กราฟิกดีไซน์ไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากที่จะต้องสร้างสรรค์งานขึ้นมาใหม่แล้ว งานเหล่านี้ต้องเผขิญหน้ากับข้อจำกัดอันวุ่นวายหลายอย่าง ไหนจะต้องคิดคอนเซ็ปต์ ไหนจะต้องลองนั่งแต่งภาพแบบลองผิดลองถูก ไหนจะต้องฟังคำบ่นของคุณลูกค้าผู้น่ารัก โดยเฉพาะงานออกแบบในฝั่งหนังสือที่ตอนนี้ต้องคิดหนักกว่าเดิมเพื่อให้สร้างความโดดเด่นเวลามันตั้งอยู่ตามแผงหนังสืออีก
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาทาง สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ร่วมกับ Thai Graphic Designers Association (ThaiGa) จึงจัดสัมมนา Uncover The Cover ที่ตัวงานออกจะเป็นการมานั่งคุยกันว่าการทำปกและรูปเล่มของหนังสือนั้นสำคัญกันไฉนเสียมากกว่า
ส่วนหนึ่งของงานนี้เป็นการสัมมนาโดยวิทยากรอย่าง รศ. อารยะ ศรีกัลยาณบุตร หรือ อาจารย์ใหญ่ (อันมาจากชื่อเล่นมิใช่สถานะแต่อย่างใด) ที่บอกกล่าวกับผู้ร่วมงานกันตั้งแต่เนิ่นๆ ว่างานครั้งนี้ไม่ได้บอกเล่าให้กราฟิกดีไซน์เนอร์เข้าใจเท่านั้นแต่ยังต้องการจะบอกเล่าให้คนที่ไม่ได้ทำงานด้านนี้ได้เข้าใจถึงเคล็ดลับบางอย่างในการทำกราฟิกให้กับหนังสือ ซึ่งผมขออนุญาตสรุปและมาบอกเล่าให้ท่านผู้อ่าน The MATTER ได้ติดตามกันในวันนี้
ก่อนจะเข้าสู่หัวข้อหลักๆ นั้น อาจารย์ใหญ่เกริ่นถึงเทรนด์วงการหนังสือในต่างประเทศที่ตอนนี้ ยอดขาย e-book กำลังลดลง (อ้างอิงจากข่าวของ CNN เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา) ซึ่งตัวของอาจารย์เชื่อว่าเป็น หนังสือเล่มนั้นไม่ได้ตายลงแต่อาจจะปรับเปลี่ยนตัวเองมาเป็น ‘ของสะสม’ มากขึ้นแทนที่จะเป็นสื่อที่นำพาข้อมูลไปแบบที่สมัยก่อนเคยเป็น เพราะยุคนี้มีสื่ออื่นช่วยนำข้อมูลไปสู่ผู้เสพมากขึ้น แต่ใช่ว่า e-book จะตายสนิทเสียทีเดียว แค่ตลาดเริ่มเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ไปเสียมากกว่า
ส่วนสไตล์ของหนังสือที่ฮิตในเมืองนอกช่วงนี้กลับเป็น หนังสือระบายสีสำหรับผู้ใหญ่ (adult coloring book) ที่กลับมาป๊อปพักหนึ่งแล้ว
ไม่ใช่เพราะการระบายสีนั้นเป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่ายๆ แต่มันยังช่วยผ่อนคลายจิตใจ แถมยังมีภาพให้ระบายหลายแบบตั้งแต่น่ารักโลกสวยจนถึงระดับติดเรต ฉ.
กระนั้นการที่เทรนด์หนังสือแบบที่ไม่คาดคิดว่าจะฮิต ก็มาจากการคิดคำนวณอย่างดีผู้ออกแบบหนังสือนั่นเอง และการที่เราจะดีไซน์หนังสือทางอาจารย์ก็มีข้อแนะนำดังนี้
4 ควรเลี่ยง
สี่ข้อนี้เป็นเรื่องที่กราฟิกดีไซน์เนอร์ควรจะหลีกเลี่ยงในการทำงาน ไม่ใช่ว่าเรื่องเหล่านี้จะทำไม่ได้เลย แค่เป็นข้อควรเลี่ยงในกรณีที่อยากออกแบบอะไรให้โดดเด่นขึ้นมานั่นเอง
– เลี่ยงการทำอะไรซ้ำๆ (We Must Avoid The Cliché)
ในการดีไซน์หนังสือ หลายๆ ครั้งก็ควรเลี่ยงสิ่งที่ ‘กูว่าแล้วว่ามึงต้องทำ’ ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ อย่างเช่น หนังสือแนวรหัสคดีมักจะใช้โทนสีเป็น แดง+ขาว+ดำ หรือถ้าเป็นหนังสือสอนเลขจะต้องมีสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ การจะออกแบบหนังสือให้โดดเด่นควรเลี่ยงเหตุแบบนี้
– เลี่ยงการอยู่ในเซฟโซน (We Must Avoid The Safe Bet)
ถ้าจะดีไซน์ให้ดีหรือคนจดจำได้อาจจะต้องทำอะไรฉีกกรอบออกมาบ้าง จริงอยู่ว่า เจ้านายกับลูกค้า อาจจะไม่โอเคกับการที่อยู่ๆ ดีไซน์เนอร์จะเสนองานใหม่แบบฉีกแนว กระนั้นก็อยากจะให้ลองดีไซน์อะไรใหม่ๆ ไปเสนอ เพื่อให้ทั้งเจ้านายและลูกค้าได้ ‘เรียนรู้เทรนด์’ ไปด้วย
– เลี่ยงอาการโลภมาก (We Must Avoid Greedy)
‘ดีไซน์อย่างนั้นก็ดี แบบนี้ก็เสียดาย คิดไปคิดมากเลยอยากใส่ทุกอย่างให้เด่นไปหมด’ การคิดแบบนี้สุดท้ายจะทำให้ปิดงานไม่จบ หรืองานออกมาไม่สวย การดีไซน์ที่ดีควรจะรู้จักพอเพื่อให้งานออกมาดูดี
– เลี่ยงการ ‘ดีไซน์จนล้น’ (We Must Avoid ‘Over-Designed’)
ฝีมือเราฝึกมาดี อยากปล่อยท่ายากเยอะๆ กระนั้นถ้าเทียบกับการแสดงการเล่นท่ายากซ้อนกันเยอะๆ อาจจะทำให้คนดูแยกไม่ออกว่ากำลังเล่นท่ายากอยู่ เพราะงั้นดีไซน์เนอร์ควรระวังไม่ให้ดีไซน์ของงานเรารกรุงรังเกินไปด้วย
4 ควรทำ
สี่ข้อชุดที่สองนี้เป็นข้อแนะนำจากอาจารย์ใหญ่ที่กราฟิกดีไซน์เนอร์ควรทำในการออกแบบปกหนังสือ ซึ่งผมคิดว่าบางทีมันอาจจะใช้ได้ผลกับงานสายศิลป์ประเภทอื่นๆ ด้วย
– ควรยั่ว (We Must Induce)
ไม่ได้หมายถึงให้กราฟิกดีไซน์เนอร์ไปยั่วเจ้านายหรือลูกค้านะ ให้ยั่วยวนผู้คนด้วยปกจนเขาไม่อาจคลาดสายตาไปได้ต่างหาก การยั่วนี้ก็มีสเต็ปขั้นตอนหลายแบบดังนี้
ยั่วด้วยความอยากรู้อยากเห็น (curiosity) หรือยั่วต่อมเผือกของคนทั่วไป อย่างปกหนังสือ 1989 ของทาง Penguin Book ที่เหมือนจะไม่พิมพ์อะไรเลยแต่จริงๆ มีรายละเอียดซ่อนอยู่
ยั่วด้วยความน่าสนใจ (interesting) อย่างตั้งใจใช้สีสันที่โดดเด่น หรือสร้างตัวอักษรที่สะดุดตาขึ้นมาง่ายๆ แบบ Was She Pretty ? ที่ชื่อเรื่องนั้นง่ายๆ แล้วยั่วยวนด้วยความน่าสนใจของตัวอักษรจนเราอยากรู้ว่า เธอสวยจริงๆ ไหม
ยั่วด้วยปฏิสัมพันธ์ (interaction) ให้คนมาดูหนังสืออยากจะลองมาจับมาสัมผัส มาลองหยิบว่าตัวหนังสือมีอะไรไหม อย่างหนังสือในภาพด้านบนที่จงใจทำปกกลับหัวจากปกติเพื่อให้คนลองมาหยิบจับพลิกดู
ยั่วเย้าด้วยสัญชาตญาน (instinct) บางทีไม่ต้องคิดไปไกลตัวมาก แต่ลองคิดถึงอะไรใกล้ตัวจากสันดานมนุษย์ ซึ่งของเหล่านี้มักจะต้องตาต้องใจคนอ่านอยู่แล้ว
– ควรให้ข้อมูล (We Must Inform)
นอกจากดีไซน์แบบยั่วเย้าให้คนสนใจแล้ว การออกแบบปกหนังสือควรให้ข้อมูลกับผู้รับสารด้วย อย่างเช่นการนำเอาเรื่องย่อหรือซีนเด่นจากหนังสือมาบอกเล่าผ่านดีไซน์บนหน้าปก และควรจะบอกเล่าแบบได้ฟีลลิ่งของหนังสือเล่มนั้นๆ จะยิ่งดีมาก
– ควรสร้างแรงบันดาลใจ (We Must Inspire)
คนเราเลือกที่จะเสพสื่อบันเทิง (ไม่ว่าแบบใดก็ตาม) เพื่อที่จะหาเรื่องโดดออกจากชีวิตธรรมดาสามัญที่เจออยู่ทุกวัน การออกแบบที่ดีจึงควรที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ซื้อด้วย อย่างเช่นหนังสือ Dekho: Conversations with Design in India ที่ตั้งใจสร้างปกให้มีแรงบันดาลใจเกี่ยวกับเรื่องการดีไซน์ของประเทศอินเดียแต่ละที่
– ควรทำให้คนประทับใจ (We Must Impress)
ส่วนนี้อาจจะฟังดูยากไปสักนิด แต่การทำอะไรฉีกแนวจากปกติหรือการหยิบจับอะไรที่ไม่เข้ากันมาปรุงให้ออกรสชาติกลมกล่อมนั้น ถึงจะแปลกแหกคอกแต่มันก็จะสร้างความประทับใจให้คนดูได้เสมอ
10 ต้องทำ
ผ่านหัวข้อที่ควรเลี่ยงและควรทำแล้ว ประเด็นต่อมาของการสัมมนาก็คือ ‘สิ่งที่ต้องทำ’
– ต้องเข้าใจประเภทของงานที่ตัวเองทำ (We Must Understand Our Genres)
ก่อนอื่นใดที่จะออกแบบนั้น ผู้ออกแบบควรจะเข้าใจประเภทงานที่ตนเองทำเสียก่อน เพื่อที่การดีไซน์จะได้ออกมาสอดคล้องกับที่คนอ่านคาดหวังไว้ได้ ถ้าเป็นไปได้กราฟิกดีไซน์เนอร์ควรอ่านหนังสือเล่มนั้นๆ เอง แต่กราฟิกดีไซน์เนอร์ส่วนใหญ่อาจจะยุ่งเกินไป ตรงนี้อาจจะต้องขอให้คนบรีฟงานบอกเล่าเก้าสิบว่าหนังสือเป็นแบบไหนและอยากได้มู้ดโทนอย่างไรแทน
ทั้งนี้ก็อย่าอินเกิน ด้วยเหตุที่ว่าเมื่ออินเกินไปก็จะเสี่ยงให้เกิดการยึดติดทางดีไซน์ได้ (Cliché)
– ต้องรู้จักกลุ่มผู้อ่าน (We Must Understand Our Readers)
ยากมากที่หนังสือทุกเล่มจะออกมาแล้วโดนใจคนทุกกลุ่ม ดังนั้นเมื่อคิดจะดีไซน์ปกหนังสือใดๆ อยากให้คิดถึงกลุ่มผู้อ่านที่มีโอกาสซื้่อหนังสือด้วย ถ้ากะขายเด็กปกก็ควรจะไม่ดูน่ากลัวมาก ถ้าอยากเน้นลูกค้ากลุ่มฮิปสเตอร์อาจจะออกแบบปกให้ minimal ขึ้นมาหน่อย ฯลฯ ตรงจุดนี้เองที่ดีไซน์เนอร์อาจจะต้องเสวนากับคนที่บรีฟงาน หรือไม่ก็มนุษย์จากสายงานการตลาดในเรื่องการแบ่งกลุ่มลูกค้า (segmentation and targeting) เพื่อให้ปกที่ออกมาตรงเป้าหมายกับการขายมากที่สุด
– ต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ในการทำงาน (We Must Understand Our Objective)
ไม่ต้องรีบปล่อยจินตนาการให้ไปไกลก่อนที่จะดีไซน์ และอยากให้เข้าใจวัตถุประสงค์ว่าเราจำดีไซน์ปกหนังสือไปเพื่ออะไร เพราะบางงานก็จะเป็นการดีไซน์ปกใหม่หมดไม่มีข้อจำกัด, บางงานจะมีข้อจำกัดว่าคุณแก้ไขภาพปกต้นฉบับไม่ได้ก็อาจจะต้องใส่ลูกเล่นตรงโอบิแทน, บางปกอาจจะเป็นหนังสือที่พิมพ์ซ้ำดังนั้นงานแนวก็อาจจะต้องแค่การรีดีไซน์ ฯลฯ เมื่อเข้าใจวัตถุประสงค์แล้วทีนี้จินตนาการก็จะไม่วิ่งไปไกลจนเกินเลยมากนัก
– ต้องมีคำสัญญา (We Must Make A Promise)
ส่วนนี้อาจจะดูเป็นเรื่องนามธรรมเล็กน้อย ในที่นี้อาจจะไม่ใช่การออกมาพูดตอนหลังเพลงชาติจบ หรือไปบนบานสานกล่าวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แค่อยากให้กราฟิกดีไซน์เนอร์ลองคิดประโยคสักประโยค ให้เป็นธีมหลักในการออกแบบหนังสือของคุณ
– ต้องมีสไตล์ของตัวเอง (We Must Own A Style)
พอเข้าใจหนังสือ เข้าใจวัตถุประสงค์ มีคำสัญญาในใจ ขั้นต่อไปดีไซน์เนอร์ก็สามารถกำหนดสไตล์ในการดีไซน์ปกของหนังสือแต่ละเล่มได้ ถ้าพูดให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือ อยากให้ออกแบบหนังสือเล่มหนึ่งให้เหมือนกับเรากำลังบอกเล่าถึงนิสัยของคนๆ หนึ่งให้คนอื่นฟัง
– ต้องบริหารความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง (We Must Excercise Creativity And Creativity And Creativity And Creativity)
อย่ารับงานแล้วจับเมาส์ หยิบแท็บเล็ต แล้วเขียนงานออกแบบเลย อยากจะให้ คิด วิเคราะห์ แล้ววางแผนสักนิด ซึ่งในขั้นตอนการคิดนี้ ก็อยากให้บริหารความคิดสร้างสรรค์หลายๆ แบบด้วย อาทิ
บริหารด้านเอกลักษณ์หรือจริตอันโดดเด่น (originality) ส่วนนี้อยากให้ดีไซน์เนอร์เสพข้อมูลเยอะๆ เรียนรู้เรื่องต่างๆ เยอะๆ เมื่อรู้มากแล้วเราก็จะออกแบบงานให้โดดเด่นได้ไม่ยาก
บริหารด้านรายละเอียด (elaboration) ให้คิดว่าการทำกราฟิกเป็น ‘ภาษา’ อีกภาษาหนึ่งและการพูดเยอะๆ ย่อมทำให้คนเหนื่อยก่อนทำความเข้าใจ ด้วยเหตุฉะนี้ยิ่งทำกราฟิกแบบบอกน้อยแล้วคนดูเก็ตได้เยอะยิ่งดี หรือพูดอีกแบบก็คือให้ข้อมูลกับผู้อ่านเท่าที่จำเป็นจนทำให้คนอ่านนั้นรู้สึกอยากเปิดอ่านเนื้อในเป็นการต่อไป
บริหารทักษะให้บ่อย (fluency) ถึงไอเดียคุณจะดีแต่ถ้าไร้ทักษะในการนำเสนอสุดท้ายความเทพของคุณก็จะจบอยู่แค่ในหัว ทั้งนี้คุณอาจจะไม่ต้องฝึกฝนวิชาให้เก่งมันทุกด้าน แต่อยากให้ฝึกฝนทักษะจนได้วิชาที่ชำนาญไว้สักด้าน ซึ่งทักษะที่คุณชำนาญนั้นจะสามารถทำให้คุณเอาไปหากินได้ตลอดชีวิต สิ่งที่ควรฝึกตามความเห็นของอาจารย์ใหญ่ก็คือเรื่องพื้นฐานต่างๆ รวมถึงเข้าใจวิธีการวางลำดับสายตาของมนุษย์ (hierarchy & focal point) ให้มาก
บริหารความยืดหยุ่น (flexibility) ฝึกความยืดหยุ่นทางไอเดียไว้จะทำให้การทำงานของคุณไปได้หลากหลาย และผลงานของคุณก็มีโอกาสโดดเด่นอยู่บนโลกนี้ได้นานกว่า ทั้งยังมีโอกาสที่ทำให้ปกหนังสือของคุณถูกจับไปทำเป็นซีรี่ส์ของสะสมได้อีก
– ต้องเลือกระหว่าง ‘น้อยแต่มาก’ หรือ ‘มากแต่มาก’ (We Must Choose Between ‘less is more’ or ‘more is more’)
ถ้าไม่แน่ใจในฝีมือตนเอง อยากจะให้เลือกวิธีการทำงานทางใดทางหนึ่งไปเลย แต่ก็ใช่ว่าจะ ‘น้อย’ จนไม่มีแนวคิดอะไรเหลือในตัวงานจริงหรือเลย หรือถ้าเลือก ‘มาก’ ถ้าอัดเข้าไปโดยไมมีพื้นฐานใดๆ ก็จะกลายเป็นความรกรุงรังเพียงเท่านั้น
– ต้องทำให้คนจำได้ (We Must Remembered)
สร้างงานให้คนจำได้ อย่างเช่น ทำภาพที่ตีความแบบตรงประเด็นฉับๆ, ทำภาพ Minimal แบบเด็ดขาด, ใส่ vector มากมายแล้วตบทับด้วยเลเยอร์ฟรุ้งฟริ้ง ให้คิดซะว่าต้องทำงานที่คนปรายตามาเห็นปุ๊ปก็รู้สึกจำได้ว่า ‘งานนี้ฝีมือไอ้หมอนั่นแน่ๆ’
– ต้องไม่น่าเบื่อ (We Must Be BOLD, We Must Be BRAVE, We Must Be BRIGHT, We Must Be LOVELY, We Must Be SEXY, We Must Be Anything But BORING)
กราฟฟิกดีไซน์เนอร์ ต้องมั่นคงในการออกแบบ, กล้าแหกคอกจากการออกแบบหนังสือประเภทเดียวกันจนโดดเด่น, ทำให้ดีไซน์ของเราดูเซ็กซี่ยั่วเย้ากว่าคนอื่น หรือถ้าแบบง่ายๆ ก็คือจะออกแบบอะไรก็ได้แต่อย่าทำให้งานของคุณน่าเบื่อ
– ต้องยอมเปย์ (We Must Pay The Designers A Lot Of Money)
จบท้ายการสัมมนาส่วนนี้ด้วยความจีรังของโลกที่ว่า ถ้าอยากได้งานดีก็ควรจะจ่ายเงินที่เหมาะสม และข้อนี้ยังเป็นข้อเตือนใจให้กับฝั่งนักเรียนนักศึกษาที่ยังฝึกวิชาว่าอย่าลดราคาค่าตัวของตัวเอง เพราะมันจะเป็นการบีบรายได้ของตัวเองในอนาคตด้วย