23 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 ภาพยนตร์ที่สร้างจุดเปลี่ยนให้กับวงการหนังไทยอย่าง ‘นางนาก’ เข้าฉายในโรงเป็นครั้งแรก
หากย้อนไปดูข่าวเก่าๆ เราจะเห็นคำชื่นชมต่อภาพยนตร์ที่สร้างโดยบริษัท ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด กำกับโดย อุ๋ย—นนทรีย์ นิมิบุตร อย่างมากมาย ทั้ง “ภาพยนตร์ที่สร้างปรากฎการณ์” “หนังไทยเรื่องแรกที่มีรายได้เกิน 100 ล้านบาท” ฯลฯ
ส่วนข้อมูลที่ว่า ‘นางนาก’ ซึ่งทำเงินไปได้รวม 150 ล้านบาท มีรายได้ในไทยมากกว่า Titanic ที่เข้าฉายในปีเดียวกัน—แม้จะถูกโต้แย้งว่าอาจไม่เป็นจริง
แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ หนังผีเรื่องนี้ช่วยปลุกชีวิตวงการหนังไทยที่ซบเซาในช่วงเวลานั้นให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
และหมุดหมาย ‘หนังไทยรายได้เกินร้อยล้านบาท’ รวมไปถึงกลวิธีในการเล่าภาพยนตร์พีเรียด-ดราม่า-ความรัก ก็ถูก set ขึ้นมาใหม่ จนกลายเป็นหลักไมล์ให้ภาพยนตร์แนวเดียวกันเรื่องต่อๆ มา ต้องทำให้ได้ถึง ไปจนถึงก้าวข้ามไป
แม่นากพระโขนง เวอร์ชั่นที่ 21
คนไทยหลายคนน่าจะรู้จักตำนาน ‘แม่นากพระโขนง’ หญิงตายท้องกลมผู้มารอคนรักที่ท่าน้ำเป็นอย่างดี ในฐานะเรื่องเล่าสยองขวัญลำดับต้นๆ ของประเทศ
แต่เบื้องหลังเรื่องราวของการยืดมือเก็บมะนาวที่ตกไปใต้ถุนบ้าน หรือการหลอกคนทั้งหมู่บ้านหลังคนรักรู้ความจริง กลับเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘ความรัก’ ที่มีพลังรุนแรงจนสามารถปลุกวิญญาณคนตายให้ฟื้นกลับมาหาคนที่รักได้ ก็กลายเป็นพล็อตเรื่องชั้นดี และถูกนำมาเล่าขานในรูปแบบต่างๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งละครวิทยุ ละครเวที ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ฯลฯ
“นางนาก ของเรา เป็นเวอร์ชั่นที่ 21 ถ้าจำไม่ผิดนะ” ทราย—อินทิรา เจริญปุระ นางเอกภาพยนตร์ ‘นางนาก‘ ฉบับปี พ.ศ. 2542 ว่าเอาไว้ ในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับ The MATTER
“เวอร์ชั่นก่อนหน้าที่เราจำได้ ก็คือของปรียา รุ่งเรือง หรือที่ ตรีรัก รักการดีเล่น และอื่นๆ อีกมากมาย คือความทรงจำเรื่องแม่นากของเรา ก็จะมีภาพแบบเป็นผีสาวสุดสวย ออกมาอาละวาด ยืดแขนได้
“แต่หลังจากนางนากออกฉายมา 20 ปี วันก่อนเราไปที่วัดมหาบุศย์ ย่านพระโขนง ก็เจอรูปปั้นแม่นากเป็นผมสั้นสวมผ้าแถบ จากที่สมัยก่อนเป็นผมยาวห่มสไบ กลายเป็นว่าหนังที่เราเล่นกลายเป็นภาพจำของแม่นากในยุคหนึ่งไปแล้ว ก็ฮึ่ย! แปลกดี”
นอกจากภาพลักษณ์ภายนอกที่แตกต่าง อีกข้อต่างสำคัญของ ‘นางนาก’ ฉบับปี พ.ศ. 2542 ที่มีทรายเล่นเป็นนางเอก และเมฆ—วินัย ไกรบุตร เล่นเป็นพระเอก กับเวอร์ชั่นก่อนๆ ก็คือการรีเสิร์ชข้อมูลอย่างหนักหน่วง และเก็บรายละเอียดพร้อมกับตั้งคำถามกับทุกอย่างเพื่อความสมจริงที่สุด เช่น ยุคของตำนานนางนากน่าจะเกิดขึ้นสมัยไหน? คนสมัยนั้นมีวิธีนอนกันยังไง นอนบนหมอนไหม? ไปจนถึงขั้น สมัยนั้นมีมะนาวเข้ามาในเมืองไทยหรือยัง? ถ้าไม่ใช่มะนาว แล้วเป็นอะไรดี หอมแดงไหม?
“พี่อุ๋ย พี่เอก (เอก เอี่ยมชื่น โปรดักชั่นดีไซน์) พี่สิทธิ์ (วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง ผู้เขียนบท) เป็นคนที่มาจากวงการที่โคตรจะประดิษฐ์ที่สุดอย่างวงการโฆษณา มันเลยกลายมาเป็นของที่ดูประดิษฐ์แล้วออกมาไม่ประดิษฐ์ นางนากเวอร์ชั่นนี้โคตรจริง โคตร real ทุกคนดูดี ไม่แต่งหน้าเลย ทั้งที่จริงๆ เราแต่งหน้ามากเลยนะ คือมันเป็นการประดิษฐ์ย้อนมาอีกทางหนึ่งแค่นั้นเลย เลยเป็นการเซ็ต norm แบบ ถ้าพี่จะทำหนังพีเรียด ให้ดูเรื่องนี้เป็น reference ได้เลย” ทรายเล่าไว้
ในเชิงรายได้ ‘นางนาก’ เป็นหมุดหมายอยู่แล้ว แต่ในเชิงการทำงานก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
กว่าจะเป็นหนังไทยร้อยล้านเรื่องแรก
ในหนังสือ ‘นางนาก’ (ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2542 โดยสำนักพิมพ์แพรวเอนเตอร์เทนต์) นนทรีย์เล่าเบื้องหลังการหยิบตำนานแม่นากพระโขนงมาเล่าอีกครั้งในรูปแบบภาพยนตร์ เกิดจากความ ‘คัน’ ที่อยากเล่าหนังผีให้แตกต่างจากหนังผีเรื่องอื่นๆ ในขณะนั้น ที่เอะอะก็ปาฏิหาริย์ อิทธิฤทธิ์ แหวกอกควักไส้ วิ่งไล่ ลงตุ่ม ..แต่ ‘นางนาก’ เขาอยากให้เป็นหนังโรแมนติกดีๆ เรื่องหนึ่ง
นอกจากงบประมาณในการทำหนังทั้งเรื่อง ซึ่งอยู่ที่ 12 ล้านบาท ยังอยู่ที่การเตรียมการและเก็บรายละเอียดที่ใช้เวลานานมาก
วิศิษฎ์ใช้เวลาเขียนบทอยู่ถึงครึ่งปี ซึ่งเขายอมรับว่าการเขียนบทหนังเรื่องนี้ยากมาก เพราะต้อง realistic
ขณะที่การทำโปรดักชั่นดีไซน์ต่างๆ ก็ต้องให้สมจริงกับยุคสมัย ช่วงรอยต่อรัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลที่ 5 ทั้งเรื่องกิริยาท่าทางของหน้าตา ท่าทาง อากัปกิริยา ทรงผม ถ้อยคำ การแต่งกาย อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย ประเพณี และความเชื่อ เป็นต้น
หลายคนอาจติดตามสเตตัสของทรายในเฟซบุ๊กส่วนตัว แล้วคิดว่าบรรยากาศการทำงานตอนถ่ายทำ ‘นางนาก’ น่าจะมีแต่เรื่องสนุกๆ ทั้งที่แท้จริงแล้ว ก็มีความท้าทายและการทำงานภายใต้ข้อจำกัดในยุคสมัยนั้น
“คือทุกคนอยากจะเนี๊ยบที่สุด เท่าที่ความสามารถและงบตอนนั้นจะไปได้
“ซีนห้อยหัวคือบ้าคลั่งมาก เรารู้ว่ามีฉากต้องห้อยหัว แต่คิดว่าวิธีมันยังไง พอถึงวันจริงก็นัดกองมา แล้วก็ ..วันนี้ถ่ายห้อยหัวกันนะ ผูกตรงไหนดี สุดท้ายผูกข้อเท้า แล้วก็ชักรอกขึ้นไปเหมือนชักธงชาติ ระหว่างนั้นทุกคนก็สั่งเราแบบธรรมดามาก ทรายซ้ายหน่อย ซ้ายไหนพี่ หนูไม่รู้ว่าซ้ายไหนค่ะ ถ่ายไปสักพักก็บอกว่า ไม่ได้แล้ว ปวดตา เลือดมันลง พี่อุ๋ยก็ถามว่าไหวไหม สุดท้ายไม่ไหว เพราะตามันแดง ดูแล้วไม่เป็นผี ดูเป็นคน จนต้องเลิกกองตอนตีสาม แล้วมาถ่ายใหม่วันหลัง
“ถ้าเป็นสมัยนี้คงใช้ CG เข้ามาช่วย จะให้ห้อยหัวอีกก็กล้าทำนะ แต่จะให้ห้อยหัวทำไม บนเพดานมีหลอดไฟเต็มไปหมด ก็ใช้กรีนสกรีน มันก็ง่ายกว่าเดิมเยอะเลย”
ภาพยนตร์ที่ปลุกวงการหนังไทยให้คืนชีพ
หากพูดถึงภาพยนตร์ที่สร้างจุดเปลี่ยนให้กับวงการภาพยนตร์ไทยในยุคใหม่ เชื่อว่า ‘นางนาก’ น่าจะติดโผร่วมกับภาพยนตร์ดังเรื่องอื่นๆ อาทิ แฟนฉัน (ปี พ.ศ. 2546) พี่มาก..พระโขนง (ปี พ.ศ. 2556) หรือฉลาดเกมส์โกง (ปี พ.ศ. 2560)
วิศิษฎ์เล่าว่า เขาเองก็ไม่คิดว่าหนังเรื่องนี้จะสร้างปรากฏการณ์ ตอนที่ทำเงินได้ถึง 150 ล้านบาทก็รู้สึกเกินความคาดหมาย ไม่คิดว่าคนไทยจะมาดูมากขนาดนี้
เพราะภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดก่อนหน้านั้นก็ราว 50 ล้านบาทเท่านั้น คือเรื่อง โลกทั้งใบให้นายคนเดียว (ปี พ.ศ. 2538)
“ตอนที่ทำหนังเรื่องนี้รู้สึกได้ว่ามันดีกับวงการภาพยนตร์ เพราะหลังจากนั้นภาพยนตร์ไทยก็ยกระดับมาตรฐานขึ้น ก็อยากให้เป็นหมุดหมายหนึ่งของวงการหนัง และมันคงจะมีหมุดหมายอีกเยอะที่ปักไว้ตามรายทาง เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ๆ ที่ขึ้นมาจะสร้างปรากฏการณ์แบบนี้ได้อีกเรื่อยๆ” ผู้เขียนบท ‘นางนาก’ กล่าว
ไม่นานมานี้ ก็เพิ่งมีภาพยนตร์ที่นำตำนานแม่นากพระโขนงมาตีความใหม่ เป็น ‘พี่มาก..พระโขนง’ ซึ่งกวาดทั้งคำชมและรายได้ จนขึ้นแท่นเป็นหนังที่ทำเงินได้สูงสุดตลอดกาลของประเทศไทย 560 ล้านบาท
ทรายบอกว่า พี่มาก..พระโขนง ถือเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับตำนานแม่นากฯ ที่อยากเห็น คือคล้ายเป็นหนังภาคแยก (spin-off) ที่เล่าในมุมมองของพ่อมากแทนที่จะเป็นแม่นากแบบเรื่องอื่นๆ
“เราว่า ถ้าเอาเรื่องแม่นากฯ มาอยู่ในสังคมปัจจุบัน พอตายปุ๊บ เพื่อนต้องไลน์ไปบอกสามีทันทีว่าภรรยาตายนะ มันต้องเถิดเทิงขึ้นเรื่อยๆ โอเค คงมีคนเข้ามาด่าว่าปู้ยี้ปู้ยำ ..แต่ความรักในระดับนั้น แบบที่เรียกคนกลับจากความตายได้จะอยู่รอดยังไงในปัจจุบัน คือสิ่งที่เราอยากเห็น”
เป็นไอเดียในการเล่าตำนานแม่นากฯ อีกเวอร์ชั่นที่น่าสนใจ จากนางเอกหนังร้อยล้านคนแรกของประเทศ จากภาพยนตร์เรื่อง ‘นางนาก’