คนที่ติดตามวงการหนังไทยคงคุ้นชื่อ ‘รัตน์ เปสตันยี’ ดีอยู่แล้วจาก ‘รางวัลรัตน์ เปสตันยี’ ของเทศกาล Thai Short Film & Video ที่นักทำหนังหลายคนหวังคว้ามาประดับโปรไฟล์ ทั้งชื่อและผลงานหลายชิ้นของเขาอย่าง สันติ-วีณา, โรงแรมนรก หรือแพรดำ ยังปรากฏในคาบเรียนประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยอยู่บ่อยๆ ในฐานะมาสเตอร์ที่คนทำหนังไม่อาจลืม
ถึงอย่างนั้น เรื่องราวชีวิตของเขากลับไม่ถูกหยิบมาเล่าสักเท่าไหร่ ชีวิตที่ถ้าเปรียบเป็นหนังสักเรื่องคงเป็นหนังชีวิตที่มีทั้งสุข เศร้า สำเร็จ แต่จบด้วยโศกนาฏกรรมไม่ต่างจากหนังมาสเตอร์พีซที่เขาลงมือกำกับเองเหล่านั้น
ฉากแรกของชีวิตรัตน์ เปสตันยี เริ่มต้นกลางปีพ.ศ. 2451 ตอนเขาลืมตาดูโลกครั้งแรกในครอบครัวเชื้อสายเปอร์เซียที่อพยพมาตั้งรกรากในประเทศไทย วัยเด็กของเขาไม่มีอะไรผิดแผกไปจากคนอื่นสักเท่าไหร่ยกเว้นความชื่นชอบกล้องถ่ายรูปที่โดดเด่นถึงขนาดที่ลูกชายอย่างสันต์ เปสตันยี เคยกล่าวไว้ว่า “ผมได้ยินว่าพ่อชอบถอดชิ้นส่วนกล้องออกมาแล้วประกอบเข้าไปใหม่อยู่บ่อยๆ จนปู่ตัดสินใจส่งพ่อไปเรียนวิศวะถึงประเทศอังกฤษเสียเลย”
ถ้าลงรายละเอียด การเดินทางเริ่มต้นหลังจบชั้นมัธยมสามที่โรงเรียนอัสสัมชัญด้วยการไปเรียนต่อที่อินเดีย ที่เดียวกับที่เขาส่งรูปภาพเข้าประกวดจนได้รางวัลระดับประเทศ ความรักในการเป็นคนหลังกล้องนั้นยืนยาวจนแม้จะไปเรียนต่อด้านวิศวกรรมที่อังกฤษแล้ว แต่นอกห้องเรียน เขาคือสมาชิก Royal Photographic Society แถมยังทำหนังเรื่อง ‘แตง’ ส่งประกวดจนได้รับรางวัลอัลเฟรด ฮิทช์ค็อกจากมือ บวกกับเรื่อง ‘เรือใบสีขาว’ หนังอีกเรื่องที่ข้ามโลกไปได้รางวัลถึงนิวยอร์ก ส่งให้เขากลายเป็นผู้กำกับไทยคนเเรกที่ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ
ถึงอย่างนั้น ฉากชีวิตที่รัตน์ต้องเล่นเมื่อกลับเมืองไทยกลับดูไม่ต่อเนื่องกัน เมื่อเขาเข้าทำงานที่บริษัทนายเลิศและดีทแฮล์มอยู่เป็นสิบปีถึงจะได้รับการชักชวนจากพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล ให้มาเป็นช่างภาพให้กับภาพยนตร์เรื่อง ‘พันท้ายนรสิงห์’ ซึ่งได้รับผลตอบรับดีมาก ทำให้รัตน์สร้างภาพยนตร์ของตัวเองขึ้นมาอีกเรื่องชื่อ ‘ตุ๊กตาจ๋า’ ผลงานที่เขาทั้งเขียนบทและกำกับเอง
เป็นเพราะ ‘ตุ๊กตาจ๋า’ ได้รับฟีดแบ็กอย่างดี รัตน์จึงก้าวสู่ฉากของโลกภาพยนตร์อย่างเต็มตัว ในฉากนี้ เขาสร้างโรงภาพยนตร์ขึ้นมาในบริเวณบ้านที่ถนนวิทยุและตั้งบริษัทสร้างหนังชื่อหนุมานภาพยนตร์ร่วมกับตัวละครชื่อโรเบิร์ต จี นอร์ธ เพื่อนนักทำหนังฮอลลีวู้ดเก่าซึ่งย้ายมาอยู่เมืองไทย และอาจเป็นเพราะรัตน์เคยไปอยู่เมืองนอกเมืองนามาก่อน เขาจึงก้าวไปทำหนังที่ใช้ฟิล์ม 35 มม. ตามมาตรฐานสากล บวกกับอัดเสียงในฟิล์มซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่มากในยุคที่เพื่อนร่วมวงการยังใช้ฟิล์ม 16 มม. ที่ไร้เสียงในฟิล์มทำให้ต้องพึ่งพานักพากย์เวลานำไปฉายในที่ต่างๆ
ไม่ใช่เเค่เรื่องเทคนิคที่ล้ำไปไกล แต่ ‘สันติ-วีณา’ หนังเรื่องแรกของหนุมานภาพยนตร์ยังเดินทางไปรับรางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยมและกำกับศิลป์ยอดเยี่ยมไกลถึงเวทีภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 1 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปีพ.ศ.2497 สร้างประวัติศาสตร์ประดับวงการภาพยนตร์ไทยอย่างสวยงาม
แพชชั่นของรัตน์ไม่ได้หยุดอยู่ที่การสร้างงานศิลปะเท่านั้นแต่เขายังพยายามจะให้ทั้งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยก้าวหน้าไปพร้อมกันด้วยการสร้างหนังเรื่อง ‘โรงแรมนรก’ หนึ่งในมาสเตอร์พีซที่เขากำกับและเขียนบท original screenplay ที่เป็นสิ่งใหม่มากในเมืองไทยยุคนั้น พร้อมถ่ายด้วยฟิล์ม 35 มม. ขาวดำซึ่งต้นทุนต่ำกว่าฟิล์มสีและสามารถล้างด้วยแล็บในประเทศได้เพื่อเป็นตัวอย่างให้เพื่อนร่วมวงการหันมาสร้างหนังด้วยฟิล์มที่ทันมาตรฐานโลกมากขึ้นด้วยต้นทุนที่รับได้
อีกหนึ่งมาสเตอร์พีซของรัตน์คือเรื่อง ‘แพรดำ’ หนังฟิล์มนัวร์ปมเรื่องซับซ้อน แถมแหกขนบด้วยการจบแบบโศกนาฏกรรม ทั้งเพิ่มฟังก์ชันการส่งออกวัฒนธรรมไทยสู่โลกด้วยการใส่เนื้อเรื่องที่มีความเป็นไทย เช่น การหันหน้าหาพุทธศาสนา ทำให้แพรดำได้ไปฉายที่เทศกาลหนังเบอร์ลินปีพ.ศ. 2504 ที่แม้จะไม่ได้รางวัลกลับมาแต่ก็ถือว่าได้ฉายภาพความเป็นไทยและศักยภาพของอุตสาหกรรมหนังไทยให้โลกตะวันตกได้ชื่นชม
แน่นอนว่าหากเปรียบชีวิตเป็นหนังย่อมต้องมีคอนฟลิกต์ ซึ่งกับเรื่องของรัตน์ แม้หัวก้าวหน้าของเขาจะเป็นเรี่ยวแรงสำคัญที่ขับเคลื่อนวงการภาพยนตร์ไทยไปข้างหน้า แต่ในการทำงาน เขาต้องพบความติดขัดอยู่มาก อย่างความพยายามที่จะใช้ฟิล์ม 35 มม. ก็ยังก้าวเร็วเกินคนดูที่ยังติดหนังจากฟิล์ม 16 มม.และนักพากย์สดแบบดั้งเดิมอยู่
ความเหนื่อยหน่ายยังมาจากรัฐ (คอนฟลิกต์คลาสสิคทุกยุคสมัย) ที่ไม่เอาจริงเอาจังและไม่เห็นความสำคัญของวงการหนังไทย เช่น ตอนที่ภาพยนตร์เรื่องสันติ-วีณาได้รับรางวัลจากการประกวดที่ญี่ปุ่น สมาคมผู้สร้างภาพยนตร์อเมริกาได้ให้กล้อง Mitchell BNC เป็นรางวัลพิเศษที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมของเอเชียผ่านจอเงินได้ดี แต่เมื่อนำกล้องกลับประเทศไทยกลับต้องเจอภาษีถึง 5000 เหรียญทำให้ทีมงานต้องเปลี่ยนกล้องเป็นรุ่นที่ต่ำกว่าเพื่อจะได้นำเงินส่วนต่างมาจ่ายค่าภาษี แถมฟิล์มหนังเรื่องสันติ-วีณายังโดนเรียกเก็บภาษีในฐานะที่ส่งออกฟิล์มโดยไม่ผ่านกองเซ็นเซอร์ (รัตน์ส่งหนังไปตัดที่ญี่ปุ่นเพราะในไทยยังไม่มีแล็บสำหรับฟิล์ม 35 มม.) ทำให้ต้องย้ายฟิล์มไปเก็บยังแล็บในอังกฤษแทน
ไม่รู้ว่าเป็นการกลั่นแกล้งจากทีมเขียนบทหรือเปล่าเมื่อฟิล์มหนังเกิดเสียหายระหว่างการขนย้ายทางเรือทำให้ประเทศไทยไม่มีฟิล์มหนังเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลนานาชาติเก็บไว้เลย!
ในฉากท้ายๆ ของรัตน์ เราเห็นเขาเลิกกำกับภาพยนตร์เพราะป่วยเป็นโรคหัวใจผสมความเบื่อหน่ายในการขอคิวนักแสดง อย่างไรก็ตามเขายังโลดแล่นอยู่เบื้องหลังวงการในการทั้งผลักทั้งดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เป็นแกนนำจัดตั้งสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์แห่งประเทศไทย เป็นนายกสมาคมสมัยแรก และเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมภาพยนตร์ไทยเพื่อให้รัฐเข้ามาสนับสนุนได้มากขึ้น แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลคณะกรรมการชุดนี้กลับถูกพับไปต่อหน้าต่อตาอย่างน่าเสียดาย
สิงหาคม พ.ศ.2513 สมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์แห่งประเทศได้เชิญตัวแทนของรัฐมาประชุมเพื่อหาข้อสรุปว่ารัฐจะสนับสนุนหนังไทยได้ยังไงบ้างโดยรัตน์ขอพูดเป็นคนสุดท้าย
อาจด้วยความคับข้องใจ ความอัดอั้น หรือความเครียดที่ต้องเผชิญมาทั้งชีวิตการทำงาน ทันที่ที่เริ่มพูดภาพที่องค์ประชุมเห็นกลับไม่ใช่การปฐกถาปิดประชุมตามคาดเพราะรัตน์หัวใจวายหมดสติและร่วงลงสู่พื้นท่ามกลางความตกใจของทุกคน ก่อนสิ้นใจที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในไม่กี่ชั่วโมงถัดมา
การเสียชีวิตกระทันหันของเขาป็นข่าวใหญ่บนทุกหน้าหนังสือพิมพ์และทำให้รัฐบาลรีบจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยขึ้นมาในปีนั้นทันที (แม้จะมีผู้วิจารณ์ว่ารัฐแอคทีฟได้แค่ช่วงนั้นนั่นแหละ)
กลับมาพูดถึงสันติ-วีณาเสียหน่อยเพราะหลังจากที่อยู่ในสถานะสูญหายมานาน ในที่สุดก็มีการพบว่าฟิล์มหนังเรื่องนี้อยู่ในสถาบันภาพยนตร์แห่งสหราชอาณาจักร (BFI) แถมยังถูกก๊อปปี้ไปไว้ที่คลังฟิล์มหนังของ Gosfilmofond ประเทศรัสเซียและที่หอภาพยนตร์แห่งชาติของจีน (แหม่) หอภาพยนตร์แห่งประเทศไทยจึงนำฟิล์มต้นฉบับมาบูรณะจนเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ได้ฉายที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ในสายภาพยนตร์คลาสสิค สมกับเป็นผลงานที่คนยกย่องว่าอมตะตลอดกาล
เมื่อย้อนมองชีวิตของเขาบางคนพูดว่ารัตน์โชคร้ายที่เกิดผิดยุคเพราะความคิดของเขาล้ำสมัยมากจนคนที่ร่วมยุคไม่อาจตามทันได้ ถึงอย่างนั้นเรากลับมองว่าหากแวดวงภาพยนตร์ไทยยุคนั้นไม่มีคนอย่างรัตน์ที่สู้เพื่อการทำหนังที่เขารักตราบลมหายใจสุดท้าย แวดวงภาพยนตร์ไทยอาจล่มสลายไปแล้วก็ได้ใครจะรู้
หรืออาจพูดได้ว่าที่จริงลมหายใจที่หมดไปของรัตน์ไม่ได้หายไปไหน แค่ย้ายไปช่วยต่อลมหายใจให้อุตสาหกรรมหนังไทยของเรา เท่านั้นเอง
อ้างอิง
Note : นอกจากรางวัลรัตน์ เปสตันยีที่มีที่มาจากชื่อบุคคลจริงๆ แล้ว มูลนิธิหนังไทยผู้จัด Thai Short Film & Video Festival ยังมีรางวัลอื่นที่ตั้งชื่อตามบุคคลทรงคุณค่าในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยอีก 2 รางวัล คือรางวัล ‘ดุ๊ก’ สำหรับภาพยนตร์สารคดี ซึ่งมีที่มาจากชื่อเล่นของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ พระบิดาแห่งภาพยนตร์ไทย และรางวัล ‘ปยุต เงากระจ่าง’ สำหรับภาพยนตร์แอนิเมชั่น ตั้งตามชื่อของนายปยุต เงากระจ่าง ผู้บุกเบิกงานแอนิเมชั่นและผู้กำกับหนังแอนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรกของไทย