นนี้ก็อาจหนักขึ้นสำหรับคนที่เพิ่งมาดูเนอะ หนักไหมนะ
ยอด: ก็ดูไม่ค่อยหนักนะ
บอล: ยังดูเบาอยู่ ยังด่าได้แรงกว่านี้อย่างงั้นหรอ (หัวเราะ) ซีซั่นนี้ค่อนข้างหนักไปทางด้านโครงสร้าง อาจดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ไม่ใช่เด็กเหมือนเมื่อสิบปีที่แล้ว
ยอด: พอเหมือนใช้คำว่าโตขึ้นแล้วมันแก่ขึ้นเนอะ โตขึ้นแล้วมันก็เหมือนมองเป็นโครงสร้าง มองเป็นอะไรที่มันเป็นมหภาคอะ ไม่ใช่จุลภาค สมัยก่อนเราอาจมองแค่ตัวเราและสิ่งแวดล้อมรอบๆ เดี๋ยวนี้มันก็อาจมองขึ้นไปถึงระดับโครงสร้างประเทศ โครงสร้างโลกอย่างนี้ หรือว่าการมองไปถึงอนาคตมั้ง พอโตขึ้นมันก็อาจหาสิ่งใหม่ๆ ที่มันคิดไปมากขึ้น
เห็นว่าทริปนี้เจอสถานการณ์ของ COVID-19 ด้วยเหมือนกัน อยากให้เล่าให้ฟังว่า กระทบทริปนี้ยังไง
บอล: จริงๆ ซีซั่นนี้พี่วางแผนเอาไว้สองทริปใหญ่ ทริปแรกที่จะได้เห็นในหนังพาไปก็คือประเทศสถานๆ ทั้งหลาย และก็อิหร่าน อีกทริปหนึ่งคือไปอเมริกากลาง ซึ่งเป็นทวีปที่เหมือนไกลมากในความรู้สึกเรา โควิดนี่แหละที่ทำให้ทริปที่สองพัง พังแบบยกเลิกการเดินทางก่อนกำหนดการเดินทางห้าวันเท่านั้นเอง เพราะว่าทีแรกเราคิดว่าเชื้อโควิดคงยังไปไม่ถึงที่นั่น แต่ข่าวเริ่มมา เจอคนติดคนที่ 1-2 ก็เลยคิดว่า ถ้าไปแล้วเกิดไปติดโควิดที่นั่น หรือประเทศเขาปิดหรือเรากลับบ้านไม่ได้เนี่ย มันน่าจะเป็นเรื่องใหญ่ ก็เลยตัดสินใจต้องหยุดไป โดนเต็มๆ เสียค่าเครื่องบินที่จองเอาไว้ค่อนข้างเยอะ เพราะว่าดันเลือกจองแบบถูกที่สุด ซึ่งมันยกเลิกไม่ได้ เลื่อนไม่ได้
ยอด: จริงๆ โควิดเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก ไม่นึกว่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ในชีวิตเลย โอกาสมันแทบน้อยมากที่จะแคนเซิลการเดินทางก่อนห้าวัน ซึ่งตอนนั้นพี่ได้ข่าวว่าประเทศที่พี่จะไปมันพบเคสแค่สามคนเอง แต่เราก็ประเมินแล้วว่า เออ ดูจากการรับมือของประเทศไทยแล้ว มันคงเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับทุกประเทศ ไม่สามารถรับมือได้ มันแพร่ไปรวดเร็วมาก ไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดีนะตอนนี้ ตอนแรกคิดว่าดีที่ไม่ได้ไป เพราะว่าคงติดโควิดตายไปแล้วเปล่า แต่ตอนนี้คิดว่า เฮ้ย คงได้ฉีดวัคซีนไปแล้วไหม
บอล: วัคซีนยี่ห้อที่เมืองไทยไม่มีด้วย
ยอด: ยี่ห้อที่เลือกได้ด้วย แล้วก็อยู่ใกล้อเมริกาด้วย บินเข้าไปแป๊บเดียว (หัวเราะ)
ทำไมซีซั่นนี้ถึงเลือกประเทศเหล่านี้ ทำไมตอนแรกถึงวางแผนไป
บอล: คือมันเริ่มจากทริปประเทศสถานที่จะได้ออกอากาศ ตอนนั้นคิดว่า เราคิดถึงการเดินทาง อยากทำหนังพาไป เรามานั่งคิดว่าอะไรทำให้เราใจเต้นมากที่สุด ก็นึกไปถึงว่าสิ่งที่เราเคยลิสต์ไว้ว่าตอนเด็กๆ เราอยากเห็นอะไร ซึ่งพอลิสต์แล้วดูเป็นไปได้ก็มีฝันหนึ่งตอนเด็กๆ ว่าเราอยากเห็นการปล่อยจรวด หรือกระสวยอวกาศที่ขึ้นไปสู่อวกาศ สมัยเด็กๆ เราเห็นแต่ในทีวี แล้วเราเป็นเด็กไทย ที่ไม่สามารถสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ได้แน่นอนอยู่แล้ว เราก็ลองดูว่ามันมีที่ไหนที่เราไปดูการปล่อยจรวดได้ เราก็ไปพบว่ามันมีอยู่ที่ประเทศคาซัคสถาน ซึ่งเป็นฐานปล่อยจรวดที่เมืองไบโคนัวร์ (Baikonur) ของรัสเซียเดิม
ซึ่งในช่วงปีที่ไป มันเป็นที่เดียวในโลกที่เป็นจุดที่ส่งคนขึ้นและลงจากอวกาศได้ เพราะว่าอเมริกาหยุดการส่งคนแล้ว ถ้าอเมริกาจะส่งคน เขาก็จะส่งคนมาที่ไบโคนัวร์นี้ ฉะนั้น ที่นี่จึงเป็นที่เดียวที่ความฝันพี่จะเป็นจริงได้ และในการส่งคนของรัสเซียขึ้นไปเนี่ย มันจะมีพิธีกรรมในการส่งคนก่อนที่จะเอาคนขึ้นไปจริงๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่หาดูที่ไหนไม่ได้แล้วในโลก เพราะอเมริกาไม่มีพิธีกรรมแบบนี้ แต่รัสเซียจะมีความเชื่อบางอย่าง เช่นถ้ายูริ กาการิน (Yuri Gagarin) เคยทำอะไร นักบินรุ่นหลังๆ ก็จะทำสิ่งนั้นๆ คล้ายๆ กัน เพราะยูริกลับมาอย่างปลอดภัย
มันมีเรื่องเล่าว่า ก่อนที่ยูริจะขึ้นบิน เขาปวดฉี่ เขาก็เลยไปยืนฉี่ที่ล้อรถข้างๆ ฐานยิงก่อนเข้าไปในจรวด ตอนนี้ นักบินอวกาศทุกคนก็จะมีธรรมเนียมลักษณะแบบนี้ ถึงแม้จะไม่ได้ฉี่จริงๆ แต่เขาก็ทำธรรมเนียมเพื่อที่จะได้กลับมาอย่างปลอดภัย เราเลยรู้สึกว่า เฮ้ย มันน่าตื่นเต้นมาก และถ้าเราไม่ไปในช่วงที่เรายังไปได้ เราจะไปเมื่อไหร่
นี่คือจุดเริ่มต้นในการวาดเส้นทางในโซนนี้ ทำให้เกิดเส้นทางว่าเริ่มจากอิหร่านแล้วขึ้นไปเรื่อยๆ ผ่านประเทศสถานๆ จนไปจบที่คาซัคสถาน และอีกอย่างก็คือประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่เรารู้สึกว่ามันห่างไกลจากตัวเรามาก คนอื่นอาจจะสนใจ แต่สำหรับพวกพี่เป็นอะไรที่เราไว้อันดับท้ายๆ อยู่เสมอ เราเลยคิดว่าถ้าเราเอาไว้อันดับท้ายๆ เราคงไม่มีโอกาสได้สัมผัสแน่เลย เพราะงั้นไปสัมผัสสิ่งที่เรามองข้ามก่อนดีกว่า แล้วปรากฏว่ามันเป็นเพชรเม็ดงามที่มีอะไรซ่อนอยู่เต็มภูมิภาค น่าตื่นเต้นมาก
ยอด: ส่วนอเมริกากลาง ความจริงตอนนั้นงงมาก เพราะมันมีโปรโมชั่นไปเม็กซิโก ความจริงมันก็แพงอยู่ แต่ถ้าเทียบกับราคาปกติแล้วมันถูกมาก เราก็เลยจองตั๋วไป แล้วพอไปเม็กซิโกก็คิดว่าในเส้นทางนั้นควรจะไปที่ไหนอีก ก็เลยจะไปคิวบา คอสตาริกา
บอล: ซึ่งที่อยากไปดูในอเมริกากลางหลายๆ ประเทศก็คือ หลายประเทศตรงนั้นไม่มีทหาร ซึ่งคำถามนี้มันดูเหมือนว่าพวกพี่เอี่ยวการเมืองหรือเปล่า แต่เราโตมาในประเทศที่เรารู้สึกว่า แค่ใครถามว่าทหารมีไว้ทำไม ก็แทบจะโดนด่าว่าไม่เห็นเหรอ ทหารต้องปกป้องประเทศ เราต้องไปเกณฑ์ทหาร ไม่เต็มใจคุณก็ต้องเรียน รด.เพื่อเลี่ยงทหาร แล้วปรากฏว่ามันมีหลายประเทศที่ไม่มีกองทัพ เราไม่ได้อยากจะแอนตี้ระบบกองทัพนะ แต่เราอยากรู้ว่าในเมื่อเขาไม่มีทหารแล้วเขาอยู่ได้อย่างไร เขาเอางบที่จะไปซื้ออาวุธ มาพัฒนากับระบบสาธารณสุข การศึกษา หรือเอาไปทุ่มกับสิ่งแวดล้อม
อย่างคอสตาริกา เขาดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมดีมาก แต่เขามีการดูแลความมั่นคงในประเทศอย่างไร พี่คิดว่าถ้าเราได้คำตอบแบบนี้ เราอาจพอมองเห็นโมเดลว่ากองทัพไทย หรือว่างบที่คนไทยบางจำนวนไม่เห็นด้วยเนี่ย เราจะมี balance ให้มันได้อย่างไรบ้าง ซึ่งโควิดทำให้เราไม่ได้ไป และทำให้เรายังต้องมีกองทัพ และมีงบซื้ออาวุธต่อไป (หัวเราะ)
ยอด: แต่ถ้าพูดให้แฟร์ๆ ตอนหาข้อมูล การไม่มีกองทัพมันก็มีข้อเสีย ไม่ใช่มีแต่ข้อดีแบบที่พี่บอล หมือนกับว่าภูมิภาคนี้มันตกอยู่ภายใต้การปั่นป่วนมาก เพราะว่าอเมริกาเข้าไปแทรกแซงการเมือง เข้าไปทำอะไรหลายอย่างมากในยุคที่นึง ถึงเกิดตำนานของ Che Guevara ขึ้นมา ก็ทำให้เราอยากไปคิวบาอีก แต่คิวบาก็สร้างกองทัพที่เข้มแข็ง เป็นประเทศที่สามารถท้าทายอเมริกาได้แบบหอกข้างแคร่ที่เรียกว่าร้ายกาจสุดๆ ขณะที่บางประเทศที่ไม่มีทหารแต่ว่าเขาก็มีรัฐธรรมนูญกำหนดว่า เขาสามารถเอาทหารอเมริกาอยู่ภายใต้การปกป้องของอเมริกา มันก็มีข้อเสียนะ ไม่ได้มีแต่ข้อดี
บอล: แต่มันน่าสนใจใช่ไหมล่ะ
ยอด: เออ มันน่าสนใจ
พอตอนนี้ หลังจากทริปเม็กซิโกที่ล่มไปก็ไม่ได้ไปไหนอีกเลย พอตอนนี้คิดถึงการท่องเที่ยว คิดถึงการเดินทางกันบ้างไหม
ยอด: นี่แค่เดือนหน้าก็อยากออกไปทะเลบ้างแล้วนะ เออ จะไม่ไหวแล้ว โชคดีที่ช่วงนี้ต้องทำงานไงครับ ต้องตัดต่องาน มันก็เลยมีอะไรที่ยังคุมยังกดมันเอาไว้ได้ เราก็เบี่ยงเบนความสนใจไปที่งาน แต่ถ้าไม่ได้ทำงาน นี่ป่านนี้พี่ว่า โห เออเนอะ คงหาทางไปแล้วอะ รู้สึกอึดอัดมาก
บอล: มันก็คิดถึงเนอะ มันก็คิดถึงภาษาที่เราฟังไม่ออก คิดถึงอาหารที่เราไม่เคยกิน เพราะเวลาเราไปเราต้องสัมผัสสิ่งเหล่านี้ตลอด และประสาทสัมผัสเราต้องถูกเปิดอยู่ทุกอย่าง เวลาเราเดินทางไปที่ต่างถิ่น แต่ว่าประสาทสัมผัสพวกนี้มันถูกปิดมาปีกว่าแล้ว มันก็เลยรู้สึกอึดอัดเนอะ แต่ก็โชคดีอย่างที่พี่ยอดบอกว่า พี่ยังต้องตัดงานอยู่ แล้วก็ตัวงานมันก็เป็นงานที่เราก็เหมือนไปเที่ยวทุกครั้งที่เราเปิดคอมพิวเตอร์เข้าไปตัดงานอยู่ มันก็เลยพอจะชดเชยสำหรับตัวพวกพี่ไปได้บ้างครับ
ยอด: เอาจริงๆ พี่สองคนนี่โชคดีมากนะ ในช่วงที่เขาเป็นโควิดกัน แล้วก็ทุกอย่างมันแทบจะพังทลาย คนตกงาน คนนู่นนี่ แต่พี่ดันมีงานทำ เฮ้ย มันเป็นสิ่งที่แบบ เห็นคนตกงาน เห็นคนไม่มีงานทำ ก็รู้สึกแบบเราโคตรโชคดีเลยอะ ที่ช่วงนี้เรามีงานทำ ยังมีเงินบ้าง
บอล: มันยังมีจุดที่ให้เราวางหัวใจเราไว้กับงาน คือถ้าเกิดคนที่เขาไม่มีงานแล้ว มันก็จะหวั่นไหว ฟุ้งซ่าน กังวล แต่ของพี่ นอกจากมีเดดไลน์ที่รออยู่แน่ๆ ว่าต้องทำส่ง ในแต่ละวันเราก็หลุดเข้าไปในงาน มันก็ทำให้พบว่าเรามีอะไรที่เราไปโฟกัสอยู่ ทำให้จิตใจเราหม่นหมองและค่อนข้างโซซัดโซเซน้อยลงกว่าคนอื่นๆ ก็ถือว่าโชคดีมากที่เป็นช่วงเวลาตรงกันขนาดนี้
พูดถึงโควิดแล้ว หลังโควิดมันก็น่าจะมีหลายอย่างที่เปลี่ยนไป อย่างคำว่า new normal กับการเดินทาง พี่ๆ มองว่าการท่องเที่ยวหลังโควิดจะเปลี่ยนไปไหม
บอล: พี่คิดว่าสิ่งหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นก็คือ เราอาจต้องเที่ยวในแบบที่แพงขึ้น เพราะว่าตอนที่พี่หาข้อมูลไปแถบเม็กซิโก แถบอะไรอย่างนี้ หลายๆ ประเทศ การท่องเที่ยวเริ่มบูม และเราก็จะไปเจอพวก Airbnb ใหม่ๆ ที่เพิ่งเปิด รู้เลยว่าเขาเพิ่งลงทุนสร้างห้องแบบนี้ขึ้นมา สวย ดูมีความหวัง มีความฝันเต็มไปหมด แล้วเราก็คิดว่า พอมันผ่านมาระยะหนึ่ง เขาจะยังไหวไหม เขาจะยังรอดหรือเปล่า พี่คิดว่ามันต้องมีล้มหายไปบ้างอีกไม่ใช่น้อย
รถเมล์ที่เป็นรถเมล์ราคาถูกที่วิ่งวันหนึ่งมีสิบเที่ยว พอนักท่องเที่ยวไม่มี วันนี้จะวิ่งสักกี่เที่ยว คนก็ต้องเต็ม ค่าตั๋วก็อาจแพงขึ้นได้ พี่ก็เลยคิดว่าช่วงที่เปิดประเทศใหม่ๆ อาจมีความลำบากสำหรับคนที่อยากเที่ยวแบบแบ็กแพ็กพอสมควร เพราะทุกอย่างอาจยังไม่ฟื้น แต่ก็มีคนบอกว่า ไม่แน่หรอก ถ้าเกิดการท่องเที่ยวมันกลับมาบูมอะ ทุกคนอาจจะรีบฟื้นขึ้นมา เพราะอยากหารายได้เข้าให้ตัวเอง มันอาจเที่ยวง่ายกว่าเดิมก็ได้ อันนี้ก็ต้องรอดูว่าสถานการณ์โลกจะเป็นอย่างไร
ยอด: จริงๆ มันน่าจะเป็นกราฟ ยังไงก็คือพอมันต้องเดินทางหรือเปิดประเทศกันทั่วโลกได้แล้ว มันก็ต้องมีกราฟขึ้นที่ราคาทุกอย่างมันต้องถีบตัวสูง แต่พอคนเริ่มเดินทางได้มากขึ้น มีคนแข่งกันมากขึ้น มันก็คงจะต้องลง เอาจริงๆ มันคงจะขึ้นสูงแล้วก็รีบลงเร็วเลยแหละ พี่ว่ามันจะเป็นกราฟแบบนี้ แต่ต้องรอจังหวะตอนที่ลง เพราะงั้นรีบทำงานกันก่อน รีบทำงานเก็บเงิน เก็บเงินๆ
กลับมาพูดถึงรายการ ตอนนี้ก็มาถึงซีซั่นที่ห้าแล้ว 10 ปีแล้ว พี่มองการไปเที่ยวของตัวเองและมองการเติบโตของรายการอย่างไรบ้าง จากซีซั่น 1 ถึงซีซั่น 5
บอล: รายการเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างใช่ไหม สิบปี พี่คิดว่าส่วนหนึ่งรายการน่าจะโตไปตามอายุของพวกพี่นะ เป็นผู้ใหญ่ตามวัย มีวุฒิภาวะขึ้น ปากเสียขึ้น (ขำ) พี่ก็คิดว่ารายการมันโตไปตามความสนใจของพวกพี่ เมื่อก่อนซีซั่นแรกๆ เราแค่อยากไปเห็น เวลาเราเจอสถานที่ท่องเที่ยว เราก็จะไปตามที่ฮิตๆ ของเขา เพราะครั้งหนึ่งเราก็อยากไปยืนไปเห็นตรงนั้น แบบที่คนอื่นๆ เขาไปอย่างนี้ แต่ตอนนี้มันเริ่มรู้สึกว่า เราไปเจอโบสถ์ที่ใหญ่ที่สุดมาแล้วอะ เราก็จะไปว้าวอีกครั้งที่สิบ เราก็คงเริ่มชินแล้ว เราก็เริ่มค้นหาหรือตั้งคำถาม มองหาเรื่องที่มันต่างออกไป และมันตอบโจทย์คำถามของเราตอนนี้
รายการมันก็จะดูไม่ได้ตื่นเต้น ว้าวเหมือนสมัยก่อน แต่พี่คิดว่าประเด็นที่เราสนใจมันน่าจะลึกขึ้น หรือว่ามองเป็นผู้ใหญ่ มองเป็นภาพรวมมากขึ้น ซึ่งก็โชคดีมีผู้ชมจำนวนหนึ่งที่เริ่มดูตั้งแต่ซีซั่นหนึ่งอะ คิดว่าเขาก็น่าจะเติบโตไปพร้อมกับพวกเรานี่แหละ แก่ไปด้วยกันเนอะ
ยอด: ความจริงก็ไม่น่าแปลกใจเนอะ พอดูคอมเมนต์หรือกระแสตอบรับหลังจากเทปหนึ่งออนแอร์ไปเนี่ย คอมเมนต์ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบบคิดถึง โตมากับพวกพี่ อย่างนี้ ลูกค้าใหม่ๆ แทบไม่มีเลย มีแต่คนเก่าเนี่ย (หัวเราะ) จริงๆ โตไปด้วยกัน หมายถึงว่ากลุ่มคนที่เคยออกเดินทางมาด้วยกันกับเรามาตั้งแต่ซีซั่นแรกเนี่ย เขาก็โตไปพร้อมกับเรา และเหมือนมันก็กลายเป็นความทรงจำร่วม เหมือนเราเข้าไปอยู่ในความทรงจำของเขา ไปเติบโตพร้อมเขา เขาใช้เรา และเราก็เป็นส่วนหนึ่งของเขา และเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของเรา มันก็เลยอาจสื่อสารกันได้ง่าย คอมเมนต์ว่าไม่สนุกเลย รายการอะไรไม่เห็นเข้าใจ มันจะไม่ค่อยมีแล้ว มันจะมีแต่แบบคิดถึงอะ ดูตั้งแต่ม.2 ตอนนี้จบทำงานแล้ว
บอล: คนที่เขาไม่ชอบเขาก็จะเลิกดูไปตั้งแต่ต้นแล้วไง ก็จะเหลือแต่แฟนๆ ที่อยู่กันมา
ยอด: มันก็จะเห็นชัดเจนมากขึ้นว่า คนที่เข้ามาดูมันจะเติบโตไปพร้อมกับเรา และการสื่อสารมันจะง่าย เพราะเขาก็จะมีพื้นมาจากดูของเราในซีซั่นแรกๆ เวลาโยนประเด็นอะไรไป มันจุดกันติดง่ายมากๆ เลย ไฟมันก็ลุกพรึ่บเลย
อย่างอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เติบโตมากับรายการ แล้วคิดว่าอะไรคือสิ่งที่ยังเหมือนเดิมตั้งแต่ซีซั่น 1
บอล: พิธีกรเนอะ (หัวเราะ) สิ่งที่ยังเหมือนเดิม พี่คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของการตั้งคำถามผ่านสิ่งที่พวกเราเห็นด้วยมั้ง ซึ่งเมื่อสิบปีที่แล้วรายการโทรทัศน์ที่เป็นรายการท่องเที่ยว จะไม่มีใครพูดแบบที่เราพูด หรือไม่มีใครตั้งคำถามหรือข้อสงสัยไปถึงระบบการเมือง ระบบขนส่ง อะไรพวกนี้เหมือนเรา ตั้งแต่ซีซั่นหนึ่งแล้ว เราคิดว่า ไหนๆ เราได้พูดครั้งหนึ่งมันมีคนฟังเราเป็นหมื่นเป็นแสนคน ทำไมเราถึงจะไม่พูด ยิ่งไปถึงต่างประเทศ คุณยิ่งต้องเห็นถึงความแตกต่างมากกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ ทุกคนไปก็ตั้งคำถามแล้วว่า เราเห็นบ้านเมืองสะอาด เราเห็นรถไฟตรงเวลา เราเห็นระบบการเมืองดี ก็จะต้องแบบแล้วบ้านเราล่ะ ทำไมไม่เป็นแบบนี้ แต่ไม่มีใครพูด ดังนั้น พอมันผ่านมาสิบปีแล้วทุกครั้งที่เรามีโอกาสได้พูดในแต่ละซีซั่น
พี่เลยคิดว่ายังไงเราก็ต้องพูด และการพูดเนี่ย ก็ไม่ใช่ว่าแค่พูดเอาสะใจเนอะ มันมีหลายครั้งที่แค่การพูดถึงของเรามันไปสร้าง ไปจุดประกายคนบางคนที่ตั้งคำถามแบบเดียวกับเรา
อย่างในซีซั่น 1 เราเคยพูดถึงเรื่องลานดูเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิเนอะ ซึ่งในช่วงปีนั้นมันมีจุดดูเครื่องบินที่ถูกออกแบบไว้ แต่ว่าทางสนามบินก็เอาไปใช้เป็นร้านอาหาร ทำให้คนทั่วไปไม่สามารถดูเครื่องบินได้ เราเล่าเรื่องนี้เพราะมันเป็นความฝันของเราเอง แต่แค่การที่เราพูดถึงผ่านรายการโทรทัศน์ไปหนึ่งครั้ง มันทำให้เกิดการรวมตัวกันของคนกลุ่มหนึ่งที่เขาชอบดูเครื่องบินเหมือนกัน ทำให้ตรงนั้นเป็นจุดที่ทำให้พวกเขารู้ว่า เฮ้ย มันมีคนคิดเหมือนเรา และพูดออกทีวีด้วย มันทำให้ทุกๆ คนเขามารวมกัน และสามารถที่จะประชุม วางแผน รวมทั้งทำหนังสือไปถึงการท่า จนตอนนี้เราได้พื้นที่ดูเครื่องบินมาส่วนหนึ่งที่คนสามารถขึ้นไปดูเครื่องบินได้ ถ้าไปที่สนามบินสุวรรณภูมิจะเห็นว่ามันจะมีลานขึ้นไปดูเครื่องบินด้านบน มันเปิดขึ้นไม่ใช่เพราะพวกพี่นะ แต่เกิดจากคนกลุ่มนี้ที่เขาดำเนินการต่อไปจากที่เราพูดในรายการ
เพราะงั้น สิ่งนี้เราก็จะยังพูดต่อไป ไม่ว่าจะมีอีกกี่ซีซั่น เพราะเราคิดว่าถ้าเรามีโอกาสพูดเราควรพูด เรามีโอกาสตั้งคำถามเราควรถามครับ
ยอด: เอาจริงๆ สิบปีถัดมาแล้ว เราก็คิดว่าเราเหมือนเดิม แต่ความจริงแล้วมันก็มีความแตกต่าง และพี่ก็เชื่อว่าเราไม่สามารถเป็นคนเดิมกับเมื่อสิบปีที่แล้วได้ แต่สิ่งที่ยังเหมือนเดิมก็คือการรับรู้ของผู้คน พี่คิดว่ามันยังมีในแนวทางเดิม แบบไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจแบบเดิม ก็ยังใช้วิธีการแบบเดิมที่มาแบบไม่เข้าใจ แล้วก็ฉันจะพูด ฉันจะอย่างนี้ ฉันไม่ผิด แกน่ะผิด เหมือนมันก็เห็นได้ว่ามันยังมีคนที่เป็นแบบนี้อยู่ และก็มีคนที่เปลี่ยนไป มีคนที่พร้อมจะยอมรับได้ว่า ประเด็นนี้มันเอาไปต่อยอดได้ ทำไมถามอย่างนี้ เอ้า คิดเหมือนกัน อะไรอย่างนี้
สิ่งที่เห็นได้ของรายการอะ มันก็จะมีคนหลากหลายที่เข้ามา ซึ่งเป็นเรื่องดีมากเลย เหมือนมันเป็นการถกเถียงแล้วเราเฝ้าดูว่ามันเป็นอย่างไร ในระยะเวลาสิบปีที่พี่เห็นเนี่ย มันมีคนบางคนที่ตอนเริ่มแรก พี่ทำเรื่องถุงพลาสติก เขาถามว่าใครจะเป็นคนได้รับเงินจากการเก็บค่าถุงพลาสติก จากการที่เลิกใช้ถุงพลาสติกเนี่ย
เขาก็ต่อต้าน แต่พอผ่านระยะเวลามาเนี่ย คนเดิมนี่แหละที่เคยคอมเมนต์ตั้งคำถาม เขากลับมาสนับสนุน ว่าเออ เรื่องนี้มันมีทางออก มันมีการถกเถียงมาในช่วงระยะเวลาที่ออนแอร์ไป และจนมาออนแอร์อีกครั้ง เขาถกเถียงจนได้มีพัฒนาการขึ้น มันน่าสนุกดีที่ได้เฝ้ามองเรื่องพวกนี้ที่ได้เห็น แล้วอีกสิบปีเขาจะเปลี่ยนไปอย่างไรอีกนะ ก็โยนประเด็นนี้กลับไปอีก อย่างนี้
บอล: อย่างที่พี่ยอดพูด อย่างแค่เรื่องถุง เราพูดทุกซีซั่น และเราก็พบว่า คนดูเรามีความคิดเปลี่ยนไปทุกซีซั่นจริงๆ ตอนพูดครั้งแรกๆ เมื่อ 10 ปีที่แล้วพี่โดนด่านะ คือผู้คนไม่เข้าใจ ไม่เข้าว่าทำไมๆ มันเป็นปัญหาอย่างไร แล้วเวลาเขาเถียงกันยกที่หนึ่งน่ะ คนที่สนับสนุนเรื่องการลดใช้ถุงพลาสติกก็จะแพ้คนที่อยากใช้ถุงพลาสติกตามเดิมอยู่ ยังเอาความสะดวกสบายเป็นที่ตั้ง พอมาเถียงกันยกที่สองที่สาม พี่พบว่าสังคมมันเริ่มเปลี่ยน พอมันมาถึงยุคนี้ ยุคที่นโยบายรัฐบาลก็เปลี่ยน มันทำให้ข้อถกเถียงมันเข้าไปสู่ข้อสรุปที่ใกล้เคียงความเป็นอุดมคติมากขึ้น คนเข้าใจแล้วว่าเราควรลดการใช้ถุงให้น้อยลงถ้าเกิดมานั่งถอดสิ่งที่หนังพาไปพูดสิบปี จริงๆ มันก็เหมือนเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์เนอะ สำหรับพี่ ว่าในแต่ละปีที่เราออนแอร์มันมีประเด็นทางสังคมอะไรบ้าง สังคมไทยสนใจเรื่องอะไรที่พี่ๆ พูดๆ บ่นๆ ไป
แล้วสิ่งนี้บอกอะไร มันบอกว่าสังคมควรเปิดโอกาสให้ตั้งคำถาม และเปิดการถกเถียงในพื้นที่ปลอดภัยให้มากที่สุด เพราะหนึ่งครั้งเวลาเราพูดออกไป ความคิดมันจะเป็นนายเราใช่ไหม พอยกเลิกหยุดการเถียงปั๊บ เราต่างคนก็ต่างเข้ามุมไป และก็ไปคิดกับตัวเอง ว่าเขาบอกเรามาอย่างไร เปลี่ยนไหม พอเถียงครั้งที่สอง พี่ว่าทุกคนจะขยับจากจุดเดิมเข้ามา พอเถียงกันหลายๆ ครั้ง ก็จะมาอยู่จุด balance ได้
สำหรับหนังพาไปในการถกเถียงเรื่องนี้ มันบอกว่าถ้าสังคมไม่เปิดโอกาสให้เราตั้งคำถาม ถกเถียงอะ สังคมจะไม่เดินไปไหนเลย ปล่อยให้เถียงเถอะ แล้วมันจะใกล้คำตอบไปทุกๆ ครั้งที่เราเกิดข้อถกเถียง
ปกติเราจะเข้าใจว่ารายการทีวีมันค่อนข้างเป็น one way communication สื่อสารทางเดียว เราถ่ายแล้วมีคนดู แต่จากที่พี่ๆ เล่ามา เรารู้สึกว่ามันมีการถกเถียงกับคนที่ดู มีการพูดคุยกับคนที่ดูเหมือนกันใช่ไหม
ยอด: น่าจะเป็นอย่างนั้นเนอะในยุคนี้ ก็พี่ก็ผ่านการเรียนรู้มาจากการทำหนังพาไปเหมือนกัน
บอล: ในยุคแรกๆ ที่ทำ เหมือนกับในสมัยนั้นมันยังไม่มีโซเชียลมีเดียเยอะๆ เราก็มีการถกเถียงผ่านอีเมล ซึ่งการถกเถียงมันก็ไปได้ไม่ไกล เพราะว่าถามตอบกันไปไม่กี่ครั้งมันก็ต้องจบใช่ไหมครับ ตอนนี้มันมีโซเชียลที่พอออนแอร์ปั๊บ เราสามารถรับรู้ฟีดแบ็กได้เลยว่าเขาคิดอะไร ประเด็นนี้เขาเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย รวมทั้งมีคนอื่นมาช่วยเถียงกลับไปกลับมาด้วยซ้ำ ทำให้เห็นมุมมองกว้างขึ้น อันนี้ก็คือว่ามันก็เริ่มเป็นการสื่อสารสองทางละเนอะ และก็เริ่มดูเป็นสื่อที่เป็นสื่อสาธารณะมากขึ้นในยุคที่ปัจจุบันเราสามารถสื่อสารและผู้คนพูดคุยได้มากขึ้น
จริงๆ ที่เมื่อก่อนมันเป็น one way communication มากๆ อย่างแค่เราพูดเรื่องลานดูเครื่องบิน มันดูเป็นความหวังให้กับทุกคนได้ แต่ยุคนี้ พลังมันไปอยู่ที่ทุกๆ คนแล้ว มันไม่จำเป็นต้องรอให้คนที่อยู่หน้าจอพูด คนที่อยู่หน้าจอพูดเดี๋ยวนี้มันยังไม่มีพลังเท่ากับคนที่นั่งสามารถพูดผ่านเฟซบุ๊กแล้วทุกคนฟัง ตอนนี้เราไม่ได้ฟังว่าใครพูด ทุกคนฟังว่าเขาพูดอะไร คนรุ่นใหม่นะ พี่รู้สึกว่าในสังคมรุ่นใหม่อะ มันก็เลยทำให้รู้สึกว่า เออ มันไม่ใช่ one way communication อีกต่อไปครับ คนที่อยู่หน้าจอ ไม่จำเป็นต้องพูดแล้วถูกต้องทุกอย่าง ถ้าคุณพูดผิด คนรุ่นใหม่ก็พร้อมก็เข้าไปตรวจสอบ หรือโต้ได้ทันที
พี่ๆ พูดว่าช่วงนี้มันมีช่องท่องเที่ยวเยอะ ก็น่าจะเห็นทางยูทูบ มี vlog มียูทูบเบอร์ มองว่าหนังพาไปเราแตกต่างจากช่องนั้นอย่างไร และมองการเติบโตของคอนเทนต์ท่องเที่ยวที่บูมมากๆ อย่างไรบ้าง
บอล: มีคนถามหลายครั้งเหมือนกันเนอะ ว่ามันมียูทูบเบอร์น้องๆ เกิดขึ้นมาเต็มไปหมด แล้วมีคนตามคลิปหนึ่งเป็นล้านเนอะ ของเราลงมาสามปียังอยู่ที่แสนกว่าๆ แล้ว ของตัวเองกับแม่ก็ห้าหมื่นแล้วนะ (หัวเราะ) ผู้ชมจริงอีกที่เหลือ คือมีคำถามแบบนี้ แรกๆ เราก็รู้สึกว่า เอ๊ะ เราจะมองเรื่องนี้อย่างไรดี เราจะรู้สึกกับเรื่องนี้อย่างไรดี แต่พอสักพักเราเริ่มถามตัวเอง พี่พบว่าเนี่ยคือสิ่งที่เราอยากให้มีมาตั้งแต่สิบปีที่แล้ว
เพราะจุดเริ่มต้นของหนังพาไปที่เราเลือกที่จะไปเล่าเรื่องแบบนี้ ที่เลือกวิธีการเดินทางเหล่านี้ในรายการ มันคือสิ่งที่เราอยากเห็นเมื่อสิบปีที่แล้ว แต่รายการทีวีในยุคนั้นไม่มีใครเล่าเรื่องแบบเรา หรือเดินทางในแบบที่เราเดินทาง ไม่มีใครไปนอนโฮสเทล หรือว่าไม่มีใครไปเล่าหรอกว่าเราจะขึ้นรถเมล์ในปารีสอย่างไร เขาเก็บเงินอย่างไร นั่นคือสิ่งที่เราอยากเห็น แล้วในวันนี้ น้องๆ เนี่ยสามารถที่จะทำคลิปเหล่านี้ขึ้นมาได้ จริงๆ พวกพี่ก็สนุกนะ พวกพี่ก็ตามดู แล้วมันจะเห็นว่า ยูทูบเบอร์เหล่านี้ ไปไกลกว่าที่ท่องเที่ยวดังๆ แล้ว
เพราะงั้น การพาไปดูมุมเล็กๆ ในประเทศที่เราคาดไม่ถึง พาไปตกปลาในญี่ปุ่น พาไปเก็บส้มในไต้หวัน คือเนี่ยเราอยากเห็นมานานมากแล้วครับ และหนังพาไปก็พยายามจะทำ เราก็ทำได้เท่านี้ และตอนนี้ก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องดีที่คอนเทนต์พวกนี้มันหาได้ง่ายขึ้น เข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องผ่านสถานีโทรทัศน์ แบบที่เราต้องในสมัยก่อน และน้องเดี๋ยวนี้ก็เก่งกันมากอะ เล่าเรื่องเก่ง ถ่ายเก่ง
ยอด: พี่บอลพูดถึงเรื่องคอนเทนต์ แต่เราขอพูดถึงเรื่องสมัยก่อน วงการทีวีมันจะถูกครอบงำด้วยทุน มันก็ไม่ให้โอกาสผู้ผลิตรายเล็กๆ หรือผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ คนที่จบสายนี้ หรือคนที่อยากทำงานสายนี้ต้องไปทำงานบริษัทใหญ่ๆ ถึงจะมีช่องทางที่จะออกงานของตัวเอง หรือต้องต่อสู้เพื่อที่จะขายไอเดียของตัวเอง บางที มันไม่สามารถทำได้เลย และก็ต้องไปถูกกลุ่มทุนที่มันหาประโยชน์ เราจะเห็นว่าบริษัทใหญ่ๆ ที่ได้แอร์ไทม์
เพราะฉะนั้น ทีวีสาธารณะแบบ ThaiPBS ที่รายการหนังพาไปออกอากาศเป็นการทำลายพวกนี้ แล้วพอยุคที่ ช่องออนไลน์หรือสื่อโซเชียลบูมมาก และตอนนี้มันทำลายช่องทางพวกนี้ไปหมด แบบที่มันเป็นความฝันที่… มันอาจไม่ใช่ความฝัน แต่เป็นอุดมการณ์ที่พี่อยากเห็นมากอะ ในสมัยเมื่อสิบปีที่แล้ว เพราะว่าทุกคนสามารถผลิตสื่อเองได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นทุนใหญ่ หรืออยู่ภายใต้ร่มเงาเขาใคร คุณสามารถมีไอเดียแล้วก็ทำเลย บางคนทำวิดีโอคนดูไปตั้งสิบล้าน แบบที่อาจจะไม่ได้ลงทุนอะไรมากเลย แต่คนชอบ
บอล: ซึ่งถ้าเกิดว่าด้วยโมเดลหรือรูปแบบการทำแบบเขา มันไปอยู่ในทีวี มันไม่มีวันที่จะได้ออกทีวี แต่ว่าเขาสามารถจับหัวใจคนสิบล้านคนที่รอดูอะไรแบบนี้ พี่ก็เลยคิดว่า พอโลกมันมีโซเชียลมีเดีย มันทำลายหรือว่ามันนิยามคำว่าทีวีสาธารณะขึ้นมาใหม่เลยครับ ต่อให้ ThaiPBS บอกตัวเองว่าเป็นสื่อสาธารณะ แต่ในรูปแบบของทีวีมันมีกฎเกณฑ์ อะไรออกได้หรือไม่ได้ ต้องเรื่องแบบไหน คุณภาพต้องแบบไหน ต้องถ่ายแบบไหน พอมันมีออนไลน์ อันนี้คือใครอยากพูดอะไรพูดไปเลย และคนที่จะตัดสินว่าถูกหรือผิด ชอบหรือไม่ชอบ คือผู้ชมจริงๆ ดูยอดวิว ดูจากความนิยม
พี่คิดว่า ยุคนี้เป็นยุคที่มีการเกิดขึ้นของสื่อจากคนตัวเล็กๆ อย่างนี้ มันดี มันเหมือนดอกไม้ที่บานขึ้นมาพร้อมๆ กันทั้งหุบเขา ทั้งที่เมื่อก่อนเราหาดอกไม้สักดอกในภูเขามันยังยาก มันเป็นเรื่องดีมาก
มองว่าตัวเองจะย้ายไปอยู่ในแพลตฟอร์มแบบนั้นบ้างไหม
ยอด: ก็น่าจะไปเนอะ ความจริงเราก็อยากไปตั้งนานแล้วแหละ แต่เราก็รู้สึกว่ารุ่นเก่าจริงๆ อะ พยายามเรียนรู้โลกใบใหม่อยู่ ว่าเขาทำยังไงได้ยอดวิวตั้งเยอะแบบนี้ คือยังไม่ตกตะกอนจริงๆ กับเรื่องพวกนี้ เหมือนเป็นโลกใหม่สำหรับเรา แต่มันน่าสนุกนะ ก็กำลังเรียนรู้อยู่ครับว่ายังไง คือเรามาจากโลกยุคเก่าที่มันมีการทำงานที่เป็นระบบ กลายเป็นว่าถ้าเราไปทำกับช่องทางออนไลน์ มันใหม่หมด เราไม่มีองค์ความรู้เรื่องพวกนี้เลย
บอล: แต่ก็คิดว่าวันหนึ่งมันก็ต้องไปในช่องทางออนไลน์ครับ เพราะตอนนี้ อย่างสื่อสาธารณะที่เราทำงานอยู่ด้วย มันก็ไม่ได้สาธารณะ หรือว่าไม่ได้สามารถพูดได้อย่างยุคก่อนๆ หรือยุคการก่อตั้งทีวีสาธารณะอยากจะให้เป็น ทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าจะพ้นไปจากการครอบงำของทุนก็จริง แต่ว่าอยู่ภายใต้การครอบงำของการเมือง หรือรูปแบบการปกครอง คือเป็นอำนาจมืด ถามว่าหนังพาไปได้รับผลกระทบไหม ช่วงซีซั่นแรกๆ ทีวีสาธารณะสนับสนุนให้เราตั้งคำถามกับทุกเรื่อง ให้เป็น active citizen ThaiPBS จะคอยช่วยเราดูว่าสิ่งที่เราพูดรัดกุมและรอบคอบพอหรือยัง ถ้ายัง เขาก็จะช่วยหาข้อมูลให้ว่ากลับไปเสริมตรงนี้ หรือกระทั่งหาข้อมูลให้ด้วย แต่เขาจะไม่ห้ามว่าอย่าพูดประเด็นนี้ พูดได้ทุกประเด็น ขอให้รอบคอบและรัดกุม
แต่พอผ่านมาสิบปี สถานการณ์ทางการเมืองมันเปลี่ยนอะครับ ทีวีสาธารณะไม่เหมือนเดิม ทีวีสาธารณะเริ่มมีการตั้งคำถามว่าอย่าพูดเรื่องนี้ได้ไหม ขอตัดตรงนี้ออกหน่อยนะ เรื่องนี้ไม่ให้พูด คือกางกฎระเบียบใหม่ๆ ขึ้นมา ทำให้พบว่าทีวีสาธารณะมันไม่ใช่สื่อสาธารณะแบบที่เราเคยฝันในเมื่ออดีตอีกต่อไปแล้ว แต่ในขณะที่สื่อออนไลน์เนี่ย เป็นสื่อสาธารณะที่เราสามารถพูด และตั้งคำถามท้าทายกับสังคมได้อย่างเต็มที่ ถ้าเกิดผิดเราก็ต้องยอมรับผลนั้นด้วยตัวเอง ผู้ชมจะบอกเราเองว่าสิ่งที่คุณพูดมันผิด และเกิดการโต้เถียงกัน แต่ว่าตอนนี้ จะพูดไปถึงผู้ฟังยังไม่ได้เลย ดังนั้น พี่เลยคิดว่าการมียูทูบมาในยุคนี้ พร้อมกับรูปแบบการเมืองที่เป็นอย่างนี้ มันเหมาะเจาะมาก และคิดว่าวันหนึ่งเราก็อาจต้องเปิดช่องทางออนไลน์ควบคู่ไปด้วย ในการพูดในสิ่งที่เราไม่มีโอกาสได้พูดในช่องทางสาธารณะแบบเก่า
รายการหนังพาไปที่ดูไม่น่าจะได้รับผลกระทบทางการเมืองโดยตรง แต่ว่าจริงๆ ก็คือได้รับเหมือนกันในเรื่องการแสดงออกอย่างเสรี
บอล: ตอนนี้ได้รับ เพราะพี่ก็จะไปดูในสิ่งที่ไม่ใช่แค่สถานที่ท่องเที่ยวหรือเรื่องกิน มันมีการตั้งคำถามเชิงสังคม และสถานการณ์ตอนนี้เปราะบางมาก มีคำถามให้เราอยากถามเต็มไปหมด แต่เราถามจริงในสังคมไม่ได้ ดังนั้น ในทีวียิ่งพูดไม่ได้ใหญ่เลย ซึ่งก็น่าแปลกว่า ถ้าเราพูดไม่ได้อะ แล้วมันจะถูกแก้วันไหน ถ้าแม้กล่าวถึงปัญหายังไม่ได้ ก็เลยคิดว่าก็อยากหาทางออกในสิ่งที่เราอยากพูดอยากถาม แต่มันไม่มีที่ให้ถาม
ยอด: จริงๆ เราก็รู้สึกว่า มันต้องเปลี่ยนไปแล้ว โลกมันเปลี่ยนแล้วเนอะ การตีความว่าคุณเป็นสื่อสาธารณะ มันไม่ได้แล้ว เพราะเอาจริงๆ สื่อสาธารณะแบบไหนล่ะ ถ้าคุณเรียกว่าคุณเป็นสื่อจริยธรรม หรือเป็นช่องๆ หนึ่ง ยังฟังเข้าใจได้มากกว่า
แต่ตอนนี้ความสาธารณะที่แท้จริงมันถูกเปลี่ยนมือแล้ว มันถูกตีความไปมากขึ้น เราก็จำเป็นจะต้องเปลี่ยนตาม เดินอยู่กับที่ก็คงโดนทิ้งไป เป็นช่อง เป็นรายการที่จะไม่มีใครดูอีกแล้ว ยังพูดเรื่องเก่าๆ ในยุคเดิมๆ ก็รออีกสักร้อยปี โลกเปลี่ยนไปแบบรุ่นที่ยังต้องทำรายการแบบนี้อาจฮิตขึ้นมาอีกครั้ง
พูดถึงประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ผ่านมา เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ เราไปเรียนรู้ประเทศเขา แต่สำหรับพี่ๆ เวลาไปเรียนรู้ประเทศเขา มันทำให้เรารู้จักประเทศเรามากขึ้นด้วยใช่ไหม
บอล: ใช่ครับ เวลาไปเที่ยว ยังไงมันก็จะเห็น เพราะว่าประเทศของเรา หรือที่ๆ เราจากมามันก็จะยังอยู่ในใจ เวลาเราเห็นอะไรคล้ายหรือต่าง มันก็จะเอ๊ะขึ้นมาในหัวแหละ แต่ว่าคนส่วนใหญ่อาจไม่มีโอกาสพูดผ่านสื่อ แต่คนช่วงนี้ก็พูดกันมากขึ้นเนอะ มีสื่อหลายแบบที่ตั้งคำถามแบบนี้ ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ เวลาฝรั่งมาเที่ยวเมืองไทย เขาก็คงเอ๊ะในแบบของเขา ว่าเออ เมืองไทยเป็นที่ๆ ทำอะไรก็ได้ อยากเดินถอดเสื้อไปซื้อตลาด ยังไงทุกคนในโลก เวลาไปต่างที่มันก็เกิดคำถามแบบนี้ หนังพาไปไปก็จะเกิดคำถามแบบนี้ แล้วพี่ก็ปากไวไง พูดไปก็จะบ่นไป มันก็จะหลุดอีกละหนึ่งเรื่อง หลุดออกมาอีกแล้วหนึ่งประเด็น
เวลาไปเที่ยวมีที่ไหนที่แบบ มันมีที่ไหนที่ไปเที่ยวแล้วเราชอบวัฒนธรรมหรืออะไรบางอย่างของเขามากๆ จนอยากขโมย หรือเอามาให้ประเทศไทยมีบ้างไหม
ยอด: เต็มเลย จริงๆ น่าจะเป็นวิธีคิดพื้นฐานสำหรับคนทั่วไป ความจริงเรื่องนี้พี่ก็สังเกตได้ อย่างญี่ปุ่นเนี่ย คนเดินทางไปญี่ปุ่นมากขึ้น แม้แต่ป้า หรือแม่พี่บอลก็ไปญี่ปุ่นแล้ว ซึ่งในชีวิตเขาก็ไม่เคยไปเมืองนอก นอกจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่พอเขาไปเห็นญี่ปุ่น สิ่งที่เขาพูดคือ อยากให้มีรถไฟ การเดินทางแบบที่นู่น ทางเท้ามันดีเนอะ จากที่เขาไม่เคยไปเห็นสิ่งที่ดีกว่าเมืองไทย ดังนั้นคำพูดที่บอกว่าเมืองไทยเป็นเมืองที่ดีที่สุด สวรรค์ เขาก็ไปเห็นมาแล้วว่ามันไม่จริง แล้วที่สังคมเรามันเปลี่ยนทุกวันนี้ นอกจากสื่อทางออนไลน์ที่มันทำให้เห็นโลกกว้างมากขึ้นแล้วใช่ไหมครับ ว่าประเทศนู้น ประเทศนี้เขามีอะไร แล้วคนก็ได้เดินทางมากขึ้นด้วย
เวลาเขาเดินทางเขาก็จะคิดว่า ทำไมเราไม่ทำ ทำไมประเทศเราไม่เป็นแบบนี้ มันก็ทำให้สถานการณ์ของผู้มีอำนาจไม่สามารถกดคนในประเทศได้อีกต่อไปแล้ว เพราะว่าเรารู้แล้ว ประตูแห่งความรู้ แห่งคำถามมันเปิด แค่รู้ว่ามีประตูอยู่ คนจะสงสัยและเข้าไปเปิดมัน พอเปิดปุ๊บ เขาจะถามๆ แบบที่พี่ถามในรายการ อย่างญี่ปุ่น เราก็ อยากมีรถไฟตรงเวลา อยากมีรถเมล์แบบนี้ มีความปลอดภัยในชีวิตแบบนี้ แต่เราก็อยากได้อาหารไทยแบบนี้นะ เออ ได้ไหม อย่างนี้
มันก็มีหลายเรื่องเนอะ แล้วอย่างซีซั่นนี้ไปประเทศสถาน เราไปเห็นระบบการปกครองแบบที่เราไม่อยากเป็นแบบนี้ ได้ไหม ขอไหว้ล่ะ พระสยามเทวาธิราชเอ๊ย ทำงานอีกนิดเถอะ ทำหน่อยเถอะ
บอล: ตอนนี้ท่านก็เหนื่อยจะแย่แล้วนะ (หัวเราะ) จริงๆ สิ่งที่อยากขโมยกลับมา ถ้าคิดเร็วๆ แบบแรกที่มันขึ้นมาในหัวเลยก็คือ อยากได้คนที่บริหารงานองค์กรสำคัญๆ กลับมา อย่างตอนที่พวกพี่ไปอังกฤษ เราเล่าเรื่องการออกแบบป้ายรถเมล์ รวมทั้งหลายๆ เรื่องที่มันไม่ได้อยู่ในรายการ พอไปขึ้นรถเมล์ที่ลอนดอน เราพบว่ารถเมล์เขาตรงเวลา มีการออกแบบเส้นทางรถเมล์ที่ชัดเจน รวมทั้งเราเห็นด้วยว่าป้ายรถเมล์กับองค์กรที่ดูแลรถเมล์ เป็นองค์กรเดียวกัน แต่ของไทย ของกรุงเทพฯ คนละองค์กร วิ่งรถเมล์นี่คนบริหารจัดการคือ ขสมก. แต่ป้ายรถเมล์คือ กทม. ดังนั้น พอมันอยู่สององค์กร มันจะคุยกันอย่างไรล่ะ จริงๆ มันคุยกันได้ แต่ทำไมถึงไม่คุยกัน
อันนี้ก็หนึ่งเรื่อง และก็พบว่า อย่างลอนดอน ระบบขนส่งทั้งหมดเขารวมอยู่ในองค์กรเดียวก็คือ Transport for London รวมไปถึงเรือ รถไฟใต้ดิน พอเขามองวิธีการบริหารแบบนี้ ทำให้เขาสามารถจัดการการบริหารการขนส่งทั้งเมืองได้เป็นองค์รวม สามารถออกบัตรร่วมได้ เป็นตั๋วรถ เพราะเขาดูแลโดยองค์กรเดียว มีข้อมูลเรื่องเส้นทางการจราจรทั้งหมด คุณขึ้นตรงนี้ ไปต่อตรงนี้ แต่เมืองไทยอะ มันก็ยังแยกองค์กร กรมเจ้าท่าก็ดูแลเรื่องเรือไป รถไฟฟ้าก็เป็นอีกองค์กรหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ พี่ก็เลยคิดว่าถ้าเกิดจะขอยืม ขโมยได้ อยากขอยืมคนที่เขาดูแลพวกนี้
เราไม่เคยสงสัยเหรอว่า ทำไมรถเมล์ไทย จนป่านนี้ยังไม่ตรงเวลา ซึ่งพี่ไปญี่ปุ่นเมื่อซีซั่นหนึ่ง พี่ตั้งคำถามว่า รถเมล์ญี่ปุ่นสามารถระบุไว้ที่ป้ายรถเมล์เลยว่า รถจะมาตอน 10 โมง 42 นาที แล้วพอมาจริงก็จะบวกลบไปไม่กี่นาที คือสามารถที่จะวางแผนและไปรอได้ เขาทำได้ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้วนะ แล้วพี่ก็ตั้งคำถามต่อสิ่งเหล่านี้ในซีซั่นหนึ่ง ผ่านมาสิบปี เรายังทำไม่ได้เลยอ 10 ปีมันนานมากสำหรับชีวิตคน ทำไมป่านนี้องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับรถเมล์โดยเฉพาะอย่าง ขสมก. อย่างกระทรวงคมนาคมเนี่ย ถึงยังหาความรู้หรือวิธีการในการทำให้รถเมล์มาตรงเวลาไม่ได้ 10 ปีทำอะไรอยู่ ทำให้เราสงสัยว่าถ้าเราอยากขโมยอะไรบางอย่างมาได้ เราอยากขโมยคนอะ ที่มีความตั้งใจที่จะพัฒนาโปรดักส์ของตัวเอง หรือคนที่มีวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศ มาไว้เมืองไทยสักพักหนึ่ง มาช่วยเราหน่อย สามเดือนเราก็คิดว่าเมืองไทยก็น่าจะเปลี่ยน
ยอด: สามเดือนไม่พอหรอก เราอยากให้เขาอยู่ด้วยสักปีอะ
บอล: สักเจ็ดปีได้ไหม ให้เท่าๆ กัน
ยอด: ยินดีเลย ขึ้นอยู่กับว่าเขาแฮปปี้ อยากอยู่นานก็โอเค ถ้าทางนู้นไม่แฮปปี้กับคนของเราก็เอาไว้ก่อน แต่พี่คิดว่า ไม่แน่นะ เรายังเคยมีเพจเรียกร้องเอาวิวสนามบินคืนมา ต่อไปนี้ เราจะมีเพจเรียกร้องว่า ขอผู้บริหารทางนู้นแลกผู้บริหารของเราไป เอาเขาไป และเอาของพวกเขามา เพราะว่าเอาจริงๆ ถ้าคิดให้ดีนะ ถ้าเขาทำให้โลกดีขึ้น หรือการจราจรดีขึ้นในแต่ละประเทศเนี่ย เขาสามารถรับจ้างเป็นทีมบริหารไปในประเทศต่างๆ ได้เลย เพราะเราต้องการคนที่ทำงานให้เรา
แปลว่าบางอย่างที่บอกว่า เราทำงานมาสิบปี คนมันเติบโต ความคิดเปลี่ยน แต่บางเรื่องที่เราตั้งคำถามเมื่อสิบปีที่แล้ว ก็ไม่มีอะไรที่เราได้รับคำตอบ หรือเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกัน
บอล: ใช่ ถูกต้องครับ อย่างเช่น เรื่องการแยกขยะ พี่ก็พูดตั้งแต่ตอนไปญี่ปุ่นซีซั่นหนึ่ง แล้วเราตื่นเต้นมาก กับการคิดระบบการแยกขยะของเขา และตอนนายกฯ ประยุทธ์มายึดอำนาจในปีแรกๆ พี่ยังจำได้เลย จะมีการมาพูดตอนเย็นๆ เนอะ พูดบ่นสไตล์ของแก แต่ครั้งแรกๆ พี่ฟัง เขาก็พูดเรื่องการแยกขยะ ว่าประเทศเราเนี่ยจะต้องมีการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ แต่ 7 ปีแล้ว ขยะหน้าบ้านพี่ยังเหมือนเดิม ยังไม่มีอะไรขยับ มันอาจมีความพัฒนาบางอย่างเกิดขึ้นนะ แต่มันไปได้แค่นี้ พี่คิดว่ายังมีอะไรให้หนังพาไปตั้งคำถามไปอีกนานอะ คงทำไปร้อยซีซั่นพี่ก็คงยังพูดเรื่องที่เราพูดซีซั่นหนึ่งได้ เราคิดอย่างนั้นนะ
การทำรายการมาถึงซีซั่นห้า ตลอด 10 ปีนี้ มันหล่อหลอมความเป็นบอล และพี่ยอดอย่างไรบ้าง
ยอด: ความจริงมันเปลี่ยนหลายอย่าง แต่ที่อยากตอบในช่วงสังคมแบบนี้ให้มันบันทึกไว้ก็คือ รู้สึกว่ามันทำให้เรายอมรับความแตกต่างได้มากขึ้น ยอมรับฟังคนอื่นมากขึ้น เราพยายามทำความเข้าอกเข้าใจคนอื่นมากขึ้น ถึงแม้การแสดงความคิดเห็น การโต้แย้ง หรือจุดยืนของเขามันตรงข้ามกับเราเลย แต่เราก็พยายามว่า ทำไมเขาคิดอย่างนั้น
การทำหนังพาไป มันช่วยเรื่องนี้มากนะ หนึ่งพี่ต้องเรียนรู้การทำงานกับเซ็นเซอร์ กับสถานี และกับผู้ชมรายการ เพราะงั้น การสื่อสารแบบนี้มันต้องรับฟัง มันถูกบังคับให้รับฟังว่ามีคอมเมนต์กลับมา มันมีคอมเมนต์ที่ต้องทำแก้นะ ตัดประเด็นนี้ออก ไปหาข้อมูลเพิ่มไหม แล้วพอปล่อยออกไปแล้ว ผู้ชมก็ยังด่าเรื่องนี้ มีเรื่องดีๆ ให้เล่าตั้งเยอะแยะ ทำไมไปเล่าเรื่องไม่ดี พี่รู้สึกว่าอย่างน้อย แม้มีอารมณ์ มีความไม่เข้าใจ แต่พอเรารู้สึกว่า มันเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ อย่างน้อยเราก็ทำความเข้าใจเขาได้ ใช้จินตนาการเข้าไปยืนอยู่ในฝั่งของเขาว่า ทำไมเขาถึงใช้เหตุผลแบบนั้น หรือถามเขา เข้าใจเขา หาทางทำความเข้าใจ อย่างน้อยเป็นการเปิดพื้นที่ให้เขาคุยกับเราได้แบบปลอดภัย ก็รู้สึกอย่างนั้นว่าการทำหนังพาไปทำให้เราเรียนรู้ความแตกต่าง
บอล: สำหรับพี่ จริงๆ เป็นสิ่งที่สังเกตมานานแล้ว แต่ถ้าพูดถึงโฟกัสที่ซีซั่น 5 สิ่งที่ชัดเจนมาก แล้วค้นพบใหม่ก็คือ เวลาตัดต่อครั้งนี้ เห็นชัดเจนว่า reaction ของผู้คนในแต่ละประเทศจะไม่เหมือนกัน เวลากล้องถ่ายไป อย่างอิหร่าน เวลาเราถ่ายผู้คน เราจะเห็นท่าทีหรือสายตาบางอย่างเวลาเขามองกลับมาที่กล้อง ท่าทีอาจมีความไม่ไว้ใจบางอย่าง ว่าถ่ายอะไร หรือบางคนก็สนอกสนใจไปเลย ว่าคุณถ่ายฉันเหรอ ในขณะที่ข้ามไปอีกประเทศหนึ่ง ผู้คนอยู่ภายใต้การปกครองอีกแบบหนึ่ง เวลาเขา react กับกล้องจะอีกแบบ
พี่ว่าเวลาที่เขา react กลับมาขณะถูกถ่ายเนี่ยมันสะท้อนบางอย่างในเรื่องของความปลอดภัย ที่เขามองความปลอดภัยของเขาภายใต้ประเทศของเขา หรือกระทั่งรูปแบบการปกครองเนี่ย อย่างเติร์กเมนิสถาน ประเทศที่มีกล้องวงจรปิดจากรัฐบาลติดอยู่ทุกหัวมุมถนนนะ มีตำรวจเดินอยู่ในเมือง ซึ่งพี่ไป พี่ไม่ได้รู้สึกปลอดภัยที่มีตำรวจอยู่รอบๆ พี่กลับรู้สึกว่ามันอันตรายมากเลยที่เจอตำรวจ เพราะในความรู้สึกของพี่ที่ไปแป๊บเดียวนะ พี่รู้สึกว่าเขาเป็นเครื่องไม้เครื่องมือของผู้ปกครองที่เป็นประธานาธิบดีที่ปกครองแบบเบ็ดเสร็จอะ ที่คอยตรวจสอบประชาชน คอยตรวจสอบๆ ไม่ได้ทำให้เราปลอดภัย เพราะงั้น reaction ของคนที่ถูกถ่าย จะมี reaction อีกแบบหนึ่ง
อย่างคนญี่ปุ่น เขาว่ากันว่าเวลาเราถ่ายไปอะ เขาไม่ได้มองกล้องหรอก แต่เขารู้นะว่าเรากำลังถ่ายเขา พี่ค้นพบว่าซีซั่นนี้เกิดข้อสังเกตแบบนี้ ว่าอะไรทำให้คนมี react ต่อการถูกถ่ายแตกต่างกันออกไป เรื่องการเมืองการปกครอง ความมั่นคงในชีวิต ความปลอดภัยในชีวิต มีผลแน่นอนต่อ reaction เหล่านี้ของคนพวกนี้ครับ
ยอด: แล้วของไทยล่ะ
บอล: เออ ของไทยจะเป็นไงอะ ไม่เคยสังเกตคนไทยเนอะ น่าสนใจนะ คนไทยจะมี reaction เวลากล้องถูกถ่ายอย่างไร เรารู้สึกปลอดภัยกับชีวิตไหม รู้สึกถูกจับจ้องไหม
แสดงว่าแต่ระบบการปกครองของแต่ละประเทศก็ส่งผลต่อความรู้สึกของนักท่องเที่ยวเหมือนกันด้วย
บอล: บางประเทศพี่ไปแล้วรู้สึกปลอดภัยมาก แต่บางประเทศพี่ไปแล้วเครียด เครียดแบบเรามีความกลัวอยู่ในอากาศอย่างเห็นได้ชัด ในซีซั่นนี้ก็จะมีแต่เราคงไม่ได้เล่าในมุมที่ออกอากาศอย่างเห็นได้ชัด อย่างเช่น เติร์กเมนิสถาน ที่ได้ชื่อว่าเป็นเกาหลีเหนือแห่งเอเชียกลาง ซึ่งเป็นประเทศที่สวยมากนะ แต่เป็นประเทศที่ปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไป และเข้าไปยากมาก และให้อยู่ได้แค่ไม่กี่วันและต้องออกจากประเทศเลย
ยอด: ถ้าจะไปเที่ยวมันก็ได้ ถ้ามีเงินก็คือซื้อทัวร์ แล้วทัวร์ก็มีไกด์ตามประกบ แต่เอาจริงๆ เขาก็ไม่ได้ปิดแบบเกาหลีเหนือเนอะ ยังปล่อยให้นักท่องเที่ยวแบบพี่ขอวีซ่า เดินทางผ่านประเทศได้ แต่ว่าจะน้อย เนี่ยมันก็ยากกว่าประเทศที่มันเปิดทั่วไปอะ
บอล: แต่ประเทศอย่างเติร์กเมนิสถานที่เล่าให้ฟัง แค่เราเหยียบเข้าไป เราก็รู้สึกแล้วว่าที่นี่น่าอึดอัด เราต้องระวังตัว มันรู้สึกไปเองจาก react ผู้คน จากบรรยากาศบ้านเมือง จากกล้องวงจรปิดที่เขาถ่ายเราอยู่ตลอดเวลา เออ บรรยากาศบ้านเมืองมันทำให้รู้สึกอย่างนั้น
ยอด: เอาง่ายๆ ว่า ประเทศเติร์กเมนิสถานที่บอกว่ามีตำรวจยืนเยอะๆ เนี่ย เขาก็ถือว่าเป็นรัฐตำรวจน่ะ จะมีตำรวจยืนคอยจับผิด คอยควบคุม เพราะอย่างที่พี่บอลบอก บางทีถ้าเราเห็นตำรวจอะ อย่างเมืองไทย เรารู้สึกอย่างไร เออ มันก็รู้สึกแบบนี้อะ แต่ถ้าเราเห็นที่ญี่ปุ่น เราก็รู้สึกว่า ตำรวจ ขอถ่ายรูปด้วยได้ไหม ที่เกาหลีใต้ก็จะรู้สึกอีกแบบหนึ่งกับตำรวจใช่ไหมครับ มันสะท้อนนะ อย่างไปเติร์กเมนิสถานเนี่ย เราก็จะรู้สึกว่าเราถูกควบคุมโดยตำรวจทุกหัวมุมถนน ถูกควบคุม มันกลายเป็นว่าตำรวจไม่ได้มีหน้าที่บริการประชาชน ไม่ได้รักษาความปลอดภัยให้ประชาชน แต่กลายเป็นตำรวจคอยควบคุมประชาชน
แสดงว่าก็มีประเทศที่เข้าไปแล้วคนละความรู้สึกว่า เราสะดวกสบาย สบายใจด้วย
บอล: ใช่ พอจบจากเติร์กเมนิสถาน พี่ก็ต่อเข้าไปที่อุซเบกิสถาน เป็นประเทศที่ติดกัน บรรยากาศต่างกันฟ้ากับเหวเลย ผู้คนสบายๆ มีคนยืนฉี่ข้างถนนได้ เราถ่ายผู้คนเขาก็พร้อมยิ้มให้ รวมทั้งเวลาเจอตำรวจอะ ไม่รู้สึกอะไรอีกเลย คือบรรยากาศมันส่งให้เรารู้สึกแบบนั้นได้จริงๆ นะ แค่เราไปเดินในเมืองเราจะรู้สึกเลยครับ อย่างเราไปญี่ปุ่นอย่างนี้ เราจะรู้สึกถึงความปลอดภัยได้
โดยไม่ต้องมีคนมานั่งเขียนป้ายว่า ชีวิตดีๆ ที่ลงตัวอยู่โตเกียว อะไรอย่างนี้ คือเราไม่ต้องมานั่งสะกดจิตตัวเองว่ามึงมีชีวิตที่ดีอยู่กรุงเทพฯ แต่มันจะรู้สึกได้เองว่าเราจะปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย