“ดูแล้ว คิดยังไงกับตอนจบ”
นี่คือประโยคที่ บาส – นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ถามเรากลับบ้างในขณะที่กำลังสัมภาษณ์อย่างออกรส
นับว่า ‘ฉลาดเกมส์โกง’ สอบผ่านฉลุยแล้วสำหรับการเป็นหนังยอดนิยม วัดกันไม่ยากจากรายได้และกระแสคำชมล้นหลามตามหน้าฟีดรวมทั้งสื่อต่างๆ และท่ามกลางความนิยมเหล่านั้นก็เป็นธรรมดาของหนังสักเรื่องที่จะมีคนเห็นต่าง หลายคนบอกว่า “น่าเสียดาย…” “มันน่าจะ…อีกนิด” ฯลฯ
พบว่ามีคนไม่น้อยที่สนุกไปกับจังหวะจะโคนของหนัง แต่ก็ยังตั้งคำถามกับการตัดสินใจของตัวละครและท่าทีของหนังในตอนจบ แน่นอนว่าการตีความเป็นสิทธิขาดของคนดูและผู้วิจารณ์ แต่ในฐานะผู้กำกับที่ฟูมฟักหนังเรื่องนี้มาตั้งแต่ยังแทบไม่รู้ ก. ข. ค. ง. แง่มุมของบาสนั้นก็ออกจะน่าสนใจ และอาจจะเป็นจิ๊กซอว์อีกชิ้นหนึ่งที่จะหยิบไปประกอบในช่องว่างช่องโหว่ที่ใครเห็น ส่วนจะลงล็อกหรือไม่ เป็นสิทธิ์ขาดของผู้อ่านอีกเช่นกัน
The MATTER : อะไรที่ทำให้อยากเล่าเรื่องการโกงของเด็ก ม.ปลาย
บาส นัฐวุฒิ : สำหรับเราแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่หนังเทคนิคการโกง แต่มันคือหนัง coming of age เป็นเรื่องของวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่ผ่านเหตุการณ์บางอย่างแล้วทำให้เขามีทัศนคติที่เปลี่ยนไปโดยใช้การโกงข้อสอบมาเป็นกิมมิคในการเล่า ซึ่งผมว่าที่หนังเรื่องนี้ยังไม่เลยเส้นแบ่งไปเป็นหนังที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมเพราะเราคิดตามตัวละครเยอะ สิ่งที่เราเห็นในหนังรวมถึงไอเดียต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา เราใช้วิธีมองผ่านตัวละครซึ่งเป็นเด็ก ม.ปลายในบริบทสังคมแบบนี้ ดังนั้นหลายๆ การตัดสินใจ แม้กระทั่งการตัดสินใจในตอนจบของ ‘ลิน’ ก็ตาม มันยังมีความไร้เดียงสาแบบเด็กๆ อยู่
The MATTER : มีคนตั้งคำถามกับตอนจบของหนังค่อนข้างเยอะพอสมควร คุณคิดเห็นอย่างไร
บาส นัฐวุฒิ : เป็นความหนักใจของเราเหมือนกัน เพราะมีหลายคนที่บอกว่าอุตส่าห์มาขนาดนี้แล้ว ทำไมไม่ดาร์กไปเลย มันอาจจะสุดกว่า เราก็รับคอมเมนต์เหล่านั้นมา และเอาตามตรง ถ้าเราเป็นคนที่มาดูหนังเรื่องนี้เราก็อาจจะติดตรงนี้เหมือนกันก็ได้ แต่พอต้องทำหนังในสตูดิโอใหญ่ที่สโคปคนดูกว้างมากๆ เราต้องรับผิดชอบอะไรที่มันใหญ่กว่าตัวเราว่ะ
เราต้องยอมรับว่ากลุ่มคนดูในบ้านเรามันยากอยู่นะ เราเลยต้องมีการประนีประนอมในบางจุด ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเราก็อยากให้เห็นว่าจริงๆ ชีวิตมันยังมีช้อยส์นะ แต่ไม่ได้หมายความว่าช้อยส์ที่ตัวละครเลือกจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
เรื่องนี้ไม่ใช่หนังเทคนิคการโกง แต่มันคือหนัง coming of age เป็นเรื่องของวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่ผ่านเหตุการณ์บางอย่างแล้วทำให้เขามีทัศนคติที่เปลี่ยนไปโดยใช้การโกงข้อสอบมาเป็นกิมมิคในการเล่า
The MATTER : ยากไหมในการบาลานซ์น้ำเสียงที่จะบอกว่าสิ่งไหนถูกหรือไม่ถูกต้อง
บาส นัฐวุฒิ : ยาก เราพยายาม อย่างทางเลือกในตอนจบของลินเอง มันอาจจะดูโลกสวย สีขาวบริสุทธิ์ แต่ถ้ามองกันจริงๆ สิ่งที่เขาเลือกมันนำมาซึ่งผลที่แย่กับคนอื่นอีกเยอะเลยนะ สมมติว่าคิดสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น มันจะต้องมีคนที่ชิบหายวายป่วงกันอีกเยอะมากทั้งคนที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวข้อง ท้ายที่สุดลินอาจจะเป็นคนที่ตัดสินใจพังที่สุดในเรื่อง โดยที่เขาแค่คิดแบบเด็กคนหนึ่งว่ากำลังทำสิ่งที่ถูกต้องในพื้นที่สีขาวโดยมีพ่อเป็นที่ยึดเหนี่ยว แต่ที่จริงมันเห็นแก่ตัวทีเดียว
The MATTER : ถ้าเป็นคุณเอง จะเลือกแบบไหน ลิน หรือ แบงค์
บาส นัฐวุฒิ : ถ้าคิดแบบเรา มันต้องมีวิธีอื่นสิที่จะรับมือกับปัญหานั้น ไม่ใช่แค่แบบ ลิน หรือ แบงค์
The MATTER : อีกอย่างหนึ่ง วิธีการโกงที่ดูโฉ่งฉ่างมากๆ ก็เป็นที่พูดถึงด้วยเหมือนกัน
บาส นัฐวุฒิ : จริงๆ นี่อาจจะเป็นการเล่นหนักมือของเราเองแหละ เพราะโดยเริ่มแรกแล้วเราอยากทำหนังแอคชั่นจารกรรมเป็นตัวตั้ง มันเป็นหนังที่เราเคยดูแล้วชอบ อย่างเช่น Ocean Eleven แต่ที่นี้แอคชั่นของเราไม่ได้เป็นการวิ่ง โรยตัว หรือยิงกัน ของเราเนี่ย ถ้ามองด้วยตาเปล่ามันจะเป็นภาพเด็กนั่งทำข้อสอบในห้องๆ หนึ่ง ดังนั้นเราต้องใช้ภาษาหนังทุกอย่างเท่าที่พอจะทำได้ การเคลื่อนกล้อง ตัดต่อ ซาวด์เอฟเฟคต์ ซึ่งพอฉายไปแล้วก็ต้องยอมรับว่า ก็จริงว่ะ เราอาจจะเล่นหนักมือไปในบางจุด ถ้าเราลดลงอีกสักนิดหนึ่งมันอาจจะน่าเชื่อกว่า นี่ก็เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้และยอมรับมัน
The MATTER : ตอนคิดบทมันยากไหม พอมีคำว่า ‘ฉลาด’ มาค้ำคอ
บาส นัฐวุฒิ : ยากมาก เรารู้สึกว่าเราเป็นคนโง่ตลอดเวลา ซึ่งจริงๆ ชื่อหนังมันมาทีหลังนะ เราก็คิดบทอย่างที่มันควรจะเป็นแหละ แล้วก็ต้องขอบคุณทีมเขียนบทนั่นก็คือ กุ๊ก ที่ร่วมเขียนบทฮอร์โมนฯ และแฮม ที่ทำเรื่อง เมย์ไหนฯ ซึ่งสองคนนี้จะเป็นสายวัยรุ่นมากๆ เขาจะช่วยรีเสิร์ชข้อมูลและใส่มุมมองที่เรามองไม่ถึง ไม่ว่าจะเรื่องวัยรุ่นหรือตัวละครประเภทอื่นๆ เขาจะมองขาดกว่าเรามาก เราก็จะดูในภาพรวม โครงสร้าง วิธีเล่า และอื่นๆ
The MATTER : โค้ดลับโน้ตเปียโนได้มายังไง
บาส นัฐวุฒิ : พี่วรรณ โปรดิวเซอร์ เขาเรียนเปียโนอยู่ เขาเลยเสนอว่ามันเหมือนเป็นการให้โค้ดเหมือนกันนะ เราก็รู้สึกว่ามันเป็นกิมมิกที่น่าสนุกดีและพัฒนามาจากตรงนั้น
The MATTER : ทำหนังวัยรุ่นต้องสังเกตวัยรุ่นมากแค่ไหน
บาส นัฐวุฒิ : สังเกตเรื่อยๆ นะ เราแก่แล้วก็จริง แต่เรายังรายล้อมด้วยวัยรุ่นอยู่ แล้วยิ่งมีโซเชียลมีเดีย มันจะมีคนที่ชอบมาแอดในเฟซบุ๊กซึ่งเป็นเด็กๆ ที่เราไม่รู้จักก็มี แต่เรารับทุกคนเลยเพราะเราเกรงใจ เขาอุตส่าห์แอดมา อีกอย่างหนึ่ง การได้อ่านนิวส์ฟีดของพวกเขาก็ทำให้เราเข้าใจวัยรุ่น เห็นสิ่งที่เขาสนใจ ภาษาที่เขาใช้ หรือปัญหาที่เขาอิน
การได้อ่านนิวส์ฟีดของพวกเขาก็ทำให้เราเข้าใจวัยรุ่น เห็นสิ่งที่เขาสนใจ ภาษาที่เขาใช้ หรือปัญหาที่เขาอิน
The MATTER : ทำไมผู้กำกับหลายคนถึงชอบทำหนังวัยรุ่น
บาส นัฐวุฒิ : จริงๆ เราก็ไม่ได้ชอบทำหนังวัยรุ่นนะ แต่ด้วยโจทย์ที่ได้มามันก็ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มคนที่ขับเคลื่อนการดูหนังไทยเป็นวัยรุ่นเสียส่วนใหญ่ ที่ทางของการทำหนังแนวนี้เลยเยอะกว่า แต่ในขณะเดียวกัน พอเราไปทำหนังวัยรุ่นก็พบว่ามันไม่ได้ไกลตัวเราเลย เราเองก็เคยเป็นวัยรุ่น เคยมีความเข้าใจและมุมมองในแบบพวกเขามาก่อน เพียงแต่วัยรุ่นในยุคนี้อาจมีความต่างในแง่ของบริบทสังคมรอบข้าง ซึ่งในฐานะผู้ใหญ่ เราก็อยากบอกว่า “เออ กูเข้าใจมึงนะ และนี่คือมุมมองของกู” อะไรแบบนี้
The MATTER : แปลว่ามุมมองของฉลาดเกมส์โกงเป็นสิ่งที่คนแก่กว่าพยายามบอกเด็กๆ?
บาส นัฐวุฒิ : อย่างที่บอกคือเราพยายามตามตัวละคร ดังนั้นมันใส่มุมมองของผู้ใหญ่ได้ไม่สุดหรอก มันยังมีความลองผิดลองถูกเยอะมากในการตัดสินใจของตัวละคร เราเชื่อว่ามันแค่ทำให้วัยรุ่นได้ฉุกคิดมากกว่า เขาอาจจะได้ไอเดียบางอย่างกลับไปและไปคิดอะไรต่อของเขา ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับหนัง
The MATTER : ถ้าเปรียบฉลาดเกมส์โกงเป็นข้อสอบ จะให้คะแนนตัวเองเท่าไหร่ดี
บาส นัฐวุฒิ : 60 คะแนน ซึ่งในฐานะผู้กำกับ ก่อนหนังฉายเราจะต้องนั่งดูหนังไม่รู้กี่รอบ ต้องรีเช็กทุกอย่าง ดูแสง ดูสี เสียง ทุกครั้งที่ดูเราจะเห็นแผล จากที่เสร็จร่างแรกแล้วอาจจะเห็นแผลถลอกนิดหน่อย พอเริ่มตกสะเก็ดแล้ว อีกร่างหนึ่ง อ้าว เห็นรูเบ้อเริ่มเลย หรืออันนี้เฟะมาก เราเห็นแผลตลอดเวลา แล้วความรู้สึกชอบตัวหนังมันค่อยๆ ลดน้อยลง แต่นี่คือในฐานะของคนทำที่มีความคาดหวังกับมันสูงมากๆ นะ เรามีภาพในหัวที่เพอร์เฟ็คมาก ซึ่งมันยากมาก สำหรับคนทำงานที่จะทำให้เหมือนภาพในหัวทั้งหมด แต่มันก็ควรเป็นอย่างนี้แหละ ถ้าเราทำได้เหมือนในหัวทั้งหมด เราอาจไม่เกิดการพัฒนา
The MATTER : นับจากหนังเรื่องแรกคือเคาต์ดาวน์ มาถึงเรื่องนี้คุณสอบได้คะแนนดีขึ้นไหม
บาส นัฐวุฒิ : จากเรื่องเคาต์ดาวน์ เราไม่ได้เฟลในแง่ผลลัพธ์หรือรายได้นะ แต่เราเฟลในแง่ที่ว่าเราทำหน้าที่ตัวเองไม่ดี ซึ่งตอนนั้นเรายังใหม่มาก ขัดส้วมอยู่ที่นิวยอร์กอยู่ดีๆ ก็โดนชวนมาทำหนังใหญ่ แต่เราก็พยายามและตั้งใจ เพียงแต่ตอนนั้นยังจับแมจิกของการทำหนังไม่เจอ เหมือนตอนนั้นเรามีภาพในหัวอย่างหนึ่ง เราจะทำยังไงก็ได้ให้เป็นอย่างนั้น บังคับทุกคน นักแสดงต้องพูดประโยคนี้ แล้วเว้น 3 วิ ค่อยพูดอีกประโยค จนเราได้ไปทำงานอื่นๆ ทำโฆษณา ทำไวรัล ถึงพบว่ามันต้องไม่ใช่แบบนั้น
The MATTER : แมจิกของการทำหนังที่ว่านั้นคืออะไร
บาส นัฐวุฒิ : แมจิกของการทำหนังมันคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในโมเมนต์นั้น คือสิ่งที่นักแสดงและทีมงานให้เรา งานนี้เราเลยใช้วิธีการนั้น เราให้พื้นที่กับนักแสดงเต็มที่ และเราจะคอยถามพี่แอ้นตากล้องว่า “เออ ผมอยากได้เฟรมแบบนี้นะ พี่คิดว่าไง” เขาก็จะ “กูว่าลองบิดตรงนี้หน่อยไหม หรือกระเถิบไปตรงนั้นหน่อย” ซึ่งสุดท้ายมันเวิร์กทุกทีเลย กับการที่เราฟังเขาและเราก็มีตัวตนที่ชัดเจนอยู่ประมาณหนึ่ง หรืออย่างโพสต์โปรดักชั่น ก็ต้องขอบคุณ อาร์ม – ชลสิทธิ์ ที่ตัดต่อจนไส้ติ่งแตก เขาเป็นคนที่มีเซนส์ดีมากๆ มันเลยเป็นส่วนประกอบของเราเองกับทีมงานด้วย ดังนั้นสำหรับฉลาดเกมส์โกง เราถือว่าประสบความสำเร็จในแง่ที่ว่า เราได้แก้ตัวในสิ่งที่พลาดไปในหนังเรื่องก่อนแล้ว
The MATTER : แพลนต่อไปในอนาคตของคุณคืออะไร
บาส นัฐวุฒิ : กลับไปทำมาหากินครับ เราไม่ได้ทำโฆษณามาสองปีแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าการทำหนังมันไม่ได้ทำให้คนทำงานอยู่ได้ยาว เราก็ต้องกลับไปทำงานที่ทำเงินก่อน และอีกอย่างเราก็คิดถึงมันนะ ในแง่ของแบบฝึกหัดให้เราทำใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ดีมั่งไม่ดีมั่ง แต่มันถือว่าเป็นโอกาสที่ไม่น่าเสียดายเลย