สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากที่รายการต่างๆ หลายรายการได้จบลงไป เรื่องฝั่งบันเทิงๆ ก็ดูจะไม่ค่อยมีอะไรหวือหวาสักเท่าไหร่ ถ้าจะมีอะไรชวนให้ผู้เขียนสะกิดใจก็คงเป็นประเด็นของรายการ The Face Men ที่มีคนทักกันว่า ‘คัดเลือกนายแบบเข้าไป ก็มีแต่แนวเกย์ๆ กันทั้งนั้นล่ะ’
จากคำพูดที่ว่าทำให้ผู้เขียนกลับมานั่งคิดกับตัวเอง อาจเพราะสื่อบันเทิงในประเทศไทยเรายังนำเสนอด้านเพศสภาพกับเพศวิถีในด้านใดด้านหนึ่งมากไปจนคนทั่วไปไม่เข้าใจ ว่าการเป็น LGBTQ ไม่ได้มีรูปแบบตายตัวขนาดนั้น และนั่นทำให้ผู้เขียนนึกถึงฝั่งการ์ตูนญี่ปุ่น หนังสือการ์ตูนที่อาจจะบอกเล่าเรื่องในจินตนาการมากกว่าความเป็นจริง แต่ตัวจินตนาการที่อยู่ในเรื่องนั้นก็เป็นภาพสะท้อนจากความจริงเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้เราจึงหยิบยกหนังสือการ์ตูน 6 เรื่องที่พยายามให้คนเข้าใจเพศสภาพกับเพศวิถีที่มีมากกว่าภาพเหมารวม ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
Card Captor Sakura
อย่าเพิ่งรีบมึนว่าทำไมเรายกการ์ตูนแนวสาวน้อยเวทมนตร์น่ารักๆ มาคุยประเด็นเพศสภาพเพศวิถี แม้ตัวละครหลักอย่าง ซากุระ กับ เชารัน จะเป็นคู่รักชายหญิงก็ตาม แต่ตัวละครสมทบทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่มีสภาวะทางเพศสภาพและเพศวิถีที่เปิดกว้างอย่างไม่น่าเชื่อ นับตั้งแต่ โทยะ พี่ชายของซากุระ ถูกเดินเรื่องมาว่าเคยชอบหญิงสาวอายุมากกว่าแต่มาตกลงปลงใจกับเพื่อนสนิทร่วมชั้นเรียน โทโมโยะ เพื่อนสนิทของซากุระถูกบอกใบ้ว่าพอสมควรว่าเธอมีความรู้สึกนึกชอบเพื่อนของเธออยู่ แต่ทางซากุระมองโทโมโยะเป็นเพื่อนเสมอและเธอก็ยอมรับภาวะ Friend Zone ด้วยการสนับสนุนให้เพื่อนประสบความสำเร็จในชีวิตด้านอื่นๆ
นอกจากจะมีตัวละครที่มีความรักต่อเพศเดียวกันแล้ว ในเรื่องยังมีเรื่องรักข้ามรุ่นระหว่างเด็กประถมกับคุณครูประจำชั้นวัยทำงาน หรือตัวละคร รูบี้มูน ที่มีสภาพทางเพศไม่ชัดเจน แต่เธอเลือกจะแต่งตัวเป็นผู้หญิงตามความชอบของตัวเอง หรือถ้ามองไปยังผลงานอื่นๆ ของ CLAMP ก็มักจะไม่มีกำแพงเรื่องเพศสภาพเพศวิถีเท่าใดนัก อาจเพราะพวกเขาเชื่อมั่นว่าความรักล้วนแล้วเป็นเรื่องการตกลงของคนที่รักกันไม่ใช่เพราะสภาพร่างกายแต่อย่างใด
Otouto No Otto
การ์ตูนที่บอกเล่าชีวิตเกย์ที่เขียนโดยนักเขียนการ์ตูนเกย์ ด้วยการเล่าเรื่องพระเอกที่ต้องพบกับชายชาวอเมริกันซึ่งเป็นสามีของน้องชายฝาแฝดที่เสียชีวิตไป ตัวเอกในฐานะคนญี่ปุ่นที่แทบจะไม่มีความเข้าใจเรื่องเกย์ก็ค่อยๆ ทำความเข้าใจว่าการใช้ชีวิตของน้องชายแตกต่างกับเขาอย่างไร นอกจากนั้นตัวพระเอกยังต้องรับมือกับคำถามแบบใสซื่อของลูกสาวที่มองว่าการเป็นเกย์ไม่ใช่เรื่องไม่เหมาะสม แค่เป็นความรักของคนสองคน
นอกจากเนื้อเรื่องที่ต้องการจะทำให้คนอ่าน (หรือคนญี่ปุ่นตามบริบทของเรื่อง) ที่อาจจะกลัวเกย์พอๆ กับกลัวชาวต่างชาติ ได้ลดกำแพงอคติลงจนเห็นว่าเกย์ก็ใช้ชีวิตธรรมดาอยู่ในสังคมได้ สามารถดูแลคนในครอบครัวได้ ก็ยังลุ้นกันอยู่ว่าเราจะได้อ่านการ์ตูนเล่มนี้ในฉบับภาษาไทยในอนาคต
เมื่อวานเจ๊ทานอะไร
เรื่องราวนั้นวนเวียนอยู่กับการทำอาหารของคู่รักเกย์คู่หนึ่งในญี่ปุ่น ที่คนหนึ่งก็มาดแมนเข้มหล่อเหลาที่สุดในสามโลก (ตามคำบรรยายของเรื่อง) ส่วนอีกคนมาแนวหนุ่มพูดจาจ๊ะจ๋าเปิดเผยความเกย์แบบไม่ปิดบัง ทั้งสองคนอาศัยอยู่ด้วยกันแล้วต้องเผชิญกับเรื่องที่คนภายนอกมองว่า คนนึงแมนแต่ไม่ยอมแต่งงานเพราะงก ส่วนอีกคนน่าจะเป็น ‘รับ’ เพราะทำตัวออกสาว แต่ความจริงนั้นไม่ได้เป็นแบบที่คนเหมารวมซะอย่างนั้น
การ์ตูนเรื่องนี้ยังพยายามเล่าไลฟ์สไตล์ของเกย์แนวอื่นๆ ความสัมพันธ์ของพระเอกทั้งสองคนที่อยู่ยืนยาวในอายุถึงสี่สิบแล้วก็ทำให้เราคิดว่า ชีวิตคู่ที่อยู่ได้อย่างยาวนานไม่ใช่สิทธิพิเศษเฉพาะคู่แต่งงานแบบปกติเท่านั้น
Octave บันไดเสียงเพี้ยนรัก
ถึงการ์ตูนเรื่องนี้จะวางตัวเองว่าเป็นการ์ตูนแนวหญิงรักหญิง (แถมยังมีฉากเรตแบบไม่ต้องให้คนอ่านคิดเองด้วย) กระนั้นมุมมองของตัวละครสมทบในเรื่องก็ต่างมองสองตัวละครหลักที่เคยเป็นไอดอลมาก่อนในลักษณะเหมารวมปนด้วยภาวะเหยียดเพศแบบอ่อนๆ (การที่ตัวละครหญิงถูกมองหน้าอก หรือการคาดว่าผู้หญิงที่เรียบร้อยต้องมีแฟนเป็นหนุ่ม) แถมเมื่อทั้งสองคนเริ่มคบหากันก็ถูกมองว่าไม่ควรที่จะคบหากันเองเพราะการคบหาแบบหญิงรักหญิงนั้นไม่ถูกต้อง
สิ่งที่การ์ตูนเรื่องนี้จะพยายามบอกเล่าคือชีวิตของหญิงรักหญิงทั้งในแง่กายภาพ (ความสุขจากการมีเพศสัมพันธ์) และความสุขทางใจ ทั้งยังทำให้เห็นว่าพวกเธอก็ยังใช้ชีวิตเหมือนกับผู้หญิงทั่วไปอย่างน้อยที่สุดคนอ่านจะได้จากการ์ตูนเรื่องนี้จะเข้าใจว่า มุกตลกมุกหนึ่งที่บอกว่าสามารถ ‘ซ่อมเลสเบี้ยนได้’ นั้นไม่น่าจะเป็นเรื่องจริงเลย เพราะทั้งหมดที่ในการคบหากันมันมีอะไรมากกว่าการใช้อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง
Otomen ยอดชายใจแหวว
ตัวละครหลักของการ์ตูนเรื่องนี้ไม่ได้มีใครแสดงความหลากหลายทางเพศแต่แต่อย่างใด แถมลักษณะภายนอกของพวกเขาต่างก็เหมาะสมกับความเป็นชายและความเป็นหญิงตามที่สังคมคาดหวัง แต่แทบทุกตัวกลับมีรสนิยมที่สวนทางกับภาพลักษณ์ของพวกเขา อย่างพระเอกของเรื่อง อาสุกะ แม้ว่าเขาเป็นชายหนุ่มนักกีฬาที่เก่งกาจ แต่เขากลับชอบของน่ารัก ชอบทำอาหาร ชอบเย็บผ้า ตามสไตล์งานอดิเรกของ ‘สาวน้อย’ ส่วน เรียว นางเอก แม้จะหน้าตาน่ารักจนเป็นดาวของชั้นเรียน แต่เธอกลับชำนาญด้านคาราเต้ ชื่นชมการใช้ชีวิตดุจ ‘ชายชาตรี’ ที่แข็งแกร่งไม่แพ้ใคร
ตัวละครที่ใช้ชีวิตขัดแย้งกับเพศสภาพที่คนทั่วไปมองกันถูกนำมาใช้เป็นประเด็นหลักของเรื่องที่ถูกเล่าในเชิงตลกโปกฮา ก่อนจะถูกขยี้และขับเน้นความดราม่ามากขึ้นในช่วงหลังของเรื่อง จนถึงจุดหนึ่งที่คนอ่านแบบเราก็เข้าใจได้ว่ามันคงไม่ผิดอะไรถ้าผู้ชายจะทำขนมเค้กอร่อย หรือผู้หญิงจะชอบเล่นกีฬาอย่างคาราเต้ เพราะความชอบสิ่งต่างๆ นั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเพศเลย อาจจะเป็นตัวคนอ่านแบบเราเสียเองนั่นแหละที่เคยเหมารวมไปว่ากิจกรรมบางอย่างเหมาะกับแค่เพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น
หนุ่มแอ๊บหวานกับสาวแอ๊บแมน
ถ้าเทียบกับภาพยนตร์สักแนว หนังสือการ์ตูนเรื่องนี้คงเป็นแนว Coming Of Age ที่เสริมด้วยการค้นหาตัวตนกับสถานะทางเพศที่แท้จริงของตัวละครเอก พระนางของเรื่องนี้เป็นเด็กประถมที่ต้องการจะแต่งตัวตรงกันข้ามกับเพศของตนเอง ในช่วงประถมนั้นก็อาจจะมองได้ว่าการแต่งตัวสลับเพศเป็นเรื่องง่ายๆ เหมือนการละเล่นอย่างหนึ่ง แต่เมื่อถึงช่วงมัธยมศึกษาตอนต้นที่ตัวละครต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายก็ต่างต้องมองกลับไปยังสภาพสังคมและกลับมาถามตัวเองว่า ‘พวกเขาจะเลือกใช้เพศสภาพกับเพศวิถีตามที่สังคมต้องการหรือตามที่หัวใจพวกเขาอยากเป็น’
การ์ตูนเรื่องนี้ทำให้เราต้องมาเรียบเรียงความคิดใหม่ว่า อาภรณ์ที่คลุมกายอยู่นั้นอาจไม่ได้บ่งบอกเพศสภาพที่แท้จริงของบุคคลได้เลย
หนังสือการ์ตูนที่เรายกมานี้เป็นแค่ตัวอย่างเล็กๆ ของการเปิดมุมมองด้านเพศสภาพกับเพศวิถีเท่านั้น เราคาดว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่คุยเรื่องแบบนี้ได้ดีซ่อนอยู่อีกมากเช่นกัน มองกลับมาที่สื่อบันเทิงของบ้านเราว่าจะเปิดกว้างและให้ความเข้าใจต่อเรื่องเหล่านี้ให้กับผู้คนมากขึ้น ไม่ได้กักให้ตัวละครที่มีเพศสภาพและเพศวิถีอันหลากหลายเป็นได้แค่ตัวเพิ่มสีสันของสื่อบันเทิงเรื่องต่างๆ เท่านั้น ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นในช่วงหลังก็อาจเป็นความหวังได้ว่าประเด็นนี้น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ