ห้วงอวกาศเป็นอะไรที่มนุษย์เรายังทำความเข้าใจกันเป็นระยะๆ อย่างในปี 2016 เราก็พยายามทำความเข้าใจดาวพฤหัสบดีให้มากขึ้นด้วยการส่งยานสำรวจอวกาศจูโน (Juno) เพื่อไปไขความลับ หรือในช่วงปลายปี 2018 นี้ เราก็พยายามท่องดาวอังคารกันอีกรอบด้วยส่งยานอวกาศอินไซต์ (InSight) ไปเก็บข้อมูลเพิ่ม จนเป็นครั้งแรกที่เราได้ยินเสียงของ ‘สายลมบนดาวอังคาร’ กันเป็นครั้งแรก
แล้วก็เป็นจังหวะบังเอิญที่เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา การ์ตูนเรื่อง Cobra หรือที่หลายคนอาจจะจำได้ในชื่อ คอบร้า เห่าไฟสายฟ้า ก็มีอายุอานามครบ 40 ปี พอดี และในปี 2019 ที่จะมาถึงนี้ยังเป็นโอกาสครบรอบ 45 ปี ของซีรีส์การ์ตูน Space Battleship Yamato หรือ เรือรบอวกาศยามาโตะ แล้วถ้านับย้อนไปก่อนหน้านี้มนุษย์เองก็มีจินตนาการที่อยากจะผจญภัยไปในห้วงอวกาศมานานแล้วอย่างที่เราพอจะเห็นได้จากภาพยนตร์เรื่อง Le Voyage Dans La Lune ของประเทศฝรั่งเศส ก็พยายามนำเสนอเรื่องการเดินทางไปดวงจันทร์ตั้งแต่ปี 1902
The MATTER เลยถือโอกาสมาพูดถึงผลงานการ์ตูนที่เคยเป็นทั้งอนิเมะและมังงะ แนวผจญภัยไปในอวกาศ (Space Adventure) เรื่องต่างๆ ที่หลายคนน่าจะจำกันได้ และอาจจะอยากกลับไปรับอ่านรับชมกันอีกครั้ง เพื่อระลึกถึงความฝันของมนุษยชาติที่อยากจะก้าวไปสู่ดินแดนที่ไกลโพ้นกว่าที่ใครเคยรู้จัก
Cobra – เจมส์ บอนด์ อวกาศ
คอบร้า เห่าไฟสายฟ้า เป็นผลงานของอาาจารย์เทราซาว่า บูอิจิ (Terazawa Buichi) เล่าเรื่องในอนาคตอันไกลที่การเดินทางอวกาศเป็นเรื่องไม่ยากเย็น ในยุคนั้นชายหนุ่มกับหุ่นยนต์รับใช้ก็ใช้ชีวิตอย่างธรรมดา ฝั่งชายหนุ่มฝันจะเป็น ‘คอบร้า’ สลัดอวกาศที่มี ‘ไซโคกัน’ ปืนติดแขนที่ยิงได้ตามใจนึกเป็นอาวุธประจำกาย แต่ความฝันนั้นกลับเป็นเรื่องจริง เพราะตัวของเขาเองคือสลัดอวกาศคอบร้าที่อยากจะเกษียนตัวเอง เลยล้างความจำ ผ่าตัดหน้าใหม่ ส่วนหุ่นรับใช้ของเขาจริงๆ ก็คือ แอนดรอยด์คู่หูอย่าง เลดี้ ที่ปลอมตัวมาตลอดหลายปี และเมื่อความจำคืนมาแบบนี้ คอบร้ากับเลดี้จึงออกอาละวาดไปทั่วอวกาศด้วยยานอวกาศเตอร์เติลของพวกเขา
ถึงเรื่องราวจะบอกว่าคอบร้าเป็นสลัดอวกาศ แต่โดยหลักแล้ววิธีการเล่าเรื่องกลับออกไปในลักษณะใกล้เคียงกับหนังแบบเจมส์ บอนด์ 007 มากกว่า ด้วยเหตุที่ว่าสมบัติหลายๆ ชิ้นที่คอบร้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวมักจะมีองค์กรอาชญากรรมเข้ามาร่วมไล่ล่าด้วย และทุกครั้งในการออกเดินทาง คอบร้าจะได้พบกับสาวๆ หุ่นดี หลากนิสัย หลายสไตล์ แต่ก็มักจะไม่ได้แอ้ม สุดท้ายคอบร้าก็กลับมาหาคู่หูและคู่รักแบบเลดี้อยู่ดี
ด้วยความที่ท้องเรื่องของมังงะกับอนิเมะเรื่องนี้ไม่เคยระบุชัดเจนถึงเวลาปัจจุบันของเรื่อง ทำให้ตัวอาจารย์เทราซาว่า หรือทีมงานผลิตอนิเมะสามารถจับเอาคอบร้ากับเลดี้กลับมาเล่าใหม่ได้เสมอๆ จนปัจจุบัน แม้ว่าสลัดอวกาศคนนี้จะปฏิบัติการมา 40 ปี ก็ยังมีแฟนๆ ติดตามอย่างเหนียวแน่น
Space Battleship Yamato – เรือรบอวกาศ
เมื่อพูดถึงการ์ตูนจากญี่ปุ่นที่มีการเดินทางอวกาศระยะไกล คอการ์ตูนหลายคนย่อมนึกถึง ‘เรือรบอวกาศยามาโตะ’ อย่างแน่นอน ผลงานเรื่องนี้เดิมทีถูกคิดโครงเรื่องโดยนิชิซากิ โยชิโนบุ (Nishizaki Yoshinobu) ก่อนที่มัตสึโมโตะ เลจิ (Matsumoto Leiji) จะเข้ามาร่วมงานและช่วยปรับเปลี่ยนโครงเรื่องจนกลายเป็นอนิเมะที่ถือว่าได้รับความนิยมมากที่สุดในญี่ปุ่นเรื่องหนึ่ง และกลายเป็นซีรีส์ที่ถูกนำมาสร้างภาคต่ออยู่เรื่อยๆ แม้อายุอานามของซีรีส์กำลังจะเข้าสู่ขวบปีที่ 45 ในปี 2019 ก็ตามที
ตามท้องเรื่องของเรือรบอวกาศยามาโตะ ภาคแรกสุดจะพูดถึงโลกในปี 2199 ที่มนุษย์ต่าวดาวชาวกามิลัส ได้ทำการส่งอุกกาบาตมาทำลายโลก จนทำให้พื้นผิวของโลกเต็มไปด้วยกัมมันตรังสี ผู้คนต้องหลบไปอาศัยอยู่ใต้ดิน มีเพียงกองกำลังพิทักษ์โลกที่ยังพอมีใจสู้อยู่บ้าง และคนกลุ่มนี้ก็ได้รับข้อความจากแคปซูลลึกลับในดาวอังคาร ซึ่งมีแผนการสร้างเครื่องยนต์เดินทางเร็วกว่าแสง รวมถึงข้อความที่ระบุจากดาวอิสคันดาร์ที่อยู่ในดาราจักรเมฆแมเจลแลนใหญ่ว่า มีเครื่องจักรที่สามารถล้างรังสีบนพื้นโลกได้ กองกำลังพิทักษ์จึงโลกตัดสินใจสร้างเครื่องยนต์โดยการประกอบเข้ากับซากกับเรือรบยามาโตะ และทำให้เรือรบกลายสภาพเป็น เรือรบอวกาศยามาโตะ ที่มีปืนใหญ่เวฟโมชั่นพลังทำลายล้างสูงพอจะต้านทานกองทัพของกามิลัสได้บ้าง การเดินทางที่มีกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีจากโลกไปจนถึงอิสคันดาร์ก็ได้เริ่มต้นขึ้น
ด้วยพล็อตหลักที่เข้าใจได้ไม่ยากนัก กับเรื่องราวดราม่าเคล้าการผจญภัยผ่านห้วงอวกาศอันแสนอันตราย ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้เกาะกระแสคนดูมาได้อย่างยาวนาน และเมื่อเวลาพ้นผ่านทำให้เทคโนโลยีบางอย่างในเรื่องตกลงไปบ้าง ก็มีการสร้างฉบับรีเมคขึ้นมาอีกครั้งเพื่อทำให้เรื่องราวสดใหม่มากขึ้น รวมถึงเป็นการเปิดรับคนดูรุ่นหลัง
ทั้งนี้ อาจารย์มัตสึโมโตะ เลจิ ได้นำเอาเรื่องเรือรบอวกาศยามาโตะมาเขียนใหม่อีกครั้งในแบบฉบับมังงะ มีการดัดแปลงเรื่องราวจากฝั่งอนิเมะไปเล็กน้อยด้วยการใส่ตัวละครอื่นๆ ในจักรวาลของอาจารย์มัตสึโมโตะเข้าไปเพิ่มเติม
Space Pirate Captain Harlock – สลัดอวกาศ
ผลงานมังงะของอาจารย์มัตสึโมโตะ เลจิ หลายๆ เรื่อง มักจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการผจญภัยในอวกาศ อย่าง สลัดอวกาศกัปตันฮาร์ล็อค (หรือ ฮาร็อค ก็ว่า) ที่ปรากฎตัวครั้งแรกในแบบอนิเมะเมื่อปี 1977 ก็เป็นหนึ่งในผลงานของอาจารย์มัตสึโมโตะ ในเรื่องนี้อาจารย์มักจะเขียนให้มีความเป็นลิเกอวกาศ (Space Opera) ขึ้นมาเล็กน้อย โดยให้ตัวของกัปตันฮาร์ล็อค เดินทางมาพร้อมกับเรืออาร์เคเดีย (Arcadia) ที่ออกผจญภัยท้าทายกฎระเบียบ ต่อสู้กับความสิ้นหวัง และต้านภัยจากผู้รุกรานที่เกินต้านทาน ซึ่งนอกจากรายละเอียดเหล่านี้แล้ว ประวัติของสลัดอวกาศคนนี้ก็ถูกปรับเปลี่ยนอยู่บ่อยครั้ง อันเป็นผลพวงจากการเขียนเรื่องราวใหม่ของตัวอาจารย์มัตสึโมโตะ เลจิ เอง
อย่างในเรือรบอวกาศยามาโตะ ฉบับมังงะนั้น อาจารย์มัตสึโมโตะได้ดัดแปลงเรื่องว่า โคได มาโมรุ พี่ชายของตัวเอก โคได สึสึมุ ยังรอดชีวิตจากการต่อสู้กับชาวกามิลัส และกลายเป็นผู้ขับยานอวกาศสีดำคอยช่วยเหลือยามาโตะ เป็นอาทิ นอกจากนี้แล้วเวลาที่เขียนเกี่ยวกับกัปตันฮาร์ล็อค อาจารย์มัตสึโมโตะ เลจิ มักจะเขียนถึงโจรสลัดอวกาศหญิงเอเมรัลดัส (Emeraldas) ควบคู่มาด้วยอยู่เป็นประจำ
Galaxy Express 999 – รถไฟอวกาศ
อีกผลงานของอาจารย์มัตสึโมโตะ เลจิ แต่คราวนี้เป็นเรื่องที่เล่าการผจญภัยไปในอวกาศ ผสมเข้ากับการเล่าเรื่องแบบหนัง coming of age ผสมด้วยปรัชญา แล้วใส่ความแอ็กชั่นไปเล็กๆ เพราะนี่คือเรื่องราวการเดินทางของ เท็ตสึโร่ เด็กหนุ่มชาวโลกผู้ปรารถนาร่างกายเครื่องจักรที่กล่าวกันว่าจะทำให้มีชีวิตเป็นนิรันดร์ ตามคำสั่งเสียของแม่ที่ถูกสังหาร และเขาก็ได้รับข้อเสนอจาก เมเทล หญิงสาวลึกลับผู้งดงามให้ออกเดินทางไปกับรถด่วนอวกาศสาย 999 ที่จะเดินทางไปถึงดวงดาวมนุษย์จักรกลและสามารถเปลี่ยนร่างของเท็ตสึโร่ให้กลายเป็นเครื่อจักรได้
การเดินทางบนรถด่วนอวกาศผ่านดวงดาวมากมาย ทำให้ตัวเท็ตสึโร่กับเมเทลได้พบกับคนจำนวนมาก บางครั้งก็ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องวุ่นวายบนดาวต่างๆ ซึ่งก็มีหลายทีที่อาจารย์มัตสึโมโตะจะนำให้ตัวละครในเรื่องรถด่วนอวกาศไปเจอตัวละครในเรื่องอื่น เช่น โจรสลัดอวกาศหญิงเอเมรัลดัส ที่เป็นคู่แฝดกัน และตัวตนของกัปตันฮาร์ล็อคก็เป็นไอดอลในเชิงการต่อสู้ของเท็ตสึโร่ เป็นอาทิ
Sci-Fi West Saga Starzinger – ไซอิ๋วอวกาศ
ผลงานของอาจารย์มัตสึโมโตะ เลจิ เรื่องสุดท้ายที่จะขอหยิบมาพูดถึงในครั้งนี้ เรื่องนี้ถูกสร้างเป็นอนิเมะในปี 1978 ก่อนจะเขียนมังงะตามมาในปี 1979 และยังไม่มีความพยายามในการเชื่อมโยงเรื่องนี้เข้ากับเรื่องอื่นๆ แบบสามเรื่องก่อนหน้า แต่เป็นการจับเอาวรรณกรรมคลาสสิกของประเทศจีนมาตีความใหม่ใส่รสชาติของไซไฟสไตล์ลิเกอวกาศเข้าไป กลายเป็นการเดินทางของ เจ้าหญิงออโรร่า ที่ออกเดินทางไปนำเอากาแล็กซี่เอเนอร์จีกลับมาจากดวงดาวมหาราชา เนื่องจากพลังด้านดีในอวกาศได้อ่อนแรงลงและทำให้เกิดเหตุอาเพศไปทั่วทางช้างเผือก แต่เจ้าหญิงไม่ได้เดินทางไปด้วยยานอวกาศเพียงตัวคนเดียว เธอยังมีไซบอร์กองครักษ์ร่วมทางไปด้วยอีกสามคน ประกอบด้วย จาน คูโก, ซา โจโก และดอน ฮักคา แต่ละคนมีอาวุธชนิดพิเศษและยานประจำตัวคนละลำ เพื่อต่อการกับกองทัพเหล่าร้าย
อย่างที่เห็นว่าเรื่องนี้อาจจะมีความลุ่มลึกน้อยกว่างานชิ้นอื่นๆ ของอาจารย์มัตสึโมโตะ เลจิ แต่ก็ยังสะท้อนว่าในตัวของอาจารย์มีไอเดียเกี่ยวกับการผจญภัยในอวกาศอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่จริงจังอิงแนวคิดแบบไซไฟ หรือจะเป็นเรื่องราวเอามันหลุดอวกาศแบบเรื่องนี้ก็ตาม
Cowboy Bebop – คาวบอยอวกาศ
การ์ตูนแนว space western คือการจับเอาสไตล์หนังคาวบอยล่าค่าหัวมาผสมกับเรื่องเล่าผจญภัยในอวกาศ ซึ่งการ์ตูนผจญภัยในอวกาศที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่ยุค 1930s อาจจะมีไม่มากนัก และเมื่อพูดถึงเรื่องราวในแนวนี้ที่ถูกสร้างเป็นมังงะกับอนิเมะ ก็ต้องยกให้เรื่อง Cowboy Bebop ที่ในบ้านเกิดก็พอจะมีชื่อเสียงระดับหนึ่งแล้ว กระนั้น เมื่อเรื่องนี้ไปถึงผู้ชมในโลกฟากตะวันตก พวกเขากลับรู้สึกคลั่งไคล้อนิเมะเรื่องนี้อย่างมาก อาจจะเป็นผลพวงที่ตัวเรื่องถูกนำเสนอคล้ายๆ ซีรีส์คนแสดงในยุคนั้น จนมีคนกล่าวว่าอนิเมะเรื่องนี้เป็นผลงานสำคัญที่ทำให้หลายคนได้รู้จักสื่อบันเทิงที่เรียกว่าอนิเมะในช่วงต้นของยุค 2000s
เรื่องราวของการ์ตูนเรื่องนี้อยู่ในปี 2071 เมื่อโลกเริ่มอยู่อาศัยไม่ได้ มนุษยชาติจึงกระจายตัวไปอาศัยอยู่ตามดวงดาวต่างๆ ทั่วระบบสุริยะ เมื่อผู้คนก้าวเข้าสู่ดินแดนใหม่ อาชญากรรมจึงกระจายตัวและมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นจนเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ระบบสุริยะตัดสินใจเปิดทางให้มีการลาค่าหัวโดยถูกกฎหมาย และคนที่หากินด้วยการตามล่าค่าหัวอาชญากรก็มักจะถูกคนเรียกว่ากันว่า คาวบอย ตัวเอกของเรื่องคือกลุ่มคาวบอยที่เดินทางยานอวกาศ บีบ็อป (Bebop) ประกอบไปด้วย สไปค์ สปีเกล หนุ่มหัวยุ่งที่เคยอยู่ในแก๊งมาเฟียจีนเรดดราก้อน เขามักเคลื่อนไหวเฉพาะงานที่มีผลประโยชน์กับตัวเองและจะมีนิสัยเอื่อยเฉื่อยในเวลาว่างงาน แต่เป็นคนที่มีฝีมือทั้งในด้านการต่อสู้กับการขับยานแบบสุดๆ, เจ็ท แบล็ค อดีตตำรวจพร้อมแขนเทียมที่ควบหน้าที่เป็นช่างประจำยานบีบ็อป, เฟย์ วาเลนไทน์ หญิงสาวที่สวย เผ็ด ดุ แต่จริงๆ แล้วเสียความทรงจำไปส่วนหนึ่งอันเป็นผลข้างเคียงจากการที่เธอถูกโคลด์สลีปไว้หลายปี, เอ็ดเวิร์ด หว่อง แฮกเกอร์อัจฉริยะที่จริงๆ ทำตัวประหลาดๆ เหมือนแมว และถึงจะดูแมนๆ แต่ก็เป็นเด็กสาววัยรุ่น และสมาชิกคนสุดท้ายของยานคือ ไอน์ สุนัขพันธุ์เพ็มโบรค เวลช์ คอร์กี้ (Pembroke Welsh Corgi) ที่จริงๆ เป็นหมาอัจฉริยะ แถมยังสื่อสารกับสัตว์พันธุ์อื่นๆ ได้อีก แล้วสมาชิกที่ไม่ปกติกลุ่มนี้ก็เดินทางไปทั่วทั้งระบบสุริยะ ทำให้เราได้เห็นภาวะของโลกที่เปลี่ยนไป หรือภาวะผู้คนที่ปรับตัวไปตามดวงดาวที่อาศัยอยู่
ทั้งนี้ Cowboy Bebop นั้น มีฉบับมังงะเพื่อโปรโมตนำร่องให้ก่อนอนิเมะจะฉาย กับอีกฉบับที่เถูกเขียนขึ้นหลังจากอนิเมะออกฉายแล้ว ตัวเรื่องก็แตกต่างจากฉบับอนิเมะเล็กน้อย และด้วยความนิยมของอนิเมะที่มากล้นในฝั่งอเมริกา ทำให้ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ และผู้เขียนบทของอนิเมะเรื่องนี้มักจะรวมตัวกันสร้างผลงานอนิเมะที่มีเป้าหมายในการเจาะตลาดกลุ่มโลกตะวันตกโดยตรง อย่างเช่นเรื่อง Space Dandy ที่ยังเป็นการเดินทางในอวกาศ แต่เพี้ยนหลุดโลกมากกว่าที่พวกเขาเคยทำกับ Cowboy Bebop
Knights of Sidonia – อัศวินอวกาศ
ก่อนที่จะเป็นอนิเมชั่นแบบ 3DCG เต็มรูปแบบที่เราสามารถนั่งดูกันง่ายๆ ผ่านทาง Netflix การ์ตูนเรื่อง Knights of Sidonia เป็นมังงะที่เขียนโดยอาจารย์นิเฮ สึโตมุ เล่าเรื่องในอนาคตปี 3394 หลังจากระบบสุิรยะจักรวาลได้ถูก ‘กาวน่า’ เผ่าต่างดาวที่สามารถแปลงร่างได้รุกรานจนมนุษย์ต้องอพยพด้วยยานอวกาศขนาดยักษ์ และ ทานิคาเสะ นางาเตะ ตัวเอกของเรื่องก็อาศัยอยู่ในยานซิโดเนีย เขาได้ฝึกฝนตัวเองจนได้รับโอกาสให้ขับหุ่นเหล็ก ซึกุโมริ เพื่อออกไปต่อสู้ป้องกันยานจากกาวน่า ที่ต่อมาการรบนี้ได้ทำให้เหล่า อัศวินผู้พิทักษ์ซิโดเนีย ต้องทำความเข้าใจกาวน่าที่ในมุมที่อาจจะไม่ใช่อย่างที่มนุษย์เคยเข้าใจมาโดยตลอด
อาจารย์นิเฮ สึโตมุ เป็นผู้สร้างงานมังงะที่เขียนงานแนวไซไฟมาอย่างต่อเนื่อง อย่างตัว Knights of Sidonia อัศวินอวกาศ ก็เป็นการเอาคอนเซปต์ที่อาจารย์เคยเขียนมาก่อนขึ้นมาต่อยอดเป็นการ์ตูนผจญภัยในอวกาศเรื่องนี้ ความน่าสนใจของเรื่องนอกจากการต่อสู้ในอวกาศที่แปลกตาจากเรื่องอื่นๆ การ์ตูนเรื่องนี้ยังเล่าเรื่องระบบสังคมที่เปลี่ยนไปหากมนุษย์ต้องเดินทางไปในอวกาศไกลได้ค่อนข้างดี กับอีกส่วนหนึ่งที่ในฉบับอนิเมะทำออกมาแล้วน่าจดจำก็คือ ในท้องทะเลอวกาศที่เหมือนจะมืดดำนั้น กลับมีความงามซ่อนอยู่ไม่น้อย
Macross – รักสามเส้าในสงครามอวกาศ
ถ้าพูดถึงการ์ตูนการผจญภัยในอวกาศ หลายคนก็อาจจะนึกถึงเรื่อง กันดั้ม อยู่ในหัวเหมือนกัน แต่ถึงแม้ว่าจะมีฉากไฮไลต์ในห้วงอวกาศอยู่มาก กันดั้มก็ออกจะเป็นการ์ตูนหุ่นยนต์ผสมการเมืองเสียมากกว่าที่จะมีการเดินทางไปค้นพบอะไรแปลกใหม่ในอวกาศ
ด้วยเหตุผลข้างต้น พอขยับมาจากฝั่งกันดั้มมาพูดถึงซีรีส์การ์ตูนอีกเรื่องหนึ่งที่มีทั้งหุ่นยนต์ ฉากสงครามในอวกาศ มีการเดินทางไปยังห้วงอวกาศลึก พบปะกับสิ่งมีชีวิตจากดาวดวงอื่น และจุดสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือเสียงเพลงที่คลอมาพร้อมรักสามเส้าในกลุ่มตัวละครหลัก ซึ่งองค์ประกอบทุกอย่างนี้เกิดขึ้นในซีรีส์การ์ตูนที่ชื่อว่า มาครอส
มาครอสถูกฉายภาคแรกในปี 1982 โดยมีคาวาโมริ โชจิ ที่เคยร่วมงานกับผู้สร้างกันดั้ม มาสร้างละครสงครามอวกาศของตัวเอง ที่ตีความว่ามียานอวกาศขนาดเท่าตัวเมืองขนาดใหญ่ได้ตกลงมาบนพื้นโลก ทำให้โลกก่อตั้ง U.N. Spacy เพื่อทำการวางแผนป้องกันอันตรายจากภัยนอกโลก ทำการวิศวกรรมย้อนกลับยานอวกาศยักษ์จนสามารถใช้งานยานอวกาศยักษ์ได้ และตั้งชื่อยานอวกาศใหม่ว่า Super Dimension Fortress-1 Marcross หรือ SDF-1 มาครอส แต่เมื่อมีชาวอวกาศร่างยักษ์ที่เรียกตัวเองว่า เซนทราดิ (Zentradi) มาปรากฏตัวในระบบสุริยะ ตัวยานก็ทำการยิงปืนใหญ่ออกไปโดยอัตโนมัติและทำให้เกิดสงครามอวกาศขึ้น
โชคดีเล็กน้อยที่ชาวเซนทราดิ เกิดความสงสัยว่ามนุษย์เป็น ‘โปรโตคัลเจอร์’ (Protoculture) เผ่าผู้สร้างที่ได้สาปสูญไป การรบจึงดำเนินไปอย่างล่าช้า และเซนทราดิส่วนหนึ่งยอมย่อขนาดตัวเองเพื่อต่อสู้และทำความเข้าใจมนุษย์อย่างจริงจัง ส่วนฝั่งยานมาครอสก็รีบเดินทางวาร์ปออกจากโลกเพื่อดึงศัตรูให้ห่างจากบ้านเกิด แต่ในภายหลังเมื่อพวกเขาพยายามเดินทางกลับไปที่โลกก็ถูกรัฐบาลโลกปฏิเสธที่จะให้ลงจอดเพราะอาจจะนำภยันตรายกลับมาอีกครั้ง สุดท้ายมาครอสก็พบว่าเพลงของนักร้องดังอย่างลิน มินเมย์ ที่ติดอยู่บนตัวยานนั้น ทำให้ชาวเซนทราดิที่กระหายซึ่งวัฒนธรรมสับสนได้ และตัวนักร้องสาวก็มีความสัมพันธ์กับอิจิโจ ฮิคารุ นักบินของยานรบวัลคีรี หรือเครื่องบินที่แปลงร่างเป็นหุ่นยนต์ได้ ทว่าทั้งสองคนก็เหมือนจะมีความสับสนและปันใจไปให้กับคนอื่นที่เข้ามา จนทำให้เกิดภาวะรักสามเส้า แต่สุดท้ายแล้วสมาชิกของกองยานมาครอสก็สามารถจับมือกับชาวเซนทราดิที่ต้องการเข้าใจวัฒนธรรมที่สูญหาย แล้วรวมกำลังเอาชนะชาวเซนทราดิที่แสวงหาสงครามได้ในที่สุด
หลังจากจบภาคแรกลงแล้ว มาครอสก็มีภาคต่อออกมาอีกหลายต่อหลายภาค ซึ่งทุกภาคจะเล่าต่อยอดจากภาคแรก ไปพูดถึงกองยานมาครอสลำอื่นๆ ที่เดินทางไปในห้วงอวกาศแดนไกลและไปเจอมนุษย์ต่างดาวเผ่าพันธุ์อื่นๆ รวมถึงเสียงดนตรีและรักสามเส้าที่แต่ละภาคจะใช้สไตล์เพลงที่ต่างกันไป อย่างในภาค Macross Plus จะมีความเป็นดนตรีเทคโนมากขึ้น Macross Seven จะเป็นแนวร็อค และ Macross Delta จะมาเป็นแนววงไอดอล
มาครอสยังได้ทางอเมริกานำไปฉายและดัดแปลงในส่วนหนึ่งของซีรีส์ Robotech ซึ่งกลายเป็นปัญหาด้านลิขสิทธิ์ในภายหลังเมื่อ Harmony Gold USA บริษัทที่นำเอามาครอสของญี่ปุ่นไปตัดต่อใหม่อ้างว่าพวกเขาเป็นผู้ถือสิทธิ์ของ Robotech อย่างถาวร ทำให้ มาครอสไม่สามารถออกมาฉายนอกญี่ปุ่นแบบถูกต้องลิขสิทธิ์อยู่หลายสิบปี ก่อนที่จะมีการตัดสินคดีในช่วงปี 2017 ว่าลิขสิทธิ์ของเรื่อง The Super Dimension Fortress Macross, The Super Dimension Cavalry Southern Cross, และ Genesis Climber Mospeada ที่ถูกดัดแปลงเป็น Robotech จะสิ้นสุดลงในวันที่ 14 มีนาคม 2021
MAPS – แฟนตาซีในอวกาศ
อาจารย์ยูอิจิ อาเซกาว่า เคยกล่าวไว้ว่าผลงานของเขาเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องแนวไซไฟ แต่เป็นเรื่องแนวแฟนตาซี แม้ว่าเรื่องราวหลักๆ จะเป็นการผจญภัยออกล่าสมบัติของยานอวกาศทรงเทพธิดา ริปมิลล่า ที่เดินทางมาบนโลกเพื่อพาตัว เก็น มนุษย์ที่มีแผนที่ของสมบัติทั่วอวกาศซ่อนอยู่ในยีนของเขา ตอนแรกเก็นก็ไม่อยากจะข้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เมื่อโลกต้องวุ่นวายจากการมีอยู่ของริปมิลล่าบนโลก เก็นกับโฮชิมิเพื่อนสนินของเก็นจึงตัดสินใจเดินทางออกจากโลกเพื่อตามหาสมบัติตามความต้องการของริปมิลล่า แต่การเดินทางก็ไม่ได้ราบรื่น เมื่อยานอวกาศทรงเทพธิดาลำอื่นๆ ที่มีพลังเหนือล้นก็ปรากฏตัวเข้ามาขัดขวางการเดินทางล่าสมบัติ
อย่างที่บอกไว้ว่า การ์ตูนเรื่องนี้เป็นแฟนตาซีเสียมากกว่าจะเป็นไซไฟ เราเลยได้เห็นฉากมหัศจรรย์ออกมาตั้งแต่ช่วงต้นเรื่องที่อยู่ๆ ริปมิลล่าก็แยกโลกออกเป็นสองส่วนเพื่อเปิดที่ซ่อนสมบัติออกมา และการเดินทางหรือฉากการต่อสู้หลายๆ ฉากก็ยากจะอธิบายเป็นคำพูดได้แบบง่ายๆ (แต่สนุกนะ) แล้วก็อาจจะเพราะความเหนือจริงสูงขนาดนี้ MAPS จึงถูกสร้างอนิเมะได้แค่ในรูปแบบ OVA จำนวนไม่กี่ตอนเท่านั้น และการ์ตูนเรื่องนี้ก็ยังทำให้เห็นว่า ถึงเรื่องจะแฟนตาซีมากๆ แต่ถ้ามันยังน่าติดตาม คนอ่านหรือคนดูก็พร้อมจะร่วมหัวจมท้ายไปกับเรื่องราวที่สนุกอยู่ดี
Mojacko – ฟุจิโกะ เอฟ ฟุจิโอะ พาเที่ยวอวกาศ
อาจารย์ฟุจิโกะ เอฟ ฟุจิโอะ เป็นคนที่เอาเรื่องราวแบบไซไฟมาทำเป็นการ์ตูนสำหรับเด็กๆ อยู่บ่อยครั้ง เช่นเดียวกับการ์ตูนเรื่อง Mojacko ที่ในฉบับมังงะนั้น จะเล่าเรื่องของ อามาโนะ โซราโอะ เด็กชายที่ชอบเรื่องแนวไซไฟแล้วบังเอิญพบกับ โมจาร่า สิ่งมีชีวิตจากดาวอื่นที่เดินทางมากับ ดอนโม่ ที่เป็นหุ่นรับใช้ ด้วยนิสัยแบบเด็กๆ ของทั้งสาม การผจญภัยไปในห้วงอวกาศแบบวุ่นวายจึงเกิดขึ้น เมื่อมังงะถูกนำไปสร้างเป็นอนิเมะ ทางทีมงานสร้างอนิเมะได้ปรึกษากับผู้เขียนและเปลี่ยนแนวเรื่องจากฉบับมังงะซึ่งจะมีความรุนแรงแบบเกินจริงแฝงอยู่ระหว่างการผจญภัย อย่างการขับยานอวกาศให้ไปชนสะเก็ดดาว หรือเกี่ยวข้องกับการล่มสลายของดวงดาวต่างๆ
ด้วยเหตุนี้ในฉบับอนิเมะจึงเปลี่ยนมาเล่าเรื่องของโมจาโกะที่เดินทางมาจากดาวโมจา และมี โมจาริ กับ โมจารุ ที่เป็นน้องสาวกับน้องชายเดินทางตามมาด้วย ส่วนการเดินทางไปในอวกาศก็ถูกลดบทบาทลง จากการเดินทางเป็นเวลายาวๆ มาเป็นการเดินทางแบบไปกลับระหว่างโลก หรือไม่เช่นนั้นก็กลายเป็นมุกตลกที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวบนโลกไปแทน และก็เป็นอนิเมะฉบับนี้ที่หลายๆ คนอาจจะคุ้นเคยกับการได้รับชมผ่านทางช่อง 9 การ์ตูน ในช่วงประมาณปี 1999-2000
Planetes – จริงจังในอวกาศ
พูดถึงมังงะและอนิเมะที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางในอวกาศที่เหนือจริงมาหลายเรื่องแล้ว มาพูดถึงการ์ตูนประเภทเดียวกันที่เป็นแนว Hard Sci-Fi หรือ ไซไฟแบบจริงจังบ้าง เรื่อง Planetes จินตนาการเหนือโลก เป็นมังงะที่เล่าเรื่องในอนาคตที่ไม่ไกลนัก เมื่อบริษัทสามารถไปตั้งสำนักงานบนดวงจันทร์ได้ สมาชิกของกลุ่มเก็บซากขยะอวกาศ DS-12 Toybox ต่างทำงานในสไตล์ของตัวเอง พวกเขาไม่ได้เป็นวีรบุรษ ไม่ได้มีความสามารถพิเศษ เป็นแค่คนทำงานที่ยังมีความฝันบางอย่างในการเดินทางไปในห้วงอวกาศเท่านั้น
อย่างที่บอกไปว่ามังงะเรื่องนี้ออกจะเป็นแนวไซไฟจริงจัง เราเลยได้เห็นเหตุการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นในลักษณะที่จับต้องได้ง่าย ตัวอย่างเช่น หากจะไปเดินแกร่วบนถนนที่ตั้งอยู่บนดวงจันทร์ก็จะต้องใส่ชุดอวกาศแบบเต็มสูบ การจะไปสูบบุหรี่ในยานอวกาศหรือสถานีอวกาศนั้นออกจะไม่เหมาะ (แต่ก็มีคนที่แสวงหาที่สูบบุหรี่อยู่ดี) หรือสภาวะจิตใจของผู้ที่อยู่ในห้วงอวกาศเป็นเวลานานๆ นั้นจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วก็มีแง่มุมเชิงสังคมที่เราจะได้เห็นกลุ่มคนที่ทั้งสนับสนุนให้มีการสำรวจอวกาศให้ไกลกว่าเดิม กับกลุ่มคนหัวรุนแรงที่อยากให้มนุษย์ไม่เดินทางสุ่มเสี่ยงไปในอวกาศอันแสนไกล
ว่ากันตามตรง นี่อาจจะเป็นการ์ตูนที่น่าเบื่อสำหรับคนดูหลายๆ คน ด้วยความที่เรื่องราวนั้นไม่ได้มีความหวือหวาใดๆ แต่สิ่งที่อาจจะรู้สึกทุกครั้งที่ได้กลับไปเสพเรื่องนี้ก็คือ แรงบันดาลใจบางอย่างที่ทำให้เราพร้อมจะมองขึ้นไปบนท้องฟ้า และหวังว่าสักวัน มนุษยชาติจะได้เดินทางไปอยู่บนนั้น แบบที่ในการ์ตูนหลายๆ เรื่องเคยวาดฝันไว้
อ้างอิงข้อมูลจาก