3 ธันวาคม ของทุกๆ ปี เป็นวันคนพิการสากล ที่ทางสหประชาชาติเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1992 ซึ่งเป้าหมายของวันดังกล่าวนี้ก็เพื่อเป็นการประกาศให้ทุกคนเข้าใจถึงสิทธิ์ของผู้มีความพิการให้มากขึ้น ทั้งยังสร้างความรับรู้ให้ทุกๆ คนเข้าใจว่า ผู้มีความพิการก็สามารถมีส่วนร่วมกับสังคมได้ ไม่ว่าจะในแง่มุมทางเศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง หรือวัฒนธรรมก็ตามที
ความจริงแล้วชื่อของวันนี้ในภาษาไทยอาจไม่ได้แปลอย่างถูกต้องเท่าใดนัก ด้วยเหตุที่คำว่า ‘วันคนพิการสากล’ นั้นมาจากคำว่า ‘International Day of Disabled Persons’ จนกระทั่งในปี 2007 ที่มีการเปลี่ยนแปลงชื่อของวันนี้ในภาษาอังกฤษเป็นคำว่า ‘International Day of Persons with Disabilities’ ที่พอจะแปลความหมายได้ว่า วันของผู้มีความพิการสากล ซึ่งเป็นการปรับคำให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ แม้ว่าผู้มีความพิการ อาจต้องเผชิญความท้าทายกับการใช้ชีวิตในสังคมอยู่บ้าง แต่พวกเขาก็สามารถทำงาน สามารถทำการศึกษา หรือชื่นชมกับความงามของโลกใบนี้ได้ในแบบของตัวเอง
ความจริงแล้วเรื่องราวของผู้มีความพิการ ก็ถูกจับมาบอกเล่าผ่านสื่อบันเทิงอยู่เป็นประจำ เช่นการปรากฎตัวในฐานะ Subject ที่มีความเฉพาะตัวในภาพยนตร์สารคดี แต่ครั้งนี้เราอยากพูดถึงถึงภาพยนตร์สายบันเทิง ส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งที่พยายามเล่าเรื่องของคนพิการในสถานการณ์หลากหลาย เพื่อให้คนดูได้เข้าใจผ่านเรื่องราวชวนบันเทิงว่า ผู้มีความพิการนั้นก็สามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนธรรมดาได้ และหลายๆ ครั้งมุมมองการใช้ชีวิตของพวกเขาก็มีอะไรที่สอนใจ
Wonder – อย่ามองแค่เปลือกนอกที่มีชื่อว่าความพิการ
ภาพยนตร์จากนิยายที่โด่งดังไปทั่วโลก จากการเล่าเรื่องของ August ‘Auggie’ Pullman (ออกัสต์ ‘อ็อกกี้’ พูลแมน) เด็กชายที่มีอาการของโรคที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติของใบหน้าและขากรรไกรล่าง (Mandibulofacial Dysostosis) จนทำให้เขามีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ ต้องทำการผ่าตัดหลายต่อหลายครั้งนับตั้งแต่เล็กๆ นับรวมแล้ว 27 ครั้ง เพื่อให้ดวงตา, จมูก และ ใบหูทำงานได้ปกติขึ้น ด้วยความที่ต้องเข้าโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่องทำให้ Auggie ต้องเรียนหนังสือที่บ้านมาโดยตลอด จนกระทั่งเด็กชายคนนี้เข้าวัยสิบขวบพ่อแม่ของเขาจึงเห็นว่าได้เวลาแล้วที่ลูกชายต้องเข้าสังคมบ้าง และความท้าทายใหม่ในชีวิตของอ็อกกี้ก็คือการเข้าไปเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ห้า ที่เขากับเพื่อนร่วมโรงเรียนจะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตซึ่งกันและกัน
Wonder เล่าเรื่องทั้งในส่วนของคนที่เข้าใจผู้มีความพิการ (อย่างครอบครัวและครูประจำชั้นของ Auggie) และในขณะเดียวกันก็ยังไม่ลืมสะท้อนภาพความจริงที่คนทั่วไปหลายคนยังเห็นความพิการเป็นเรื่องคะนองปากอยู่ แต่เนื้อหาหลักของหนังและนิยายนั้นตั้งใจบอกเล่าถึงความ ‘มหัศจรรย์’ เมื่อคนเราสามารถเข้าใจกันและกันได้ รวมถึงความมหัศจรรย์ของคนทุกรูปแบบที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน อย่างเรื่องนี้ที่ตัวละครแทบทุกตัวค่อยๆ อยากจะเข้าใจอ็อกกี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายทุกคนก็รู้ว่าเด็กชายผู้มีความพิการคนนี้อาจเป็นคนที่แกร่งที่สุดในโรงเรียนของเรื่องนี้เลยทีเดียว
The Intouchables – คุยกันอย่างเท่าเทียม โดยไม่สนความพิการ
พอเราพูดถึงความสัมพันธ์ของผู้มีความพิการกับคนทั่วไป ก็อาจถูกเข้าใจว่าฝั่งผู้มีความพิการจะต้องเป็นผู้เสียเปรียบและคนทั่วไปต้องเป็นผู้ช่วยเหลือ ทั้งที่ความจริงแล้วผู้มีความพิการหลายท่านอยากจะให้ทุกคนปฏิบัติแบบเท่าเทียม พอพูดแบบนี้แล้วเราก็เลยอยากหยิบยกเอาภาพยนตร์เรื่อง The Intoucables จากประเทศฝรั่งเศสที่เล่าเรื่องให้ผู้มีความพิการกับผู้ดูแลวางตัวชิลๆ ใส่กันแบบน่าจดจำ
หนังเล่าเรื่องผ่านตัวละคร Driss Bassari (ดริส บาสซาริ) ชาวฝรั่งเศสเชื้อสายแอฟฟริกัน ที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะมาสมัครงานแบบขอไปทีเพื่อจะไปรับเงินสังคมสงเคราะห์ แต่นิสัยห่ามๆ ไม่สนใจใครนี้กลับถูกใจ Philippe (ฟิลิป) พ่อค้าศิลปะที่มีความพิการจากอาการอัมพาตตั้งแต่ช่วงคอลงไป เนื่องจากอุบัติเหตุในการเล่นพาราไกลเดอร์
Driss รับหน้าที่ดูแล Philippe ร่วมกับผู้ดูแลคนอื่นๆ ทว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว Driss มักทำอะไรแผลงๆ ในการดูแล อาทิ การสูบบุหรี่ในห้องผู้ป่วย หรือการยื่นของให้ Philippe เหมือนว่าเขายังขยับได้ปกติ ฯลฯ แถมด้วยประวัติส่วนตัวที่เขาเคยถูกจำคุกมาก่อน ทำให้หลายๆ คนเกรงว่าจะเกิดอะไรไม่ดีขึ้นกับผู้มีความพิการได้ แต่ตัวของ Philippe ที่เป็นผู้จ้างกลับเห็นว่าเขาต้องการผู้ดูแลที่ไม่แสดงความสงสารนำมาก่อน แล้วปฏิบัติกับเขาในฐานะคนที่เท่าเทียมกัน จนเวลาผ่านไปหลายเดือน ทั้งสองคนก็รู้ใจกันมากกว่าที่คิด Driss พา Philippe ออกไปนอกบ้านทำกิจกรรมแอคทีฟกว่าที่ผู้ช่วยคนอื่นจะกล้าทำ ส่วน Philippe ก็ช่วยให้ Driss เข้าใจเรื่องศิลปะมากขึ้น จนสุดท้ายทั้งสองคนต่างยอมรับไลฟ์สไตล์ของกันและกัน และสุดท้ายชีวิตของพวกเขาทั้งสองคนต่างดีขึ้นเพราะการเคารพกันแบบนี้
หากรู้สึกว่าเรื่องแบบนี้เป็นไปได้แค่เรื่องแต่งเท่านั้น ก็ต้องขออธิบายว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงของ Philippe Pozzo Di Borgo กับ Abdel Sellou ซึ่งเคยถูกถ่ายทอดเป็นสารคดีมาก่อนด้วย แม้ว่าตัวจริงของทั้งสองจะไม่ได้มีสัมพันธ์เป็น นายจ้าง-ลูกจ้าง กันอีกแล้ว แต่พวกเขากลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันจนถึงปัจจุบันนี้
Scent of a Woman – แม้จะมีความพิการก็ยังส่งต่อแสงสว่างให้คนอื่นได้
ภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี 1992 มีการแสดงของ Al Pacino ที่รับบทเป็นคนตาบอดที่ยังคงความทรนงตนได้อย่างยอดเยี่ยม จนเขาสามารถคว้ารางวัลออสการ์สาขาดารานำชายยอดเยี่ยมมาครอง แต่ที่เราหยิบยกมาพูดถึงในครั้งนี้ เพราะในเรื่องพูดถึงสองประเด็นที่น่าสนใจ หนึ่งคือความเปล่าเปลี่ยวของคนชรา กับอย่างที่สองคือผู้มีความพิการอาจมองความงามในโลกนี้ได้ละเอียดกว่าที่คิด
เรื่องราวของหนังเกี่ยวข้องกับ Charlie Simms นักเรียนทุนของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งที่พยายามทำงานหาเงินสำหรับการกลับบ้านในช่วงวันหยุด และงานที่เขาตัดสินใจรับก็คือการดูแลอดีตนายทหารยศพันโท Frank Slade ที่เป็นผู้มีความพิการทางด้านการมองเห็น แต่ยังทำตัวหยิ่งทะนง ใช้ชีวิตเหมือนกับว่าเขายังดวงตาปกติ เมื่อ Charlie รับงานดูแลมาแล้วอดีตทหารคนนี้ก็บีบบังคับให้คนทำงานพิเศษคนนี้ร่วมเดินทางไปยังมหานครนิวยอร์กกับเขาด้วย
ระหว่างพักแรมที่นิวยอร์ก Frank พา Charlie ไปพบกับเรื่องราวต่างๆ ทั้งการไปเยี่ยมญาติของฝั่ง Frank ที่ห่างเหินไปนาน, ไปร้านอาหารชั้นหรู, เต้นแทงโก้กับสาวสวย ฯลฯ กิจวัตรที่แปลกใหม่ทำให้ Charlie ได้พบความงามของโลกที่เขาไม่เคยสัมผัสมาก่อน กระนั้นแผนการแท้จริงของพันโทคนดังกล่าวคือการปลิดชีวิตตัวเองเพราะแท้จริงแล้วเขาแทบไม่มีใครมาทำความเข้าใจเลย มิหน้ำซ้ำความพิการที่เกิดขึ้นกับตัวเขาก็มาจากเหตุที่เขามั่นใจในตัวเองจนเกิดอุบัติเหตุทำให้เขาตกอยู่ในความมืดทั้งการมองเห็นและการใช้ชีวิต โชคดีที่ Charlie ติดตามอดีตทหารแบบตัวติดกันช่วยเตือนใจว่า แม้ว่า Frank จะตาบอดแต่ความงามที่เขานำเสนอให้ Charlie เห็นนั้นมันเจิดจรัสยิ่งนัก
ในช่วงท้ายของหนัง Frank ได้เข้ามาช่วยเหลือ Charlie เกี่ยวกับปัญหาในโรงเรียนของเขา ด้วยเหตุผลที่ทหารเกษียณมองเห็นว่านักเรียนคนนี้มีอนาคตที่ส่องสว่างอยู่ตรงหน้า ซึ่งเป็นการบอกเล่าได้ดีอย่างหนึ่งว่าไม่ว่าจะมีความพิการหรือไม่ ก็สามารถส่งต่อแสงสว่างสู่อนาคตได้ทั้งนั้น
The Theory of Everything – น้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากความพิการ
นอกจากที่จะเป็นภาพยนตร์ชีวประวัติของ Stephen Hawking หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ทฤษฎีและจักรวาลวิทยาที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งแล้ว หนังยังบอกเล่าเรื่องราวนับตั้งแต่ที่ตัว Stephen Hawking เริ่มมีอาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Amyotrophic Lateral Sclerosis) รวมถึงการบอกเล่าเรื่องราวความรักในช่วงชีวิตเขาด้วย
นอกจากเรื่องความรักที่งอกเงยขึ้น อีกส่วนที่ภาพยนตร์เล่าได้ดีคือสภาวะการรับรู้อาการป่วยของตัว Stephen Hawkin กับ Jane Wilde ที่ในช่วงแรกตัว Stephen เองก็ไม่ยอมรับภาวะป่วยของตนเอง จนถึงจุดที่เขารับรู้ว่าแม้ร่างกายจะค่อยๆ อ่อนแรงลง การพูดจะทำได้ยากเย็นขึ้น แต่สมองของเขายังคงทำงานได้ดีดังเดิม เขาจึงกลับมาทุ่มเทในการทำงานอีกครั้งแม้สภาพร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ตามที
อีกส่วนที่เราคิดว่าเป็นการนำเสนอความจริงอันยากเย็นที่ต้องยอมรับออกมาได้ดี ก็คือช่วงที่ Jane Wilde เริ่มอ่อนล้ากับการต้องดูแลผู้มีความพิการ จนเกิดอาการซึมเศร้า ที่อาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ยากนักโดยเฉพาะกับผู้ดูแลที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคใดๆ ก็ตาม แล้วก็ค่อนข้างโชคดีที่ทั้งในหนังและชีวิตจริงตัวของ Stephan Hawking ก็ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับครอบครัว ทำให้ Stephen กับ Jane ยังสนิทชิดเชื้อในฐานะสมาชิกครอบครัวคนสำคัญ
หรือถ้าบอกว่า การยอมรับ เป็นบันไดก้าวแรกสู่ความเข้าใจของผู้คนก็คงจะไม่ผิดนัก
Rain Man – ไม่ว่าความพิการแบบไหน ทุกคนก็ยังเป็นสมาชิกคนสำคัญในครอบครัวใหญ่ที่ชื่อว่า ‘สังคม’
สื่อสารกับคนอื่นลำบาก ไม่สบตาคนที่ไม่รู้จัก ใช้ชีวิตอยู่ในห้องแบบเดิม และจริงจังกับการทำตามตารางชีวิตที่คุ้นเคย นั่นคือภาพลักษณ์ของ Raymond Babbitt พี่ชายที่ Charlie Babbitt เพิ่งทราบว่ามีตัวตนอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชที่ได้รับมรดกของครอบครัว ด้วยเหตุนี้ Charlie จึงไม่โอเคที่เงินไม่ถึงมือตัวเอง แถมยังไม่มีความเข้าใจว่าผู้มีความพิการจากอาการออทิสซึมนั้นเป็นอย่างไร การลักพาตัว Raymond เพื่อต่อรองเอาเงินมรดกจึงกลายเป็นการเดินทางที่ทำให้น้องชายทำความรู้จักผู้มีอาการออทิสซึมมากขึ้น ส่วนฝั่งพี่ชายที่ไม่เคยออกมาเผชิญโลกภายนอกก็ได้เจออะไรแปลกใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน และในช่วงหนึ่ง Charlie อาศัยความสามารถของ Raymond ที่จริงๆ แล้วมีภาวะออทิสติก ซาวองก์ (Autistic Savant) ในการนับไพ่ในคาสิโน แต่สุดท้าย Charlie ก็ระลึกได้ว่า พี่ชายคนนี้เคยปลอบโยนเขาในวัยเด็กและทำให้สองพี่น้องเข้าใจกันมากขึ้น และสุดท้าย Charlie ก็พา Raymond ไปส่งตัวคืนให้กับหมอที่ดูแล และสัญญาว่าจะแวะไปเยี่ยมบ่อยๆ หลังจากที่เขาหลงลืมพี่ชายคนนี้มาหลายสิบปี
หนังเรื่องนี้ถูกฉายเมื่อปี 1988 ถูกสร้างขึ้นหลังจากที่ Barry Morrow ผู้เขียนบทของเรื่องไปพบกับ Kim Peek ผู้มีภาวะออทิสติก ซาวองก์ (Autistic Savant) ที่สามารถจดจำทุกตัวอักษรหนังสือที่เขาเคยอ่านมาแล้วได้มากกว่า 12,000 เล่ม Barry เขียนบทของภาพยนตร์โดยหวังให้คนมองผู้มีความพิการทางสติปัญญา, ทางการเรียนรู้ และ ทางออทิสติก ไม่ใช่ ‘ไอ้โง่’ แบบที่สังคมในยุคนั้นเข้าใจกัน แล้วก็เป็นโชคดีอีกประการที่ Dustin Hoffman ที่่เข้ามารับบท Raymond Babbitt ได้ตามติดชีวิตของ Ken Peek อย่างละเอียดในช่วงเตรียมตัวแสดงบทสำคัญของเรื่อง และทำให้เขาสามารถคว้ารางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ไปพร้อมๆ กับการที่บทบาทบาทของเขาช่วยสลายความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับผู้มีความพิการจากอาการออทิสซึมได้อย่างดี
ภาพยนตร์ยังคงเป็นสื่อบันเทิงสำคัญที่จะทำให้ผู้คนเข้าใจเรื่องยากๆ ได้ง่ายขึ้น เพราะคนทำหนังส่วนหนึ่งก็นิยมทำหนังให้อัพเดตตามความรู้ความเข้าใจทีมีต่อผู้มีความพิการเพิ่มมากขึ้นตามยุคสมัย แถมในช่วงหลังนี้เราได้เห็นภาพยนตร์ที่นำเอาผู้มีความพิการมาเป็นตัวละครเอกบ่อยครั้งมากขึ้น และเชื่อว่าในอนาคต ตัวละครผู้มีความพิการจะกลายเป็นเรื่องปกติในภาพยนตร์ไปในที่สุด
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก
ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย