สำหรับวรรณกรรมเด็ก หรือวรรณกรรมเยาวชน ถ้าเรามองย้อนไป นอกจากการมีพื้นที่ให้ตีความ หรือการใช้ความเป็นวรรณกรรมพาเราไปยังภาพอุดมคติแบบใหม่ ที่หลายครั้งทำให้เรามองเห็นสิ่งที่สังคมบอกว่าแปลกประหลาด จนค่อยๆ ทำให้ความแปลกกลายเป็นเรื่องธรรมดา
หลายงานเขียนเกี่ยวกับเด็กเหล่านี้ ยังเกิดขึ้นในยุคสมัยที่สังคมยังไม่เปิดกว้าง และไม่ยอมรับการมีอยู่ของเพศหลากหลาย ทว่ากลุ่มเพศหลากหลายจำนวนมากกลับเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานสำคัญๆ ที่เราและโลกรัก โดยผลงานเหล่านั้นอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราค่อยๆ มองเห็นตัวตน เพศ หรือครอบครัวที่หลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ
ในโอกาสเดือนไพรด์ The MATTER ชวนย้อนดูวรรณกรรมที่เราเคยอ่าน ไปจนถึงเรื่องราวสำหรับเด็กที่หลายเรื่อง ในความเหนือจริง ในเรื่องราวของสรรพสัตว์ หรือเรื่องราวมหัศจรรย์ ที่อาจกำลังใช้อิสระของเรื่องเล่าพูดถึงตัวละคร หรือวิถีชีวิตที่มีความหลากหลาย หลายครั้งอาจทำให้เราตีความและเข้าใจตัวตน หรือวิถีที่พ้นออกไปจากความคิดดั้งเดิม เช่น เพศมีเพียง 2 หรือครอบครัวคือชายและหญิง
การย้อนกลับไปอ่านงานที่เราคุ้นเคยในตอนเด็กครั้งนี้ จึงเป็นการชวนย้อนกลับไปเฉลิมฉลองผลงานจากนักคิด นักเขียน และนักวาด ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่เล่าเรื่องโดยอาจทิ้งร่องรอยตัวตนให้เราได้ตีความ เช่น งานสำคัญอย่าง Where the Wild Things Are หรือ Moomin ซึ่งผู้เขียนล้วนเป็นกลุ่มเพศหลากหลายอย่างเปิดเผย ไปจนถึงงานที่แสนอบอุ่น เช่น Frog and Toad ที่เราอาจตีความภาพความสัมพันธ์ของตัวละครเพศเดียวกันที่ลึกซึ้งงดงาม ไปจนถึงการให้ภาพอย่างตัวละคร เบิร์ตและเออร์นี่ ที่ผู้คนตีความว่าเป็นคู่ชีวิตเพศเดียวกันจาก Sesame Street หรือตัวละคร เปปเปอร์มินต์ แพตตี้ หนึ่งในเด็กสาวที่ไม่สาว และเธอเองก็ตั้งคำถามกับความเป็น ‘ทอมบอย’ ของตัวเอง
Where the Wild Things Are, Maurice Sendak
Where the Wild Things Are เป็นวรรณกรรม-นวนิยายภาพตีพิมพ์ในปี 1963 ที่เปลี่ยนนิยามของเรื่องราวสำหรับเด็ก รวมถึงการให้ภาพการเติบโตของเด็กที่ไม่ได้สวยงาม สว่างไสว ทว่ากลับเจือไปด้วยความมืดมน อสุรกาย แต่จบลงด้วยการเรียนรู้ที่สัมผัสจิตใจได้อย่างน่ามหัศจรรย์ ด้วยการบอกเด็กๆ หรือการถ่ายทอดชีวิตวัยเด็ก ผ่านการตีความว่าสัมพันธ์กับประสบการณ์ของผู้เขียนคือ มอริส เซนดัก (Maurice Sendak) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
มอริส เซนดัก เป็นอีกหนึ่งผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ถือได้ว่าเป็นชายขอบของชายขอบ ตัวเขาเองเป็นเกย์ และเป็นชาวยิว เขาเคยให้สัมภาษณ์โดยพูดถึงตัวเองที่มีความ ‘เควียร์’ คือแปลกแตกต่างออกจากเด็กผู้ชายทั่วไป และมีการนิยามตัวเองว่าตัวเขาเองนี่แหละคือ ‘Wild Things’ ซึ่งตรงนี้ค่อนข้างซับซ้อน เพราะ แม็กซ์ เด็กชายในชุดหมาป่าในเรื่องอาจเป็นตัวแทนของผู้เขียน โดยเด็กชาย ‘แปลกประหลาด’ คนนี้ถูกไล่ให้ไปอยู่ในห้อง ก่อนจะค่อยๆ เรียนรู้ด้วยการเล่นสนุกกับเหล่าสัตว์ประหลาด จนกลายเป็นคนกล้าหาญขึ้น เข้มแข็งขึ้น
ทว่าการความเชื่อมโยงของสัตว์ประหลาดที่ ‘รักและสามารถที่จะกินแม็กซ์’ เข้าไปได้ ก็เป็นภาพสะท้อนความสัมพันธ์ของเด็กชายที่เติบโตขึ้นมา ในฐานะเด็กชายชายขอบที่ญาติโกโหติกาเป็นคนที่รักแหละ แต่หลายครั้งก็เป็นบทเรียนที่ทำให้เด็กชายขอบคนนั้นเติบโตขึ้น
Frog and Toad, Arnold Lobel
Frog and Toad น่าจะเป็นหนึ่งในหนังสือภาพต้นตำรับแห่งการใช้ชีวิตแบบใจฟู เรื่องราวความสัมพันธ์อันเรียบง่ายของเจ้ากบและคางคก การใช้ชีวิต การดูแลซึ่งกันและกัน การใช้เวลาด้วยกันที่หลายครั้งก็ใสซื่อจนเกือบจะซื่อบื้อ การกระทำต่างๆ ที่เกือบจะเปล่าประโยชน์ แต่เราเองกลับสบายใจไปกับเรื่องราวชีวิตในป่าของเจ้าสัตว์ครึ่งบนครึ่งน้ำและเพื่อนตัวอื่นๆ
ในความสัมพันธ์ที่เรียบง่ายและแสนอบอุ่น ในระดับเรื่อง เราอาจมองเห็นตัวละครทั้ง 2 ผูกพันกันด้วยมิตรภาพ ทว่าสิ่งที่น่าสนใจคือ ในปี 1974 เวลา 4 ปีหลังจากหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ อาร์โนด์ โลเบล (Arnold Lobel) ผู้เขียนซึ่งแต่งงานและมีลูกสาวแล้วหนึ่งคน ยอมรับกับครอบครัวของเขาว่า ตัวเขาเองเป็นเกย์ ภายหลังลูกสาวของเขา แอเดรียนนาก็ได้ให้สัมภาษณ์ว่า แม้ว่าพ่อของเธอจะไม่เคยเชื่อมโยงงานเขียนของตัวเองเข้ากับเพศสถานะ แต่เธอคิดว่าเรื่องราวของ Frog and Toad อาจเป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ของตัวละครที่เป็นเพศเดียวกัน และแน่นอนคือ รักกัน
ลูกสาวของผู้เขียนยังมองว่า เรื่องราวอันงดงามของเจ้ากบและคางคก อาจเป็นก้าวแรกในการเปิดตัวยอมรับเพศสถานะของพ่อเธอ
Tofslan and Vifslan – Moomin, Tove Jansson
ชีวิตส่วนตัวของ ตูเว ยานซอน (Tove Jansson) ผู้สร้างเรื่องราวอันสวยงามของครอบครัวและหุบเขาของพวกมูมิน ตูเวไม่เคยนิยามว่าตนเป็นเพศใด แต่เธอก็เปิดเผยกับทุกคนว่าเธอใช้ชีวิตร่วมกับ วิวิกา บันด์เลอร์ (Vivica Bandler) ผู้หญิงที่ทำให้เธอตกหลุมรักเป็นคนแรก ซึ่งตูเวเองเคยเขียนว่าเธอตกหลุมรัก บางครั้งก็กับชายหนุ่ม บางครั้งก็กับหญิงสาว โดยตูเวและวิวิกาผู้เป็นทั้งคนรักคนแรก และเป็นผู้ร่วมงานซึ่งทำโปรเจ็กต์ร่วมกัน อย่างนวนิยายของเหล่ามูมิน Finn Family Moomintroll ตีพิมพ์ในปี 1948
ร่องรอยความหลากหลาย หรือบทบาททางเพศ ปรากฏอยู่ในมิติบทบาทและตำแหน่งแห่งที่ทางเพศในเหล่ามูมิน สิ่งมีชีวิตในจินตนาการที่ทั้งสอดแทรกความรักของตูเวและวิวิกา เช่น ตัวละครที่ชื่อ Tofslan and Vifslan ในฉบับภาษาสวิดิช คือสิ่งมีชีวิตที่เดินทางกัน 2 คน พร้อมกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ ชอบอยู่ตามลำพัง และพูดภาษาเฉพาะที่ ‘ทุกคนไม่เข้าใจ แต่ทั้ง 2 จะเข้าใจกัน’ แน่นอนว่าชื่อของทั้งคู่เป็นชื่อเดียวกันกับตูเวและวิวิกา โดยในกระเป๋าเดินทางนั้นมีอัญมณีที่เปล่งประกาย กระเป๋ายักษ์ที่ทั้ง 2 แบก จึงเป็นเหมือนความลับในความสัมพันธ์ที่เจิดจ้าอยู่ภายใน
Bert and Ernie – Sesame Street, Mark Saltzman
Sesame Street เป็นอีกรายการที่เต็มไปด้วยตัวละครที่มีสีสัน ค่อนข้างพูดถึงความแตกต่างหลากหลาย แต่คู่ความสัมพันธ์ที่สำคัญคือ เบิร์ธและเออร์นี่ ที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันในเรื่อง แน่นอนว่า Sesame Street ซึ่งเป็นหุ่นมือนั้นตั้งใจสอนเรื่องราวต่างๆ ให้กับเด็กๆ วัยก่อนเข้าโรงเรียน ดังนั้น มุมมองที่ผู้คนมองว่าเบิร์ธและเออร์นี่อยู่ด้วยกันเป็นคู่รัก จึงถูกปฏิเสธโดยผู้ผลิตว่า ทั้งคู่เป็นตัวแทนของมิตรภาพเท่านั้น
ทว่า มาร์ก ซอลท์ซแมน (Mark Saltzman) หนึ่งในนักเขียนที่เขียนและทำงานในช่วงปี 1981-1990 เปิดเผยว่า เขาเขียนถึงตัวละครทั้ง 2 โดยอิงจากประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง นั่นคือ อิงจากตัวเขาและคนรักที่เป็นนักตัดต่อภาพยนตร์ ในแง่นี้ การกล่าวว่าตัวละครทั้ง 2 อาจมีบริบทในฐานะคนรักแฝงอยู่ด้วย ก็คงไม่ผิดนัก
Peppermint Patty – The Snoopy Show, Charles M. Schulz
สนูปี้ หรือซีรีส์ Peanuts การ์ตูนช่องระดับคลาสสิกที่เราอาจจะรู้จักในนามสนูปี้ เจ้าหมาบีเกิลตัวแสบ ชาร์ลี บราวน์ และเพื่อนผองจอมวุ่นวาย จริงๆ เหล่าตัวละครเด็กในเรื่องนี้มีมิติที่น่าสนใจ โดยหนึ่งในตัวละครที่นำเสนอความซับซ้อนของการเป็นเด็กผู้หญิงคือ เปปเปอร์มินต์ แพตตี้ (Peppermint Patty) เด็กหญิงที่ได้รับการนิยามว่าเป็นสาวห้าว เป็นทอมบอย เป็นเด็กผู้หญิงที่ใส่รองเท้าแตะ เก่งเบสบอล และพยายามจะทำให้ชาร์ลี บราวน์เล่นเบสบอลเก่งด้วย
ในเรื่องราวอันยาวนานของกลุ่มเด็ก บางช่วงมีการพูดถึงความสัมพันธ์น่ารักๆ เช่น บางจังหวะแพตตี้ก็เหมือนจะชอบชาร์ลี บราวน์ แต่ตัวเธอค่อนข้างสะท้อนความสัมพันธ์แบบมิตรภาพของผู้หญิง โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับมาร์ซี่ ในมิติทางสังคม ตัวละครแพตตี้ถูกเพิ่มเติมเข้ามาในทศวรรษ 1960 ที่สัมพันธ์กับการเรียกร้องสิทธิสตรี และมีลักษณะพิเศษที่แหกขนบสังคมที่วางไว้ให้เด็กผู้หญิง ด้วยเธอเป็นเด็กหญิงเก่งกีฬา ใช้ชีวิตกลางแจ้ง ใส่กางเกงไม่ใส่ชุดเดรส ไม่กลัวฝน ซึ่งถ้ามองย้อนไปในทศวรรษ 1960 เธอถือเป็นหนึ่งในไอคอนของผู้หญิงที่ไม่ต้องอ่อนหวานและเก็บตัวอีกต่อไป
SpongeBob SquarePants, Stephen Hillenburg
ส่งท้ายด้วยสิ่งมีชีวิตที่จริงๆ ไร้เพศ และสุดแสนจะกระตือรือร้น อย่างเจ้าฟองน้ำสี่เหลี่ยมผู้เป็นที่รัก สดใส ซาบซ่า ‘สพันจ์บ๊อบ’ แน่นอนว่าฟองน้ำเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีเพศ ชีวิตของสพันจ์บ๊อบก็ไม่ระบุเพศ แถมยังมีสัตว์เลี้ยงเป็นหอยทาก และใช้ชีวิตลั้ลลากับเพื่อนซี้อย่าง แพทริค ที่ทำงานอย่างขยันขันแข็ง โดยความลั้ลลาของสพันจ์บ๊อบนี้ หลายครั้งเขาเลยกลายเป็นไอคอนหนึ่งและมีมของกลุ่ม Lgbtq+ และอื่นๆ ก่อนจะกลายเป็นตัวแทนของสายรุ้ง การมองโลกในแง่ดี และภาวะเพศที่ลื่นไหล
จนกระทั่งในปี 2020 ทวิตเตอร์ (ปัจจุบันคือ x) ของ Nickelodeon ร่วมฉลองเดือนไพรด์ด้วยการโพสต์ภาพตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศพร้อมลวดลายสายรุ้ง ซึ่งแน่นอนว่า หนึ่งใน 3 ตัวละคร มีสพันจ์บ๊อบที่เรารักอยู่ด้วย เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่จำกัดเพศโดยแท้
อ้างอิงจาก