Soft Power กลายเป็นคำที่ถูกนำมาพูดถึงอย่างเอิกเกริกอีกครั้ง เมื่อซีรีส์จากประเทศเกาหลีใต้อย่าง Squid Game สร้างปรากฏการณ์ให้คนทั่วโลกติดงอมแงมกันอีกครั้ง ซึ่งเป็นการยืนยันว่า ถ้ามีการปรุงรสที่ดี รวมกับการผลิตงานหลายชิ้นจนเกิดความชำนาญ ต่อให้ใช้โครงสร้างที่คนคุ้นเคยอยู่แล้ว soft power ชิ้นนั้นก็ยังสามารถสร้างปรากฏการณ์ในวงกว้าง สุดท้ายก็จะนำพารายได้ไม่มากก็น้อยสู่ประเทศที่เป็นผู้สร้างสื่อเหล่านั้นได้ในที่สุด
พอเกิดเหตุนี้ขึ้นแล้ว เลยเกิดบทสนทนาในหลายประเทศเกี่ยวกับ soft power ของในประเทศนั้นๆ ว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศของตนได้ไหม และก็มีแบบประเทศไทยที่เสวนาว่า การหนุน soft power ที่สร้างมาใหม่อาจจะไม่ได้จำเป็นมากนัก แล้วโฟกัสว่า ไปดึงคนที่ดังอยู่แล้วในระดับโลกมาเป็นตัวแทน soft power อาจจะเป็นการคุ้มค่ากว่า
ด้วยเหตุนี้เราถึงอยากจะชวนไปดูประเทศที่มีงาน soft power จำนวนมหาศาล อย่างประเทศญี่ปุ่น ที่หลายคนพอจะทราบอยู่แล้วว่า ผลงานการ์ตูนจากแดนอาทิตย์อุทัยนั้นสามารถสร้างรายได้จำนวนมาก อย่างที่ Association of Japanese Animations เคยออกรายงานในปี ค.ศ.2020 ที่ระบุว่าช่วงปี ค.ศ.2019 อุตสาหกรรมเฉพาะฟากอนิเมชั่นของญี่ปุ่นทำรายได้ประมาณ 2,511 ล้านเยน
นอกจากที่สร้างรายได้ก้อนใหญ่ในฐานะสื่อบันเทิงแล้ว งานอนิเมชั่นจากญี่ปุ่นยังสร้างรายได้โดยอ้อมได้อีกหลายทาง อย่างเช่น การดึงผู้คนจากประเทศอื่นๆ ที่ อยากตามรอยงานการ์ตูนเรื่องต่างๆ มาท่องเที่ยวในแบบ ‘แสวงบุญ’
อย่างไรก็ตามประเด็นที่เราอยากจะพูดถึงวันนี้ เป็นเรื่องที่งานที่เกี่ยวข้องกับอนิเมะจากประเทศญี่ปุ่นนั้น ยังช่วยสร้างรายได้ให้กับพื้นที่ท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่นผ่านระบบ Furusato Nouzei ที่ทำให้ soft power ได้มาเจอกับการช่วยเหลือท้องถิ่นได้อย่างไม่น่าเชื่อ
Furusato Nousei ระบบภาษีบ้านเกิด ที่ไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือแค่บ้านเกิดของผู้เสียภาษี
ก่อนอื่นใดเราคงต้องอธิบายกันก่อนว่า ตั้งแต่ปี 2008 ในประเทศญี่ปุ่นมีระบบที่ใช้ชื่อว่า Furusato Nouzei (ふるさと納税) หรือที่พอจะแปลได้แบบกล้อมแกล้มว่าเป็น ‘ภาษีบ้านเกิด’ ระบบดังกล่าวเปิดโอกาสให้ผู้เสียภาษีที่ใช้ชีวิตอยู่ในเขตเมืองใหญ่ สามารถทำการบริจาคเงินให้แก่ท้องถิ่นที่ต้องการโดยตรง และผู้บริจาคสามารถนำเอาเงินบริจาคนั้นไปใช้ลดหย่อนภาษีประจำปีได้ และผู้ที่ทำการบริจาคจะได้รับ ‘ของขวัญ’ จากท้องถิ่นที่พวกเขาทำการบริจาคเงินให้ด้วย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เงินที่ได้จากระบบ Furusato Nouzei ส่งผลช่วยเหลือท้องถิ่นอย่างชัดเจนมาแล้วหลายครั้ง อาทิ ในพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ สามารถรับเงินทุนเพื่อช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วขึ้นไม่ต้องรองบจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับเมืองคุมาโมโตะ จังหวัดคุมาโมโตะ ที่ได้รับเงินช่วยเหลือกว่า 570 ล้านเยน ในปี ค.ศ.2019 หรือ กรณีของพื้นที่หลายจังหวัดที่ได้รับผลจากพายุไต้ฝุ่นฮากิบิส ในปี ค.ศ.2019 ก็มีหลายจังหวัดที่เปิดรับเงินช่วยเหลือ และสามารถนำเงินเข้าไปใช้ช่วยเหลือคนในท้องที่ได้อย่างรวดเร็ว
และเมื่อทางรัฐเห็นว่าระบบดังกล่าวสร้างผลดีต่อทางท้องถิ่นหลายแห่ง จึงทำให้มีการลดขั้นตอนบริจาคให้ง่ายดายขึ้น รวมถึงมีการเปิดช่องทางให้รับการชำระเงินผ่านระบบ Furusato Nouzei ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์หลายที่ ทั้งยังลดการจัดส่งเอกสารแบบกระดาษไปอีกจำนวนมากด้วย
ต้องย้อนกลับมาพูดถึง จุดเด่นของระบบ Furusato Nouzei อย่างการเสนอ ‘ของขวัญ’ ผู้ที่สนใจทำการบริจาคให้ท้องถิ่นต่างๆ โดยแนวคิดเดิมนั้นต้องการให้ท้องถิ่นสามารถนำเอาผลผลิตในบ้านเกิดมาส่งมอบให้ผู้บริจาค ซึ่งหลายท้องที่ก็ตั้งใจสร้างเรื่องราวเพิ่มเติมให้สินค้าท้องถิ่นของตัวเอง
หรือบางพื้นที่ก็ตั้งใจเอาของที่อยู่ท้องถิ่นแล้วเสริมไอเดียให้หวือหวา เพื่อดึงความสนใจให้กับผู้บริจาค อย่างเช่น ทางเมืองมุทสึ จังหวัดอาโอโมริ เสนอของขวัญ เป็น ‘ชุดว่ายน้ำเปลือกหอย’ พร้อมกับการ์ดตัวละคร Madam Muchuly ที่ใส่ชุดว่ายน้ำเปลือกหอย จนกลายเป็นไวรัลในโลกอินเทอร์เน็ตไป
เมื่อมีความพยายามสร้างกระแสเช่นนี้ หลายเมืองจึงเริ่มหาช่องทางเสริมพลังให้ตัวเอง และนั่นก็คือการจับเอาของดีในท้องถิ่น มาผนึกกำลังคู่กับซอฟท์พาวเวอร์อย่างอนิเมะนั่นเอง
อนิเมะกับภาษี มาเจอกันได้อย่างไร?
หลายคนอาจจะสงสัยว่า soft power สายอนิเมะ มีความเกี่ยวพันกับการเสริมสร้างรายให้กับท้องถิ่นต่างๆ ได้ขนาดนั้นจริงหรือ เพราะตัวงานอย่างอนิเมะ ดูจะเกี่ยวข้องกับบริษัทผู้สร้างมากกว่าที่จะเกี่ยวกับท้องถิ่น ซึ่งก็ต้องบอกว่า มันไม่ได้เป็นเรื่องที่ห่างไกลขนาดนั้น ส่วนหนึ่งเพราะวัฒนธรรมของผู้สร้างผลงานในญี่ปุ่นเอง ที่ถึงจุดหนึ่งแล้ว พวกเขามักจะบริจาคแรงเงิน หรือแรงงานให้กับถิ่นเกิดของพวกเขา (ไม่ว่าจะด้วยเจตนาใดก็ตาม)
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในกรณีนี้ อาทิ อาจารย์โอดะ เออิจิโร่ (Oda Eiichirō) ผู้สร้างผลงาน One Piece ได้บริจาคเงินจำนวนมากเพื่อจัดทำ One Piece Kumamoto Revival Project โครงการฟื้นฟูเมืองของจังหวัดคุมาโมโตะที่เป็นบ้านเกิดของอาจารย์โอดะ ซึ่งได้รับความเสียหายจากเหตุธรณีพิบัติภัยในปี ค.ศ.2016 และมีการเพิ่มสถานท่องเที่ยวให้กับเมืองเพื่อให้กลายเป็นแหล่งสร้างรายได้ในอนาคต
หรือ อาจารย์คุนิโอ โอคาวาระ ดีไซเนอร์สายเครื่องจักรชื่อดังที่เป็นผู้ออกแบบหุ่นยนต์ RX-78-2 กันดั้ม ตัวแรก ก็ได้ออกแบบมาสคอตและฝาท่อน้ำให้กับเมืองอินางิ จังหวัดโตเกียว เช่นกัน
ในทางกลับกัน หลายจังหวัดในประเทศญี่ปุ่นเองก็ให้ความร่วมมือรวมถึงอำนวยความสะดวกให้กับบริษัทผู้ผลิตอนิเมะได้ใช้พื้นที่ในจังหวัดเป็นฉากหลังให้เรื่องราวของผลงานอนิเมะเรื่องต่างๆ ไม่ก็อำนวยความสะดวกให้ใช้พื้นที่เพื่อจัดอีเวนต์ที่เกี่ยวข้องกับอนิเมะ อย่างเช่นจังหวัดซากะ ที่เคยทั้งสร้างผลงานอนิเมชั่นสั้นโปรโมตจังหวัดตัวเอง (มีตอนหนึ่งตัวเอกเป็นลูกครึ่งไทยด้วย) และเคยสนับสนุนผลงานอนิเมะดังๆ อย่าง Yuri On Ice กับ Zombie Land Saga เป็นอาทิ
รวมไปถึงมีว่ามีงานที่เกี่ยวข้องกับอนิเมะบางอย่าง ใช้แพลตฟอร์มของ Furusato Nouzei เพื่อช่วยระดมทุนช่วยเหลือสถานที่ในเมืองเล็กมาก่อน อย่าง เมืองมิทากะ จังหวัดโตเกียว ใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวระดมทุนรับเงินเพื่อรักษาสภาพคล่อง และทำการซ่อมบำรุงพิพิธภัณฑ์ Ghibli Musuem ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 จนไม่สามารถเปิดทำการได้ เป็นอาทิ
สุดท้ายแล้วทางหน่วยงานที่ดูแลด้าน Furusato Nouzei เลยเปิดแคมเปญ ‘Anime Furusato Nouzei’ (アニメふるさと納税) ที่จะเริ่มใช้งานแบบจริงจังในช่วงเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.2021 และโปรโมทแคมเปญว่า ระบบนี้จะให้ผู้คนบริจาคไปช่วยเหลือยัง ‘สถานที่แสวงบุญ’ (ในที่นี้หมายถึงเมืองที่ถูกใช้อ้างอิงในผลงานอนิเมะ/มังงะ เรื่องต่างๆ), อำนวยความสะดวกให้บริษัทผู้ผลิตอนิเมะสามารถยื่นแผนงานสร้างอนิเมะกับทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้ง่ายดายขึ้น และมี ‘ของขวัญ’ ที่ให้กับผู้บริจาคก็จะเป็นสินค้าเกี่ยวกับอนิเมะมากขึ้น
หรือถ้าบอกว่า เป็นการเขยิบตัวระบบ Furusato Nouzei เข้าหาเหล่าโอตาคุ ที่มีกำลังทรัพย์มากพอจะจ่ายของสะสมจาก soft power ให้มาช่วยอุดหนุนท้องที่ห่างไกลเพิ่มขึ้นนั่นเอง
ของขวัญจากอนิเมะที่น่าสนใจจาก Anime Furusato Nouzei
เมื่อมีการจัดแคมเปญ Anime Furusato Nouzei อย่างเป็นทางการ ทำให้เว็บไซต์หลายแห่งที่เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงให้การบริจาคภาษีบ้านเกิด จัดหมวด ‘อนิเมะ’ ขึ้นมาโดยเฉพาะ และหลายจังหวัดที่อาจจะไม่มีของเด่นมาก่อน ก็ถือโอกาสหยิบจับเอาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอนิเมะ หรือผลงานในช่วงก่อนหน้านี้ที่หน่วยงานท้องถิ่นเคยสร้างไว้ นำมาเป็นมาเป็น ‘ของขวัญ’ ให้ผู้ที่บริจาคเงินถึงยอดที่กำหนดไว้
และเราก็อยากจะหยิบยกของขวัญส่วนหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวและมีเรื่องราวที่น่าสนใจมาให้ดูกันเป็นตัวอย่าง
Evangelion Rakugan จาก เมืองฟุคุจิ, จังหวัดฟุกุโอกะ
ยอดบริจาคเงินที่กำหนด: 10,000 เยน
เนื่องจากตัวเมืองฟุคุจิ ที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น มีร้านค้าชื่อ Rakugan Shindo ที่ชำนาญการผลิต ราคุกัน ของหวานสไตล์ญี่ปุ่น สำหรับร้านนี้ใน น้ำตาล, ผงถั่วเหลือง กับแป้งข้าวเจ้า แล้วอัดลงแป้นพิมพ์ในรูปทรงต่างๆ ทั้งยังมีการจัดทำสีสันที่สวยงามอีกด้วย จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ ราคุกัน ของทาง Rakugan Shindo คือการจัดตัวขนมราคุกันให้ติดอยู่กับแท่นตั้ง จนเป็นแถวสวยงาม ส่วนตัว Evangelion Rakugan เป็นการนำเอา ราคุกัน มาจัดเป็นธีมสีตัวละครจากภาพยนตร์ Shin Evangelion แล้วไปบรรจุในกล่องที่มีรูปของตัวละครหลัก 5 ตัว พร้อมหมายเลขของ Evangelion แต่ละคนพิมพ์เอาไว้
One Piece Letter Opener จาก เมืองเซกิ, จังหวัดกิฟุ
ยอดบริจาคเงินที่กำหนด: 10,000 เยน
แม้ว่าจะเป็นเมืองขนาดย่อม มีประชากรอยู่ประมาณ 89,000 คน แต่เมืองเซกิ เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อในฐานะเมืองที่ผลิตมีด-ดาบระดับโลก และสิ่งที่เมืองแห่งนี้เลือกมาเป็นของขวัญให้กับผู้ที่บริจาคเงินเข้ามาก็คือ มีดเปิดซองจดหมายที่มีดีไซน์มาจาก ดาบของ โรโรโนอา โซโล จากเรื่อง One Piece นั่นเอง และมีการเปิดให้เลือกบริจาคว่าอยากจะได้มีดที่จำลองมาจาก ดาบชุซุย, ดาบคิเท็ตสึ, ดาบวาโดอิจิมอนจิ หรือดาบคิโคคุ รวมถึงถ้าอยากจะบริจาครับดาบทั้ง 4 เล่ม ก็น่าจะเป็นไปได้เช่นกัน ซึ่งดาบจำลองดังกล่าวถูกผลิตโดยบริษัท Nikken ที่เป็นบริษัททำมีดชื่อดังของเมืองเซกินั่นเอง
ตั๋วเข้าชม Nijigen no Mori (สำหรับผู้ใหญ่ 1 ใบ) จาก เมืองอาวาจิ, จังหวัดเฮียวโงะ
ยอดบริจาคเงินที่กำหนด: 11,000 เยน
เมืองแห่งนี้ จริงๆ แล้วเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ระหว่าง เกาะฮอนชูและเกาะชิโกกุ ตัวเกาะมีจุดเด่นอยู่ที่ตัวธรรมชาติทั้งบนเกาะและรอบเกาะ เพราะถ้าเอาบริเวณที่อยู่ใกล้กับเกาะชิโกกุ ก็จะมีกระแสน้ำวนนารุโตะ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ และนั่นเป็นเหตุที่ทำให้พื้นที่ธีมปาร์กของ Nijigen No Mori ส่วนหนึ่งเป็นการจำลองสถานที่มาจากอนิเมะเรื่อง Naruto นั่นเอง ทั้งนี้การที่แจกของขวัญเป็นตั๋วเข้าชมธีมพาร์คดังกล่าว ก็เหมือนเป็นการล่อลวงให้ผู้ที่บริจาคต้องเดินทางไปเที่ยวในเมืองอาวาจิให้ได้ เป็นการสร้างรายได้หลายต่อไปโดยปริยายนั่นเอง
พากย์เสียงเป็นตัวละครรับเชิญในอนิเมะ Gotouji Yuru ตอนที่ 4 จาก เมืองคาชิวะ จังหวัดจิบะ
ยอดบริจาคเงิน: 150,000 เยน
มีหลายจังหวัดในประเทศญี่ปุ่น มีการจัดทำอนิเมชั่นขนาดสั้นเพื่อใช้สำหรับ PR เมืองของตัวเอง และนั่นทำให้เมืองคาชิวะตัดสินใจมอบประสบกาณณ์สุดพิเศษให้กับผู้ที่บริจาคเงิน 150,000 เยน ได้เป็นตัวละครรับเชิญในอนิเมชั่นสั้น Gotouji Yuru Anime Chou Futsuu Series (ご当地ゆるアニメ「超普通シリーズ」) ซึ่งเป็นอนิเมชั่นสั้นแนะนำเมืองในพื้นที่จังหวัดจิบะอีกทอดหนึ่ง
ตามรายละเอียดการบริจาคระบุว่า ผู้ที่ได้รับสิทธิ์พากย์ตัวละครรับเชิญสามารถเลือกได้ว่าจะมาปรากฎตัวในลักษณะเป็นบุคคลหรือตัวละครแบบใดได้ด้วย แต่ถ้าได้รับสิทธิ์ในการพากย์ (ซึ่งทางเมืองเปิดไว้แค่ 1 ตำแหน่ง) จะต้องเสียค่าเดินทางมาห้องพากย์ในเมืองคาชิวะเอง หรือไม่ก็อัดเสียงตัวเองส่งให้สตูดิโอที่ดูแลงานพากย์ และตัวอนิเมะจะฉายผ่านทางยูทูบแชนแนล Chiba No Tega-Chan-Nell (千葉のテガちゃんネル) เป็นการต่อไป และผู้บริจาคเงินจะได้ไฟล์ mp4 ของอนิเมะตอนที่ตนเองร่วมพากย์ไปด้วย
ของขวัญเกี่ยวพันกับอนิเมะ Jashin-Chan Drop Kick / Drop Kick On My Devil!! หลากหลายแบบ จากหลายเมือง หลายจังหวัด
ยอดบริจาคเงิน: 10,000 – 120,000 เยน ตามประเภทของรางวัลที่เลือก
อนิเมะเรื่องนี้เป็นแนวตลกร้ายที่เล่าเรื่องของปีศาจลาเมียสาว ผู้เป็นอมตะและถูกมนุษย์อัญเชิญขึ้นมาบนโลก แต่แทนที่ปีศาจสาวจะมีอำนาจเหนือกว่าปุถุชน เธอกลับโดยแม่มดสาวกระโดดถีบ และทำร้ายร่างกายจนน่วมเป็นปกติเสียนี่ และเพราะความตลกร้ายนี่เลยน่าจะทำให้ผลงานได้รับความนิยมมากพอจะสร้างเป็นอนิเมะจำนวน 3 ซีซั่น
และในช่วงปี ค.ศ.2019 ที่เมืองจิโตเสะ จังหวัดฮอกไกโด ได้เปิดระดมทุนเป็นเงิน 20 ล้านเยน ผ่านระบบ Furusato Nouzei เพื่อสร้างอนิเมะตอนพิเศษที่ให้ตัวละครของอนิเมะเรื่องดังกล่าวมาท่องเที่ยวในเมือง และสุดท้ายการระดมทุนก็ประสบผลสำเร็จ จนมีการจัดของขวัญเป็นแผ่น Blu-ray ของอนิเมะตอนพิเศษให้ผู้ที่ร่วมบริจาคเงินไว้ และการระดมทุนทำยอดถึงเป้าในช่วงเวลา 4 วันเท่านั้น
เมื่อแผนการข้างต้นได้รับความสำเร็จอย่างงดงาม ทำให้ ณ วันที่เขียนบทความนี้ มีเมืองฟุราโนะ, เมืองโอบิฮิโระ, เมืองคุชิโระ ในจังหวัดฮอกไกโด กับ เมืองมินามิชิมะบะระ จังหวัดนางาซากิ เข้าร่วม Furusato Nouzei ที่ใช้ตัวละครจากอนิเมะ Jashin-Chan Drop Kick มาร่วมสร้างของขวัญเฉพาะตัวตามแต่ละท้องถิ่น
อย่างเช่น เมืองฟุราโนะ ผู้ที่บริจาคเงินจะได้รับแผ่น Blu-ray ของอนิเมะตอนพิเศษที่ใช้เมืองแห่งนี้เป็นฉากหลัง หรือเลือกบริจาคเพื่อรับเซ็ต เนย-ชีส, เมืองโอบิฮิโระ นอกจากจะมีการระดมทุนสร้างอนิเมะตอนพิเศษ ยังให้เลือกบริจาคเพื่อรับแกงกะหรี่สำเร็จรูป กับเกาลัด ที่จะมาพร้อมกับหีบห่อที่มีลายตัวละคร, เมืองคุชิโระมีทั้งบริจาคเพื่อรับแผ่น Blu-ray ที่จะระบุชื่อของผู้ชื่อผู้บริจาค หรือจะเลือกรับเป็นไข่ปลาที่มีแพ็คเกจเป็นลายตัวละครจากอนิเมะ ส่วนเมืองมินามิชิมะบะระ เคยเปิดให้ระดมทุนรับแผ่น Blu-ray จนครบจำนวนไปแล้ว ของขวัญที่เหลือ จะเป็นของกินในท้องถิ่น และมีแพ็คเกจพิเศษอลังการสำหรับผู้บริจาคเงินจำนวนมาก เป็นการส่งผักสดถึงบ้าน ติดต่อกัน 12 เดือน พร้อมด้วยคลิปที่นักพากย์ท่านหนึ่งจากอนิเมะข้างต้นจะสอนทำอาหารจากผักเหล่านั้นส่งมาพร้อมกันด้วย
กรณีเหล่านี้อาจจะเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นได้ว่า การรวมพลังของ soft power สายอนิเมะกับท้องถิ่นปลายทางแบบจริงจัง จะสามารถสร้างสินค้าหลายแบบที่สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลในท้องที่ต่างๆ ได้อย่างไรบ้าง
นอกจากตัวอย่างข้างต้นที่ยกมาพูดคุยกันแล้ว ความจริงแล้วยังมีเมืองอีกหลายแห่งที่จับ soft power สายอนิเมะมาดึงดูดการรับเงินบริจาค แต่มียอดการบริจาคถึงเป้าอย่างรวดเร็ว อาทิ เมืองนุมาสึ จังหวัดชิซุโอกะ ที่มีสินค้าจากอนิเมะ Love Live! Sunshine!!, เมืองจิจิบุ จังหวัดไซตามะ ที่มีสินค้าจากอนิเมะเรื่อง AnoHana ดอกไม้มิตรภาพและความทรงจำ กับ เมื่อใจกู่ร้องอยากบอกโลก (ทั้งสองเรื่องใช้ฉากหลังเป็นเมืองจิจิบุ)
และยังมีผลงานอนิเมะใหม่ๆ อย่างเรื่อง Bakuten ที่ออกฉายในช่วงปี ค.ศ.2021 และในวันที่เขียนบทความนี้ ตัวอนิเมะได้ประกาศว่า กำลังจะเข้าร่วม Furusato Nouzei กับทางเมืองอิวานุมะ จังหวัดมิยางิ ว่าจะมีการนำเอาอาหารที่ปรากฏในอนิเมะ มาเป็นของขวัญร่วมกับสินค้าที่จะมีตัวละครจากอนิเมะมาปรากฏตัว และคาดได้ไม่ยากว่า จะมีการร่วมมือกันระหว่างองค์กรท้องถิ่นกับอนิเมะเรื่องอื่นๆ ตามออกมาเรื่อยๆ ในอนาคต
ทั้งนี้ ก็มีการตั้งข้อสังเกตอยู่เช่นกันว่าระบบ Furusato Nouzei นี้ อาจจะทำให้มีความพยายามที่หวือหวามากเกินไป เพื่อดึงดูดใจผู้คนให้ทำการบริจาค หรือสินค้าหลายชิ้นนั้นก็ถูกวิจารณ์ว่า ตั้งใจเอาของราคาถูกมาดักเงินก้อนใหญ่เกินจริงไป แต่ถ้าดูจากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นปรับเปลี่ยน กฎ-กติกา-มารยาท ในการใช้งาน Furusato Nouzei ได้ค่อนข้างเร็ว ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนให้มีความเท่าเทียมให้กับทุกฝั่งฝ่ายเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ส่วนในประเทศไทย แม้ว่าจะมีคนมองว่าควรจะรับระบบ Furusato Nouzei มาใช้งาน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการบริจาคให้ชัดเจนมากขึ้น เพราะถ้าเอาจากหลายๆ ครั้งที่ชาวไทยทำการบริจาคเงินเพื่อช่วยผู้คนอย่างจริงจังและรวดเร็ว แต่เมื่อมองว่า ถ้าระบบนี้จะได้ผลจริงๆ มันจะต้องมีความโปร่งใสในการตรวจสอบอีกด้วย ผสมกับการที่หน่วยงานรัฐ ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นดูหวาดกลัวกับการลดความเหลื่อมล้ำในท้องที่ห่างไกล ตัวระบบการบริจาคเพื่อลดภาษีแบบนี้ในบ้านเราอาจจะต้องรอคอยกันอีกระยะหนึ่งกันล่ะครับ
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก
2020 Anime Industry Report Summary via Association of Japanese Animation
One Piece Kumamoto Revival Project