ห่างกายกันไปสัปดาห์นึง ช่วงปีใหม่ผมก็ไม่ได้ไปไหน แค่อยู่ติดกับบ้านดูทีวีญี่ปุ่นไปเรื่อยๆ เพราะไม่ได้ออกต่างจังหวัดหรือไปญี่ปุ่น แต่วันส่งท้ายปีก็ได้ไปนั่งเชียร์งานแข่งร้องเพลงขาวแดงโคฮะคุในร้านอิซากายะ ระหว่างที่วงรอไอดอลที่รักขึ้นแสดง ก็ไถไทม์ไลน์ในเฟซบุ๊กเล่นฆ่าเวลาไปพลางๆ ทันใดนั้นผมก็ได้กลิ่นของดราม่ากรุ่นขึ้นมาทันที
เพราะสิ่งที่ผมเห็นคือ เพื่อนชาวอเมริกันที่ทำงานอยู่โตเกียวได้โพสต์ภาพถ่ายจากทีวีที่กำลังฉายรายการ Gaki no Tsukai! Oomisoka Toshikoshi SP Zettaini Waratteha Ikenai Amerikan Porisu 24 Jikan! (ยาวจัง) รายการขายของสถานี Nippon TV ตอนพิเศษส่งท้ายปี ที่เอามาชนกับงานแข่งร้องเพลงขาวแดง เนื้อหาของรายการคือให้ตลกดัง 5 คน จาก Downtown สองคน Kokoriko สองคน และ Yamazaki Housei อีกหนึ่งคน ไปเจอกับสถานการณ์ต่างๆ โดยไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นห้ามหัวเราะเด็ดขาด เป็นเวลาตลอด 24 ชั่วโมง ไม่อย่างนั้นจะถูกลงโทษทุกครั้งที่หัวเราะ ซึ่งรายการนี้ก็ได้รับความนิยมจนทำติดต่อกันมาหลายปี แต่ละปีก็ต้องเปลี่ยนธีมรายการไปเรื่อยๆ ว่าจะเล่นมุขไหน บางปีก็เป็นซามูไร บางปีก็เป็นนักโทษแหกคุก แต่สุดท้ายก็เหมือนๆ กันตรงที่ มีคนนั้นคนนี้วนมาปล่อยของให้ทั้งห้าคนหัวเราให้ได้
ที่เป็นเรื่องดราม่าเพราะว่า ในรายการ ดาราตลกทั้งห้าคนต้องแต่งตัวเป็นตำรวจอเมริกันให้เข้ากับธีมของปีนี้ สี่คนแรกออกจากห้องแต่งตัวก็เป็นตำรวจอเมริกันปกติดี แต่ปัญหาคือคนสุดท้าย Hamada Masatoshi จาก Downtown จอมแสบขาใหญ่ที่ชอบแกล้งคนอื่น เวลาถ่ายรายการนี้เลยโดยแกล้งหนักสุด ซึ่งเขาก็เดินออกมาจากห้องแต่งตัวในชุดกางเกงยีนส์ เสื้อยืด ใส่เสื้อแจ็กเก็ตจัมเปอร์พองๆ และทาหน้าดำพร้อมผมหยิกฟูพอประมาณ
สำหรับคนญี่ปุ่นหลายคน ก็คงจำได้ทันทีว่า นั่นคือการแต่งเป็นตัวละคร Axel Foley ของ Eddie Murphy จากภาพยนตร์เรื่อง Beverly Hills Cop ที่เคยโด่งดังในยุค 80s และสิ่งที่ชวนให้เกิดดราม่าคือ ‘การทาหน้าดำ’ นั่นล่ะครับ
คนไทยเราเองก็คงคุ้นๆ จากเคสคล้ายๆ กันกับโฆษณาในรถไฟฟ้าที่มีการใช้คนทาหน้าดำ หรือ ‘Blackface’ ที่กลายเป็นประเด็นจนโฆษณาดังกล่าวถูกถอด เพราะ แม้ Blackface จะเคยเป็นสิ่งบันเทิงในอดีต แต่ปัจจุบันก็ถูกมองว่าเป็นการเหยียดชนชาติจนก่อให้เกิดดราม่าได้ง่าย แต่รายการทีวีญี่ปุ่นกลับเล่นมุขตลกนี้ ทั้งๆ ที่เป็นรายการดังและมีคนดูเป็นจำนวนมาก จนผมก็ได้แต่คิดว่า ต้องมีเรื่องแน่ๆ
และก็เป็นจริงตามนั้น เมื่อ Huffington Post สาขาญี่ปุ่นชูประเด็นดังกล่าวขึ้นมา โดยอิงกับความเห็นของ Baye McNeil นักเขียนและอาจารย์ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2004 ซึ่งเขาก็อธิบายประวัติศาสตร์ของ Blackface และ Minstrel พร้อมชี้ว่า ปัจจุบันสิ่งนี้ถูกมองว่าเป็นการเหยียด แต่ตัวเขาเองก็บอกว่า เขาเองก็รู้สึกครึ่งๆ คือ ครึ่งหนึ่งเขาก็รู้สึกว่าการใช้ Blackface ในการแสดงตลกเป็นการเอาเชื้อชาติเขามาเป็นเรื่องขบขัน – รู้สึกเจ็บใจ – ในขณะเดียวกัน อีกครึ่งหนึ่งเขาก็รู้สึกว่า พวกเขาเหล่านั้นเป็นเด็ก ไม่รู้อะไร ไม่ควรไปถือสาอะไร และเขาก็ยังมองไปอีกว่า ในปี 2020 ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ถ้าเกิดคนต่างชาติมาเจออะไรแบบนี้ก็อาจจะกลายเป็นเรื่องได้ เพราะตัวเขาเองเจอมุขตลกแบบนี้ในทีวีอยู่เรื่อยๆ และยังเคยรวมรายชื่อขอให้ทางสถานีเลิกแพร่ภาพมุขตลกเช่นนี้ แม้ช่อง Fuji TV จะตัดฉากเหล่านี้ออก แต่ก็ไม่ได้อธิบายอะไร และไม่ได้ยอมรับรายชื่อคนที่ร่วมรณรงค์เลย
เอาจริงๆ แล้ว ถ้าเสพรายการทีวีญี่ปุ่นอยู่บ่อยๆ คงจะชินกับมุขแบบนี้ เพราะจัดว่ามีบ่อยจริงๆ ครับ แต่เขาก็ล้อเลียนอย่างอื่นด้วย ตัวอย่างเช่นมุขตลกของ Tomochika กับ Nadagi ที่แต่งเป็นคนอเมริกันสไตล์ฝั่งตะวันตก ทำตัวอเมริกันจ๋าๆ ก็มี เป็นมุขขายดีที่เล่นกันนานเหมือนกัน แต่ก็นั่นล่ะครับ การพยายามเป็นคนอเมริกัน (ผิวขาว) ของชาวญี่ปุ่น ก็ไม่ได้ถูกจัดอยู่หมวดเดียวกับ Blackface อยู่แล้ว ทั้งๆ ที่ทำออกมาเพื่อเสียงหัวเราะเหมือนกัน
ในขณะเดียวกัน มุขที่โหดที่สุดที่ผมเคยดูมาคงเป็นตอนที่ Bob Sapp อดีตนักอเมริกันฟุตบอลเชื้อสายแอฟริกัน ที่ได้ดีจากการผันตัวมาเป็นนักชก K-1 และทำสถิติได้รัวๆ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 จนเป็นคนดังในญี่ปุ่น พอเขาได้ไปออกรายการมุขตลกสไตล์แก๊งสามช่าของ Shimura Ken (ชิมุระ จาก คู่หูคู่ฮา นั่นล่ะครับ) ที่แต่งเป็น ท่านขุนเพี้ยน แล้วต้องมาเจอกับ Bob Sapp พอสื่อสารกันไม่รู้เรื่องเพราะ Bob Sapp ทำท่าทีเหมือนคนป่าเถื่อน ท่านขุนเพี้ยนเลยพยายามทำให้สงบด้วยการ ยื่นกล้วยให้หวีนึง ใช่ครับ ยื่นกล้วยให้คนผิวสีนี่ล่ะครับ ตอนที่มุขนี้หลุดออกมาทางทางทีวี ผมได้แต่หันไปมองตากับเพื่อนอเมริกันร่วมหอพักด้วยความอึ้งกันทั้งคู่ และโล่งอกที่เพื่อนอเมริกันผิวสีไม่ได้อยู่ตรงนั้นด้วย เพราะการยื่นกล้วยให้คนผิวสีนี่เหมือนกับการเหยียดว่า มึงยังเป็นลิงอยู่ นั่นล่ะครับ ลองไล่ดูกรณีการปากล้วยในลีกฟุตบอลของสเปนก็ได้ (Dani Alves เคยกวนกลับด้วยการหยิบกล้วยมากินซะ) ถือเป็นการเหยียดที่แรงจนทีมโดนปรับเงินและเป็นประเด็นร้อนเลย ส่วนในญี่ปุ่นเหรอครับ มุขนั้นก็เรียกเสียงฮาจากคนดูได้ ผมเองก็สงสัยว่า Bob Sapp ได้ไปเท่าไหร่ถึงยอมกับมุขนี้ได้ หรือเขาอยู่เป็น กับสังคมวงการบันเทิงญี่ปุ่นแล้ว
ส่วนในความเห็นท้ายข่าวของ Huffington Post ก็มีการถกเถียงกันไม่เบาครับ คนญี่ปุ่นหลายคนก็เห็นด้วยและมองว่าควรจะพัฒนาเรื่องนี้ได้แล้ว หลายคนก็บอกว่า เฮ้ย ฝรั่งเองก็เหยียดพวกกู พร้อมทั้งยกเอาคลิปของรายการ Saturday Night Live ที่ Mike Myers และเพื่อนเล่นมุขตลกรายการตอบปัญหาญี่ปุ่นหรือแต่งเป็นคนญี่ปุ่น แถมยังมาจากช่อง YouTube ทางการของ SNL เองซะด้วย จัดว่าทำการบ้านมาดีเหมือนกัน ถกกันมันมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ เรื่องแบบนี้เกิดเป็นประเด็นขึ้นมาได้ก็ด้วยการเกิดสื่อใหม่ขึ้นในญี่ปุ่น แพลตฟอร์มที่หลากหลายอันเป็นผลมาจากอย่างอินเทอร์เน็ตและ social network ทำให้เสียงที่ไม่ได้เคยได้รับความสนใจจากสื่อหลักเดิมได้รับความสนใจขึ้นมานั่นเอง
เอาจริงๆ ของแบบนี้ มันก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายที่ถูกกล่าวถึงด้วยนั่นล่ะครับว่าจะรู้สึกอย่างไร มุขตลก SNL ที่ว่ามาก็เก่าเอาเรื่อง ช่วงต้นศตวรรษที่ 21 คนเองยังตลกกับรายการ Little Britain ที่เล่นกับเรื่อง stereotype อย่างหนัก แถมมีมุข Minstrel ด้วย แน่นอนว่าคงไปไม่รอดในยุค social network แน่นอน ขนาดที่ตัวนักแสดงเองยังบอกว่า ทัศนคติของตัวเขาเองก็เปลี่ยนไปเยอะมาก และความจริงจังกับเรื่อง Political Correctness (PC) ก็เข้มข้นขึ้นทุกวัน ทำให้หลายต่อหลายเรื่องมันไม่ใช่เรื่องที่ปล่อยผ่านกันได้แบบเดิมแล้ว
แน่นอนว่าก็มีชาวญี่ปุ่นที่ไม่พอใจกับการที่ชนชาติตัวเองถูกเหยียด (แต่ไม่นับว่านักแสดงชาติตัวเองไปรับบทเป็นคนญี่ปุ่นตัวฮาในหนังฮอลลีวูด) แต่การจะบอกว่า มึงเหยียดกู งั้นกูก็เหยียดมึงได้ ก็น่าจะเป็นวิธีการที่ดูขาดวุฒิภาวะไปหน่อย แต่สำหรับเคสนี้ ที่ผมคิดว่าน่าเศร้าก็คือ ตลกดังระดับ Downtown ไม่ต้องเล่นมุขแบบนี้ก็สามารถเรียกเสียงหัวเราะได้อยู่แล้ว แต่ทีมงานกลับเลือกใช้มุขตลกตีหัวเข้าบ้านทื่อๆ แบบนี้
ด้วยความที่ชนชาติเกาะแบบชาวญี่ปุ่นมักจะแปลกแยกจากชาติอื่นราวกับเกาะกาลาปากอส ทำให้เราไม่แปลกใจที่จะมีมุมมองในหลายเรื่องต่างจากคนอื่น เรื่อง Blackface เองก็เช่นกัน แต่ในทางกลับกัน ก็มีช่วงที่ชาวญี่ปุ่นอินกับวัฒนธรรมฮิปฮอปกันถึงขนาดไปทำผมเดรดล็อก ถักผมแบบ Cornrow แต่งตัวแบบฮิปฮอป ใช้สินค้าที่ชาวผิวสีนิยมใช้ เช่น Tommy Hilfiger หรือ FUBU บางคนถึงกับไปอาบแดดให้ผิวเข้ม ซึ่งก็คงไม่มีใครมองว่าเป็นการล้อเลียน
แต่ถ้าชาวญี่ปุ่นอยากจะเปิดตัวเข้าหาโลก ต้องการให้โลกเห็นศักยภาพตัวเองในโอลิมปิกปี 2020 ก็ต้องเข้าใจว่า โลกได้เปลี่ยนไปจากโอลิมปิกปี 1964 มากแล้ว และในยุค social network ที่โลกเชื่อมต่อกันได้ง่ายกว่าเดิม ก็มีค่านิยมสากลที่ควรจะปรับตัวตามด้วย หากอยากจะเป็นเจ้าบ้านที่ดีนั่นล่ะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก