ภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโร่กลายเป็นหนังที่ครองตลาดคนดูมาตั้งแต่ช่วงปีค.ศ. 2010 ขึ้นไป อย่างที่เราจะได้เห็นว่ามีภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่จำนวนมากเข้าฉายเป็นจำนวนเกือบจะสิบเรื่องต่อปี แต่ในกลุ่มภาพยนตร์เหล่านั้นก็มักจะเล่าเรื่องของตัวเอกที่ใช้พลังเพื่อปกป้องคนบริสุทธิ์เป็นหลัก
แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่ดี ก็ควรจะมีซูเปอร์ตัวร้ายที่ยอดเยี่ยม คอยเป็นตัวละครที่ช่วยผลักดันให้ทั้งสองฝ่ายต่างโดดเด่นในมุมของตัวเอง และหนึ่งในตัวร้ายอันแสนจะโดดเด่นในโลกภาพยนตร์ เราคงต้องยกให้ Joker หรือ โจ๊กเกอร์ ที่ถือว่าเป็นคู่ปรับคนสำคัญของ Batman มนุษย์ค้างคาว ที่คอยปกป้องเมืองก็อตแธมในยามราตรี
ซึ่งตัวละครแสนโดดเด่นอย่าง โจ๊กเกอร์ นั้น เคยมีนักแสดงมารับบทนี้ในฉบับภาพยนตร์ 5 คน เชื่อว่าส่วนหนึ่งที่คนจำตัวละคร โจ๊กเกอร์ ได้ดี ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ตัวละครในคอมิกต้นฉบับก็โดดเด่น และในขณะเดียวกันก็คงต้องยกเครดิตให้นักแสดงที่แสดงบทดังกล่าว แล้วตีความตัวละครให้แตกต่างกันจนมีความโดดเด่นที่ชัดเจน
จากกระแสหนัง Joker ที่กำลังจะเข้าฉายในวันพรุ่งนี้ จึงชวนย้อนไปดูกันว่า นักแสดงแต่ละท่านที่มารับบท โจ๊กเกอร์ ในโลกภาพยนตร์ วางตัวอย่างไรในการรับบทตัวตลกสุดร้ายกาจผู้นี้
Cesar Romero – ร่างสถิตแรกของ โจ๊กเกอร์ ในโลกภาพยนตร์
ก่อนจะมาเป็นภาพยนตร์ที่หลายคนคุ้นตากันในปัจจุบัน แรกเริ่มเดิมทีแล้ว Batman เป็นภาพยนตร์สั้นแบบชุดที่ฉายในโรงภาพยนตร์ ความยาวตอนหนึ่งเฉลี่ยตอนละ 15-20 นาที
โดยมีการสร้างออกมาสองชุดก็คือ ภาพยนตร์สั้นแบบชุด ‘The Batman’ ที่ออกฉายในปีค.ศ. 1943 มี ลูอิส วิลสัน (Lewis Wilson) รับบทเป็นแบทแมน กับอีกชุดคือ ‘New Adventures of Batman and Robin’ และ ‘the Boy Wonder’ ที่ออกฉายในปีค.ศ. 1949 มี โรเบิร์ต โลเวอรี่ (Robert Lowery) รับบทเป็นแบทแมน แต่ภาพยนตร์ชุดแรกก็มีความเป็นภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อให้ต่อต้านประเทศญี่ปุ่น ส่วนภาพยนตร์ชุดที่สองก็ยังไม่มีตัวร้ายอย่าง โจ๊กเกอร์ เข้ามาร่วมเล่น
กว่าที่เจ้าชายตัวตลกแห่งอาชญากรรมจะปรากฏตัวในโลกภาพยนตร์ ก็เป็นภาพยนตร์ ‘Batman: The Movie’ ที่ออกฉายในปีค.ศ. 1966 ซึ่งถือเป็นภาพยนตร์ขนาดเต็มเรื่องแรกของมนุษย์ค้างคาว ที่เป็นการต่อยอดจากฉบับซีรีส์โทรทัศน์ที่ฉายในปีเดียวกัน และได้ดาราส่วนใหญ่เป็นชุดเดิม รวมไปถึง อดัม เวสต์ (Adam West) ที่รับบทเป็นแบทแมน กับ ซีซาร์ โรเมโร (Cesar Romero) ที่รับบทเป็นโจ๊กเกอร์
การตีความโจ๊กเกอร์ของซีซาร์ อ้างอิงมาจากฉบับการ์ตูนในช่วงยุค 1960s หรือ ยุคเงิน (Silver Age) ของคอมิกในอเมริกาที่ตอนนั้น โจ๊กเกอร์ โดนตีความให้เป็นอาชญกรตัวป่วนจากการกระทำที่คาดเดาได้ยาก ประกอบกับการที่ตัวซีรีส์โทรทัศน์ก็เป็นโทนแอกชั่นปนตลก ผลก็คือ ซีซาร์ในลุคที่เมคอัพใบหน้าด้วยสีขาวกับทาปากแดงกว้างอันเป็นเอกลักษณ์ เล่นใหญ่เล่นเต็ม ทำให้โจ๊กเกอร์เป็นตัวป่วนที่คนดูลุ้นว่าคราวนี้เขาจะมาไม้ไหน จะพลาดท่าอย่างไร พร้อมกับเสียงหัวเราะที่ดูวอนบาทา แถมบางครั้งดูชิลจนเกินเหตุ
ตัวซีซาร์ยังเคยให้สัมภาษณ์ว่าการแต่งหน้าและอยู่ในสูทม่วงนั้น ทำให้เขาสามารถปล่อยลูกบ้าได้เต็มที่ ลูกบ้าอย่างหนึ่งก็คือการที่เขาไม่ยอมโกนหนวดอันเป็นอัตลักษณ์ประจำตัว แต่ยอมที่จะละเลงสีขาวให้ทับหนวด (ซึ่งมีหลายคนแซวว่านี่มันนำเทรนด์ปัญหาหนวดของ เฮนรี่ คาร์วิลล์ (Henry Carvill) ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ Justice League เสียอีก)
ถ้ามองในมุมหนึ่งก็บอกได้ว่าเพราะความที่ร่างสถิตของโจ๊กเกอร์คนแรกนั้น รับบทเป็นตัวตลกอย่างจริงจังไปแล้ว ทำให้นักแสดงที่มาสวมบทบาทนี้ในภายหลังได้มีโอกาสตีความตัวละครไปยังทิศทางอื่นนั่นเอง
Jack Nicholson – มาเฟียที่มากับเสียงหัวเราะและความแค้น
โจ๊กเกอร์ไม่ได้กลับมาในจอภาพยนตร์อยู่นาน แต่ไม่ใช่ว่าแผนการสร้างภาพยนตร์จะไม่เกิดขึ้นเลย ในช่วงหนึ่งมีความคิดจะสร้างให้ภาพยนตร์ชุดใหม่ดูตลกเหมือนกับซีรีส์โทรทัศน์ชุดก่อนหน้า จนกระทั่งมีคนเห็นว่าภาพยนตร์ฉบับใหม่ควรจะจริงจังขึ้น และ ทิม เบอร์ตัน (Tim Burton) คือผู้ที่ได้รับคัดเลือกในการสร้างโลกของแบทแมนฉบับใหม่
และด้วยความที่ ทิม เบอร์ตัน อยากจะได้นักแสดงที่มีความในใจซุกซ่อนอยู่เยอะ เขาจึงเลือก ไมเคิล คีตัน (Michael Keaton) มารับบทเป็น บรูซ เวย์น/แบทแมน แต่ก่อนที่ภาพยนตร์ Batman จะออกฉายในปีค.ศ. 1989 นั้น ไมเคิลยังเป็นนักแสดงที่ชื่อไม่ได้ดังมากนัก ทำให้ ทิม เบอร์ตัน ต้องเลือกนักแสดงชื่อดังและมีพลังทางการแสดงมารับบท โจ๊กเกอร์ ซึ่งก็โชคดีที่ แจ็ค นิโคลสัน (Jack Nicholson) มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ผู้สร้างต้องการพอดิบพอดี
โจ๊กเกอร์ ในแบบฉบับของแจ็คเป็นการตีความปนกันระหว่างตัวตนของโจ๊กเกอร์ในฉบับคอมิกที่หลายครั้งจะใช้อาวุธที่ดูคล้ายของเล่น แต่ใช้งานฆ่าคนได้จริงจัง (อย่างเช่น ของเล่นช็อตไฟฟ้าที่ถูกปรับแต่งให้ช็อตผู้โชคร้ายจนเสียชีวิตได้) ผสมเข้ากับความเป็นคนที่อยู่ในองค์กรมาเฟียที่ต้องมีความเนี้ยบในการแต่งตัว สูทนั้นอาจจะสีสันฉูดฉาดแต่ก็ดูมีลักษณะการตัดเย็บที่ดูตั้งใจ ตัวตลกคนนี้ยังสามารถสั่งการลูกน้องได้อย่างชัดเจน ในขณะเดียวกันถ้าจำเป็นก็พร้อมจะให้มือตัวเองเปื้อนเลือด
โจ๊กเกอร์ เวอร์ชั่นนี้ยังเป็นเวอร์ชั่นแรกที่มีการระบุชื่อตัวละครในสภาพปกติอย่าง Jack Napier (เพราะจนถึงปัจจุบันนี้ ตัวละครนี้ในฝั่งคอมิกยังไม่มีตัวตนที่ชัดเจนว่าเป็นใครมาจากไหน) ก่อนจะกวนรวมเข้ากับภาวะเสียสติหลังจากที่ แบทแมน ทำให้ชายคนนี้ตกลงไปในบ่อสารเคมีที่ทำให้ร่างกายของมาเฟียคนนี้กลายเป็นสีขาวซีด และสติสัมปชัญญะของเขาก็ค่อยๆ เสียสติไปทีละเล็กทีละน้อย ก่อนจะน้อมรับว่าตัวเองแปรเปลี่ยนจาก Jack ไปเป็น Joker ในช่วงกลางเรื่องของภาพยนตร์
นอกจากนี้ Jack Nicholson ยังใช้เอกลักษณ์การแสดงของเขาที่ถนัดในการสร้างตัวตนที่บ้าคลั่งและน่ากลัวต่อคนดู รวมถึงเสียงหัวเราะที่ชวนขนลุก ผสมกับการแต่งหน้าแบบติดชิ้นเนื้อเทียมเพื่อทำให้นักแสดงคนนี้มีคางที่ยื่นขึ้นใกล้เคียงกับในฉบับคอมิก ทั้งยังทำให้มีรอยยิ้มที่ดูเกินจริงตลอดเวลา ผลก็คือ โจ๊กเกอร์ ที่มีความคลั่งแต่ก็ดูมีเหตุผลมากขึ้น
ด้วยภาพลักษณ์ที่เข้าใจง่ายขึ้นและดูอยู่บนโลกแห่งความจริงมากกว่าที่เคย ทำให้หลายคนติดภาพกับ โจ๊กเกอร์ ฉบับนี้ไม่น้อย กระนั้นก็มีคนที่ไม่นิยมตัวตลกผู้น่าเกรงขามฉบับนี้เช่นกัน แต่เป็นผลมาจากการที่ ทิม เบอร์ตัน ปรับให้ตัวละคร โจ๊กเกอร์ กลายเป็นชายที่ฆ่าพ่อแม่ของ บรูซ เวย์น/แบทแมน เพื่อให้เรื่องราวในหนังสะท้อนว่า ทั้งตัวเอกกับตัวร้าย ก็เหมือนกับเหรียญคนละด้านที่โดนดึงดูดมาให้เผชิญหน้าและต่อสู้กัน
โจ๊กเกอร์ เวอร์ชั่นนี้ก็ถูกผู้คนจดจำไปได้นาน และก็เหมือนกับโจ๊กเกอร์เวอร์ชั่นแรก ที่นักแสดงคนที่รับช่วงต่อไปนั้น ต้องใช้พลังการแสดงเพื่อสร้างตัวลครที่จะทำให้หลายคนจดจำได้อีกครั้ง
Heath Ledger – กายหยาบของความโกลาหล
หลังจากความล้มเหลวของภาพยนตร์ Batman & Robin ในปีค.ศ. 1997 ทำให้โครงการสร้างภาพยนตร์แบทแมนหายไปหลายปี จนกระทั่ง Warner Brothers พา คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) มาเป็นผู้กำกับหนังแบทแมนชุดใหม่ ที่เจ้าตัวบอกกล่าวว่าตั้งใจสร้างหนังชุดนี้ให้มีความดราม่ามากขึ้น จับต้องได้มากขึ้น จนกลายเป็นภาพยนตร์ Batman Begins ที่ออกฉายในปีค.ศ. 2005 ซึ่งได้รับความชื่นชมจากผู้ชมทั่วโลก จนทำให้ภาพยนตร์ภาคสองที่กล่าวว่าจะมี โจ๊กเกอร์ มาเป็นตัวละครหลักได้รับความสนใจทันที
ซึ่งนักแสดงชายหลายคนก็มีความสนใจในการรับบทตัวร้ายคนนี้ แต่โนแลนมีคนที่ถูกใจมาก่อนแล้ว และนักแสดงคนดังกล่าวก็ทำการบ้านในการรับบท โจ๊กเกอร์ มาอย่างจริงจัง ผลก็คือ ฮีท เลดเจอร์ (Heath Ledger) ได้กลายมาเป็นนักแสดงคนใหม่ที่จะสวมสูทสีม่วงตามรอยรุ่นพี่อีกสองคน
โจ๊กเกอร์ ของ ฮีท เลดเจอร์ เป็นการตีความให้ตัวละครดังกล่าวเป็น กายหยาบของความโกลาหล (Agent Of Chaos) ที่เป็นตัวตนตรงกันข้ามกับแบทแมนผู้ต้องการรักษากฎระเบียบเอาไว้ ดังนั้นนักแสดงผู้ล่วงลับก่อนเวลาอันควรจึงไม่ได้ตีความมาจากหนังสือการ์ตูนเล่มใดเป็นพิเศษ แต่กลับเป็นการดึงเอาตัวตนที่แสดงออกถึงความไร้ระเบียบจากคนดังอย่าง Sid Vicious นักดนตรีพังก์ร็อก กับ ความจิตที่อยู่กับ Alex De Large ตัวละครเอกจากภาพยนตร์ ‘A Clockwork Orange’
การเตรียมตัวของ ฮีท เลดเจอร์ ไปไกลถึงจุดที่เขาปลึกวิเวกตัวเองในโรงแรม เพื่อตีโจทย์ว่าตัวละครของเขาจะคิดอย่างไร มองโลกอย่างไร มีวิธีพูดและใช้น้ำเสียงแบบไหน การหัวเราะนั้นควรออกมาในลักษณะไหนที่ดูน่ากลัวและแตกต่างจากนักแสดงคนอื่นก่อนหน้า คิดถึงวิธีการแต่งหน้าเพื่อใช้ปิดร่องรอยแผลตรงริมฝีปากที่ดูน่ากลัว ดูไม่เรียบร้อยนัก แต่ก็สะท้อนว่าเจ้าตัวเองก็แคร์ภาพลักษณ์ของตัวเอง จนทำให้หลายคนเชื่อว่า เขาสามารถสร้างความโกลาหล ทั้งยังใช้ความกลัวในการกุมฝูงชนได้อย่างอยู่หมัด และในภายหลังคนที่ทำงานร่วมกับเขาต่างบอกว่า การตีความของ ฮีท เลดเจอร์ ไม่ใช่การแสดงแบบ method แต่เป็นการ ‘สวมชีวิต’ ของตัวละครที่กำลังแสดงอยู่อย่างจริงจัง
ไอเดียของ ฮีท เลดเจอร์ หลอมรวมกับไอเดียของโนแลนที่จับประเด็นของโจ๊กเกอร์ มาจากการ์ตูนชุด The Killing Joke, The Long Halloween, The Dark Knight Returns ผสมรวมกับงานศิลป์แบบอื่นอย่างภาพวาดของ ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon) ใส่เอกลักษณ์ด้วยการแต่งหน้าแบบติดชิ้นเนื้อเทียม เพื่อให้ โจ๊กเกอร์ มีแผลเป็นบริเวณริมฝีปากจนลักษณะคล้ายรอยยิ้มที่มีศัพท์เรียกว่า Glasgow Smile / Chelsea Smile และตั้งใจไม่เล่าภูมิหลังแบบชัดเจน เพื่อให้ตัวละครดูลึกลับ ไร้ที่มา แต่มีตัวตน และพร้อมจะสร้างเหตุร้ายขึ้นตลอดเวลา
เมื่อผู้กำกับมีทิศทางที่อยากจะนำเสนอชัดเจน กับตัวนักแสดงที่ตั้งใจสร้างตัวตนของโจ๊กเกอร์อย่างจริงจัง ความโกลาหลจึงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะในกองถ่ายที่ ฮีท เลดเจอร์ มักจะทำการด้นสดในหลายๆ ฉาก ทำให้นักแสดงที่ร่วมแสดงด้วยมักจะมีอาการตกใจเป็นระยะๆ แถมหลายครั้งยังมีการนัดแนะกับนักแสดงคนอื่นๆ เพื่อให้ฉากที่ดูยุ่งเหยิงอยู่แล้วมีความตึงเครียดมากขึ้น อย่างเช่น การบอกให้ คริสเตียน เบล (Christian Bale) ที่รับบทแบทแมน ตั้งใจอัดเขาแบบจริงจัง การเดินป่วนไปมาระหว่างที่แสดงกับ Aaron Eckhart จนทำให้เพื่อนนักแสดงออกปฏิกริยาแบบคนป่วยที่โกรธเกรี้ยวเพราะโดนปั่นหัวจริงๆ ฯลฯ
การตั้งใจทำงานของ ฮีท เลดเจอร์ นั้นได้ผลงอกเงยออกมาอย่างดี คนดูภาพยนตร์ทั่วโลกต่างชื่นชมการตีความ โจ๊กเกอร์ ในภาพยนตร์ The Dark Knight ที่ออกฉายในปีค.ศ. 2008 จนหลายคนรู้สึกตกใจและเสียดายอย่างยิ่งที่ดาราชายผู้นี้เสียชีวิตไปจากการใช้ยาเกินขนาด จนทำให้เขาไม่ได้มีโอกาสไปอุ้มชูถ้วยรางวัลนับสิบ โดยเฉพาะ รางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ที่ ฮีท เลดเจอร์ เป็นนักแสดงคนแรกที่ใช้บทจากภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่กรุยทางเข้าไปคว้ามาได้
Jared Leto – จิตป่วนกวนโลก ที่ถูกลดบทบาท
หลังจากบทของ โจ๊กเกอร์ สามารถเดินทางไกลไปจนถึงรางวัลออสการ์แล้ว การที่นักแสดงคนใหม่จะมารับช่วงบทนี้ก็กลายเป็นเรื่องท้าทายเลยทีเดียว แต่ก็มีนักแสดงหลายคนที่แสดงตัวว่าอยากจะรับบทบาทนี้ จนกระทั่ง จาเร็ด เลโต้ (Jared Leto) คว้าสิทธิ์ในการแสดงเป็น โจ๊กเกอร์ คนใหม่ไป
จาเร็ด เลโต้ เคยให้สัมภาษณ์ว่าบทนี้เป็นบทบาทที่เขาอยากรับแสดง และเขาชื่นชมการแสดงของ ฮีท เลดเจอร์ มาก เขาจึงเลือกรับบทเป็น โจ๊กเกอร์ คนใหม่ ที่จะไปปรากฏตัวในภาพยนตร์ Suicide Squad ซึ่งเป็นหนังรวมดาวตัวร้าย ที่ไม่ได้จะประจันหน้ากับแบทแมนเหมือนกับผลงานก่อนหน้านั้น
ครั้งนี้การตีความ โจ๊กเกอร์ กลับมาอ้างอิงฉบับคอมิกมากขึ้น โดยมีข่าวเคยระบุว่าทาง จาเร็ด เลโต้ เคยไปปรึกษา แกรนท์ มอร์ริสัน (Grant Morrison) นักเขียนการ์ตูนชื่อดังที่สร้างคอมิคแบทแมนหลายตอนที่แฟนการ์ตูนชื่นชอบ และ จาเร็ด เลโต้ ก็ศึกษานิสัยโดยเอาคอมิกชุด ‘Arkham Asylum: A Serious House on Serious Earth’ ที่โจ๊กเกอร์ยังคงเอกลักษณ์ความจิตป่วน อารมณ์แปรปรวน แต่ก็ยังเป็นคนที่ดูมีเสน่ห์จากการกระทำต่างๆ จนทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งยอดติดตามความบ้าบิ่นที่โจ๊กเกอร์มีอยู่
ด้วยความที่ จาเร็ด เลโต้ เป็นนักแสดงสไตล์ Method เขาจึงไปเก็บความรู้เพิ่มเติมจากการเข้าเยี่ยมแผนกจิตเวชของโรงพยาบาลต่างๆ จากนั้นก็ทำการปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามบท ตั้งแต่การตัดผมให้สั้น โกนหนวด โกนคิ้ว โกนขนหน้าอก และใช้การเมคอัพทำรอยสักแบบเพี้ยนๆ ลงบนตัว ส่วนเครื่องแต่งกายก็สอดคล้องกับตัวคอมิกที่อ้างอิงซึ่ง โจ๊กเกอร์ฉบับนี้จะทำตัวทันสมัยตามเทรนด์มากกว่าเวอร์ชั่นก่อนๆ
และเขายังทำตัวเป็น โจ็กเกอร์ ตลอดเวลาการถ่ายทำ ไม่ใช่แค่เฉพาะในช่วงที่กล้องถ่ายทำอยู่เท่านั้น ผลก็คือ เขามักจะส่งของไปแกล้งเพื่อนร่วมทีมนักแสดงในลักษณะคนจิตป่วน ระดับที่ วิล สมิท (Will Smith) ที่เป็นนักแสดงร่วมในภาพยนตร์เดียวกันออกปากว่า ตลอดการถ่ายทำหนังเรื่อง Suicide Squad เขาไม่เคยได้เจอ จาเร็ด เลโต้ ตัวจริงเลย
กระนั้นเรื่องในฉากหลังกลับไม่สอดคล้องกับภาพที่ปรากฏในฉากหน้าของภาพยนตร์ที่ออกฉายในปีค.ศ. 2019 เพราะตัวละคร โจ๊กเกอร์ นั้นกลับมีเวลาอยู่บนหน้าจอราว 15 นาที และบทบาทของเขาก็ไม่ค่อยมีผลต่อเรื่องโดยตรงนัก แม้ว่า จาเร็ด เลโต้ จะได้รับการชื่นชมในการแสดงที่มีสีสันจนเด่นกว่าเพื่อนนักแสดง
ต่อมาในภายหลัง จาเร็ด เลโต้ ก็ออกมาพูดกับสื่อว่าบทของเขาถูกตัดทอนลงไปอย่างมาก ทั้งยังบอกว่าส่วนที่เขาถ่ายทำนั้นมีมากพอจะสร้างหนังแยกได้อีกเรื่องหนึ่ง และมีการสัมภาษณ์อีกครั้งที่เขาผิดหวังกับการตัดสินใจของทางผู้สร้างหนังที่ตัดทอนบทบาทของเขาแตกต่างกับที่พูดไว้ก่อนหนังจะฉาย
แม้ว่า Suicide Squad จะออกเวอร์ชั่นที่มีฉากเพิ่มเติมออกมาในภายหลัง แต่ก็ยังมีรายละเอียดตัวละครที่ จาเร็ด เลโต้ ออกมาไม่มากนักอยู่ดี ทำให้มีคนกล่าวว่า จาเร็ด เลโต้ ก็เป็นนักแสดงอีกคนหนึ่งที่ติด ‘คำสาปของโจ๊กเกอร์’ เพราะนักแสดงที่เล่นบทนี้มักจะประสบพบเจอกับเรื่องร้าย (อย่างที่คนส่วนหนึ่งเชื่อว่า ฮีท เลดเจอร์ ก็ติดคำสาปนี้จนถึงแก่ชีวิต)
กระนั้นหากมองตามหลักความจริง ภาพยนตร์ทุกเรื่องมักจะมีการถ่ายฉากเอาไว้มากกว่าที่จะถูกนำมาตัดต่ออก่อนฉายจริงอยู่แล้ว เรื่องนี้คงเป็นแค่การตัดสินใจของผู้เป็นเจ้าของทุนสร้างภาพยนตร์ ที่ทำให้คนดูไม่ได้มีโอกาสเห็นสิ่งที่นักแสดงอยากนำเสนอมากกว่า
Joaquin Phoenix – คนธรรมดาที่แหลกสลายและกลายเป็นอวตารแห่งความบ้าคลั่ง
หลังจากฝั่งจักรวาลภาพยนตร์ของ DE หรือ DC Extended Universe เริ่มมีปัญหา Suicide Squad ก็ไม่ได้รับความนิยมมากนัก Jutics League ก็ทำรายได้ไม่เข้าเป้า ทางผู้สร้างหนัง DCEU เลยเริ่มปรับกระบวนความคิดในการสร้างภาพยนตร์ ทำให้ผู้กำกับ ท็อดด์ ฟิลิปป์ (Todd Philips) เคยยื่นไปว่าเขาอยากจะทำหนังที่มีตัวละครการ์ตูนเป็นตัวเอก แต่อยากจะสร้างเป็นหนังที่จับต้องได้มากกว่าที่จะเป็นหนังแนวแอกชั่นโฉ่งฉ่างอย่างที่ฮิตอยู่ในตลาด
ไอเดียการทำหนังแบบนี้สอดคล้องกับความคิดของนักแสดงอย่าง วาคิน ฟีนิกซ์ (Joaquin Phoenix) ที่เคยปฏิเสธการเล่นหนังซูเปอร์ฮีโร่มาก่อนแล้ว เพราะเขาอยากจะเล่นเป็นตัวละครใดตัวละครหนึ่งแบบจริงจัง มากกว่าการสวมบทเดิมในภาพยนตร์หลายเรื่อง
สุดท้ายผู้กำกับ และ นักแสดง ที่มีความเห็นตรงกันก็ได้มาร่วมงานในภาพยนตร์ที่ใช้ชื่อเรียบง่ายว่า ‘Joker’ และตัวภาพยนตร์นั้นจะไม่เชื่อมโยงกับ DCEU แต่จะเป็นการเล่าเรื่องแบบเจาะลึกไปว่า คนธรรมดาอย่าง Arthur Fleck ไปพบปะกับอะไรบ้าง จนเขายอมละทิ้งความเป็นคนปกติ แล้วกลายเป็นเจ้าชายตัวตลกแห่งอาญากรรมอย่าง โจ๊กเกอร์
อาจเพราะหนังมีการกำหนดทิศทางแปลกไปกว่าเรื่องอื่นๆ ทำให้โจทย์ของ โจ๊กเกอร์ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ของ Martin Scorsese โดยเฉพาะเรื่อง ‘The King Of Comedy’ ซึ่งก็ชวนแปลกใจไม่น้อยเพราะนี่เป็นหนังที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก แต่ก็ใช่ว่าหนังจะไม่อ้างอิงฉบับการ์ตูนเอาเสียเลย เพราะยังมีการอ้างอิงว่าตัวตนของ โจ๊กเกอร์ ในภาคนี้จะมีความบ้าคลั่ง และความโศกสลดเหมือนในตัวละครใกล้เคียงกับที่ปรากฏตัวในคอมิคชุด ‘The Killing Joke’ ที่เขียนโดย Alan Moore
วาคิน น้อมรับแนวทางของผู้กำกับ และสร้างตัวละคร Arthur Fleck ให้เป็นคนที่มีความซับซ้อน เขาเป็นชายที่มีอาการทางจิตที่คอยดูแลแม่ที่มีอาการป่วย เขาอยากสร้างชื่อตัวเองในการเล่นเดี่ยวไมโครโฟน แต่ยังติดค้างอยู่กับการรับบทเป็นตัวตลกรับจ้างที่มักจะถูกเหยียดหยัน ทำให้เขาไม่สามารถก้าวไปไหนได้
เพื่อที่จะรับบทเป็นตัวละครดังกล่าว วาคินลดน้ำหนักตัวเองไปอย่างมาก ทำให้ความอิดโรยปรากฏขึ้นทั่วตัว ไม่ใช่แค่เฉพาะใบหน้าเท่านั้น ภาวะความเจ็บป่วยทางจิตของเขาก็ดีไซน์จากการดูคนป่วยที่มีอาการควบคุมการหัวเราะของตัวเองไม่ได้ (Pathological Laughter) เสียงที่ได้ออกมานั้นจึงมีความเศร้าจากการป่วยไข้เจือปนอยู่ในการกระทำที่ดูมีความสุข ในขณะเดียวกัน วาคินก็ตั้งใจแสดงลอกเลียนอาการป่วยทางจิตเวชแบบอื่นๆ เข้าไปด้วย เพื่อให้ตัวตนของ Arther Fleck มีความบ้าคลั่งที่ยากจะเข้าใจได้
อีกวิธีการหนึ่งที่วาคินใช้สร้างตัวละคร โจ๊กเกอร์ ของเขาคือการอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรในอดีตที่เคยก่อเหตุร้ายทางการเมืองได้สำเร็จ ซึ่งช่วยเสริมให้คนดูหรือแม้แต่นักแสดงที่รับบทร่วมกันจับทางได้ยากว่า ตัวตนของเขาจะเป็นอย่างไรกันแน่ และในขณะเดียวกันก็ทำให้ วาคินเข้าใจว่า ทำไมอาชญากรเหล่านั้นถึงระเบิดอารมณ์สังหารได้อย่างมีความสุข
เมื่อควบรวมความซับซ้อนของตัวละครที่จับต้องได้ ผสานเข้ากับท้องเรื่องที่ย้อนความไปยุค 1980s ที่เศรษฐกิจไม่ดีงาม สวัสดิการรัฐล้มเหลว ความหวังไปอยู่ที่ใครเพียงคนเดียว แต่เมื่อความหวังที่ดูสวยงามก็สามารถทำให้ Arther Fleck ผิดหวัง สุดท้ายเขาจึงพร้อมที่จะรับเอาความบ้าเข้าสู่ตัวเอง และกลายเป็น โจ๊กเกอร์ ร่างอวตารความบ้าคลั่งที่น่ากลัวแต่ก็โดดเด่นสะดุดตา
ภาพยนตร์ Joker ได้รับกระแสตอบรับที่ดีแบบล้มหลามนับตั้งแต่การออกฉายในงานเทศกาลต่างๆ ในช่วงปีค.ศ. 2019 จนสามารถคว้ารางวัลสิงโตทองคำ จากงานเทศกาลภาพยนตร์เวนิส และจากคำรีวิวก่อนการฉายภาพยนตร์ในวงกว้าง ถึงมีคนเอ่ยปากว่า ถ้าหาก วาคินไปไม่ถึงรางวัลออสการ์ เราอาจจะได้เห็นความบ้าคลั่งจากคนดูที่ถูกการแสดงของเขาสะกดเอาไว้ได้ออกอาละวาดเช่นกัน
และมาตรฐานใหม่นี้ ย่อมทำให้นักแสดงคนต่อไปที่จะมารับบท โจ๊กเกอร์ ต้องคิดทบทวนและทำการบ้านให้หนักขึ้นมากกว่าที่เคย
อ้างอิงข้อมูลจาก