เมื่ออนิเมะที่เจาะกลุ่มคนดูวัยเด็กเป็นหลักอย่าง Hugtto! Precure ซึ่งมีสาวน้อยแปลงร่างออกต่อสู้กับเหล่าร้ายได้ทำการเปิดตัวละคร เคียวอังฟินี (Cure Infini – ตัวคำว่า อังฟินี ในท้องเรื่องระบุว่าอ่านออกเสียงตามภาษาฝรั่งเศส) ตัวละครเพศชายและไม่ใช่ตัวละครมาสคอต (สัตว์วิเศษ) คนแรกที่แปลงร่างเป็นพรีเคียว แล้วใช้พลังพิเศษเข้าปราบศัตรูอย่างเป็นทางการ ซึ่งปกติจะเป็นเด็กสาวที่จะแปลงร่างได้ ตามนิยามการ์ตูนกลุ่ม สาวน้อยเวทมนตร์ (Mahou Shojo – 魔法少女)
กระแสในโลกอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะกลุ่มแฟนคลับที่ต่างตกใจและชื่นชมกับการตัดสินใจในครั้งนี้ของทีมงานสร้างอนิเมะสำหรับเด็กชุดนี้ที่กล้าหาญในการนำเสนอเนื้อหาที่เหมือนจะเป็นเปิดกว้างทางเพศวิถีมากขึ้น หลังจากที่หลายคนอาจจะมองว่าเดิมทีซีรีส์นี้อาจจะสงวนไว้เฉพาะเด็กหญิงเท่านั้น
และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Hugtto! Precure พรีเคียวประจำปี 2018 ซึ่งมาพร้อมกับธีม ‘การเชียร์ให้กำลังใจ’ สร้างกระแสแบบนี้ เพราะก่อนหน้านี้ซีรีส์ก็เคยสร้างกระแสในประเทศญี่ปุ่นด้วยการให้ตัวละคร เคียวเยล (Cure Yell) หัวหน้าทีมของกลุ่มพรีเคียวของภาค Hugtto! Precure ให้เข้าไปพูดกับตัวละครอีกตัวหนึ่งว่า “แม้แต่เด็กผู้ชายก็เป็นเจ้าหญิงได้”
แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีบางความเห็นจากคนที่ไม่ได้ติดตามชมพรีเคียวหรือการ์ตูนกลุ่มสาวน้อยเวทมนตร์เป็นประจำบอกว่า เรื่องราวเหล่านี้นั้นก็เป็นเพียงแค่การเกาะกระแสตลาดของกลุ่มลูกค้า LGBTQ เท่านั้นรึเปล่า? กับอีกส่วนหนึ่งที่บอกว่า นี่ไม่ใช่สาวน้อยเวทมนตร์กลุ่มแรกที่มีผู้ชายเป็นสมาชิก ครั้งนี้ The MATTER จึงอยากชวนมาเสวนาเรื่องเหล่านี้กันว่า กว่าที่จะเคียวอังฟินีจะเปิดตัวนั้น การ์ตูนกลุ่มสาวน้อยเวทมนตร์มีเรื่องราวอะไรยังไงบ้าง
ที่มาของ ‘สาวน้อยเวทมนตร์’
ก่อนจะพูดถึงพรีเคียวที่ก่อกระแสสังคมครั้งนี้ เราอาจจะต้องย้อนกลับไปดูเสียก่อนว่า ‘สาวน้อยเวทมนตร์’ หรือ 魔法少女 นั้นมีที่มาที่ไปอย่างไรกันก่อน
คอนเซ็ปต์ของ ‘สาวน้อยเวทมนตร์’ นั้นจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กหญิงที่มีพลังวิเศษหรือของวิเศษ และใช้มันเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งของตัวเองและผู้อื่น ตัวละครเอกของเรื่องก็จะเป็นเด็กผู้หญิงตามที่ชื่อบอก ซึ่งการ์ตูนที่กล่าวว่าเป็นสาวน้อยเวทมนตร์แบบเต็มตัวเรื่องแรกก็จะเป็นเรื่อง Mahou Tsukai Sally ที่ออกฉายในปี 1966 โดยได้แรงบันดาลใจมาจากอนิเมชั่นฝั่งอเมริกาเรื่อง Bewitched ในเรื่องนั้นเกี่ยวกับ แม่มดน้อยแซลลี่ ที่มาอาศัยอยู่ในเมืองมนุษย์ แต่หลักๆ ก็ยังเล่าเรื่องแม่มดน้อยมากกว่าที่จะเด็กสาวธรรมดาที่ได้รับพลังพิเศษ
เรื่องที่ขยับเซ็ตติ้งให้เป็นเด็กสาวได้รับพลังพิเศษจะเป็น Himitsu No Akko-Chan ออกฉายครั้งแรกในปี 1969 ซึ่งตัว อั๊กโกะจัง ได้รับกระจกวิเศษที่สามารถแปลงร่างเธอเป็นอะไรก็ได้ เรื่องนี้กลายเป็นมาตรฐานให้การ์ตูนแนวเดียวกันอีกหลายเรื่องในภายหลัง (ถ้าคุณรู้สึกว่า ทั้งแซลลี่และอั๊กโกะจังดูใหม่กว่าปีฉาย ก็เพราะว่าทั้งสองนี้ถูกรีเมคมาแล้วหลายครั้งนั่นเอง)
ในช่วงแรกๆ นิยามของสาวน้อยเวทมนตร์สำหรับผู้สร้างและนักประวัติศาสตร์การ์ตูนก็จะเหมารวมตัวละครสาวน้อยที่อาจจะไม่ได้มีพลังเวทมนตร์ แต่มีการแปลงร่างเมื่อใช้พลังพิเศษอย่างเรื่อง Cuite Honey เข้าไปด้วย แม้ตัวพล็อตออกจะเป็นแนวตามหาคนร้ายฆ่าพ่อของนางเอกก็ตามที จากนั้นในช่วงปี 1980-1990 การ์ตูนกลุ่มสาวน้อยเวทมนตร์โดยส่วนใหญ่ก็จะมีเรื่องราวที่เกี่ยวกับอาชีพในฝันของเด็กหญิง เล่าถึงการรวมตัวเพื่อนหญิงพลังหญิงมากขึ้น บางเรื่องก็อาจจะผูกให้มีความสัมพันธ์ด้านความรักเข้าไปอีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องราวเหล่านั้นก็จะสอดคล้องกับสภาพสังคมญี่ปุ่นที่ผู้หญิงมีบทบาทในงานอาชีพต่างๆ มากขึ้น จึงไม่แปลกนักที่กลุ่มบุคคลที่ชื่นชอบของน่ารักงดงามจะติดตามการ์ตูนประเภทนี้อย่างต่อเนื่อง
จนกระทั่งการมาถึงของ Pretty Guardian Sailor Moon หรือ เซเลอร์มูน ที่ตอนแรกนั้นอาจจะขึ้นทรงมาเป็นการ์ตูนแนวสาวน้อยเวทมนตร์ธรรมดาๆ แต่ก็มีส่วนผสมของแนวขบวนการเซนไตมาด้วยเพราะพวกเธอไม่ได้มาตัวคนเดียว แต่มาต่อสู้ร่วมกันถึงห้าคน และเมื่อเนื้อเรื่องเดินคืบหน้าไปเรื่อยๆ ตัวละครชายที่ควรจะโดดเด่นอย่าง หน้ากากทักซิโด้ ก็ไม่ได้ปรากฏตัวช่วยเหลือในการต่อสู้มากนัก และในภายหลังก็มีการเปิดเผยตัวละครที่เป็น LGBTQ เข้ามาในเรื่อง ที่ชัดเจนก็คือเรื่องราวของ เซเลอร์ยูเรนัส และเซเลอร์เนปจูน ที่แม้ว่าในบางประเทศจะพยายามจะเซ็นเซอร์ความรักของทั้งสองคน แต่ตัวผู้เขียนมังงะต้นฉบับยืนยันเสมอว่าทั้งสองคนเป็นผู้หญิงที่มีความรักให้แก่กันและกัน และถึงเซเลอร์มูนฉบับอนิเมะอาจจะมีการปราบสัตว์ประหลาดรายสัปดาห์ให้เห็นอยู่ แต่ในมังงะต้นฉบับนั้นไม่ได้เน้นแค่การปราบสัตว์ประหลาดเท่านั้น ปมหลายอย่างในเรื่องจะเป็นปมของตัวบุคคล ซึ่งกลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่ส่งผลกับการ์ตูนแนวสาวน้อยเวทมนตร์มาจนถึงปัจจุบัน
ความจริงเรื่องราวของสาวน้อยเวทมนตร์ยังมีอีกมาก แต่เกรงว่าจะยาวจนเกินไปดังนั้นขอกลับเข้าสู่ประเด็นของสาวน้อยเวทมนตร์ที่เป็นผู้ชายกันต่อ
‘เด็กชาย’ ที่เป็น ‘สาวน้อยเวทมนตร์’
หลายคนอาจจะเห็นว่า เคียวอังฟินีเป็นสาวน้อยเวทมนตร์คนแรกในโลกการ์ตูน แต่จริงๆ แล้วจะบอกแบบนั้นก็คงไม่จริงเท่าใดนัก อย่างใน DokiDoki! Precure ก็เคยมีพ่อบ้านเซบาสเตียน แปลงร่างเป็น เคียวเซบาสเตียน (Cure Sebastian) มาก่อน แต่ก็ออกจะเป็นมุกซะมากกว่าเพราะเขาใช้พลังนั้นอยู่คนเดียว ไม่ได้ปราบตัวร้ายแต่อย่างใด หรือในภาค KiraKira☆Pretty Cure A La Mode ก็มี คุโรกิ ริโอะ แปลงร่างเป็นหนุ่มน้อยที่ใช้เวทมนตร์ได้
แล้วถ้ามองย้อนกลับไปในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ ก็มีเด็กผู้ชายหลายคนรับบทบาทเป็นสาวน้อยเวทมนตร์มาก่อนแล้ว ตัวอย่างเช่น ตัวละคร เอริโอ มอนดิอัล (Erio Mondial) เป็นหนุ่มน้อยที่ในท้องเรื่องมีพลังเวทมนตร์ในตัวมากจนได้กลายเป็นหนุ่มน้อยเวทมนตร์ ที่มาปกป้องโลกร่วมกับตัวละครสาวน้อยเวทมนตร์คนอื่นๆ ในเรื่อง Magical Girl Lyrical Nanoha StrikerS ที่ออกฉายในปี 2007
และเมื่อปี 2015 ก็มีอนิเมะเรื่อง Cute High Earth Defense Club LOVE! ซึ่งถูกดัดแปลงมาจากไลท์โนเวลแนวตลกโปกฮาที่ตีความให้ชายหนุ่มห้าคนถูกรับเลือกจากตัววอมแบตพูดได้ให้กลายเป็นขบวนการปกป้องโลก แต่พวกเขาจะต้องแปลงร่างแบบกลุ่มสาวน้อยเวทมนตร์เพื่อเข้าต่อสู้กับศัตรูด้วยการต่อสู้และมีท่าไม้ตายใช้ในแพทเทิร์นใกล้เคียงเซเลอร์มูน อีกเรื่องหนึ่งที่ตีความว่าพระเอกของเรื่องเป็นสาวน้อยเวทมนตร์ก็จะเป็นเรื่อง Kore wa Zonbi Desu ka? ที่จริงๆ แล้วตัวเอกตายไปแล้ว ก่อนถูกชุบชีวิตขึ้นมาเป็นซอมบี้ที่มีความสามารถแปลงร่างเป็นสาวน้อยเวทมนตร์แถมติดตัวมาด้วย (…ซับซ้อนเนอะ)
หรือถ้าเอาในแง่กลับกันในปี 2012 ก็มีมังงะเรื่อง Mahou Shojo Ore ซึ่งตีความให้นางเอกของเรื่องเปลี่ยนร่างด้วยความรัก จนกลายเป็น …เอ่อ หนุ่มหล่อล่ำบึ้ก เพื่อปกป้องคนที่เธอหลงรักอยู่
ทั้งนี้ หลายๆ ท่านเห็นว่ากลุ่ม Sailor Starlights จากอนิเมะ Sailor Moon Sailor Stars ควรจะนับเป็นหนุ่มน้อยเวทมนตร์กลุ่มแรก เพราะในอนิเมะนั้น ตัวละครกลุ่มดังกล่าวมาอาศัยอยู่บนโลกในฐานะชายหนุ่มที่จะกลายเป็นหญิงสาวเมื่อทำการแปลงร่างเท่านั้น แต่ในมังงะต้นฉบับ รวมถึงในการสัมภาษณ์หลายๆ ครั้งของอาจารย์นาโอโกะ ทาเคอุจิ ผู้เขียนมังงะต้นฉบับระบุว่า ผู้ที่จะแปลงร่างเป็น อัศวินเซเลอร์ได้มีเพียงเพศหญิงเท่านั้น (ตามชื่อเรื่องที่ระบุว่าเป็น Pretty Guardian หรือ 美少女戦) และกล่าวกันว่าการที่มีการดัดแปลงเนื้อเรื่องส่วนนี้ของฉบับอนิเมะ ทำให้ตัวผู้เขียนมีความเข้มงวดในการปล่อยผลงานที่เกี่ยวข้องกับเซเลอร์มูนในภายหลัง
ถึงเคียวอังฟินีจะไม่ได้เป็นหนุ่มน้อยเวทมนตร์คนแรก แต่เขาก็ยังถือว่าเป็นพรีเคียวชายคนแรกอย่างเป็นทางการ และที่มาที่ไปกว่าเขาจะแปลงร่างได้นั้นก็น่าสนใจไม่น้อย
กว่าจะมาเป็น ‘เคียวอังฟินี’ เด็กผู้ชายคนแรกที่แปลงร่างเป็นพรีเคียว
มีความเห็นส่วนหนึ่งบนโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ระบุว่า การสร้างเคียวอังฟินีเป็นแค่การตลาดฉาบฉวยของทีมสร้างอนิเมะ Hugtto! Precure ซึ่งน่าจะพอทราบว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศติดตามผลงานของตนอยู่เยอะ แต่เมื่อลองค้นหาข้อมูลที่พอจะเห็นในอินเตอร์เน็ต การสร้างตัวละครอังฟินีอาจจะไม่ใช่ความฉาบฉวย แต่เป็นความตั้งใจของทีมสร้างที่ค่อยๆ เล่าเรื่องจนถึงจุดที่พรีเคียวตัวนี้ได้ปรากฏตัว …เขาคนนี้มีที่มาที่ไปนะ
เรื่องเริ่มต้นจากการที่ Hugtto! Precure แนะนำตัวละครที่ชื่อว่า วาคามิยะ อังรี (Wakamiya Henry) เด็กชายลูกครึ่งญี่ปุ่น-ฝรั่งเศส นักกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตที่ไว้ผมบ็อบและแต่งตัวแบบ androgynous สำหรับใช้ชีวิตปกติ ในการปรากฎตัวตอนแรก อังรีมาเพื่อดึงตัวละคร คากายาคิ โฮมาเระ ในทีมพรีเคียวให้กลับไปเล่นฟิกเกอร์สเกตร่วมกับเขาที่ต่างประเทศอีกครั้ง เพราะอังรีมองว่ากลุ่มนางเอกนั้นทำให้ศักยภาพในการเล่นสเก็ตลีลาของโฮมาเระลดลง แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไปกลุ่มพรีเคียวก็ทำให้เห็นว่าโฮมาเระยังสามารถเล่นฟิกเกอร์สเก็ตได้ดีขึ้นแม้ว่าจะเปลี่ยนถิ่นที่อยู่ นอกจากนี้ ในช่วงเปิดตัวอังรีก็ยังใส่ชุดเดรสแบบผู้หญิงจนโดนถามว่า ตัวของเขาเป็น Half (สแลงในภาษาญี่ปุ่นที่หมายถึง กะเทย) แต่เจ้าตัวกลับตอบอย่างมั่นใจว่าเจ้าตัวเป็น Double ความงาม ที่มาจาก ยามาโตะนาเดชิโกะ (สาวงามตามตำนานของญรี่ปุ่น) กับ ปาคริเชียง (Parisian) ซึ่งบ่งบอกถึงจุดยืนของการชื่นชมความงดงามแม้ว่าเพศกำเนิดจะเป็นชายก็ตามที
ต่อมา อังรีก็ได้ย้ายมาอยู่ในโรงเรียนเดียวกับโฮมาเระ และถึงจะใส่ชุดนักเรียนชาย ตัวละครตัวนี้กลับนำเอาเนคไทของเครื่องแบบมามัดทรงเป็นโบว์ ซึ่งอนิเมะที่ฉายตอนดังกล่าวนี้อยู่ในช่วงเดือนเมษายน ช่วงเปิดเทอมของญี่ปุ่นที่ในปีการศึกษานี้มีโรงเรียนหลายๆ แห่งเปิดให้นักเรียนแต่งตัวแบบ unisex พอดิบพอดี
จากนั้นเรื่องราวก็ดำเนินต่อไปจนถึงตอนหนึ่งที่อังรีถูกทาบทามให้ไปเดินแฟชั่นโชว์ในธีม ‘เด็กผู้หญิงเป็นฮีโร่ได้’ ก่อนที่จะมีตัวละครชื่อ มาซาโตะ ที่เป็นเพื่อนร่วมชั้นของอังรีออกมาแสดงความไม่พอใจการกระทำที่ขัดแย้งต่อเพศกำเนิด อย่างเช่นการที่งานใช้คำว่า ‘Hero’ แทน ‘Heroine’ หรือการที่อังรีขึ้นเดินแบบในชุดเดรส ซึ่งตัวอังรีก็ออกมาค้านแสดงความเห็นค้านเรื่องนี้ว่า “คนที่ตั้งข้อกำหนดไว้ในใจตัวเองน่ะ มันเสียทั้งเวลาและชีวิต” และในตอนนั้น มาซาโตะก็ถูกจับให้เป็นสัตว์ประหลาดประจำตอน แต่ก่อนที่กลุ่มพรีเคียวจะช่วนคืนร่างให้มาซาโกะ ตัวของอังรีกลับจับต้องความรู้สึกของมาซาโตะได้ว่า จริงๆ แล้วตัวของมาซาโตะเองก็น่าจะมีปมบางอย่างที่ทำให้เขาแสดงความเห็นต่อต้านการใช้ชีวิตไม่ตรงกับเพศกำเนิด และก็เป็นในตอนนี้เองที่อังรีถูก เคียวเยล ช่วยชีวิตเอาไว้และพูดว่า “แม้แต่เด็กผู้ชายก็เป็นเจ้าหญิงได้”
เรื่องราวดำเนินต่อไปอีกหลายตอน ซึ่งตัวมาซาโตะก็มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับอังรี และกลายเป็นผู้ช่วยส่วนตัวไปด้วย อังรีก็เอาชนะการแข่งขันฟิกเกอร์สเก็ต แต่กลับเริ่มมีความกังวลว่าตัวเองอาจจะไม่สามารถอยู่กับความงามได้อีกเพราะว่าเสียงของตนเริ่มแตกพร่า และเมื่อการแข่งขันดำเนินต่อไปเจ้าตัวก็ได้รับบาดเจ็บที่ขาจนเกิดความรู้สึกด้านลบภายในใจว่าอาจจะไม่ได้เล่นฟิกเกอร์สเก็ตอีก นั่นทำให้ตัวร้ายของเรื่องใช้พลังของอังรีมาสร้างสัตว์ประหลาดที่แข็งแกร่ง จนกระทั่งกลุ่มพรีเคียวมาช่วยเหลือ ทั้งยังระบุว่า อังรีที่พวกเธอเคยรู้จักมาก่อนนั้นเป็นคนที่มีจิตใจกล้าแกร่งกว่านี้ แล้วปาฏิหาริย์ของพรีเคียวก็เกิดขึ้น อังรีได้แปลงร่างเป็นเคียวอังฟินีที่ออกมาโลดแล่นบนลานสเก็ตทั้งยังปราบสัตว์ประหลาด ไปพร้อมๆ กับให้กำลังใจแฟนคลับที่คิดว่าจะไม่มีโอกาสได้เห็นอังรีเล่นสเก็ตอีกครั้ง
“พวกเราทำได้ทุกสิ่ง พวกเราเป็นได้ทุกอย่าง ไม่ว่าในช่วงเวลาที่เศร้า ไม่ใช่ในช่วงเวลาที่ลังเล เพื่อสนับสนุนทุกๆ คน มุ่งหน้าสู่อนาคต นั่นล่ะ พริตตี้เคียว”
อย่างที่เห็นว่า กว่าอังรีจะกลายเป็นเคียวอังฟินีนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแบบกะทันหันในชั่วตอนเดียว เรื่องราวถูกวางไว้ตั้งแต่ต้นปี ก่อนจะมาผลิบานเอามาในตอนท้ายของปี จริงๆ แล้วยังมีคนบอกกล่าวว่า มีหลายๆ ฉากในเรื่องที่แอบบอกเล่าว่าตัวมาซาโตะกับอังรีอาจจะมีใจให้กันแล้วด้วย แต่ตรงนั้นอาจจะยังไม่ชัดเจนนัก ซึ่งพอเรื่องราวจบลงโดยสมบูรณ์แล้วอาจจะมีการเล่าตรงนี้ตรงๆ อีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้
แล้วจากนี้จะมีอะไรต่อไหม?
จุดที่น่าสนใจของการที่พรีเคียวเล่าเรื่องของเคียวอังฟินีและวาคามิยะ อังรีไม่ได้อยู่ที่การเป็นพรีเคียวเพศชายคนแรกสุดเท่านั้น อีกส่วนที่น่าจะพูดถึงก็จะเป็นการที่การ์ตูนซีรีส์พรีเคียวนั้นมีกลุ่มผู้ชมหลักเป็นเด็กเล็ก แม้ว่าด้วยการฉายมาต่อเนื่องถึง 15 ปี จะทำให้มีเด็กๆ ที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วยังคอยติดตามรับชมอยู่ แต่เมื่อมีการเล่าเรื่องสนับสนุนความหลากหลายทางเพศเช่นนี้ ก็พอจะอนุมานได้ว่าบริษัทผู้ผลิตอนิเมะอย่าง Toei อยากจะบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้เด็กๆ ที่เป็นผู้ชมหลักได้เข้าใจมากขึ้น แม้ว่าจะพอมองอีกมุมได้ว่า อาจจะเพราะพวกเขาอยากเอาใจกลุ่มลูกค้าผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีจำนวนไม่น้อยในตลาดปัจจุบัน แต่ไม่ว่าเหตุเกิดจากการใดก็ตาม มันก็คงเป็นการดีสำหรับอนาคตที่จะมีตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศออกมาโลดแล่นมากขึ้น และไม่ได้ออกมาเป็นตัวชงมุกตลกแบบที่เคยเกิดขึ้นก่อนในยุคนี้
ความจริงการ์ตูนกลุ่มสาวน้อยเวทมนตร์ก็เป็นที่นิยมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมาโดยตลอด อย่างเด็กยุค 90s หลายๆ คนก็ได้ทำความเข้าใจผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงได้เข้าใจความคิดและตัวตนของตนเองมากขึ้น อย่างเช่นเรื่องเซเลอร์มูน ที่ฉบับอนิเมะตีความตัวละครของฉบับมังงะบางตัวให้ชัดขึ้น หรืออาจจะฉีกจากเดิม ทำให้เราได้เจอตัวละครที่คู่รักเพศเดียวกันหลายๆ ตัว หรืออย่างผลงานอนิเมะเรื่อง อูเทนะ พลิกฟ้าตามหารัก (ถูกหลายๆ คนจัดเข้าเป็นกลุ่มสาวน้อยเวทมนตร์ เพราะในฉบับอนิเมะตัวละครจะเปลี่ยนชุดแบบแปลงร่างก่อนเข้าต่อสู้) ที่แม้ต้นเรื่อง ตัวอุเทน่าที่เป็นตัวเอกยังคาดหวังที่จะตามหาเจ้าชาย เพื่อที่จะได้สมรักตามความสัมพันธ์รักแบบชายหญิง แต่เมื่อเรื่องราวค่อยๆ ดำเนินไปนั้นก็จะได้เห็นความรักหลากหลายรูปแบบมากขึ้นจากตัวละครหลาย ก่อนที่จะลงเอยว่าอุเทน่ากับ แองจี้ นางเอกอีกคนหนึ่งได้สื่อใจถึงกันจนกลายสภาพเป็นเหมือนคู่พระนางตัวจริงของเรื่องไปในที่สุด (แต่ในฉบับมังงะนั้นเรื่องความสัมพันธ์ของตัวละครอุเทน่ากับแองจี้ไม่ได้ออกมาในลักษณะเกินเพื่อน)
การมาถึงของเคียวอังฟินีก็เลยเหมือนการแสดงความเป็นมิตรและพื้นที่ปลอดภัยของผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเป็นทางการด้วย
ทั้งนี้ ฉากแปลงร่างของเคียวอังฟินีที่ปรากฏใน Hugtto! Precure นั้นเป็นช่วงเวลาเพียงไม่นานนัก เพราะในท้ายตอน เคียวอังฟินีก็กลับคืนร่างเดิม แถมยังไม่มีอุปกรณ์แปลงร่างเป็นของตัวเอง แม้ตอนนี้เรื่องราวเหล่านี้อาจจะเป็นเพียงแค่ความฝันวูบเดียวสำหรับตัวละครเพศชายที่จะได้โลดแล่นในโลกพรีเคียว แต่เชื่อได้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้เราอาจจะมีโอกาสได้เห็นเรื่องพรีเคียวพัฒนาตัวเองจากแนว ‘สาวน้อยเวทมนตร์’ มาเป็นแนว ‘เยาวชนเวทมนตร์’ แทน
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.ex.org via web Internet Archieve Wayback Machine
Youtube Channel: Toy Joy! TV