เอลโม่ตัวแดง นกบิ๊กเบิร์ดตัวใหญ่ หรือปีศาจคุกกี้ ตุ๊กตาหุ่นเชิดในรายการทีวีโชว์สำหรับเด็ก ‘Sesame Street’ เพิ่งจะครบรอบ 50 ปีไปในสัปดาห์นี้
ซึ่งตลอดครึ่งศตวรรษของรายการเด็กนี้ ได้ออกอากาศมาแล้วเกือบ 5,000 ตอน ชนะรางวัล Emmy มาแล้ว 193 ครั้ง ทั้งยังมีผู้รับชมกว่า 150 ประเทศทั่วโลก แต่นั่นไม่ใช่แค่ความสำเร็จของรายการ เพราะ Sesame Street เป็นรายการที่เกิดขึ้นมาเพื่อสอนเด็กๆ ทั้งในเรื่องความหลากหลาย ชีวิต และการเติบโต
Sesame Street ออกอากาศตอนแรก ในวันที่ 10 พฤศจิกายน ปี 1989 ซึ่ง Lloyd Morrisett และ Joan Ganz Cooney บัณฑิตวิทยาลัยการศึกษาของฮาร์วาร์ด ตั้งใจสร้างรายการเด็ก เพื่อเป็นบทเรียนสอนเด็กๆ ผ่านรายการโทรทัศน์ ซึ่งในช่วงก่อนทศวรรษ 1980 รายการทีวีเด็กล้วนแต่เป็นการ์ตูน และรายการที่ไม่ได้สนใจตัวผู้ชมว่าจะได้รับอะไรหรือไม่ ซึ่งการเกิดขึ้นของ Sesame Street ได้เปลี่ยนบรรยากาศของรายการทีวีในตอนนั้นไป
Sesame Street เป็นรายการเด็กที่สร้างขึ้นด้วยความคราฟต์ และการใส่ใจอย่างเห็นได้ชัด ที่จะมุ่งช่วยให้เด็กๆ ได้รับอะไรบางอย่างจากรายการ ตั้งแต่เรื่องทั่วไปอย่างตัวอักษร การท่องจำตัวเลข ไปถึงบางประเด็น ที่หลายคนมองว่า ไม่ควรพูดคุยกับเด็กอย่างเรื่องการหย่าร้าง ความตาย เรื่องเพศ ปัญหาสังคมคนไร้บ้าน ครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์
แต่รายการนี้ต่างก็นำมาพูดถึง ผ่านทั้งเนื้อเรื่อง และคาแรคเตอร์ของตัวละคร ทั้งยังทำในเวอร์ชั่นที่เหมาะสมกับเด็ก และให้เด็กๆ ทั่วโลกที่ดูได้เข้าใจประเด็นเหล่านี้มากขึ้น
ตัวละครที่มาพร้อมความหลากหลาย
ตัวละครใน Sesame Street มาพร้อมความหลากหลายมากมาย ทั้งตัวหุ่นเชิด และตัวละครคน ซึ่ง Rosemarie Truglio รองประธานอาวุโสของ Sesame Workshop กล่าวในการสัมภาษณ์ว่า “มันสำคัญมากสำหรับเราที่จะเป็นตัวแทนของชนชาติต่างๆ ไม่เพียงแค่นักแสดงมนุษย์ แต่หุ่นเชิดด้วย” รวมถึงแขกต่างๆ ที่มาร่วมกับโชว์ด้วย ทั้งหมดนี้เพื่อช่วยเหลือเด็กเล็กๆ ให้เข้าใจโลกที่ซับซ้อน
“มันเป็นกระจกสำหรับพวกเขา ที่จะเห็นตัวเองและเป็นหน้าต่างสำหรับพวกเขาที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับคนอื่นๆ” Truglio กล่าว ซึ่งในโลกที่เปลี่ยนไป Sesame Street ก็แนะนำตัวละครที่หลากหลายขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
อย่างในปี 2015 ‘จูเลีย’ หุ่นเชิดของเด็ก 4 ขวบที่เป็นออทิสติก ก็เดบิวต์ในรายการ ซึ่งเป็นตัวละครที่ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ และเข้าใจความพิการ หรืออย่างตุ๊กตาหุ่นเชิดตัวล่าสุด น้อง ‘คาลลิ’ เด็กที่ถูกรับเลี้ยงมา ซึ่งโตมากับการมีแม่ที่ต่อสู้กับอาการติดฝิ่น ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริง มีเด็กๆ อย่างน้อย 5.7 ล้านคนในสหรัฐฯ ที่มีอายุต่ำกว่า 11 ปี ที่มีพ่อแม่ติดสารเสพติดในบ้าน
นอกจากนี้ Sesame Street ยังมีตัวตุ๊กตาหุ่นเชิด ที่แตกต่างกันไปในรายการโชว์ของแต่ละทวีป และพื้นที่ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของแต่ละประเทศอย่าง ‘คามี่’ ในแอฟริกา ที่เป็นเด็กกำพร้าผู้ติดเชื้อ HIV ซึ่งมีแม่เสียชีวิตจากโรคเอดส์ ไปถึง ‘ซาริ’ และ ‘ซีรัก’ 2 พี่น้องหญิงชายในอัฟกานิสถาน ที่เป็นต้นแบบของความเท่าเทียมทางเพศ และการเคารพผู้หญิง
การเรียนรู้โลกผ่านรายการทีวีเด็ก
Sesame Street เป็นรายการทีวีที่พูดถึงประเด็นสังคม การเติบโต และการเรียนรู้ เป็นรูปแบบผ่านประสบการณ์ของตัวละคร ในหัวข้อที่หลายคนอาจพบเจอได้ร่วมกัน
หนึ่งตอนที่เป็นที่จดจำอย่างมากใน Sesame Street คือ ประสบการณ์การเรียนรู้เรื่องความตายของบิ๊กเบิร์ด เมื่อ วิล ลี ผู้รับบทคุณฮูเปอร์ ตัวละครเจ้าของร้านค้าในโชว์เสียชีวิต รายการได้ตัดสินใจนำเรื่องคุณฮูเปอร์มาเล่า เมื่อตัวละครหนึ่งอธิบายเรื่องความตายของคุณฮูเปอร์กับบิ๊กเบิร์ดว่า “บิ๊กเบิร์ด, เมื่อคนตายไป พวกเขาจะไม่กลับมาอีก” แต่ความทรงจำเกี่ยวกับพวกเขายังมีชีวิตอยู่ ในคนอื่นๆ ซึ่งทำให้บิ๊กเบิร์ดได้เรียนรู้ถึงความตายเป็นครั้งแรก
ซึ่งในตอนนั้น รายการได้ลองเขียนสคริปต์สำหรับเด็กๆ ให้เข้าใจคอนเซ็ปต์ความตายได้ และมีการทดสอบเปิดให้เด็กบางส่วนดู เพื่อลองว่าพวกเขาเข้าใจหรือไม่ และหลังจากนั้น รายการเองก็ไม่เคยนำโชว์ตอนก่อนๆ ที่คุณฮูเปอร์เคยมาร่วม มาออกอากาศซ้ำอีก เพราะว่ารายการเคยพูดไว้แล้วว่า เขาจะไม่กลับมา และยืนหยัดในคำพูดนั้น
เรื่องราวเหล่านี้ ไม่เพียงแค่ความตาย แต่การหย่าร้าง ความหลากหลาย การเติบโตของชีวิต ก็เป็นส่วนที่ขัดเกลาเด็กๆ จากรายการนี้ โดยที่ผ่านมา ก็มีงานวิจัยที่พิสูจน์แล้วว่า Sesame Street ได้ช่วยพัฒนาความคิด และการเรียนรู้ของเด็กๆ จริงๆ โดยในงานวิจัยนี้ พบว่า เด็กผู้ชาย ที่เติบโตในประเทศยากจน และเด็กผิวสี มีชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าถึงรายการ Sesame Street ด้วย
Melissa Blake นักเขียน ผู้ติดตามรายการ Sesame Street ตั้งแต่เด็กเล่าว่า เธอรู้สึกโชคดีที่ตัวเองเป็นหนึ่งในเด็กหลายล้านคน ที่ถูกอิทธิพลจากรายการ Sesame Street “ฉันเติบโตขึ้นมาดูและรัก กลุ่มเพื่อนขนยาว เนื่องจากความพิการของฉัน โชว์นี้เป็นเหมือนหน้าต่างที่พาฉันไปสู่หลายๆ ด้านของโลก”
ทั้งในปัจจุบัน Sesame Street เองก็มีประเด็นใหม่ๆ มานำเสนอกับเด็กๆ เช่นเรื่องของเทคโนโลยี หรือการโค้ดดิ้ง และในซีซั่นที่ 50 นี้เอง Sesame Street ก็บอกว่า รายการจะโฟกัสกับเรื่องบทเรียนชีวิต เช่น ความอดทน และการปรับตัวด้วย
อ้างอิงจาก